1. สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ เสด็จพระราชสมภพ ณ หาดใหญ่ จ.สงขลา

พลเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ณ ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีพระนามเดิมว่า สุทิดา ติดใจ ครอบครัวของพระองค์เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ทรงเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา จากนั้นจึงทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ณ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จนจบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2543

2. เดิมทรงเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ในช่วงเวลานั้นพระองค์ทรงเข้าเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท แจลเวย์ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2543 – พ.ศ. 2546 และทรงเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2551 ทรงใช้ชีวิตแบบสามัญชนทั่วไป

3. เริ่มเข้ารับราชการ ตำแหน่ง “พลเอกหญิง”

ต่อมาทรงเข้ารับราชการทหารในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งสูงสุด เป็นรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) ทั้งยังทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชองครักษ์เวรในพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์

4. การปฏิบัติหน้าที่ในราชการทหาร

ย้อนกลับไปในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ (ในเวลานั้นคือพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์) ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพล

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ได้ตามเสด็จในพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีน ณ พระที่นั่งอัมพรสถานฯ และปรากฏตัวอีกครั้งในวันประสูติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ในปีเดียวกัน

ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ทางกองพระราชพิธี สำนักพระราชวังได้เผยแพร่รายงานการเสด็จพระราชดำเนินที่พระองค์ได้ตามเสด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติไปทอดพระเนตรพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเพิ่มเติมเป็น วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา (มีหมายกำหนดการระบุชื่อสกุลดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีเดียวกัน)

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่ยังทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมาร พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชพิธีถวายน้ำสรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 พระองค์ทรงนำทำการแสดงทางทหารประกอบดนตรี “ราชวัลลภ เริงระบำ” (Hop to the Bodies Slams) ในงานวันราชวัลลภได้อย่างสง่างามและเข้มแข็ง ในฐานะผู้บังคับการกองผสม

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560 มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจตุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน) ให้แก่ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา อีกทั้งได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเพิ่มเติมเป็น ท่านผู้หญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา

5. สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินีสุทิดา 1 พ.ค. 62

วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระราชินีสุทิดา” ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์

ต่อมาในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสุทิดาขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมราชินี” ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี”

6. “สมเด็จพระราชินี” องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี!

หากไล่เรียงรายพระนาม “สมเด็จพระบรมราชินี” แห่งราชวงศ์จักรีไทย พบว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี” ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมราชินีองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี โดยมีรายพระนามสมเด็จพระราชินีทั้งหมด ได้แก่ 

  • สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 1
  • สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2
  • สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 4
  • สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 6
  • สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7
  • สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 9
  • สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 10

(*หมายเหตุ: ผู้ที่จะได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระราชินี” คือ พระอัครมเหสีในพระมหากษัตริย์ยังไม่ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และหากพระมหากษัตริย์ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ก็สามารถสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมราชินี” ได้)

7. ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยราชการในพระองค์

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมการบังคับบัญชาหน่วยราชการในพระองค์ ข้าราชการและข้าราชบริพารในกรมกิจการในพระบรมวงศานุวงศ์ ขึ้นตรงกับ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป โดยพระองค์เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการ ดังนี้

  • กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
  • กองราชสำนักสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
  • กองศิลปาชีพ
  • สถาบันสิริกิติ์
  • มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
  • นางสนองพระโอษฐ์และคุณข้าหลวงในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

รวมพระราชกรณียกิจสำคัญๆ ที่ผ่านมา

พระราชกรณียกิจแรกในฐานะสมเด็จพระราชินี

ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชินี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 แล้วนั้น พระราชกรณียกิจแรกในฐานะสมเด็จพระราชินี คือโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า นำมาซึ่งความปลื้มปีติของพสกนิกรเป็นล้นพ้นที่ได้ยลพระสิริโฉมอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก

พระราชกรณียกิจวันสตรีไทย ปี 2562

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2562 ภายใต้แนวคิด ‘สายธารแห่งพระบารมี สู่การพัฒนาสตรีที่ยั่งยืน’ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงดำรงพระองค์เป็นพุทธมามกะ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นเครื่องทรงฤดูฝน เครื่องทรงฤดูหนาว และเครื่องทรงฤดูร้อน

นอกจากนั้นแล้ว เมื่อถึงฤดูกาลทอดกฐิน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จฯ ไปในการถวายผ้าพระกฐินในพระอารามหลวงต่างๆ

พระราชกรณียกิจด้านการทหาร

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงดำรงพระยศ พลเอก (พิเศษ) หญิง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี รองผู้บัญชาการสูงสุด หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ในพิธีสวนสนามวันกองทัพไทยปีนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ไปในพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณของทหารและตำรวจ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และวันกองทัพไทย 18 มกราคมของทุกปี ณ ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี โดยปีนี้เป็นการสวนสนามครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกในรัชสมัยปัจจุบัน

พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา

สมเด็จพระนาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงสำเร็จการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อ พ.ศ. 2543 เมื่อมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญได้จัดงานเฉลิมฉลอง 50 ปี แห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานงานเฉลิมฉลอง และทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขต สุวรรณภูมิ

พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรโครงการพระราชทานความช่วยเหลือประชาชน ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ณ กรมทหารรักษาวังมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เช่น การเย็บถุงพระราชทาน การสาธิตทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การทำ Silk Screen ลงบนผ้า เพื่อนำมาเย็บเป็นถุงผ้าพระราชทาน ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงเย็บหน้ากากผ้าสำหรับเป็นตัวอย่างให้กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์นำไปผลิตเพื่อพระราชทานแก่ข้าราชบริพารและราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์สื่อสาร จำนวน 8 คัน ให้แก่ ศูนย์อำนวยการแพทย์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า จำนวน 4 แห่ง นับเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่พสกนิกรเป็นอย่างยิ่ง