Elefantes explorado pela indústria madeireira, carregando uma pessoa nas costas enquanto uma corta está amarrada em seu corpo para puxar pedaços de madeira

ทำไมต้องมี ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม?

ข่าว

‘ช้าง’ เป็นสัตว์ป่าและสัตว์ประจำชาติของไทย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากมายหลายฉบับ แต่พวกมันกลับยังไม่ได้รับการดูแลและปกป้องอย่างเหมาะสม ปัจจุบัน ช้างไทยยังคงประสบปัญหารอบด้าน เป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องเสนอ ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม เพื่อปูแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

แม้ช้างจะถูกเชิดชูให้เป็น ‘สัตว์ประจำชาติ’ แต่ปัจจุบัน ช้างไทยยังคงประสบปัญหามากมาย ตั้งแต่กฎหมายมีความซ้ำซ้อนและคุ้มครองไม่ทั่วถึง กระบวนการฝึกช้างที่โหดร้ายทารุณเพื่อใช้งานเชิงพาณิชย์ ถูกบังคับให้แสดงพฤติกรรมผิดธรรมชาติเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับนักท่องเที่ยว เช่น การแสดงโชว์ การให้นักท่องเที่ยวขี่ ไปจนถึงสภาพความเป็นอยู่ในปางช้างที่ย่ำแย่ และการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ช้างป่าแต่อย่างใด

Elephants not entertainers

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลให้องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและองค์กรภาคี ร่วมกันจัดทำ ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม และเสนอไปยังรัฐสภา เพื่อเป็นการปฏิรูปการปกป้องช้างอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งถ้าทำได้จริง นอกจากจะเป็นการรับประกันสวัสดิภาพของช้างทุกตัวแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งทั่วโลกกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาช้างไทย

แนวทางแก้ไขใน ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม

  • ช้างเลี้ยงยังถูกกำหนดให้เป็นสัตว์พาหนะ ทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมในฐานะสัตว์ป่า และมีกฎหมายซับซ้อนหลายฉบับ
  • ยกเลิกช้างเลี้ยงเป็นสัตว์พาหนะตาม พ.ร.บ.สัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 เพื่อให้ช้างเลี้ยงได้รับการคุ้มครองมากขึ้นผ่าน ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ต่อไป
  • การผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ทำได้โดยเสรี ไม่มีการควบคุมจำนวนประชากร เป็นต้นตอวงจรความโหดร้ายทารุณ และสร้างปัญหาดูแลช้างไม่ทั่วถึงในภาวะวิกฤติ
  • ยุติการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ ยกเว้นวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์เท่านั้น
  • ช้างถูกฝีกอย่างโหดร้ายทารุณ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อทำลายสัญชาตญาณสัตว์ป่า ยอมทำตามคำสั่งมนุษย์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่มีการใช้ช้างสร้างความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ
  • กำหนดลักษณะของการทารุณกรรมช้างให้ชัดเจนและครอบคลุม ตั้งแต่การปล่อยปะละเลยไปจนถึงการทำร้ายด้วยอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด
  • การจัดสวัสดิภาพช้างเลี้ยงยังไม่ดีพอ มาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายในปัจจุบันยังต่ำเกินไป ไม่สามารถเอื้ออำนวยให้ช้างได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงธรรมชาติ
  • เพิ่มมาตรฐานขั้นต่ำของการดูแลช้างอย่างเหมาะสม โดยกำหนดให้เป็นไปตาม ‘หลักอิสรภาพ 5 ประการ’ ซึ่งเป็นหลักการด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
  • การนำช้างป่ามาสวมทะเบียนเป็นช้างเลี้ยง การลักลอบค้าขายชิ้นส่วนช้าง การส่งออกช้างหรือชิ้นส่วนช้างไปยังต่างประเทศ ซึ่งล้วนเป็นการค้าสัตว์ป่าที่โหดร้ายทารุณ ไม่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์
  • กำหนดการแจ้งเกิด การขึ้นทะเบียน การแจ้งตายของช้างให้รัดกุม โดยต้องแจ้งเกิดภายใน 30 วันและแจ้งตายภายใน 24 ชั่วโมง และห้ามไม่ให้ส่งออกช้างหรือชิ้นส่วนช้างเชิงพานิชย์ไปยังต่างประเทศ
  • ผู้ประกอบการจำนวนมากมีความตั้งใจที่จะปรับปรุงสวัสดิภาพช้างและปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ดีขึ้น แต่ยังขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณและองค์ความรู้
  • จัดตั้ง ‘กองทุนช้างแห่งชาติ’ และ ‘คณะกรรมการช้างไทยแห่งชาติ’ สนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้ให้ปางช้างทั่วประเทศปรับเปลี่ยนรูปแบบมาสู่การเป็น ‘ปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง’ เพื่อดูแลประชากรช้างเลี้ยงที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด