Blog-Tamroy-EP09-800x420
Lifestyle

ตามรอยพ่อขี่มอไซค์ไป 38 โครงการหลวง : โครงการหลวงป่าเมี่ยง โครงการหลวงตีนตก โครงการหลวงแม่ทาเหนือ โครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม

             หลังจากได้สัมผัสวิถีชาวบ้านที่ บ้านแม่จันใต้ บ้านห้วยน้ำริน และ บ้านห้วยน้ำกือ กันแล้ว ก็ถึงเวลาที่พวกเราต้องเดินทางต่อไปยังโครงการหลวงต่อไป

https://youtu.be/G_ihczGY6NM ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง
พาเจ้ามอเตอร์ไซค์คู่ใจไปชมสวนกาแฟในป่าบนเขาสูง
 
            ภายหลังจากพักผ่อน ดื่มชา ชมวิวที่บ้านห้วยน้ำกือ กันจนหายเหนื่อยแล้ว พวกเราก็ออกเดินทางกันต่อ พอเราออกจากหมู่บ้านแล้ว พวกเราก็ต้องเดินทางย้อนกลับออกมา เพื่อไปยัง โครงการหลวงป่าเมี่ยง ซึ่งมีทางเข้าอยู่ในเขตอำเภอดอยสะเก็ด โดยเส้นทางที่กำลังนำพาเราไปตอนนี้ก็เป็นเส้นทางที่ร่มรื่น ไม่ค่อยมีรถราสัญจรไปมามากนัก ก็ช่วยให้พวกเราขับขี่กันไปได้แบบสบาย ๆ หน่อย หลังจากที่เจอทางวิบากติด ๆ กันตลอดในตอนที่แล้ว มีทางชิลมาตัดบ้างก็ดีเหมือนกัน
             
              โครงการหลวงป่าเมี่ยง เป็นโครงการหลวงที่ไม่ใหญ่มากนัก มีส่งเสริมให้ชาวบ้านเพาะปลูกกาแฟ และสิ่งที่พวกเราอยากเห็นยิ่งกว่าอะไรทั้งหมดนั้นก็คือ สวนกาแฟ ของเขานี่แหละ เพราะสวนกาแฟของที่นี่นั้นจะปลูกอยู่ในพื้นที่ป่า ซึ่งวิธีปลูกแบบนี้ก็จะมีความคล้ายคลึงกันกับ โครงการหลวงแม่ลาน้อย อาจจะมีแตกต่างกันบ้างนิดๆ หน่อยๆ ตามสภาพพื้นที่แต่ละแห่ง โดยที่ โครงการหลวงป่าเมี่ยง ก็จะปลูกในพื้นที่ป่าบนภูเขาสูง ทำให้เส้นทางที่จะเข้าไปที่สวนกาแฟชันพอสมควร แต่มอเตอร์ไซค์ยามาฮ่าของพวกเราก็พากันขึ้นมาได้อย่างสบาย
 
 
             หลังจากที่พวกเราเดินชมพื้นที่ในการปลูกกาแฟเสร็จแล้ว เมื่อพวกเรากลับลงมาข้างล่าง ก็มีโอกาสได้เดินเข้ามาดูโรงบ่ม ซึ่งในวันนี้ทางโครงการก็กำลังบ่มเห็ดให้แห้งอยู่พอดี
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก
จากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสวยงามอีกแห่งหนึ่งของโครงการหลวง
 
            และเมื่อเราได้ชมกาแฟ ดูโรงบ่ม จาก โครงการหลวงป่าเมียง กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกเราก็ออกเดินทางไปตามเส้นทางบนทิวเขาเช่นเคย ซึ่งเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางเดี่ยวกันกับที่ใช้เดินทางไปบ้านแม่คำปอง ที่ตอนนี้นับเป็นเส้นทางยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้ให้ความสนใจและเริ่มมีนัท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวกันมากขึ้น โดยที่ โครงการหลวงตีนตก นี้ถือเป็นโครงการหลวงที่ถูกก่อตั้งขึ้นจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับก่อสร้างศูนย์ฯ ตีนตก ด้วยจำนวนเงิน 300,000 บาท เพื่อจัดตั้งให้เป็นศูนย์พัฒนา สาธิต และส่งเสริมการเพาะเห็ดหอม และการปลูกกาแฟเป็นอาชีพเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ นอกเหนือจากการปลูกเมี่ยง
 
           นอกจากนี้ที่นี่ยังสนับสนุนให้ชาวบ้านเพาะปลูกพืชอื่น ๆ อีก เช่น ไม้กระถางอย่างบิโกเนีย กล้วยไม้ ลิปสติก ปีกผีเสื้อ ฯลฯ ไม้ผลอย่างบ๊วย ลองกอง แก้วมังกร และเสาวรส แล้วก็วานิลลา  อีกทั้ง โครงการหลวงตีนตก ยังเป็นสถานที่ที่เน้นเรื่องการท่องเที่ยวด้วย สังเกตได้จากสถานที่ที่สวยงาม มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวชมและพักผ่อนเป็นจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ก็สนใจเข้ามาทัศนศึกษากันมาก ส่วนที่พักของที่นี่ถ้าเพื่อน ๆ อยากจะลองมาพักกันล่ะก็ แนะนำว่าควรจองล่วงหน้าหลายเดือนหน่อย เพราะที่พักสวย ๆ มักจะมาคู่กับคิวจองยาวพอสมควร  ซึ่งที่นี่ก็จะมีการสาธิตการปลูกดอกไม้หลากหลายชนิดในโรงสาธิตการเพาะปลูก แต่ที่สะดุดตาเรามากที่สุดก็คือมะเขือการ์ตูน รูปทรงแปลก ๆ ที่พวกเราไม่เคยเห็นมาก่อน เราไปยืนก้ม ๆ เงย ๆ ดูเจ้ามะเขือสีเหลีองสดใสหน้าตาเหมือนมิกกี้เม้าส์นี่อยู่เป็นนานสองนาน แล้วก็ไม่รู้ว่าเพราะสีสด ๆ ของมันหรือเปล่า ที่ทำให้เรารู้สึกอยากจะลองเอาเข้าปากชิมดูสักคำ แต่ติดตรงที่มันกินไม่ได้นี่สิ
 
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ
สวนป่า และ พระหวาน 3 สี
 

             จริงๆ เราก็ยังรู้สึกฉงนกับมะเขือการ์ตูนอยู่ แต่เมื่อดูเวลาก็รู้ว่าต้องออกเดินทางต่อได้แล้ว ไม่อย่างนั้นจะไปอีก 2 ที่ ซึ่งวางแผนไว้ไม่ทัน ซึ่งเส้นทางในการเดินทางเป็นเส้นทางระหว่างภูเขา ที่สองข้างทางเป็นป่าสลับกับทุ่งนา ทำให้สดชื่นมากตลอดการเดินทาง  โครงการหลวงแม่ทาเหนือ เป็นโครงการหลวงขนาดเล็ก อยู่ค่อนข้างไกล เริ่มก่อตั้งครั้งแรกในรูปโครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือ เมื่อปีพ.ศ. 2521 ตามพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อช่วยราษฎรในชุมชนแม่ทาเหนือให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาการบุกรุกทำลายป่า การดำเนินงานในช่วงแรกทางโครงการหลวงนั้นจะได้รับความร่วมมือจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ในรูปการปลูกสร้างสวนป่า โดยมุ่งหวังให้ราษฎรมีรายได้จากการดูแลรักษาป่าไม้ ต่อมาได้เริ่มพัฒนาด้านอาชีพให้กับชาวบ้าน และได้มีการส่งเสริมการปลูกผักเป็นงานหลัก โดยเฉพาะพริกหวาน 3 สี แต่น่าเสียดายที่ตอนนี้ยังไม่โตเต็มที่ เลยได้เห็นแค่ต้นเขียว ๆ อยู่ นอกจากนี้ โครงการหลวงแม่ทาเหนือ ยังมีการรับซื้อเสาวรสจากชาวบ้าน ที่ปลูกเพื่อส่งให้กับโครงการหลวงอีกด้วยและนอกเหนือจากการเพาะปลูกแล้ว ด้านงานหัตถกรรมพื้นบ้านก็นับเป็นอีกอย่างหนึ่งที่มีการสนับสนุนให้ชาวบ้านทำเป็นอาชีพเสริมโครงการหลวงแม่ทาเหนือ มีพื้นที่รับผิดชอบ 254 ตร.กม. หรือ 158,750 ไร่ ครอบคลุม 3 ตำบล คือ ตำบลออนเหนือ ตำบลทาเหนือ และตำบลแม่ทา มีประชากรอาศัยราว 8,173 คน ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองและชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา ด้านทิศเหนือมีแม่น้ำแม่ทาไหลผ่าน ทางทิศใต้เป็นภูเขาสูง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม
ทรงเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยวิธีการอันแยบคาย
               เมื่อเราเที่ยวชมจาก โครงการหลวงแม่ทาเหนือ เสร็จ เราก็ต้องเตรียมตัวเดินทางไกล เพื่อไปยัง โครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2521 เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านพระบาทห้วยต้ม แล้วทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรชาวเขา  ทรงมีพระราชดำริว่า "หมู่บ้านแห่งนี้ประสบปัญหาขาดแคลนที่ทำกิน ข้าวไม่พอบริโภค ชาวบ้านเป็นโรคขาดสารอาหาร  ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงได้อพยพมาอยู่รวมกันเช่นนี้ เป็นผลดีในการลดการหักล้างทำลายป่า ลดพื้นที่ปลูกฝิ่นทางอ้อม จะได้ไม่ไปรับจ้างปลูกฝิ่นให้ชาวเขาอื่นอีกด้วย" ทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้ารับหมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม อยู่ภายใต้ในการดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง และนอกจากตัว โครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม จะเป็นที่น่าสนใจแล้ว บริเวณรอบๆ ก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่พวกเราอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ลองไปดู บอกเลยว่าไม่อยากให้พลาด อย่าง วัดพระบาทห้วยต้ม วัดประจำหมู่บ้านชาวเขาพระบาทห้วยต้ม ที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอลี้ และมีอนุสาวรีย์ หลวงปู่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ตั้งอยู่ตรงทางเข้าวัด น้ำตกก้อหลวง ในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของที่นี่ ซึ่งยังคงความสวยงามตามธรรมชาติไว้ได้เป็นอย่างดี และอีกสถานที่คือ แก่งก้อ เวิ้งน้ำขนาดใหญ่ในอุทยานแห่งชาติแม่ปิงเช่นกัน ทะเลสาบแห่งนี้เป็นผลพลอยได้จากการสร้างเขื่อนภูมิผล แล้วตอนนี้ แก่งก้อ ก็น่าจะค่อย ๆ กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากไม่สามารถเปิดให้ล่องแพได้มา 5 ปีเต็ม เนื่องจากระดับน้ำที่แห้งจนไม่สามารถให้ลอยแพอยู่ได้