15 พ.ค. 2021 เวลา 09:00 • หนังสือ
ชีวิตรัก "นางรอง" ในวรรณคดีไทย
.
วรรณคดีไทยเป็นวรรณกรรมหรือข้อเขียนที่ทรงคุณค่า ทั้งด้านวรรณศิลป์และด้านเนื้อหา สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาลึกซึ้งของผู้เขียน กับเรื่องราวที่กอปรด้วยความสนุกสนานและสอดแทรกข้อคิดเตือนใจ
.
เมื่อพูดถึงวรรณคดีไทย หัวข้อที่หนีไม่พ้นคือนางในวรรณคดี ไม่ว่าจะในแง่ของบทชมโฉม อุปสรรคความรัก ชีวิตที่ยากลำบาก ซึ่งการกล่าวถึงส่วนมากจะเน้นไปที่นางเอกและนางรอง โดย The MemoLife จะขอยกตัวอย่างนางรองที่มีชีวิตรักอันรันทด เป็นทั้งคนที่รักและหวังดี แต่กลับถูกไม่เห็นค่าเสียอย่างนั้น
.
1) ละเวงวัณฬา
นางละเวงวัณฬา ตัวละครหญิงจากเรื่องพระอภัยมณี บทประพันธ์โดยสุนทรภู่ ละเวงวัณฬาเป็นธิดาของกษัตริย์เมืองลังกา และเป็นน้องสาวของอุศเรน ผู้ที่เป็นคู่หมั้นกับนางสุวรรณมาลี ธิดาเมืองผลึก
เมื่ออายุได้ 16 ปี นางต้องสูญเสียบิดาและพี่ชายไปในสงครามระหว่างเมืองลังกาและเมืองผลึก เพื่อแย่งชิงสุวรรณมาลีกลับคืนจากพระอภัยมณี นางเสียใจจนแทบฆ่าตัวตาย แต่ด้วยความแค้นและบ้านเมืองกำลังขาดผู้นำ จึงขึ้นปกครองเมืองและตั้งใจแน่วแน่ที่จะแก้แค้นให้ได้
ละเวงวัณฬาเริ่มต้นด้วยการส่งภาพวาดของนางซึ่งทำเสน่ห์ไว้ ไปยังเมืองต่าง ๆ พร้อมแนบจดหมายชักชวนให้ทำศึกกับเมืองผลึก หากว่าใครชนะ นางพร้อมจะเป็นภรรยาและยกเมืองลังกาให้ แต่ทุกเมืองก็พ่ายแพ้ พระอภัยมณีจึงยกทัพไปตีเมืองลังกาบ้าง นางเลยใช้ความงามของตนกับมนต์เสน่ห์ให้พระอภัยมณีหลงรัก เพื่อหยุดยั้งสงครามและลดการสูญเสียไพร่พล
ความงดงามของละเวงวัณฬานั้นเป็นอย่างสาวฝรั่ง ยิ่งบวกกับเสน่ห์ที่นางทำ แม้จะเจอกันเพราะศึกสงคราม แต่ด้วยทั้งสองตกหลุมรักกันและกัน พระอภัยมณีก็ถึงกับให้คำมั่นสัญญาต่อนางว่า
- ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้หล้าสุธาธาร
ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา -
ท้ายที่สุดสุวรรณมาลียกทัพมาทวงคนรักคืน และสงครามระหว่างสองเมืองจบลงที่โยคีแห่งเกาะแก้วพิสดารมาเทศนาโปรด ความสันติสุขจึงกลับคืนมา เมื่อพระอภัยมณีออกบวช นางก็บวชตามไปปรนนิบัติรับใช้เช่นเดียวกับสุวรรณมาลี
.
2) ลักษณาวดี
นางลักษณาวดี จากเรื่องลิลิตพระลอ ยอดวรรณคดีประเภทลิลิต แนวโศกนาฏกรรมความรัก ปัจจุบันยังไม่ปรากฎนามผู้เขียน แต่คาดว่าเป็นเรื่องแต่งก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ลักษณาวดีคือนางในวรรณคดีที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักนัก ทว่ามีบทบาทเป็นถึงมเหสีคนแรกของพระลอ หากชีวิตรักแทบจะรันทดยิ่งกว่านางใด เพราะต้องเสียสามีไปให้ผู้หญิงที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วสามียังตายเพราะผู้หญิงสองคนนั้นอีก ซึ่งก็คือพระเพื่อนแก้วกับพระแพงทอง
พระเพื่อนกับพระแพง สองธิดาเมืองสรอง ขอให้ปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์ใส่พระลอ กษัตริย์เมืองสรวง จนพระลอต้องมนต์ ตรัสลาพระนางบุญเหลือ พระราชมารดา และพระนางลักษณาวดีมเหสี เพื่อไปเมืองสรอง โดยกล่าวว่าที่จากไปครั้งนี้ไม่ใช่เพราะเกลียดชังหรือหมดรัก แต่ยังรักและมีเยื่อใยอยู่เช่นเดิม กระนั้นลักษณาวดีก็ยังขอร้องไม่ให้ไป ความว่า
- ขอห้ามหวงเจ้าหล้า
อยู่ปกเกศเกล้าข้า
พระบาทท้าวอย่าไป ฯ -
แต่พระลอก็ตรัสตอบนางว่า
- ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง ตรึงแน่น อยู่นา
ตามแต่บาปบุญแล้ ก่อเกื้อรักษา -
ความสัมพันธ์ของตัวละครหลักชายและหญิงในเรื่องเป็นแบบพหุรัก อันหมายถึงการมีภรรยาหลายคน หรือสามีหลายคน ซึ่งลักษณาวดีไม่มีสิทธิ์ร่วมตัดสินใจในความสัมพันธ์ ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะบอกว่าตนยินยอมหรือไม่กับความสัมพันธ์แบบพหุรัก ไม่สามารถห้ามพระลอไปหาหญิงอื่นได้ และไม่มีอิสระในการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตของตน
.
3) จินตะหราวาตี
นางจินตะหราวาตีคือตัวละครในเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 จินตะหราเป็นพระธิดาของเท้ามันหยากับนางจินดาส่าหรี เกิดปีเดียวกับอิเหนาแต่อ่อนเดือนกว่า จึงมีฐานะเป็นน้อง จินตะหรานั้นรูปโฉมงดงามไม่แพ้ใคร ดั่งบทชมโฉมว่า
- งามงอนอ่อนระทวยนวยแน่ง
ดำแดงนวลเนื้อสองสี
ผ่องพักตร์ผิวพรรณดังจันทรี
นางในธานีไม่เทียมทัน -
และด้วยความงามของนางนี้เอง ทำให้อิเหนาตกหลุมรัก หลงใหลจนไม่อยากกลับบ้าน เพียรพยายามใกล้ชิดตลอดเวลา อาจกล่าวได้ว่าเป็นนางที่เกือบจะมัดใจอิเหนาได้ หากว่าภายหลังอิเหนาจะไม่ได้พบกับนางบุษบาซึ่งเป็นคู่หมั้นเสียก่อน
ก่อนการแต่งงานกับบุษบา อิเหนาหนีไปประพาสป่าและปลอมตัวเป็นโจรชื่อปันหยี เดินทางไปเมืองมันหยาเพื่อสู่ขอจินตะหรา แต่ท้าวมันหยาส่งให้ไปคุยกับเจ้าตัวเอง อิเหนาบอกกับจินตะหราว่าต่อให้บุษบาจะดีแค่ไหน ตนก็จะรักเพียงจินตะหรา ทว่าสุดท้ายคำสัญญาก็แผ่วเบาเพียงลมปาก คำตัดพ้อของจินตะหราก่อนอิเหนาไปช่วยบุษบากลับกลายเป็นจริง
- แล้วว่าอนิจจาความรัก
พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป
ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา -
จินตะหราที่เจอและรักก่อน กลับต้องเข้าพิธีแต่งงานพร้อมบุษบา แม้จะได้ตำแหน่งเป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวาซึ่งสูงกว่า แต่นั่นไม่สำคัญอะไรเลยเมื่ออิเหนาไม่ได้รักแล้ว ด้วยความที่นางถือทิฐิไม่ยอมคืนดีด้วย อิเหนาที่ยอมจำใจง้อจึงเสื่อมรักไปเอง จนบิดาและมารดานางตักเตือน นางถึงยอมคืนดีกับอิเหนา และอ่อนเข้าหาบุษบา
.
ทั้งละเวงวัณฬา ลักษณาวดี และจินตะหราวาตี ต่างก็มีชีวิตรักที่สมบุกสมบันหรือรันทดใจ ทัศนะของแอดมิน ละเวงวัณฬาทำผิดที่แย่งชิงคนรักของผู้อื่น แต่นั่นก็เป็นไปเพราะว่าบ้านเมือง ลักษณาวดีแม้จะน่าเศร้าใจที่เลือกเองไม่ได้ แต่นางไม่ผิดในเรื่องนี้เลย เพราะยุคสมัยนั้นชายเป็นใหญ่ ขณะที่จินตะหราวาตี ดันไปรักกับคนที่มีคู่หมั้นอยู่แล้ว จะว่าผิดหรือก็ไม่เต็มปาก เพราะนางคือคนที่ถูกรักก่อน
.
ข้อคิดสำหรับแอดมิน ในเรื่องของนางละเวงวัณฬา ทำให้เห็นว่าความรักที่มีต่อบ้านเมืองและประชาชนนั้นยิ่งใหญ่ แม้นางจะเสียใจแต่ก็หักห้ามใจไม่ฆ่าตัวตาย และพยายามรักษาบ้านเมืองไว้โดยให้เสียไพร่พลน้อยที่สุด
.
ในส่วนของนางลักษณาวดี ประโยคที่พระลอตอบนางนั้นนับว่าให้ข้อคิดบางอย่าง คือชีวิตคนเราไม่แน่นอน ทุกสิ่งมีการเปลี่ยนแปลง ภายใต้กฎของการกระทำ แม้แต่ความรักเองก็เช่นกัน หากเราเข้าใจในจุดนี้ เราก็จะไม่ช้ำเพราะรัก กระนั้นแอดมินก็ยังเห็นว่า แท้จริงนี่ก็เป็นเพียงข้ออ้างของพระลอเพื่อจะได้กระทำในสิ่งที่ตนอยากทำเท่านั้น
.
ขณะที่เรื่องของนางจินตะหราวาตี ชี้ให้เห็นว่าความรักที่มองแต่เพียงรูปลักษณ์ภายนอกของอิเหนา ก่อให้เกิดความทุกข์ใจมากมาย ทั้งรักนั้นยังไม่จีรังมั่นคง ต่างกับรักที่มองลึกถึงข้างในใจผู้อื่น
.
แล้วเพื่อน ๆ ล่ะคะ มีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง คอมเมนต์กันเข้ามาได้เลยนะคะ
โดย แอดมินแพรวา
ตัดต่อรูปโดย แอดมินใบเตย
#นางรองในวรรณคดีไทย #Entertainment #TheMemoLife
โฆษณา