ชวนสังเกตอาการแผลในกระเพาะอาหาร อาการปวดท้องที่ต้องระวัง !

15 พ.ย. 66  | ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
แชร์บทความ      

ชวนสังเกตอาการแผลในกระเพาะอาหาร อาการปวดท้องที่ต้องระวัง !

ใครที่มีอาการปวดท้องบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นตอนท้องว่าง หลังกินอิ่ม หลังกินเผ็ด หรือนอนๆ อยู่ตอนกลางคืนก็ปวดท้องขึ้นมาจนนอนไม่ได้ เลยอดสงสัยไม่ได้ว่าอาการปวดท้องนี้เกิดจาก “แผลในกระเพาะอาหาร” หรือเปล่า มาเช็คกันว่าแผลในกระเพาะอาหารมีอาการอย่างไร พร้อมแนวทางการดูแลตัวเองและการรักษา

“แผลในกระเพาะอาหาร” สาเหตุเกิดจากอะไร

โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer disease) หมายถึง โรคที่มีแผลเกิดขึ้นในกระเพาะอาหาร และ/ หรือลำไส้เล็กส่วนต้น เกิดขึ้นได้จากการเสียสมดุลระหว่างปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดการทำลายเยื่อบุผิวทางเดินอาหารที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ได้แก่ กรดและน้ำย่อย กับปัจจัยป้องกันเยื่อบุผิวทางเดินอาหารที่สวนทางลดลง ได้แก่ การสร้างเยื่อเมือกลดลง ผิวกระเพาะอาหารขาดเลือดมาเลี้ยง เป็นต้น แต่ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารนั้นได้แก่ การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) และการใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) หรือแอสไพริน

โดยเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือเอช ไพโลไร (H. pylori) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารได้เนื่องจากสามารถอยู่ได้ในสภาวะที่มีความเป็นกรดสูง ส่วนใหญ่มักได้รับมาจากอาหารและน้ำดื่มที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสที่จะพัฒนากลายเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

เช็กอาการแผลในกระเพาะอาหาร อาการเป็นอย่างไรบ้าง

  • ปวดท้องใต้ลิ้นปี่ หรือท้องช่วงบน มักมีอาการปวดแสบร้อนร่วมกับจุกแน่นท้อง บริเวณใต้ลิ้นปี่ ท้องช่วงบนเยื้องไปทางซ้าย หรือเหนือสะดือ 
  • ท้องอืด แน่นท้อง อิ่มเร็ว ในบางรายอาจไม่มีอาการปวดท้องแต่จะมีอาการท้องอืด จุกแน่นท้องเหมือนอาหารไม่ย่อย หรือรู้สึกไม่สบายท้อง รวมถึงรู้สึกมีลมในท้อง ไม่สามารถทานอาหารได้ตามปกติ
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลดลง เมื่อรู้สึกไม่สบายท้อง แน่นท้อง มักมีอาการเบื่ออาหารและรับประทานได้น้อยลงร่วมด้วย ส่งผลให้น้ำหนักลดลง รวมไปถึงอาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังกินอาหารได้
  • ปวดท้องเฉียบพลันรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากแผลในกระเพาะอาหารทะลุ หน้าท้องแข็งตึงทั้งท้อง กดแล้วเจ็บ
  • อุจจาระมีสีดำ ซึ่งเกิดจากแผลในกระเพาะอาหารมีเลือดออก
  • ซีดและอ่อนเพลีย หากมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจทำให้มีภาวะซีดและอ่อนเพลียได้ อาจตรวจพบภาวะขาดธาตุเหล็กเนื่องจากการเสียเลือดเรื้อรัง
  • อาการปวดมักเป็นๆ หายๆ เมื่อไม่ได้รับการรักษา

แนวทางการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร

การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารขึ้นอยู่กับสาเหตุ แต่ทั้งนี้มักจะต้องรับประทานยายับยั้งการหลั่งกรด หรือยารักษาแผลในกระเพาะอาหารติดต่อกันอย่างน้อย 4-12 สัปดาห์ (ขึ้นกับตำแหน่งของแผล) และควรตรวจหาการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร เพราะ หากตรวจพบการติดเชื้อ จะต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไรร่วมด้วย และควรหยุดยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือแอสไพริน เมื่อไม่มีข้อบ่งชี้ หรือรับประทานยายับยั้งการหลั่งกรดควบคู่กัน

โรคแผลในกระเพาะอาหารเป็นโรคที่สามารถมีโอกาสเกิดซ้ำได้อีก ดังนั้น นอกจากการป้องกันการติดเชื้อผ่านอาหารที่อาจปนเปื้อนแล้ว ผู้ป่วยควรกินอาหารให้ตรงเวลา กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย เลี่ยงอาหารรสจัด อาหารมัน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอและจัดการความเครียดให้เหมาะสม เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคแผลในกระเพาะอาหารได้แล้ว แต่หากมีอาการปวดท้องรุนแรงหรือเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมากควรรีบพบแพทย์ 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ชั้น 5  โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0054 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

 

ผู้เขียน
พญ. สาวินี จิริยะสิน อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ไขมันพอกตับ ภัยเงียบคร่าชีวิตที่คุณอาจไม่รู้ตัว

ไขมันพอกตับ ภาวะร้ายทำลายตับ ที่อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ แต่จะสังเกตอาการได้อย่างไร การตรวจและการรักษาทำอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
“ท้องผูก” ปัญหาการถ่ายที่ไม่ใช่เพียงแค่…ถ่ายไม่ออก!

ถ่ายไม่ออก อุจจาระแข็ง นานๆ จะถ่ายครั้งหนึ่ง หรือทั้งสัปดาห์ถ่ายครั้งเดียว แบบนี้เป็นโรคท้องผูก ไหม ที่นี่เรารวมคำตอบ สาเหตุและวิธีแก้ท้องผูก สำหรับคนที่มีปัญหาการขับถ่ายมาฝากให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ไขมันพอกตับ ภัยเงียบคร่าชีวิตที่คุณอาจไม่รู้ตัว

ไขมันพอกตับ ภาวะร้ายทำลายตับ ที่อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ แต่จะสังเกตอาการได้อย่างไร การตรวจและการรักษาทำอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รู้ก่อนป้องกันได้ รักษาไว

ปวดท้องบ่อย ท้องผูกบ่อยและมีเลือดออกมาพร้อมอุจจาระ อาการแบบนี้คุณอาจกำลังเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ มาเช็กอาการและสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่กันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง