นักปวศ.ชี้ พระเอกในวรรณคดี(ไทย)ไม่เคย ‘อกหัก’ ถูกหญิงทิ้งไม่ได้ แม้ต้องรบเพื่อชิงรัก! 

นักปวศ.ชี้ พระเอกในวรรณคดี(ไทย)ไม่เคย ‘อกหัก’ ถูกหญิงทิ้งไม่ได้ แม้ต้องรบเพื่อชิงรัก!

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เผยแพร่ข้อเขียนเรื่อง ‘อกหักดีกว่ารักไม่เป็น: พระเอกในวรรณคดีเคยอกหักไหม’

ความว่า ความรักเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา และพยายามที่ไขว่คว้ามาครอบครอง ตอนยังเป็นเด็กก็หาความรักจากพ่อแม่ โตเป็นหนุ่มเป็นสาวก็หาจากเพศตรงข้าม พอแก่ตัวเข้าก็หาความรักจากลูกหลาน

แท้ที่จริงแล้วความรักก็เหมือนกับการพึงพอใจอะไรบางอย่าง แต่มันก็เป็นอารมณ์ชั่วครู่ชั่วคราว สิ่งที่ทำให้ความรักเหมือนมีตัวตนคือ ความผูกพัน ที่เห็นได้เด่นชัดสุดคือ เวลาหนุ่มสาวเขาจีบกันก็ว่า เอ้อฉันรักเธอนะ แต่พอจีบติดก็กลายเป็นเบื่อไป

Advertisement

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

ความรักของหนุ่มสาวในวรรณคดีโบราณของไทยมีลักษณะเป็นแบบอุดมคติ ถ้ายิ่งเป็นเรื่องที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีอินเดียพระเอกนางเอกรักกันได้ก็เพราะ ถูกกำหนดด้วยเทวปกรณ์เช่น พระรามต้องคู่กับสีดา คือ พระนารายณ์คู่พระลักษมีเทวี หรือไม่ก็เป็นเพราะบุพเพสันนิวาส ผลเวรผลกรรมที่สร้างร่วมกันมา ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือเรื่องที่มาจากปัญญาสชาดก เช่น สังข์ทอง พระสังข์คืออดีตชาติของพระพุทธเจ้า นางรจนาคืออดีตชาติของพระนางพิมพา

แต่ถ้าจะทำให้ดูโรแมนติกขึ้นมาหน่อยก็เป็นเรื่องเทพอุ้มสม เช่น เรื่อง อนิรุทธ คงอาจจะมีแต่เรื่องขุนช้างขุนแผนเท่านั้นกระมังที่พระเอกกับนางเอกรักกันเพราะความพึงพอใจ ไม่ใช่ประเภทต้องไปยกศรหรือเสี่ยงพวงมาลัย

Advertisement

ภาพวาดบนฝาผนังพระอุโบสถ วัดบางยี่ขัน (ภาพจากหนังสือ เชิงสังวาส, 2541)

 

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ระบุว่า เมื่อความรักตามแบบวรรณคดีเป็นแบบอุดมคติ พระเอกในท้องเรื่องจึงไม่เคยอกหัก เหตุผลอีกประการคือ ท่านผู้ประพันธ์วรรณคดีไทยก็อยู่ในสังคมชั้นสูงมีศักดินาสูง ดังนั้นชีวิตจริงของท่านเหล่านั้นจะมีใครบ้างที่กล้าขัด เมื่อท่านต้องการ

“การอกหักหรือรักเขาข้างเดียวในวรรณคดีไทยโบราณมักจะไปปรากฏกับตัวรองมากกว่า เช่น ในเรื่องพระอภัยมณี อุศเรน อกหักจากนางสุวรรณมาลี และ ในเรื่อง อิเหนา ระตูจรกาอกหักจากนางบุษบา การให้ตัวรองเหล่านี้ต้องอกหักก็เพราะ ตัวละครเหล่านี้เป็นคู่แข่งของพระเอก หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นศัตรูหัวใจนั้นเอง ดังนั้นการที่ตัวรองอกหักจึงเป็นการเน้นย้ำถึงความสมหวังของพระเอก

นอกจากพระเอกในวรรณคดีโบราณจะไม่เคยอกหักแล้ว พระเอกก็ยังไม่เคยถูกนางเอกรวมถึงตัวละครที่เป็นผู้หญิงอื่นๆที่เข้ามาในชีวิตทอดทิ้งไปด้วย ประเภทที่เรียกว่าอยู่ดีๆ ฉันก็ทิ้งเธอไปหาชายอื่นนั้นเป็นไม่มี ประเด็นนี้ผมไม่นับเรื่องระเด่นลันไดกับกากี เพราะเรื่องระเด่นลันไดเป็นเรื่องล้อเลียน ส่วนเรื่องกากีเราไม่รู้ว่าใครกันแน่เป็นพระเอกของเรื่อง

 

ในทางตรงข้ามมีแต่พระเอกทิ้งเมียเพื่อไปหานางเอก เช่น พระลอเดินทางไปหาพระเพื่อนพระแพง ดังนั้นเราก็อย่าไปชะล่าใจว่าเป็นเมียหลวงเท่านั้นจะเป็นนางเอก ในวรรณคดีโบราณส่วนใหญ่เมียน้อยนั้นแหละคือตัวนางเอกบางทีหนักไปกว่าเดิมคือพระเอกทิ้งนางเอกให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย เช่น เรื่องพระรถเสน พระรถทิ้งนางเมรี

ทีนี้พระเอกในวรรณคดีไทยโบราณภาพลักษณ์ที่แสดงออกจะเป็นประเภทขาวเป็นขาว จะมีดำนิดดำหน่อยมาแต้มไม่ได้ เสียภาพลักษณ์ แต่การที่จะแก้ตัวในเรื่องการทอดทิ้งเมียเพื่อไปหานางเอกได้อย่างไร ตอบได้ง่ายมาก ที่หนีไปเพราะจำใจ คุณธรรมมันบีบบังคับ หรือ ที่ทำไปไม่รู้ตัวเพราะมีอำนาจมืดความครอบงำ เช่น พระลอถูกปู่เจ้าทำเสน่ห์ หรือ พระสมุทรโฆษถูกเทพอุ้มสม” ผศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

ถามว่าทำไมในวรรณคดีโบราณนางเอกรวมถึงหญิงอื่นๆ ทิ้งพระเอกไม่ได้ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ระบุว่า เพราะสังคมไทยในอดีตการที่ผู้ชายจะมีเมียหลายคนพร้อมกันเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าผู้หญิงมีผัวพร้อมกันทีเดียวหลายคนไม่ได้ เป็นเรื่องต้องห้าม ซ้ำโบราณเรายังสั่งสอนกันมาว่า สามีคือฉัตรแก้ว กั้นเกศ และที่สำคัญคนแต่งวรรณคดีโบราณก็เป็นผู้ชายไม่ใช่ผู้หญิง

“อารมณ์ของคนอกหักและคนถูกทอดทิ้งที่แสดงออกในวรรณคดีก็ดูเป็นอุดมคติอีกเหมือนกัน ตัวรองถูกนางเอกหรือข้างนางเอกปฏิเสธแทนที่โศกเศร้าคร่ำครวญร้องไห้เป็นเผาเต่า กลับแค้นใจว่าทำไมไม่รักฉัน ถึงขั้นต้องยกทัพไปชิงเธอมาให้ได้ ก็กลายเป็นอารมณ์ของศักดิ์ศรีไป

ภาพจิตรกรรมเชิงสังวาสที่วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี

 

ส่วนอารมณ์ของฝ่ายหญิงที่ถูกทอดทิ้งก็ไม่รำพันถึงความเศร้าจากการถูกทอดทิ้งเพราะเขาไม่รักเรา แต่กลับพรรณนาชีวิตที่ต้องมาตกระกำลำบาก การพรรณนาความพลัดพรากที่ชัดเจนสุดคือบทของนางเมรี แต่เศร้าไปกว่านั้นคือนางเมรีโศกเศร้าจนตรอมใจตาย” ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา เพื่อให้เรื่องราวดูสมจริงสมจังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพระเอกในนวนิยายรวมถึงในหนังในละครก็อกหักเป็น การอกหักในหนังในนิยายพระเอกก็ไม่ใช่อกหักตลอดไป แต่การอกหักของพระเอกคือการไปหาความรักที่แท้จริง และก็จบลงด้วยความรักซึ่งก็ยังมีกลิ่นอายของขนบโบราณที่ไม่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม พบน้อยมากที่ผู้ประพันธ์ รวมถึงผู้กำกับที่จะสร้างบทพระเอกอกหักในตอนจบ

ไม่ใช่เพียงแต่ในหนังในละครเท่านั้น แม้แต่ในเพลงไทยสากลตัวละครก็อกหักเป็นเหมือนกัน ตั้งแต่ยุคสุนทราภรณ์หรือก่อนหน้าเล็กน้อย ลงมาจนถึงปัจจุบัน สัดส่วนของเนื้อหาความอกหักดูจะมากกว่าสมหวัง ซึ่งผิดกับบทร้องในดนตรีไทยเดิมที่ไม่ค่อยปรากฏอารมณ์ความผิดหวังเพลงบางเพลงไม่ต้องถึงขนาดมานั่งฟัง แค่ได้ยินชื่อเพลงก็รู้ทันที เช่น เพลง “ความผูกพันซื้อความรักไม่ได้” หรือไม่บางครั้งแค่บอกชื่อนักร้องไม่ต้องฟังเพลง ก็เดาออกว่าเป็นเพลงเศร้าแน่เพลงประเภทไม่สมหวัง อกหัก พลาดรักที่ดังๆ ก็ดูเหมือนว่ามีอยู่หลายเพลงและกลายเป็นเพลงอมตะไปก็มี

“ถามว่าแล้วทำไมครูเพลงชอบนำอารมณ์เศร้าๆ มาแต่งเป็นเพลง ซึ่งผิดกับเพลงดนตรีไทยโบราณที่ไม่แสดงอารมณ์ความผิดหวังในความรัก ทั้งนี้อาจจะสืบเนื่องมาจากอารมณ์เศร้าเหล่านี้ไปโดนใจคนหลายคน ถึงแม้ว่าประสบการณ์ของผู้ฟังที่ซาบซึ้งกับเนื้อหาจะไม่ตรงกัน แต่เพียงแค่เนื้อเพลงใกล้เคียงก็พอ ฟังแล้วก็อดหวนกลับมาคิดถึงตนไม่ได้ ก็อาจจะมีหลายคนที่ฟังเพลงแล้วอินกับเพลงโดยที่ไม่อกหักก็ได้นะ ที่สำคัญถ้าเป็นความสมหวังในความรักประเภทเพลงที่ร้องกันในวันแต่งงานมักไม่ค่อยดังหรือไม่ค่อยนิยม คงจะเป็นเพราะนิสัยของคน ที่เรื่องยินดีก็เรื่องของเธอซิจะ เกี่ยวอะไรกับฉัน

อกหักแล้วเศร้าก็เพราะความไม่สมหวัง ถูกทอดทิ้งแล้วเศร้าเพราะความผูกพันที่ขาดสะบั้น ทั้งหมดนี้เป็นความทุกข์ทางใจ แต่ก็ยังพอให้อภัยได้ ถ้าเกิดจากคนที่เรารัก และก็สามารถเยียวยาให้หายได้ด้วยเวลาและการพบคนรักที่แท้จริง ดังนั้นจึงไม่สมควรจบด้วยความรุนแรง
แต่ความเศร้าที่เกิดจากการจากไปของคนรักแบบไม่มีวันที่จะได้พบกันอีกในขณะที่ยังมีความผูกพันนี่แหละถือว่าเป็นความโศกเศร้าที่เหลือประมาณ” ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image