Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ศาสตร์...ที่ว่าด้วยวิทยาศาสตร์

Posted By ostsciencereview | 02 ก.ย. 64
12,709 Views

  Favorite

วิทยาศาสตร์ คือ ความรู้และการศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ตั้งแต่สิ่งใกล้ตัวเล็กจิ๋วอย่างอะตอมหรืออะมีบา ไปจนถึงจุดที่อยู่ไกลที่สุดที่มนุษย์สามารถใช้เครื่องมือตรวจจับได้อย่างกาแล็กซี่ MACS0647-JD ในปัจจุบันคงจะไม่มีใครค้านว่าวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ถูกนำมาใช้และพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยารักษาโรค เสื้อผ้า เชื้อเพลิง พาหนะนโยบายสาธารณะ และนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ ฯลฯ

 

การศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์ แบ่งย่อยออกเป็น
“วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ” หรือสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
“วิทยาศาสตร์ประยุกต์” หรือสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ที่นำความรู้จากวิทยาศาสตร์ธรรมชาติไปใช้ในเชิงปฏิบัติ

ภาพ : Shutterstock

 

วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ถูกแบ่งออกเป็น 5 สาขาใหญ่ ๆ คือ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา โลกศาสตร์ และอวกาศศาสตร์

 

ในอดีต เมื่อพูดถึงวิทยาศาสตร์ เรามักจะมองว่าวิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ศึกษาและค้นพบความจริงหรือสัจธรรมของโลก วิทยาศาสตร์เป็นอิสระจากความต้องการ ความเห็น และความรู้สึกของมนุษย์ วิทยาศาสตร์กับสังคม มีความเป็นปรวิสัย (objectivity) มีคำตอบสัจธรรมที่ตายตัว เป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงกับอัตวิสัย (subjectivity) ที่อาศัยความคิดเห็นของปัจเจกบุคคล

ภาพ : Shutterstock

 

แต่เมื่อเรามองความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของแต่ละประเทศ กลับพบว่ามีความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันไม่มากก็น้อย แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าวิทยาศาสตร์จะได้รับการยอมรับว่าเป็นศาสตร์และเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและพัฒนาโลก แต่วิทยาศาสตร์โดยลำพังก็ไม่สามารถดำเนินไปได้ด้วยตนเอง แต่หากต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐบาลและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม ความก้าวหน้า การค้นพบ และพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ในแต่ละประเทศไม่เท่าเทียมกันเนื่องจากรัฐบาลในแต่ละประเทศให้ความสำคัญแก่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแตกต่างกัน ในมิติที่หลากหลาย เช่น วิทยาศาสตร์ในมิติการทหาร มิติพัฒนาสังคม และมิติด้านกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งผู้อ่านจะได้เห็นมิติดังกล่าวของวิทยาศาสตร์ในบทต่อ ๆ ไปในวิทยปริทัศน์ ฉบับนี้

 

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับสังคม

เมื่อเรามองย้อนไปในหลาย ๆ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่า วิทยาศาสตร์กับสังคมมนุษย์นั้นมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน เช่น การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดจากการสังเกต สัญชาตญาณ ของนักวิทยาศาสตร์ และแรงจูงใจส่วนตัว เช่น ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ชื่อเสียง และเงินทอง นอกจากนั้น การชี้นำและการสนับสนุนของรัฐบาลที่เป็นองค์กรทางการเมือง และศาสนา ก็มีส่วนสำคัญ การค้นพบของนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อย หากขัดแย้งกับการเมืองและศาสนา ก็อาจทำให้พวกเขาตกที่นั่งลำบากได้เช่นกัน ความซับซ้อนทางสังคมจึงมีผลต่อการค้นพบและพัฒนาทาง วทน. ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ภาพ : Shutterstock

 

นั่นจึงทำให้นักวิชาการจำนวนหนึ่งเกิดความสนใจที่จะศึกษาความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนนี้ ตัวอย่างหนึ่งของความพยายามนี้ คือการเกิดขึ้นของสาขาการศึกษาที่เรียกว่า Science and Technology Studies (STS) ซึ่งเป็นหลักสูตรพหุวิทยาการ (Multidisciplinary) ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1960 – 1970 หรือหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรปและสหรัฐฯ เช่น The University of Edinburgh, University of California-Berkeley, และ Cornell University

 

สาขาย่อยภายใต้ STS มุ่งสนใจศึกษาแง่มุมต่าง ๆ ของวิทยาศาสตร์ เช่น

Economics of Science หรือระบบเศรษฐศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ สาขานี้ศึกษาพฤติกรรมของนักวิทยาศาสตร์ ระบบองค์กรและการตลาด ของวิทยาศาสตร์ เช่น ผลของการจดสิทธิบัตร งานวิจัยที่มีต่อการเติบโตของการวิจัยวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยน citation เพื่อสร้างชื่อเสียง ให้แก่กัน ฯลฯ

Economics of Scientific Knowledge หรือการวิเคราะห์การพัฒนาองค์ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ เกณฑ์การวัดผลที่เกิดจากการวิจัยวิทยาศาสตร์ การร่วมตีพิมพ์งานวิจัยผ่านมุมมองทาง เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ

Science History ประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น นโยบายชาติในอดีต การลงทุนในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างสงครามโลก การใช้วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างอำนาจปกครองในยุคสร้างอาณานิคม ฯลฯ

Science Philosophy การนำเอาแนวคิดทางปรัชญามาใช้เพื่อทำความเข้าใจวิทยาศาสตร์ เช่น อิทธิพลของปัจจัยทางสังคมในการวิจัยวิทยาศาสตร์ (Social Constructivism) Positivism/Postpositivism และ ลัทธิพ้นมนุษย์ (Transhumanism) ฯลฯ

ภาพ : Shutterstock

 

Science Sociology มุ่งเน้นศึกษาวิทยาศาสตร์ผ่านมุมมองทางสังคมศาสตร์ เช่น ทฤษฎี Actor-Network Theory (ทฤษฎีที่ศึกษาปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบเครือข่ายระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ระบบ
โครงสร้างพื้นฐาน) ทฤษฎี Social Construction of Technology (การศึกษาผลของปัจจัยทางสังคมในการพัฒนาเทคโนโลยีและผลของเทคโนโลยีที่ มีต่อระบบสังคมและพฤติกรรมมนุษย์) ฯลฯ

Science Studies การศึกษาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น การปฏิวัติของทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ (การเปลี่ยนแปลงจากทฤษฎีเดิมสู่ทฤษฎีใหม่ที่ล้มล้างความเชื่อเดิม) วิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience) ฯลฯ

Technology Studies การศึกษาที่มุ่งไปที่เทคโนโลยี เช่น การศึกษาอำนาจที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี (Technocracy) พฤติกรรมการรับและการใช้เทคโนโลยี ผลของเทคโนโลยี
ใหม่ที่มีต่อพฤติกรรมและระบบประสาทของมนุษย์ ฯลฯ

Science Policy การศึกษาเชิงนโยบาย เช่น การนำเอาวิทยาศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง (Politicization of Science) หลักจริยธรรมในการวิจัย การวัดผลลัพธ์จากการประยุกต์ใช่เทคโนโลยี ฯลฯ

สาขาการศึกษานี้ แม้ว่าจะเป็นสาขาที่ยังใหม่นักเมื่อเปรียบเทียบกับสาขาอื่นๆ และได้รับการโจมตีจากนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก เนื่องจากแนวคิดหลายๆ อย่างภายใต้สาขาวิชานี้กระทบต่อความศรัทธาที่มีต่อวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม หลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์กับสังคมมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน และไม่สามารถแยกขาดได้กับสังคม และสังคมที่เป็นสังคมของการเรียนรู้ (learning society) ก็จะเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าและรวดเร็วกว่า

ภาพ : Shutterstock

 

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยและหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีในสหรัฐฯ และยุโรปให้ความสนใจกับสาขาวิชานี้มากขึ้น นักวิชาการหลายคนได้กล่าวไว้ “Scientists need to get out of the Ivory Tower” นั่นคือ นักวิทยาศาสตร์ควรจะออกมาจากหอคอยงาช้าง และให้ความสำคัญกับปัจจัยทางสังคมและมนุษย์ เพื่อให้เราสามารถ
พัฒนาวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติให้มากที่สุด

 

จากวิทย์ปริทัศน์ ฉบับที่ 11/2562 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2562
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ostsciencereview
  • 0 Followers
  • Follow