ARTWORKS ARTISTS BOOKS EXHIBITION BLOG
INFORM and DELIGHT

ศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะนามธรรม Wassily Kandinsky

INFORM and DELIGHT

ศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะนามธรรม Wassily Kandinsky


วาสซิลี คานดินสกี (Wassily Kandinsky) (16 ธันวาคม 1866 - 13 ธันวาคม 1944) เป็นศิลปินสมัยใหม่คนสำคัญผู้บุกเบิกศิลปะแนวนามธรรมขึ้นมาเป็นคนแรกๆ ของโลก 

เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นสูง ที่กรุงมอสโคว์ ในช่วงวัยเยาว์ เขาร่ำเรียนทางด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ จบมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จนเมื่อเขาได้ดูภาพวาดของ โฆลด โมเน่ต์ (Claude Monet) ศิลปินผู้ก่อตั้งกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์ (impressionism) แห่งฝรั่งเศส และเกิดความประทับใจจนทำให้เขาลาออกจากการเป็นอาจารย์และหันเหมาเป็นจิตรกรแทน ในช่วงแรกๆ เขาวาดภาพที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนิทานพื้นบ้านและเทพนิยายของรัสเซีย เขาวาดภาพทิวทัศน์ เมือง และสิ่งต่างๆ รอบตัวออกมาในแบบที่พอจะดูรู้เรื่องบ้าง ด้วยการใช้สีที่ฉูดฉาดจัดจ้านและฝีแปรงที่หยาบกระด้างรุนแรงในแบบศิลปะโฟวิสม์ (Fauvism) และ เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Expressionism) ผลงานที่สำคัญของเขาในช่วงนี้คือ Der Blaue Reiter (1903) ซึ่งเป็นการใช้สีสันในการแสดงออกถึงประสบการณ์ของศิลปินที่มีต่อสิ่งที่เขาวาดมากกว่าจะเป็นการพยายามลอกเลียนแบบให้เหมือนธรรมชาติเป๊ะๆ

Improvisation_27,_Garden_of_Love_II (1912)

Composition 6-1 (1913)

Composition 7 (1913)

ต่อมาเขาค่อยๆ ลดทอนส่วนประกอบที่บอกเล่าเรื่องราวออกจากภาพวาดของเขาจนเหลือแต่องค์ประกอบของสีสัน รูปทรง เส้นสายที่ทับซ้อนกันอย่างอิสระ ซึ่งหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของการริเริ่มศิลปะแบบนามธรรมของเขาขึ้นมาก็คือเสียงดนตรีนั่นเอง (ว่ากันว่าคานดินสกี้มีอาการทางสมองที่ประสาทสัมผัสทั้งสี่อย่างการมองเห็นสีสัน การได้ยิน การสัมผัส และกลิ่น ผสมผสานปนเปเข้าด้วยกันอย่างแยกไม่ออก ในทางการแพทย์เรียกอาการแบบนี้ว่า Synesthesia (อ่านว่า ซินเนสเตเซีย) ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือเวลาที่ได้ยินเสียง ได้กลิ่น หรือสัมผัสอะไรก็จะมองเห็นเป็นสีสัน หรือไม่ก็ได้ยินเสียงจากภาพอะไรทำนองนั้นนั่นแหละ)

ด้วยความที่ดนตรีมีความเป็นนามธรรมตามธรรมชาติ มันไม่จำเป็นต้องนำเสนอหรือบอกเล่าเรื่องราวของโลกภายนอก หากแต่แสดงออกถึงความรู้สึกภายในจากจิตวิญญาณของผู้เล่น คานดินสกีมองว่าดนตรีเป็นรูปแบบอันเลอเลิศที่สุดของงานศิลปะที่ไม่บอกเล่าเรื่องราว นักดนตรีสามารถสร้างภาพในจิตใจของผู้ฟังด้วยเสียงดนตรีของพวกเขาโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเรื่องราวจากเนื้อร้องด้วยซ้ำ คานดินสกีพยายามที่จะวาดภาพที่ไร้รูปแบบเรื่องราวที่ดูรู้เรื่อง หากแต่อุดมไปด้วยจิตวิญญาณ เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันเป็นเอกภาพแบบเดียวกันกับที่ดนตรีทำได้ บ่อยครั้งที่คานดินสกีใช้ดนตรีเป็นตัวอ้างอิงในการอธิบายถึงผลงานของเขา อีกทั้งยังตั้งชื่อผลงานของเขาว่า Improvisations (การด้นสด) ซึ่งเป็นศัพท์แสงทางดนตรีแจ๊สอีกด้วย

In Grey (1919)

เขาใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างสีและรูปทรงเพื่อสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะที่เชื่อมโยงกับการเห็น การได้ยิน อารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม เขาเชื่อว่าสภาวะนามธรรมอันบริสุทธิ์นั้นเปิดโอกาสให้คนเราแสดงออกถึงจิตวิญญาณอันลึกซึ้งสูงส่งภายใน ซึ่งการทำงานศิลปะที่เลียนแบบธรรมชาติไม่อาจทำได้ ด้วยความต้องการในการสร้างงานศิลปะที่สื่อสารความรู้สึกที่เป็นสากลของจิตวิญญาณ เขาคิดค้นภาษาทางภาพที่แทบจะไม่เชื่อมโยงกับโลกภายนอก แต่แสดงสภาวะและประสบการณ์ภายในของตัวศิลปินออกมา 

Composition 10 (1939)

สำหรับคานดินสกี การวาดภาพเป็นกิจกรรมทางจิตวิญญาณ เขาพยายามที่จะถ่ายทอดจิตวิญญาณอันลึกซึ้งและอารมณ์ความรู้สึกอันลึกล้ำของมนุษย์ผ่านภาษาภาพอันเป็นสากลของรูปทรงและสีสันแบบนามธรรมที่อยู่เหนือขอบเขตทางกายภาพและวัฒนธรรมใดๆ ก็ตาม

เขามองว่าศิลปะนามธรรมที่ไม่บอกเล่าเรื่องราวนั้นเป็นรูปแบบทางภาพในอุดมคติที่จะแสดง “ปัจจัยภายใน” ของศิลปิน และจะถ่ายทอดความคิดและอารมณ์ความรู้สึกอันเป็นสากลของมนุษย์ออกมา เขามองตนเองประหนึ่งศาสดาพยากรณ์ที่มีภารกิจในการแบ่งบันอุดมคตินี้ให้แก่โลกเพื่อสังคมที่ดีขึ้นกว่าเดิม

คานดินสกีเป็นผู้สร้างรากฐานอันสำคัญของศิลปะสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 20 และเป็นผู้บุกเบิกศิลปะแนวนามธรรมขึ้นมาเป็นคนแรกๆ จนได้รับฉายาว่าเป็น บิดาของศิลปะนามธรรม เลยทีเดียว

ขอบคุณภาพจาก https://bit.ly/2Ly6PHx

#Xspace #art #artist #informanddelight #wassilykandinsky #fatherofabstractart #pioneer #abstract #music #improvisations #inspiration #แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ

ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะและงานสร้างสรรค์ที่สนุกสนานและน่าสนใจได้ที่ Xspace

▪️Facebook : Xspace

▪️Twitter : twitter.com/Xspaceart

▪️Instagram : instagram.com/Xspaceartgallery

▪️Pinterest: https://pin.it/5eLSb64

▪️Official Line : @xspace or click https://lin.ee/IoAkEaF

.

.

.

“The Purpose of Art is to Inform and Delight.”

“เป้าหมายของศิลปะ คือการมอบความรู้ และความพึงพอใจ”

เป็นคำกล่าวของ ฮอเรซ กวีเอกแห่งยุคโรมันโบราณ ที่ มิลตัน เกลเซอร์ ดีไซเนอร์ระดับตำนานโปรดปราน จนถูกหยิบเอามาใช้เป็นชื่อสารคดีชีวประวัติของเขา

ด้วยเหตุนี้เราจึงหยิบเอาส่วนหนึ่งของประโยคนี้มาใช้เป็นชื่อคอลัมน์โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ คอลัมนิสต์ศิลปะผู้เล่าเรื่องราวอ่านง่าย ไม่ต้องปีนกระได ที่หยิบเอาเกร็ดความรู้และความเพลิดเพลินจากศิลปะมาเล่าสู่ให้อ่านกันในทุกสัปดาห์ ในคอลัมน์ที่มีชื่อว่า INFORM and DELIGHT






More to explore