การหักเหของแสง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 12.6K views



เมื่อแสงเดินทางผ่านวัตถุชนิดต่างๆ ได้แก่ วัตถุโปร่งใส วัตถุโปร่งแสง และวัตถุทึบแสง แสงจะทำให้เกิดมุมตกกระทบและมุมหักเหที่แตกต่างกัน ตัวกลางที่มีความหนาแน่นต่างๆ ก็จะให้ผลต่างกัน เป็นผลมาจากเรื่องการหักเหของแสง

ภาพ : shutterstock.com

 

 

วัตถุที่มองเห็นมีอยู่ 3 ประเภท คือ วัตถุโปร่งแสง วัตถุโปร่งใส วัตถุทึบแสง

วัตถุโปร่งใส เป็นวัตถุตัวกลางที่แสงผ่านได้ จึงสามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ด้านหลังได้ชัดเจน วัตถุโปร่งใส เช่น แผ่นพลาสติกใส กระจกใส ปริซึม เป็นต้น
วัตถุโปร่งแสง เป็นวัตถุตัวกลางที่ยอมให้แสงบางส่วนผ่านได้บ้าง เช่น กระจกฝ้า กระดาษไข
วัตถุทึบแสง เป็นวัตถุตัวกลางที่ไม่ยอมให้แสงผ่านได้เลย เช่น อิฐ กระดาน กระเบื้อง

เมื่อแสงผ่านวัตถุโปร่งใส แสงส่วนหนึ่งจะผ่านวัตถุออกไปโดยมีการหักเหอยู่ภายในวัตถุก่อน แสงบางส่วนจะสะท้อนกลับออกมาจากรอยต่อของผิววัตถุนั้น 

เมื่อรังสีตกกระทบทำมุมฉากกับแท่งพลาสติก หรือมุมตกกระทบเท่ากับศูนย์ จะไม่มีการหักเหของแสง แสงจะผ่านทะลุแท่งพลาสติกออกไป

เมื่อรังสีตกกระทบด้านข้างของแท่งพลาสติกไม่ใช่มุมฉาก จะมีรังสีเกิดขึ้น 2 ทาง คือทางหนึ่งรังสีจะสะท้อนออกมา เรียกว่า รังสีสะท้อน และอีกรังสีจะหักเหผ่านแท่งพลาสติกเข้าไป เรียกว่า รังสีหักเห ทำให้เกิดมุมตกกระทบในอากาศและมุมหักเหในแท่งพลาสติก โดยปกติมุมหักเหในอากาศจะใหญ่กว่ามุมหักเหในแท่งพลาสติก เมื่อแสงผ่านเข้าไปในแท่งพลาสติกจะเกิดการหักเหในแท่งพลาสติก จากนั้นรังสีจะผ่านมากระทบแนวพลาสติกอีกด้านหนึ่งทำให้เกิดมุมตกกระทบในแท่งพลาสติกแล้วหักเหออกจากแท่งพลาสติก จึงเกิดมุมหักเหในอากาศ

มุมตกกระทบในอากาศจะเท่ากับมุมหักเหในอากาศ และมุมหักเหในพลาสติกจะเท่ากับมุมตกกระทบในพลาสติก

มุมตกกระทบจะมีขนาดใหญ่กว่ามุมหักเหเมื่อรังสีของแสงออกจากตัวกลางที่มีความหนาแน่นน้อยไปสู่ตัวกลางที่มีความหนาแน่นมากกว่า เช่น จากอากาศไปสู่พลาสติก และมุมตกกระทบจะมีขนาดเล็กกว่ามุมหักเห ถ้ารังสีของแสงออกจากตัวกลางที่มีความหนาแน่นมากไปสู่ตัวกลางที่มีความหนาแน่นน้อยกว่า เช่น จากพลาสติกออกสู่อากาศ