ไม่พบผลการค้นหา
ใครชื่นชอบแบบอย่างวิหารล้านนา ต้องไม่พลาดไปชมวิหารโคมคำ อายุร่วม 200 ปี ณ วัดพระธาตุเสด็จ ภายในมีงานพุทธ์ศิลป์อันสวยงามหลายอย่าง

ใครชื่นชอบแบบอย่างวิหารล้านนา ต้องไม่พลาดไปชมวิหารโคมคำ อายุร่วม 200 ปี ณ วัดพระธาตุเสด็จ ภายในมีงานพุทธ์ศิลป์อันสวยงามหลายอย่าง

 

ในจังหวัดลำปาง มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ในพระธาตุเจดีย์ 2 แห่ง แห่งแรกคือ พระธาตุลำปางหลวง ทางตอนใต้ อีกแห่งคือ พระธาตุเสด็จ ทางตอนเหนือของเมือง

 

ตำนานกล่าวว่า พระนางจามเทวี ผู้ครองนครหริภุญชัย เคยมานมัสการพระบรมธาตุทั้งสองเมื่อพ.ศ. 1223

 

ในปีพ.ศ. 1992 เจ้าหาญแต่ท้อง เจ้าเมืองเขลางค์ สร้างเจดีย์พระธาตุเสด็จ เจดีย์องค์นี้ได้รับการบูรณะเมื่อพ.ศ. 2496

 

ปีพ.ศ. 2366 พระเจ้าสุวรรณหอคำดวงทิพย์ หรือเจ้าดวงทิพย์ ผู้ครองนครลำปาง สร้างวิหารโคมคำ หรือวิหารพระพุทธ ขึ้นทางทิศใต้ของเจดีย์ ตั้งอยู่ทางด้านหลังของวิหารหลวง

 

วิหารโคมคำ บ้างเรียกว่า วิหารสุวรรณโคมคำ บ้างเรียกว่า วิหารลายคำ ตามลักษณะการประดับเสาวิหารด้วยลายทอง จึงจัดเป็นวิหารทิศ ทำนองเดียวกับวิหารพระพุทธ วัดพระธาตุลำปางหลวง

 

ความคล้ายคลึงอีกประการคือ ลานวัดในเขตพุทธาวาสของวัดพระธาตุเสด็จ เคยเป็นลานทราย เช่นเดียวกับที่วัดพระธาตุลำปางหลวง อันสื่อความหมายถึงมหานทีสีทันดร ตามจักรวาลคติแบบพุทธ  

 

วิหารหลวง ตั้งอยู่ทางตะวันออกของพระบรมธาตุเจดีย์ ลานทรายเปลี่ยนเป็นพื้นซีเมนต์ปูกระเบื้องแล้วในปัจจุบัน

 

วิหารโคมคำหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในอดีตเป็นวิหารโถง สร้างด้วยไม้ ด้านข้างมีฝาย้อย เป็นแผงไม้ที่ปิดด้านข้างอาคารลงมาประมาณครึ่งเสาเพื่อกันแดดฝน

 

เมื่อคราวบูรณะในปี 2500 มีการก่อผนังปิดทึบโดยรอบอาคาร เจาะช่องลมยาวในแนวตั้ง ขนาบด้วยช่องรูปกากบาท

 

วิหารสร้างบนฐานเตี้ย อาคารมีขนาดกว้าง 3 ห้อง ยาว 6 ห้อง ด้านหน้าเป็นมุขโถง หลังคาลดชั้น ด้านหน้า 3 ชั้น ด้านหลัง 2 ชั้น ผืนหลังคามี 2 ตับ

 

โครงสร้างหลังคาประกอบด้วยหน้าจั่ว มีป้านลมเป็นแนวตรง ช่อฟ้าชูเชิดขึ้น ปลายยอดสะบัดงอน หางหงส์ทำเป็นตัวเหงา (กระหนกแบบเลข ๑ ไทย)

 

เสากลมและบัวหัวเสาตกแต่งด้วยลายคำ โคนเสาประดับกระจกสี โครงเครื่องบนเปิดโล่ง ไม่มีเพดาน

 

พระประธานประดิษฐานในห้องท้ายวิหาร มีลักษณะแบบศิลปะสุโขทัย สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 20-21

 

ด้านหน้าพระประธานแขวนบูชาด้วยตุงกระด้าง เป็นธงแขวน ทำด้วยไม้ แกะสลักเป็นรูปนาคสองตัวเกี่ยวกระหวัดกัน  

 

ด้านหน้าพระประธานมีเชิงเทียน 7 ยอด เรียกว่า สัตตภัณฑ์ ทำด้วยไม้แกะสลักเป็นลายพรรณพฤกษา กรอบนอกทำเป็นรูปนาคคล้ายนาคสะดุ้ง ใกล้กันนั้น มีธรรมาสน์สวด ประดับลวดลายตกแต่งอย่างสวยงาม

 

ทางด้านขวาของพระประธานวางอาสนะสงฆ์ คำช่างล้านนาเรียกว่า จองสังฆ์ หรือแท่นสังฆ์ เป็นม้านั่งยาวสำหรับพระภิกษุ พนักพิงเป็นราวไม้ ทำหัวและปลายเป็นรูปนาค

 

คันทวยเป็นไม้ จำหลักรูปนาค เรียกว่า ทวยนาคทัณฑ์

 

ด้านข้างของวิหารโคมคำ มีพิพิธภัณฑ์ของวัด จัดแสดงศิลปวัตถุต่างๆ เช่น พระพุทธรูปไม้ มณฑปปราสาทไม้ แผงพระพิมพ์ หีบพระธรรม รวมถึงภาพถ่ายเก่า

 

นักนิยมงานช่างศิลป์ล้านนา ควรได้ไปยลกันสักครั้ง.

 

แหล่งข้อมูล

 

ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร

ตำนานวัดพระธาตุเสด็จ

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ.  (2559).  พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย.  กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ

ศักดิ์ชัย สายสิงห์.  (2556).  ศิลปะล้านนา.  กรุงเทพฯ : มติชน.

 

ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง

 

ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา

ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา

ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี

ไทยทัศนา : (8) วัดสมุหประดิษฐาราม สระบุรี

ไทยทัศนา : (9) วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (10) วัดบางขุนเทียนใน ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (11) วัดซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (12) วัดบางขุนเทียนนอก ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (13) วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม

ไทยทัศนา : (14) วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา

ไทยทัศนา : (15) สัตตมหาสถาน กรุงเทพฯ เพชรบุรี

ไทยทัศนา : (16) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (17) วัดตองปุ ลพบุรี

ไทยทัศนา : (18) มหาธาตุ ลพบุรี

ไทยทัศนา : (19) จิตรกรรม วัดพุทไธสวรรย์ อยุธยา

ไทยทัศนา : (20) พระปรางค์มหาธาตุ ราชบุรี

ไทยทัศนา : (21) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (22) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่หนึ่ง)

ไทยทัศนา : (23) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สอง)

ไทยทัศนา : (24) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สาม)

ไทยทัศนา : (25) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สี่-จบ)

ไทยทัศนา : (26) ประตูโขง วัดกากแก้ว นครลำปาง

ไทยทัศนา : (27) วัดไหล่หิน ลำปาง (ตอนที่หนึ่ง)

ไทยทัศนา : (28) วัดไหล่หิน ลำปาง (ตอนที่สอง-จบ)

ไทยทัศนา : (29) วัดปงยางคก ลำปาง

 

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog