ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นาซ่า เผย สถานีอวกาศนานาชาติยังคงเผชิญความเสี่ยงสูงจากลูกหลงของโครงการยิงดาวเทียมรัสเซีย


The International Space Station (ISS) photographed by Expedition 56 crew members from a Soyuz spacecraft after undocking, October 4, 2018. (NASA/Roscosmos/Handout via REUTERS)
The International Space Station (ISS) photographed by Expedition 56 crew members from a Soyuz spacecraft after undocking, October 4, 2018. (NASA/Roscosmos/Handout via REUTERS)
Business News
please wait

No media source currently available

0:00 0:06:00 0:00


องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า ยืนยันในวันพฤหัสบดีว่า สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ยังคงมีความเสี่ยงที่จะโดนลูกหลงจากโครงการทดสอบขีปนาวุธด้วยการยิงทำลายดาวเทียมดวงเก่าของรัสเซียที่โคจรเหนือตัวสถานี ตามรายงานของสำนักข่าว เอพี

เมื่อช่วงค่ำวันพุธตามเวลาในสหรัฐฯ นาซ่า เปิดเผยว่า ระดับความเสี่ยงที่สูงที่สุดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ต่อทั้งสถานีอวกาศนานาชาติและลูกเรือทั้ง 7 คน อยู่ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังการยิงทดสอบ ทำให้ต้องมีการสั่งปิดประตูสถานีทั้งหมดทันทีเพื่อระวังภัย ก่อนจะมีการอนุญาตให้เปิดอีกครั้งในวันพุธ

รายงานข่าวระบุว่า ศูนย์บัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ยังคงติดตามดูการเคลื่อนตัวของเศษซากดาวเทียมกว่า 1,500 ชิ้น ที่สามารถมองเห็นได้ง่ายอยู่ ขณะที่ยังมีเศษดาวเทียมที่ถูกยิงทำลายอีกนับแสนชิ้นที่เล็กเกินกว่าจะมองด้วยตาเปล่าๆ ล่องลอยอยู่

นาซ่า และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ประณามการทดสอบอาวุธของรัสเซียไปก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า การดำเนินการเช่นนั้นทำให้ดาวเทียมหลายดวง รวมทั้งสถานีอวกาศของจีนตกอยู่ในความเสี่ยงไปโดยปริยาย

นอกจากนั้น นาซ่า กำลังทำการทบทวนแผนส่งนักบินอวกาศออกจากสถานีอวกาศออกมาภายนอก (spacewalk) รวมทั้งปฏิบัติการต่างๆ ของสถานีอวกาศอื่นๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนจะเดินหน้าทำการใดๆ

ทั้งนี้แผน spacewalk ที่ นาซ่า มีแผนจะดำเนินการนั้น มีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนเสาอากาศที่ชำรุด ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 30 พฤศจิกายน โดยหลังเกิดเหตุทดสอบขีปนาวุธขึ้น นาซ่า วางแผนจะส่งนักบินอวกาศออกนอกตัวสถานีเพื่อสำรวจความเสียหายด้วย

ปัจจุบัน ลูกเรือที่สถานีอวกาศนานาชาตินั้นประกอบด้วย นักบินจากสหรัฐฯ 4 ราย และจากรัสเซีย 2 ราย รวมทั้งจากเยอรมนีอีก 1 ราย

(ที่มา: สำนักข่าว เอพี)

XS
SM
MD
LG