องค์ความรู้ทางวัฒนธรรม >> โบราณสถาน โบราณวัตถุ
พระบรมธาตุทุ่งยั้ง

วันที่ 1 มี.ค. 2565

พระบรมธาตุทุ่งยั้ง
 
ตั้งอยู่ที่วัดพระบรมธาตุ หมู่ที่ ๓ ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด จากการศึกษารูปแบบศิลปกรรมสันนิษฐานว่า เป็นโบราณสถานที่มีมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย สันนิษฐานว่าเจดีย์ประธานเดิมคงจะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาเป็นทรงลังกาดังที่ปรากฏในปัจจุบัน จากตําแหน่งที่ตั้งวัดคงจะเป็นวัดที่สําคัญประจําเมือง อีกทั้งหลักฐานทางโบราณคดียังชี้ให้เห็นว่าเมืองทุ่งยั้ง เป็นเมืองโบราณร่วมสมัยกับสุโขทัยและศรีสัชนาลัย วัดแห่งนี้จึงน่าจะสร้างควบคู่กับการสร้างเมือง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก สันนิษฐานว่าพระยาศรีธรรมโศกราชที่กล่าวถึงในตํานาน เป็นเจ้าผู้ครองเมืองสุโขทัยได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ในถ้ำใต้ดิน โดยขุดลงไปเป็นถ้ำแล้วก่อพระธาตุไว้ พระยาศรีธรรมโศกราชนี้สันนิษฐานว่าคือสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยรัตนโกสินทร์ พญาตะก่า พ่อค้าไม้ชาวพม่ามีศรัทธาแรงกล้าขออนุญาตทําการบูรณะ พระมหาธาตุเจดีย์ โดยได้นําฉัตรมาติดยอดพระมหาธาตุเจดีย์ และสร้างเจดีย์องค์เล็ก ที่ฐานชั้นล่างทั้ง ๔ มุม สันนิษฐานว่า การบูรณะของพญาตะก่าครั้งนี้ คงจะทําการซ่อมเสร็จก่อนเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ เนื่องจาก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๔ ส่วนหนึ่งความว่า "หลังพระวิหารมีพระธาตุสูงเห็นจะเกือบ ๒๐ วา เป็นรูปเจดีย์พม่าใหม่ อล่องฉ่อง พระสีหสงครามว่าพระธาตุเดิมเล็ก นี่เขาทําบวกเข้าใหม่เมื่อสองเดือนนี้ ช่างพม่ารับจ้างทำอย่างพม่า พร้อมทั้งประตูกําแพงแก้วด้วยรูปร่างทําใหม่ก็ดีอยู่” โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สําคัญ ประกอบด้วยเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ฐานสี่เหลี่ยม กว้าง ๒๒.๒๐ เมตร ยาว ๒๒.๒๐ เมตร สูง ๒๕ เมตร ประกอบด้วยฐานเขียงซ้อนกัน ๓ ชั้น ลดหลั่นกันไป ฐานชั้นล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ถัดขึ้นไปก่อด้วยอิฐและศิลาแลง ฉาบด้วยปูน ที่ฐานเขียงชั้นล่างทั้ง ๔ มุม มีเจดีย์ขนาดเล็กทรงระฆัง ตรงกลางเรือนธาตุของเจดีย์ประธานทั้ง ๔ ด้าน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทับยืนอยู่ภายในซุ้มจรนํา เล่ากันว่าเจดีย์ประธานนี้ แต่เดิมมียอดสูงสวยงามมาก แต่ได้เกิดหักลงมาเมื่อคราวเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ต่อมาหลวงพ่อแก้วได้ร่วมกับชาวบ้านบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ และมีอุโบสถ วิหาร ล้อมรอบด้วยกําแพงแก้วซึ่งก่อด้วยศิลาแลง เจดีย์ประธานตั้งอยู่ด้านหลังของวิหาร และอุโบสถ
pic

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว



ปฏิทินกิจกรรม
« พฤษภาคม 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
    1 2 3 4
5 6 7 8 9 10 11
12 13 14 15 16 17 18
19 20 21 22 23 24 25
26 27 28 29 30 31
ดูปฏิทินทั้งหมด


สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ชั้น ๑
ถนนประชานิมิตร ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ๕๓๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๕๕-๔๐๓๐๙๓ โทรสาร ๐๕๕-๔๐๓๐๙๒
ติดต่อผู้ดูแลระบบ Uttaradit_culture@hotmail.com

สายด่วนวัฒนธรรม
Copyright © 2015 m-culture.go.th กระทรวงวัฒนธรรม