บทบาทพระสงฆ์ไทยภายใต้อำนาจรัฐ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสนทนากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

ปัจจุบันตามหน้าหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียต่างๆ จะพบว่ามีข่าวคราวเรื่องราวเกี่ยวกับพระสงฆ์นำเสนออยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นว่าพระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในสังคมอยู่ไม่น้อย ภายใต้ความเชื่อที่ว่าศาสนาสอนให้มนุษย์ประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกต้องดีงาม เป็นประโยชน์ต่อตนเอง สังคม ประเทศชาติ และเพื่อให้ได้สังคมที่มีคุณภาพ รัฐจึงได้นำศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการปกครอง

เห็นได้จากวันหยุดทางราชการที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา เป็นต้น และในฐานะที่พระสงฆ์เป็นตัวแทนของศาสนา ซึ่งทำให้พระสงฆ์และรัฐมีความเกี่ยวข้องกันมาโดยตลอด

รัฐและศาสนา ต่างมีผลประโยชน์ที่เกื้อหนุนพึ่งพากันและกัน ศาสนาพุทธในประเทศไทยรัฐได้ดึงเอาศาสนาและองค์กรสงฆ์เข้ามาเป็นกลไกเพื่อหล่อหลอมความเป็นพลเมืองดีของรัฐ และความชอบธรรมทางการเมืองของผู้นำ การควบคุมดูแลพระสงฆ์จึงเป็นหน้าที่รัฐ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระสงฆ์อยู่ในความดูแลของพระมหากษัตริย์ มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรี จนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

วันนี้ผู้เขียนขอหยิบบทความเรื่อง “วาทกรรมอำนาจพระสงฆ์ไทยว่าด้วยสังฆราช” ของ ธีระพงษ์ มีไธสง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2559 มาเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ศาสนา และพระสงฆ์ ได้ดียิ่งขึ้น

Advertisement
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ขวา) ลายรดน้ำรูปตราประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช จากบานหน้าต่างด้านในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ขวา) ลายรดน้ำรูปตราประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช จากบานหน้าต่างด้านในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ก็รับสั่งให้มีการปรับปรุงคณะสงฆ์ใหม่ แต่งตั้งพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกปลดโดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตรากฎหมายเกี่ยวกับพระสงฆ์ฉบับแรก เรียกว่า “กฎพระสงฆ์” รวม 10 ฉบับ เพื่อควบคุมพระสงฆ์ เพราะเห็นพฤติกรรมการทำผิดพระวินัย

เห็นได้จากธีระพงษ์ มีไธสง ได้ค้นคว้าจากเอกสารเก่าของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีบันทึกถึงพระราชปรารภของรัชกาลที่ 1 ไว้ว่า “…พระภิกษุทุกวันนี้บวชเข้ามามิได้กระทำตามพระวินัย ปรนนิบัติเห็นแต่จะเลี้ยงชีวิตผิดธรรม ให้มีแต่เนื้อหนังบริบรรณประดุจโคกระบือ มีแต่จะบริโภคอาหารให้จำเริญเนื้อหนัง จะได้จำเริญสติปัญญานั้นหามิได้…”

ธีระพงษ์ได้กล่าวถึงการปกครองคณะสงฆ์สมัยรัชกาลที่ 1 ว่า “ด้านการปกครองคณะสงฆ์ ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 3 คณะ คือ คณะเหนือ คณะใต้ และคณะอรัญวาสี โดยมีตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ปกครองดูแลพระสงฆ์ในแต่ละคณะ แม้ว่าจะมีการสถาปนาตำแหน่งพระสังฆราช แต่ก็ไม่มีอำนาจที่แท้จริงแต่อย่างใด”

Advertisement
จิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบวรนิเวศวิหาร "คณะสงฆ์มาร่วมประชุมกันในป่าดงพงไพร"
จิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบวรนิเวศวิหาร “คณะสงฆ์มาร่วมประชุมกันในป่าดงพงไพร”

กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 คณะสงฆ์ไทยได้มาถึงจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในประเทศไทย เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชแล้วตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นมา และเป็นผู้นำสูงสุดของนิกายใหม่ เมื่อทรงลาผนวชมาขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ก็ยังคงมีอำนาจสูงสุดในการปกครองเหนือพระสงฆ์ทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุต

การปรับปรุงการปกครองสงฆ์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์กรสงฆ์เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ตำแหน่งสังฆราชมีเพียงตำแหน่งเดียวที่สถาปนาขึ้นโดยรัฐไทย โดยมีการออกพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ท้องถิ่นเข้าสู่ส่วนกลาง

ย้อนกลับไปในสมัยอยุธยามีการแต่งตั้งพระสงฆ์เป็นสังฆราชคามวาสี อรัญวาสี ซึ่งแต่ละหัวเมืองมีพระครูเจ้าคณะเมืองเป็นสังฆราชา เช่น

– เมืองลพบุรี มีพระครูปัญญามหาศีลสุนทร เป็นพระสังฆราชา

– เมืองสวางคบุรี มีพระครูสวางคมุนี เป็นสังฆราชา

– เมืองนครราชสีมา มีพระครูวิบูลยกิจวิจิตรมุนี เป็นสังฆราชา

ฯลฯ

หลาบ เป็นยศประจำตำแหน่งสมณศักดิ์ของพระสงฆ์อีสาน
หลาบ เป็นยศประจำตำแหน่งสมณศักดิ์ของพระสงฆ์อีสาน

พระสังฆราชาแต่ละรูปมีอิสระในปกครองแต่ละหัวเมือง เจ้าเมืองและประชาชนมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งพระสงฆ์ที่นับถือศรัทธาขึ้นเป็นสังฆราชา พระสงฆ์ในหัวเมืองต่างๆ จึงปกครองกันเอง โดยอยู่ภายใต้การดูแลของพระเถระที่มีตำแหน่งสังฆราชา ซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแบบส่วนกลาง ทางด้านอีสาน หัวเมืองเอกอย่างนครราชสีมา อุบลราชธานี ก็มีตำแหน่งที่เรียกว่า สังฆปาโมกข์ ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งสังฆราชา หรือสังฆราชเช่นกัน

รายละเอียดอื่นเกี่ยวกับพระสงฆ์และอำนาจรัฐขอได้โปรดอ่านใน “ศิลปวัฒนธรรม”

เพราะมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลไกการปกครองสงฆ์ภายใต้อำนาจรัฐ คณะสงฆ์ในหัวเมือง ตำแหน่งสังฆราชา สังฆปาโมกข์ สังฆราช ฯลฯ ที่จะทำให้เข้าใจถึงบทบาทพระสงฆ์ไทยภายใต้อำนาจรัฐจากอดีตถึงปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น

พิธีเถราภิเษกเลื่อนยศตำแหน่งพระสงฆ์อีสาน
พิธีเถราภิเษกเลื่อนยศตำแหน่งพระสงฆ์อีสาน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image