Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สมศ. เปิดภาพต้นแบบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของรัฐ พร้อมการสอนแบบ "บีบีแอล" วิเคราะห์ตามความต่างของเด็ก

Posted By Plook Parenting | 16 ต.ค. 63
3,843 Views

  Favorite

ผู้ปกครองหลายคนคาดหวังให้ลูกเรียนเก่ง แต่รู้หรือไม่ว่าพัฒนาการ และศักยภาพของเด็กจะต้องถูกกระตุ้นอย่างเหมาะสมกับสมรรถนะทางร่างกาย

 

เพราะหากร่างกายถูกพัฒนาอย่างสมวัยก็จะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพในด้านอื่น ๆ และแน่นอนว่าพัฒนาการที่ดีของเด็กเริ่มต้นขึ้นได้ตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้าโรงเรียน โดยเฉพาะเด็กอายุตั้งแต่ 2-3 ขวบ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพให้เหมาะสมกับช่วงวัย

 

 

แต่อย่างไรก็ตามการมุ่งเน้นสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ในช่วงปฐมวัย อาจจะไม่ใช่คำตอบในการพัฒนาเด็กให้กลายเป็นคนเก่งตั้งแต่อยู่ในช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นเรียนรู้ และอาจจะไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมกับเด็กเล็กทุก ๆ คน และเพื่อไขคำตอบว่าการเรียนแบบเด็กเล็กต้องทำอย่างไร วันนี้ สำนักงานรับรองมาตรฐานแลประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. จะพาไปรู้จักกับ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโพธิวราราม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตัวอย่างในจังหวัดอุดรธานี ที่ให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะพัฒนาการเด็กปฐมวัยค่อย ๆ สะสมความรู้จนเกิดเป็นทักษะสำคัญเพื่อการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และยังนำโมเดลที่เรียกว่า BBL (Brain-based Learning) จากข้อเสนอแนะของ สมศ. มาช่วยสั่งสมประสบการณ์และพัฒนาการในตัวเด็ก โดยโมเดลนี้เป็นรูปแบบการพัฒนาที่ทำให้เด็กหลายคนก้าวสู่ความเป็นอัจฉริยะอีกด้วย

 

 

นางสายหยุด น้อยชื่น หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโพธิวราราม จ.อุดรธานี เล่าว่า สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโพธิวรารามเปิดรับเด็กตั้งแต่ช่วงอายุ 2 ขวบครึ่ง ถึง 3 ขวบ 11 เดือน โดยการเรียนการสอนภายในศูนย์จะมีการแบ่งห้องเรียนออกเป็น 3 ห้องตามเกณฑ์อายุ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่เหมาะสมกับช่วงวัย

 

 

ที่ผ่านมาทางศูนย์ได้นำเอาผลการประเมินภายนอกมาปรับใช้ในการเรียนการสอน โดยเฉพาะด้านการสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กผ่านการจัดการเรียนการสอนแบบ BBL เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองในเด็กแต่ละคน แต่ละช่วงวัย โดยการกระตุ้นสิ่งที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ เนื่องจากทางศูนย์เห็นว่าเด็กในช่วงวัยนี้แต่ละคนมีความสนใจที่แตกต่างกัน

 

 

“สำหรับกิจกรรมที่ศูนย์ฯ จัดให้แก่เด็กเล็กที่เข้ามาเรียนนั้นค่อนข้างมีกิจกรรมที่หลากหลาย แต่ละกิจกรรมจะเน้นการสร้างประสบการณ์ผ่านสิ่งใกล้ตัวเด็ก โดยการให้เด็กออกมาเล่าสั้น ๆ ว่าเมื่อเช้าก่อนมาโรงเรียนพวกเขาทำอะไรบ้าง เจออะไรที่กระตุ้นให้พวกเขารู้สึกสนใจ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้เด็กกล้าแสดงออก และยังเป็นการร่วมแชร์ประสบการณ์ให้กับเพื่อน ๆ ในห้องเรียน โดยยังมีการจัดกิจกรรมสร้างให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากสิ่งของ โดยทางศูนย์จะใช้ของจริงทั้งหมด เช่น การสอนให้เด็กรู้จักผลไม้ผ่านผลไม้จริง ๆ ก่อนที่จะให้เด็กเรียนรู้ผ่านคลิปวิดีโอ

 

 

รวมไปถึงการสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ผู้เรียน ผ่านการให้เด็กได้ลองเลือกทำกิจกรรมที่พวกเขาสนใจ อาทิ กิจกรรมเคลื่อนไหวตามจังหวะ เกมเกี่ยวกับการศึกษา  และกิจกรรมเสรี โดยทางศูนย์จะจัดห้องไว้สำหรับทำกิจกรรมเสรี ซึ่งภายในห้องจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย โดยให้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงสำหรับการเล่นหรือทำกิจกรรมที่เด็กเป็นคนเลือก เพื่อให้เด็กได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น

1. มุมดนตรี

โดยทางศูนย์จะเตรียมเครื่องดนตรีสำหรับเด็ก โดยมุมนี้จะทำให้เด็กมีสมาธิและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำมากยิ่งขึ้น เมื่อเด็กมีสมาธิก็จะส่งต่อการเรียนรู้ในชั่วโมงต่อไป

2. มุมหนังสือนิทาน

โดยมุมนี้จะมีครูพี่เลี้ยงเป็นผู้เล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟัง เพื่อสร้างประสบการณ์ให้แก่เด็กโดยนิทานส่วนใหญ่จะเป็นนิทานอีสป ซึ่งตอนสุดท้ายจะมีคติสอนใจสอดแทรกอยู่ โดยกิจกรรมนี้นอกจะทำให้พลินเพลินกับเนื้อเรื่องในนิทานแล้วยังทำให้เด็กรู้ ผิด ชอบ ชั่ว ดี ผ่านการเล่านิทาน กิจกรรมเสรียังเป็นการทดสอบความสนใจเบื้องต้นในตัวเด็กอีกด้วย 

 

 

โดยศูนย์ฯ ได้มีการฝึกสมรรถนะทางร่างกาย ผ่านกิจกรรมเดินตามรอยยางลบ ทางครูผู้สอนจะแบ่งยางลบออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้เด็กเดินตามจุดที่ครูวางไว้ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และสร้างสมาธิได้อย่างดี อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่ศูนย์ได้เริ่มพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ ของเด็กผ่านการสอนแบบ BBL ไปแล้วพบว่า พัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เด็กเข้าใจและสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ต่อยอดสู่การทำแบบฝึกหัด วาดภาพ ระบายสี ได้จริง อีกทั้งยังส่งผลให้ผลการประเมินภายนอกของรอบที่ผ่านมาได้รับการประเมินด้านทักษะความคิดสร้างสรรค์ในระดับดีเยี่ยม

 

 

นอกจากพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์แล้ว พัฒนาการด้านจิตใจก็คือว่าเป็นเรื่องที่เด็กควรจะได้รับการดูแลอย่างชิด ดังนั้นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโพธิวรารามจึงได้ให้ครูทุกคนคอยเอาใจใส่เด็ก ๆ และปฏิบัติกับเด็กเหมือนคนในครอบครัวเพื่อสร้างความอบอุ่น สร้างให้เด็กเกิดพฤติกรรมการอยากมาโรงเรียน แนวทางดังกล่าวจะส่งผลดีต่อเด็กในช่วงที่เด็กต้องศึกษาในระดับที่สูงขึ้น” นางสายหยุด กล่าวสรุป

 

 

ด้านนายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุดรธานี กล่าวว่า เทศบาลนครอุดรได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานการศึกษาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เนื่องจากการสร้างพื้นฐานด้านการเรียนรู้ในช่วงวัยเด็กถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะส่งต่อให้เด็ก ๆ สามารถเรียนในระดับชั้นต่อไปได้ ดังนั้นสิ่งที่ตนให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องคือ การสร้างบรรยากาศภายในศูนย์ ให้เกิดความอบอุ่น ปลูกฝังการอยากมาโรงเรียนให้กับเด็ก ทำให้เด็กอยู่โรงเรียนแล้วมีความสุขที่สุด เพราะทางเทศบาลเห็นว่าหากเด็กเกิดพฤติกรรมอยากมาโรงเรียนจะช่วยต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ด้านอื่น ๆ ได้อย่างดี

 

 

นอกจากนี้เทศบาลยังได้ให้ความสำคัญในการนำผลการประเมินการจาก สมศ. ไปใช้สำหรับการพัฒนาสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพราะในรอบที่ผ่านมา ๆ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีผลการประเมินที่ไม่ค่อยดีมากหนัก ดังนั้นหลังจากได้รับข้อเสนอแนะจาก สมศ. ทางเทศบาล ศึกษานิเทศก์จังหวัด และศูนย์จึงได้มีการหารือร่วมกัน และเริ่มลงมือพัฒนาตามข้อเสนอแนะของ สมศ.  

 

 

จนปัจจุบัน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโพธิวรารามได้รับการประเมินในระดับดีมาก มาตรฐานการเรียนรู้ ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเล็กเพิ่มขึ้นมากกว่า 90% โดยเทศบาลได้ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเตรียมความพร้อมสำหรับเข้ารับการประเมินตลอดเวลา โดยการพัฒนาหลักสูตร การสร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก ด้วยการพัฒนาจากสิ่งเดิมที่เคยทำอยู่ให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

ขณะที่ ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า สำหรับการประเมินในรอบที่ผ่าน ๆ มา สมศ. ได้เน้นการส่งเสริมให้สถานศึกษานำผลการประเมินไปปรับใช้ในการพัฒนาศักยภาพสถานศึกษา ครูผู้สอน และผู้เรียน โดยเฉพาะการนำผลการประเมินไปใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อสร้างมาตรฐานการการศึกษาที่ดีให้แก่เด็กในช่วงเริ่มต้นมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้การประเมินคุณภาพภายนอกรูปแบบใหม่นี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระงานให้แก่สถานศึกษา และการส่งเสริมให้สถานศึกษานำผลการประเมินภายนอกไปใช้ยังเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญเช่นกัน

 

 

เนื่องจากมีสถานศึกษาหลายแห่งที่เข้ารับการประเมินและนำข้อเสนอแนะไปปรับใช้ ผลลัพธ์ที่ออกมาค่อนข้างดี โดยเฉพาะผลลัพธ์ที่เกิดกับตัวผู้เรียน ดังนั้นในการประเมินภายนอกรูปแบบใหม่ที่จะเริ่มประเมินในเดือนธันวาคม 2563 นี้ สมศ. คาดว่าจะได้รับการตอบรับจากสถานศึกษาทั่วประเทศ และภายหลังการประเมินคุณภาพภายนอกแล้ว สถานศึกษาและต้นสังกัดจะนำผลการประเมินของ สมศ. มาปรับใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างเต็มความสามารถ

 

 

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0-2216-3955 หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow