ประวัติคลองโคกขาม ตำนานพันท้ายนรสิงห์ พระเจ้าเสือสั่งขุด พระเจ้าท้ายสระสานต่อ

ประวัติคลองโคกขาม ตำนานพันท้ายนรสิงห์ พระเจ้าเสือสั่งขุด พระเจ้าท้ายสระสานต่อ

ประวัติคลองโคกขาม ตำนานพันท้ายนรสิงห์ พระเจ้าเสือสั่งขุด พระเจ้าท้ายสระสานต่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้จักคลองโคกขาม ประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยพระเจ้าเสือ ตำนานพันท้ายนรสิงห์ ที่ถูกพูดถึงอีกครั้งในละครพรหมลิขิต

ประวัติคลองโคกขาม ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) เสด็จประพาสปากน้ำเมืองสาครบุรี เมื่อปี พ.ศ.2247 ด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัย ล่องลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงบางกอก พ้นคลองลัดบางกอก เข้าคลองบางกอกใหญ่ (แม่น้ำเจ้าพระยาเดิม) ออกคลองด่าน คลองสนามชัยถึงคลองโคกขาม พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติช มิวเซียม ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

ใน พ.ศ. 2246-2252 ครั้งที่สมเด็จพระเจ้าเสือ เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเอกไชย จะไปประพาสเพื่อทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี ขณะเรือพระที่นั่งถึงตำบลโคกขาม ซึ่งเป็นคลองคดเคี้ยว และมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก พันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งมิสามารถคัดแก้ไขได้ทัน ทำให้หัวเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้ใหญ่หักตกลงไปในน้ำ ซึ่งพันท้ายนรสิงห์รู้ว่า ความผิดครั้งนี้มีโทษถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี ที่กำหนดว่า “ถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหัก ผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศีรษะเสีย”

พันท้ายนรสิงห์จึงกราบบังคมทูลพระเจ้าเสือให้ประหารชีวิตตามกฎมณเฑียรบาลแต่พระเจ้าเสือทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการสุดวิสัยมิใช่ความประมาท จึงพระราชทานอภัยโทษให้ ซึ่งพันท้ายนรสิงห์ก็ยังยืนยันขอให้ตัดศีรษะตน เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมาย เป็นการป้องกันมิให้ผู้ใดครหาติเตียนพระเจ้าอยู่หัวได้ว่า ทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดิน และเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป

"พระราชอาญาเป็นล้นเกล้า ฯ ขอจงพระกรุณาโปรดให้ทำที่นี้สูงประมาณเพียงตา แล้วจงตัดเอาศีรษะข้าพระพุทธเจ้ากับศีรษะเรือพระที่นั่ง ซึ่งหักตกลงน้ำไปนั้นขึ้นบวงสรวงไว้ด้วยกันที่นี้"

พระเจ้าเสือ จึงโปรดให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเพื่อเป็นการทดแทนกัน แต่พันท้ายนรสิงห์ยังบังคมกราบทูลยืนยันขอให้ประหารตน แม้พระเจ้าเสือจะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใด ก็ทรงจำฝืนพระทัยปฏิบัติตามพระราชกำหนด ดำรัสสั่งให้เพชฌฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์ แล้วโปรดให้ตั้งศาลสูงประมาณเพียงตา นำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกไชยซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลพันท้ายนรสิงห์ (ปัจจุบันตั้งอยู่ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร) เพื่อเป็นการรำลึกถึงพันท้ายนรสิงห์ข้าหลวงเดิมซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์ มั่นคง ยอมเสียสละชีวิตโดยไม่ยอมเสียพระราชประเพณี

อย่างไรก็ตาม ตำนานของพันท้ายนรสิ่งห์ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันของนักประวัติศาสตร์ว่า เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ โดยเรื่องพันท้ายนรสิงห์ มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในพระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม โดยเป็นฉบับที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ 1 กล่าวคือ พันท้ายนรสิงห์ ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับชำระสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่ไม่มีในพระราชพงศาวดารฉบับสมัยอยุธยา และไม่ได้ระบุรายละเอียดครอบครัวหรือประวัติความเป็นมา ดังที่ปรากฏในละครหรือภาพยนตร์แต่อย่างใด

พระเจ้าเสือทรงมีรับสั่งให้ขุดคลองโคกขาม

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าเสือมีพระราชดำริว่า คลองโคกขามนั้นคดเคี้ยวนักคนทั้งปวงจะเดินเรือเข้าออกยาก ต้องอ้อมวงไปไกลกันดารนัก ควรให้ขุดคลองลัดเสียให้ตรงจึงจะซอย แล้วมีพระราชโองการตรัสสั่งสมุหนายกให้เกณฑ์เลกหัวเมืองได้ 30,000 ไปขุดคลองโคกขาม และให้ขุดลัดให้ตรงคตลอดไป โดยลึกหกศอก ปากคลองกว้างแปดวา พื้นคลองกว้างห้าวา และให้พระราชสงครามเป็นแม่กองคุมพลหัวเมืองทั้งปวงขุดคลองจงแล้ววสำเร็จดุจพระราชกำหนด

แม้จะเกณฑ์กำลังคนถึง 30,000 คน จากเมืองนนทบุรี เมืองราชบุรี และเมืองสมุทรปราการ เริ่มขุดในปี พ.ศ.2248 จนสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ในปี พ.ศ.2251 ก็ยังไม่เสร็จ การจึงค้างมา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เมื่อปี พ.ศ.2264 เสด็จประพาสปากอ่าวสาครบุรี เห็นคลองนั้นขุดยังไม่แล้วเสร็จค้างอยู่ จึงตรัสสั่งให้พระราชสงครามเป็นนายกอง ให้เกณฑ์คนหัวเมืองปากใต้แปดหัวเมือง ได้คนสามหมื่นเศษสี่หมื่นไปขุดคลองมหาไชย จึงให้ฝรั่งเศสส่องกล้องแก้ว ดูให้ตรงปากคลอง ปักกรุยเป็นสำคัญทางไกล 340 เส้น คลองมหาชัยขุดเชื่อมคลองด่านขุดตรงเป็นแนว ตั้งแต่หน้าวัดแสมดำ เขตบางขุนเทียน ไปบรรจบแม่น้ำท่าจีน ที่บริเวณหน้าศาลหลักเมืองในปัจจุบัน ใช้เวลาขุดเพียงสองเดือนเศษก็แล้วเสร็จ เมื่อขุดเสร็จแล้วพระราชทานชื่อว่า “คลองมหาชัย”

ทั้งนี้ แม้ตำนานของพันท้ายนรสิงห์ ยังคงเป็นที่ถกเถียงของนักประวัติศาสตร์ แต่เพื่อเป็นการรำลึกถึงพันท้ายนรสิงห์ข้าหลวงเดิมซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์ มั่นคง ยอมเสียสละชีวิตโดยไม่ยอมเสียพระราชประเพณี กรมศิลปากรได้ดำเนินการจัดสร้างศาลพันท้ายนรสิงห์ขึ้น อยู่ถัดจากศาลเก่าที่พังลงไม่มากนัก โดยกันอาณาบริเวณรอบๆ ศาลไว้ และด้วยคุณงามความดีของพันท้ายนรสิงห์ที่ถูกบอกเล่าต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน ก็ทำให้พันท้ายนรสิงห์กลายเป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาของผู้คนจำนวนมาก ในด้านความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ที่มีต่อกฎหมายบ้านเมือง ยอมตายเพื่อมิให้กฎหมายบ้านเมืองคลายความศักดิ์สิทธิ์ ดังคำที่ว่า “ตายในหน้าที่ ดีกว่าอยู่ให้อับอาย”

คลองโคกขาม ปุัจจุบันตือ ตำบล พันท้ายนรสิงห์ อำเภอ เมืองสมุทรสาคร จังหวัด สมุทรสาคร

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook