ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยูเอ็นหวั่น ‘ผลผลิตฝิ่น’ ในเมียนมาพุ่งสูงหลังวิกฤติโควิดและรัฐประหาร


FILE - A man harvests opium as he works in an opium field outside Loikaw, Kayah state, Myanmar, Nov. 30, 2016.
FILE - A man harvests opium as he works in an opium field outside Loikaw, Kayah state, Myanmar, Nov. 30, 2016.

สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC เตือนว่า ปริมาณผลผลิตฝิ่นในเมียนมาอาจพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากเกิดวิกฤติการระบาดของโควิด-19 และความวุ่นวายทางการเมืองหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมาเข้าสู่ภาวะซบเซา

ปัจจุบัน เมียนมาคือผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากอัฟกานิสถาน โดยข้อมูลของ UNODC ชี้ว่า ตัวเลขผลผลิตฝิ่นของเมียนมาลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 ลงมาอยู่ที่ระดับ 405 ตันเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันซึ่งทำให้เกษตรกรเมียนมามีรายได้ลดลงและคนงานภาคการเกษตรหางานทำได้ยากขึ้น อาจส่งผลให้การปลูกฝิ่นกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

เจเรมี ดักกลาส ผู้แทนของ UNODC ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า การปลูกฝิ่นคือธุรกิจที่มาพร้อมความยากจน และมักแปรผกผันกับตัวเลขเศรษฐกิจของเมียนมา เพราะเมื่อผู้คนถูกกดดันให้ออกจากเศรษฐกิจที่ถูกกฎหมาย พวกเขายังต้องการเงิน และบ่อยครั้งที่ชาวบ้านในพื้นที่ยากจนต้องย้อนกลับไปเกี่ยวข้องกับการปลูกฝิ่นอีกเพื่อความอยู่รอด กลายเป็นวงจรที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้

เวลานี้ เศรษฐกิจเมียนมากำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก สืบเนื่องจากการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นำไปสู่การประท้วงหยุดงานในหลายภาคส่วน ประกอบกับมาตรการควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัส

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะหดตัวราว 10% ในปีนี้ ขณะที่สำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน Fitch Solutions คาดว่าอาจหดตัวถึง 20%

โครงการพัฒนาของสหประชาชาติ ประเมินว่า การถดถอยลงของเศรษฐกิจเมียนมาอาจทำให้มีประชาชนราว 25 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ เข้าสู่ภาวะยากจนภายในปี ค.ศ.2022

FILE - A woman harvests opium as he works in an opium field outside Loikaw, Kayah state, Myanmar, Nov. 30, 2016.
FILE - A woman harvests opium as he works in an opium field outside Loikaw, Kayah state, Myanmar, Nov. 30, 2016.

เจเรมี ดักกลาส ผู้แทนของ UNODC ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวด้วยว่า การปลูกฝิ่นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก จึงถือเป็นแหล่งดูดซับแรงงานเมื่อเศรษฐกิจหลักฝืดเคือง ต่างจากการผลิตยาเสพติดชนิดอื่น เช่น เมธแอมเฟตามีน หรือ ยาไอซ์ ซึ่งแม้จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ในช่วงหลัง ๆ แต่ใช้แรงงานในกระบวนการผลิตน้อยกว่าฝิ่น

เจ้าหน้าที่ยูเอ็นผู้นี้เชื่อด้วยว่า ผลผลิตฝิ่นส่วนเกินจากเมียนมาจะสามารถหาตลาดได้ไม่ยาก ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก หรือแม้แต่ในส่วนอื่น ๆ ของโลก

ขณะเดียวกัน แดน เส็ง ลอน ผอ.ศูนย์วิจัยคะฉิ่นแลนด์ (Kachinland Research Center) กล่าวกับวีโอเอว่า การปลูกฝิ่นในรัฐคะฉิ่นและรัฐฉานไม่เคยหายไป เพียงแต่มีจำนวนลดลง และมีแนวโน้มที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ในขณะที่การปราบปรามของตำรวจเมียนมาที่อาจลดลงเพราะต้องแบ่งความสนใจไปที่การรับมือกับกลุ่มต่อต้านรัฐประหารนั้น ก็อาจยิ่งเอื้อต่อการปลูกฝิ่นและขนส่งยาเสพติดไปยังประเทศอื่นได้เช่นกัน

XS
SM
MD
LG