รมช.ศธ. “คุณ​หญิง​กัลยา”​ ติดตาม​โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน รร.เชียงดาววิทยาคม ​จ.เชียงใหม่​

(3 กุมภาพันธ์​ 2565) ดร.คุณ​หญิง​กัลยา​ โสภณ​พ​นิช​ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​ศึกษาธิการ​ พร้อมด้วย ดร.เกศ​ทิพย์​ ศุภวานิช รอง​เลขาธิการ​คณะกรรมการ​การศึกษา​ขั้นพื้นฐาน​ ลงพื้น​ที่นิเทศติดตามเชิงประจักษ์ เพื่อให้เห็นสภาพจริงการจัดการเรียนรู้โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) ณ โรงเรียน​เชียงดาว​วิทยาคม​ อำเภอ​เชียงดาว จังหวัด​เชียงใหม่​

รับชมภาพกิจกรรม
ที่ รร.เชียงดาววิทยาคม

ดร.ภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผอ.สำนัก​บริหาร​งานความเป็นเลิศ​ด้านวิทยาศาสตร์​ศึก​ษา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)​ ได้ดำเนินโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน เพื่อเน้นการสร้างผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าและคุณภาพที่เพิ่มมากขึ้น ในพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่อย่างจำกัด ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) โดยเน้นการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ STEAM Education ที่บูรณาการรายวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ คณิตศาสตร์ และวิทยาการคำนวณ กับการทำเกษตรแบบประณีตในโรงเรียน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะและสามารถนำองค์ความรู้มาสู่การปฏิบัติ ตลอดจนนำประสบการณ์ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้ภายในโรงเรียนและนำไปสู่การผลักดัน ให้เกิดการยกระดับกระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้าภาคเกษตร ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ในปีงบประมาณ 2564 ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน โดยมีโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 6 โรงเรียน ดังนี้

  1. โรงเรียนห้วยสักวิทยาคม จังหวัดเชียงราย
  2. โรงเรียนชุมชนดอยช้าง จังหวัดเชียงราย
  3. โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่
  4. โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่
  5. โรงเรียนเวียงมอกวิทยา จังหวัดลำปาง
  6. โรงเรียนศรีสังวาลย์ จังหวัดเชียงใหม่

โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน จำนวนเงิน 1,200,000 บาท ซึ่งรูปแบบการเรียนรู้ตามแนวทางของโครงการ 5 ระยะ คือ รู้จักพื้นที่ เรียนรู้วางแผน ริเริ่มปฏิบัติการ รวบรวมพัฒนา และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขยายผล ซึ่งทางโรงเรียนเชียงดาววิทยาคม เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างดียิ่ง

ดร.คุณ​หญิง​กัลยา​ โสภณ​พ​นิช​ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​ศึกษาธิการ​ กล่าวว่า โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน มีโรงเรียนนำร่อง 6 โรงเรียน ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยม ใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 เดือนก็สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ 5 ขั้นตอนทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มากนัก นำ STI มาประยุกต์ใช้ในฟาร์มและใช้เทคโนโลยีโดยเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อน อีกทั้งยังแก้ปัญหา​ในพื้นที่​ด้วยวิทยาศาสตร์​ เช่น แก้ไขปัญหา​น้ำแล้งดินเลวให้สามารถ​เพาะปลูก​พืชผัก​ได้โดยการใช้ปูนขาวปรับสภาพ pH ของดินให้เหมาะสม​ เป็น​ต้น

ขณะเดียวกัน​โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียนนั้น จะทำให้กระบวนการคิดของเด็กเปลี่ยนไป หรือเรียกว่า Coding for Farm โดยมีกระบวนการคิดวางแผน ลงมือทำอย่างเป็นระบบ สามารถ​ประยุกต์​ใช้ความรู้ให้เป็นทักษะชีวิต​สอดคล้องกับ​หลักสูตร​ฐานสมรรถนะ​ของกระทรวง​ศึกษาธิการ​ ทำให้เด็กมีความสุข มีความมั่นใจ รวมถึง​ช่วยลดภาระของผู้ปกครองและสร้างรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนสังกัด สพฐ. สมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มกว่า 600 โรงเรียนแล้ว

นายณัฏฐ​ยศ ป่าหลวง ผอ.โรงเรียน​เชียงดาว​วิทยาคม​ กล่าวถึง​ผลงานนวัตกรรมเด่นในโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ได้แก่

  • ระบบจ่ายน้ำอัตโนมัติในโรงเรือนเมล่อน เป็นการควบคุมการจ่ายน้ำโดยการตั้งเวลาผ่านอุปกรณ์ Microcontroller board EPS8266 ออกแบบคำสั่งผ่านแอปพลิเคชัน Blynk บนสมาร์ทโฟน ผ่านระบบอินเทอร์เนตไร้สาย (WiFi) การให้น้ำแบ่งออกเป็น 3 ช่วงต่อวัน โดยปล่อยน้ำช่วงละ 30 นาที การทำงานของอุปกรณ์แบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบอัตโนมัติ และระบบสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟน
  • เครื่องให้อาหารปลาอัตโนมัติ เป็นควบคุมการให้อาหารปลาโดยการตั้งเวลาผ่านอุปกรณ์ Microcontroller board EPS8266 ออกแบบคำสั่งผ่านแอปพลิเคชัน Blynk บนสมาร์ทโฟน โดยตั้งเวลาการให้อาหารปลาวันละ 2 ครั้ง ในเวลาเช้า-บ่าย จุดเด่นของอุปกรณ์คือออกแบบโดยใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น ขวดน้ำ ถังขยะ โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงลอยตัว
  • ระบบควบคุมการจ่ายน้ำแบบพ่นหมอกในโรงเพาะเห็ด ควบคุมการทำงานของระบบโดยบอร์ดควบคุมเซ็นเซอร์ DHT11 ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศผ่านโปรแกรม Aruino IDE เพื่อควบคุมการทำงานของ Microcontroller board EPS8266 เมื่อความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศในโรงเรือนต่ำกว่า 70% บอร์ดควบคุมจะสั่งการให้ระบบเปิดวาล์วน้ำ จนกระทั่งความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศในโรงเรือนมากกว่า 90% บอร์ดควบคุมจะสั่งการให้ปิดระบบวาล์วน้ำ การสั่งการระบบผ่านแอปพลิเคชัน Blynk บนสมาร์ทโฟน

โอกาส​นี้ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวงศึกษาธิการ​ เป็นประธา​นพิธีลงนาม MOU ความร่วมมือโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) ของโรงเรียน​เชียงดาว​วิทยาคม​ กับหน่วยงานความร่วมมือ เพื่อต่อยอดการพัฒนา​องค์​ความรู้​ทางเกษตร เทคโนโลยี​ และขายผลผลิต​จากโครงการต่อไป

รับชมภาพเพิ่มเติม Facebook

ปารัชญ์ ไชย​เวช​ / สรุป​
ธนภัทร จันทร์​ห้างหว้า, สมประสงค์​ ชาหารเวียง / ถ่ายภาพ​และวีดิทัศน์

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑