พรรณไม้และสัตว์ป่า ณ ภูหลวง จ.เลย และบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

“ภูหลวง”เป็นมงคลนามที่ผู้ตั้งชื่อจูงใจให้หมายความถึง“ภูเขาใหญ่”หรือ“ภูเขาของผู้เป็นใหญ่” เนื่องจากความใหญ่โตของภูเขา ซึ่งปรากฏต่อสายตาของผู้พบเห็น และธรรมชาติหลายอย่าง อาทิเช่น ป่าไม้ น้ำตก หน้าผา ทุ่งหญ้า และสัตว์ป่านานาชนิด ซึ่งมีความสวยงามแตกต่างจากที่อื่น ชื่อภูหลวงจึงเป็นที่ยอมรับและเรียกกันติดปากสืบต่อมา

ภูหลวงเป็นภูเขาที่มีสัณฐานเฉพาะเหมือนกลุ่มภูเขา ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่ปรากฏในบริเวณอื่นๆของไทย ภูหลวงเป็นภูที่ใหญ่ที่สุดในหมู่ภูที่มียอดตัดเรียบ มีที่ราบกว้างใหญ่(Table Land) ลักษณะดังกล่าวเป็นผลจากการเคลื่อนตัวของผิวโลกขึ้นลงเป็นแผ่นเรียบ เนื่องจากชั้นหินแต่ละชั้นนั้นมีความหนาแน่น(Density)และสม่ำเสมอ(Mesa-Like)

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน

รูปร่างของภูหลวงจากมุมมองทางอากาศ ดูคล้ายใบเมเปิ้ลที่มีแม่น้ำเลยเป็นเส้นกลางใบและแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ซีก ภูมิประเทศทั่วไปเป็นภูเขาหินทราย ทางด้านตะวันตกเป็นภูเขาสลับซับซ้อนและป่าไม้ที่แน่นทึบ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำป่าสัก ทางด้านตะวันออกประกอบด้วยหน้าผาหินทรายที่สูงชันตั้งแต่ระดับความสูง 500 – 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล นอกจากนั้นภูมิประเทศส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบสูงบนภูเขาและมีธรรมชาติที่สวยงาม อาทิ ป่าสน ทุ่งหญ้า ทุ่งดอกไม้ พันธุ์ไม้ และสัตว์ป่านานาชนิด ยอดสูงสุดของภูหลวง คือ “ภูขวาง”ที่มีความสูง 1,571 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของภูหลวง เป็นที่อยู่ประจำของกระทิงหรือเมย ซึ่งจะเดินหากินไปทางตอนเหนือของภูขวาง ผ่านห้วยโป่งไปยังโหล่นเมย

เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกนนกระบา-ผาเตลิ่น

ในที่นี้ขอแบ่งพรรณไม้และสัตว์ป่าที่พบบนภูหลวงออกเป็น 5 หัวข้อ ได้แก่ พรรณไม้ป่า(39 ชนิด) กล้วยไม้(23 ชนิด) มอสส์และเห็ด(3ชนิด) นก ณ ภูหลวง(7 ชนิด) นก ณ บึงบอระเพ็ด(19 ชนิด) และสัตว์ป่า(3 ชนิด)


พรรณไม้ป่า


มีทั้งหมด 39 ชนิด เน้นเฉพาะที่พบดอก หรือผลที่เด่นสะดุดตา โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. ฮ่อมดอย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Strobilanthes dimorphotricha Hance

วงศ์ : ACANTHACEAE

ฮ่อมดอย

ไม้ล้มลุก สูง 40-150 ซม. แตกกิ่งก้านมากมาย ปลายกิ่งมักคดเคี้ยวไปมา ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปดาบ รูปใบหอกแกมรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อเชิงลดและแยกแขนงตามซอกใบและปลายยอด 1-3 ช่อ ยาว 2.5 ซม. ดอกสีม่วงอ่อน หรือสีม่วงอมขาว ดอกเป็นหลอดรูปกรวยโค้งงอเล็กน้อย ปลายหลอดแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือน ส.ค. – ก.พ.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 171 ชนิด ในเมืองไทยพบ 24-25 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นบริเวณริมลำน้ำ เขาหินปูน และพื้นที่โล่งในป่าดิบเขาและป่าสนเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-2,200 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินทั่วไป

แพร่กระจายในจีน ไต้หวัน พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม

2. Strobilanthes sp.

วงศ์ : ACANTHACEAE

Strobilanthes sp. ชนิดที่1

พบด้วยกัน 2 ชนิด ซึ่งยังไม่ทราบชนิดที่แน่นอน ชนิดแรกเป็นไม้เลื้อยแล้วชูยอดตั้งขึ้น ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ใบรูปใบหอกแกมรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นหนามแข็งและมีขน โคนใบกว้าง ก้านใบสั้นมาก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ช่อละ 2-6 ดอก แต่จะทยอยบานครั้งละ 2-3 ดอก ดอกสีม่วง ดอกเป็นหลอดรูปกรวยโค้งงอ ปลายแยกเป็น5กลีบ พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามชายป่า และริมถนน

Strobilanthes sp. ชนิดที่2

ชนิดที่สองเป็นไม้พุ่ม ใบออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ใบรูปใบหอก ปลายใบยาวเป็นหาง โคนใบเว้าตื้น ก้านใบสั้นมาก ออกดอกเป็นช่อกระจะตามปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีม่วงแกมขาว ดอกเป็นหลอดรูปกรวยโค้งงอ ปลายแยกเป็น5กลีบ พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามป่าดิบ

3. สะเดาช้าง

ชื่อท้องถิ่น : ฮักไก่(เชียงใหม่) ; แกนมอ , แลนง้อ(เพชรบูรณ์) ; กะดอลิง(เลย) ; มักกักเขา(ตราด) ; มะกอกเกี้ยม(ประจวบฯ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhus succedanea L.

วงศ์ : ANACARDIACEAE

ใบอ่อนของสะเดาช้าง

ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นแผ่นซ้อนกันคล้ายเกล็ดลิ่น เมื่อต้นฉีกขากจะมียางสีดำไหลออกมา ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ก้านใบประกอบมักมีสีแดงแต้ม ใบย่อยออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง จนถึงสีแดง ออกดอกเป็นช่อกระจะห้อยลงตามซอกใบ ยาว 5-15 ซม. มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศ ดอกสีขาวครีม จนถึงสีเขียว กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ต.ค.

“น้ำยาง”มีพิษ ทำให้ผิวหนังพุพอง รวมทั้ง“เปลือกต้น ใบ และผล”มีพิษสำหรับคนที่มีร่างกายอ่อนแอ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง แต่“ยอดอ่อน”กินเป็นผักสดได้

พืชสกุลนี้พบทั่วโลกประมาณ 250 ชนิด ในไทยพบประมาณ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตร ขึ้นไป เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และตามทางเดินจากหน่วยฯโคกนกกระบา-แปกดำ

แพร่กระจายในอินเดีย จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น พม่า ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) คาบสมุทรมาเลย์ และอินโดนีเซีย

4. ประคำดีควาย

ชื่อท้องถิ่น : มะคำดีควาย(สระบุรี) ; มุแมงสัง(ชุมพร)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gynura procumbens (Lour.) Merr.

วงศ์ : ASTERACEAE

เป็นไม้เลื้อยคลุมดิน ลำต้นเป็นเหลี่ยม ทอดเลื้อยไปได้ไกลถึง 6 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่ รูปขอบขนานแกมรูปวงรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นแบบเชิงลดหลั่นตามซอกใบและปลายกิ่ง มี 2-7 ช่อ แต่ละช่อเป็นรูปเกือบกลม ช่อละ 30-35 ดอก กลีบดอกเป็นฝอยสีเหลืองแกมส้ม เมื่อดอกแก่สีของกลีบดอกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 40 ชนิด ในเมืองไทยพบ 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยไปตามพื้นดินหรือพันต้นไม้ในป่าทั่วไปทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินทั่วไป

5. ผักกาดภู

ชื่อท้องถิ่น : ผักกาดภูหิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sonchus arvensis L.

วงศ์ : ASTERACEAE

ผักกาดภู

ป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ตั้งตรงและสูง 50-100 ซม. ทุกส่วนของต้นมียางสีขาว ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ส่วนใหญ่ออกรอบๆโคนต้น รูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกขนาดเล็ก สีเหลืองสด ปลายกลีบยักเป็น5แฉก ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – มี.ค. เมล็ดมีขนขาวเป็นพู่นุ่มจำนวนมาก

ดอกตูมและผลของผักกาดภู

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 136 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามริมทาง ริมน้ำ และพื้นที่โล่งแจ้งตามลาดไหล่เขาทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และบริเวณหน่วยฯโคกนกกระบา

6. คำยอด

ชื่อท้องถิ่น : ผักขนนกดอย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Youngia japonica (L.) DC.

วงศ์ : ASTERACEAE

คำยอด

คำยอด

เป็นไม้ล้มลุกอายุฤดูเดียว สูง 60-80 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกบริเวณโคนต้นใกล้พื้น รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามปลายยอด ช่อละ 10-25 ดอก ขนาดดอก 0.7-1.3 ซม. ดอกสีเหลืองสด กลีบดอกเรียงซ้อนกันแน่น รูปแถบ ปลายกลีบหยักเป็น5แฉก ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – เม.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 39 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นทั่วไปตามที่รกร้าง ริมทาง ตลอดจนบนภูเขาสูงที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-2,000 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินทั่วไป

แพร่กระจายในอินเดีย-ญี่ปุ่น

7. เทียนภูหลวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Impatiens phuluangensis T. Shimizu

วงศ์ : BALSAMINACEAE

เทียนภูหลวง

เป็นไม้ล้มลุก สูง 10-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกตามซอกใบบริเวณปลายยอด ช่อละ 1-3 ดอก ดอกสีชม สีชมพูเข้ม หรือสีชมพูพูแกมแดง ปกติออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ม.ค. แต่บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาล

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 1,000 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 80 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่ชื้นแฉะบนภูเขาหินทรายที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000-1,500 เมตร เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะบนภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก และภูหลวง จ.เลย เท่านั้น โดยพบครั้งแรกบนภูหลวง

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น และบริเวณหน่วยฯโคกนกกระบา

8. ผักปลาบน้ำเงิน

ชื่อท้องถิ่น : ผักปราบน้ำเงิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Murdannia simplex (Vahl) Brenan

วงศ์ : COMMELINACEAE

ผักปลาบน้ำเงิน

เป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียม เกิดจากกาบใบที่ห่อหุ้มซ้อนทับกัน ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ โดยออกเป็นกระจุกบริเวณโคนต้น รูปแถบ ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามปลายกิ่ง โดยดอกจะบานในช่วงสายถึงบ่าย ขนาดดอก 1-3 ซม. ดอกสีม่วงอมน้ำเงิน หรือสีม่วงอ่อน กลีบดอก3กลีบ รูปไข่กลับ ปกติจะออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ต.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 50 ชนิด ในไทยพบ 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามชายป่าที่มีน้ำขังหรือชุ่มชื้น ทุ่งหญ้าที่ชุ่มชื้น ทุ่งหญ้าป่าเต็งรัง พื้นที่โล่งแจ้งในป่าสนเขาและป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,565 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินทั่วไป

แพร่กระจายในอินเดีย ธิเบต จีน ไต้หวัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี และทวีปแอฟริกาตอนใต้

9. สะเม็ก

ชื่อท้องถิ่น : ก๊อกมอง(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Agapetes lobbii C.B.Clarke

วงศ์ : ERICACEAE

สะเม็ก

เป็นไม้พุ่มอิงอาศัย สูงได้มากกว่า 1 เมตร ลักษณะคล้ายไม้บอนไซหรือกล้วยไม้ กิ่งก้านขนาดเล็กแตกแขนงมากมาย โคนต้นและรากพองอวบใหญ่เพื่อใช้เป็นที่กักเก็บน้ำ ทำให้มีความทนทานต่อดินฟ้าอากาศที่แห้งแล้งได้อย่างดีเยี่ยม ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว มักออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่งก้าน รูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อตามกิ่งก้าน มีดอกย่อยเป็นจำนวนมากออกเรียงเวียนสลับ ดอกสีขาว โคนดอกสีแดง สีแดงอมชมพู หรือสีชมพู ดอกเป็นรูปหลอด ปลายแยกเป็นแฉกหรือกลีบเรียวแคบเล็กๆ5กลีบคล้ายรูปดาว ดอกเมื่อบานเต็มที่..กลีบดอกจะม้วนงอไปด้านหลัง ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – มี.ค.

ดอกแรกแย้มของสะเม็ก

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 80 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 16 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอิงอาศัยบนต้นไม้อื่นตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันตกเฉียงใต้

ดอกตูมของสะเม็ก

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาสมเด็จ และบริเวณหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในพม่า และไทย

10. เหง้าน้ำทิพย์

ชื่อท้องถิ่น : ยางขน , ศรีธนนชัย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Agapetes saxicolo Craib.

วงศ์ : ERICACEAE

 

เหง้าน้ำทิพย์

เหง้าน้ำทิพย์

เป็นไม้พุ่มอิงอาศัยเช่นเดียวกับ“สะเม็ก” กิ่งก้านขนาดเล็กแตกแขนงมากมาย ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรีแกมรูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกกลับ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว 2-4 ซม. ช่อละ 3-7 ดอก ขนาดดอก 1 ซม. ดอกสีขาว และมีสีชมพูระเรื่อตามโคนกลีบ สันกลีบ และปลายกลีบ ดอกเป็นหลอดรูประฆังห้อยคว่ำขนาดเล็ก ปลายแยกเป็น5กลีบเล็กๆและม้วนงอตลบไปด้านหลัง ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – พ.ค.

โคนต้นและรากของเหง้าน้ำทิพย์

พบขึ้นตามลานหินหรืออิงอาศัยบนต้นไม้อื่นในป่าสนเขาและป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป ปัจจุบันมีรายงานการพบในเมืองไทยเฉพาะบนภูกระดึงและภูหลวง จ.เลย เท่านั้น

ผลแก่ของเหง้าน้ำทิพย์

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น และบริเวณหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายบริเวณเขตอบอุ่นของโลกสู่ไทย

11. ดอกใต้ใบ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lyonia foliosa (H.R.Fletcher) Sleumer

วงศ์ : ERICACEAE

ดอกใต้ใบ

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว มักออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่งก้าน รูปขอบขนาน รูปวงรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อยาว 2-11 ซม. ดอกสีขาว กลิ่นหอม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นกระเปาะรูปไข่ ปลายแยกเป็นแฉกตื้นๆ5แฉก ออกดอกในราวเดือน ม.ค. – พ.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 35 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นพืชถิ่นเดียวของเมืองไทย พบขึ้นตามตามทุ่งหญ้าป่าสนเขาและป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200 เมตร ขึ้นไป ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะบนภูกระดึง และภูหลวง จ.เลย เท่านั้น

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

12. กุหลาบขาว

ชื่อท้องถิ่น : ดอกสามสี , ไม(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhododendron lyi Levl.

ชื่อพ้อง : R. leptocladon Dop ; R. saravanense Dop

วงศ์ : ERICACEAE

กุหลาบขาว ดอกสีขาวล้วน

เป็นไม้พุ่ม สูง 1-5 เมตร แตกกิ่งระเกะระกะเป็นพุ่มไม้ใหญ่ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่งก้าน รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามปลายกิ่ง ช่อละ 2-5 ดอก ขนาดดอก 6-7 ซม. ดอกสีขาวหรือสีขาวอมชมพู และมีประสีเหลืองแต้ม ดอกเป็นหลอดรูปกรวยแกมรูประฆัง ปลายดอกแยกเป็น5กลีบ ขอบกลีบมักมีสีชมพูระเรื่อๆ ออกดอกในราวเดือน ก.พ. – พ.ค.

กุหลาบขาว ขอบกลีบดอกมีสีชมพูระเรื่อๆ

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 1,000 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นเป็นกลุ่มหรือเป็นดงบริเวณพื้นที่โล่งแจ้งตามโขดหินหรือซอกหินบนภูเขาหินทรายที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

ดอกตูมของกุหลาบขาว

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น และบริเวณหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ ไทย ลาว และเวียดนามตอนเหนือ

13. กุหลาบแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhododendron simsii Planch.

วงศ์ : ERICACEAE

กุหลาบแดง

เป็นไม้พุ่ม สูง 1-5 เมตร แตกกิ่งเป็นพุ่มระเกะระกะ มี ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกลุ่มไม่เป็นระเบียบตามปลายกิ่ง รูปรี รูปไข่ รูปรีแกมรูปไข่กลับ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ ผลัดใบระยะสั้นๆ ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อละ 2-7 ดอก ดอกเมื่อบานเต็มที่มีขนาด 4-5 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีแดงเรื่อๆ สีแดงแกมส้ม หรือสีแดงเข้ม และมีประสีแดงเข้มแต้ม ดอกเป็นหลอดรูปกรวยหรือแจกัน ปลายแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือน ม.ค. – พ.ค.

กุหลาบแดง

พบขึ้นเป็นกลุ่มตามที่โล่งริมลำธารในป่าดิบเขาบนภูเขาหินทรายที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800-1,500 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น และบริเวณหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม ไต้หวัน และญี่ปุ่น

14. ไข่มุก

ชื่อท้องถิ่น : ช่อไข่มุก(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vaccinium griffithianum Wight

วงศ์ : ERICACEAE

ไข่มุก

ไม้พุ่ม สูง 0.5-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่กลับแคบ รูปวงรี หรือรูปวงรีแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจะ ยาวได้ถึง 7 ซม. มีดอกย่อยคล้ายโคมไฟขนาดเล็กออกเรียงสลับกันและห้อยคว่ำลงเป็นจำนวนมาก ดอกสีขาว หรือสีขาวอมชมพู ดอกเชื่อมติดกันเป็นกระเปาะรูประฆังค่อนข้างกลม มี5สัน ปลายดอกแยกเป็นแฉกตื้นๆ5แฉก สันหลอดดอกจนถึงปลายกลีบมักมีแต้มสีชมพูเป็นทางยาว ออกดอกในราวเดือน ก.พ. – พ.ค.

ไข่มุก

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 450 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามไหล่เขาริมผา ทุ่งหญ้าป่าสนเขา และพื้นที่โล่งของป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200-1,400 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบในไทยเฉพาะบนภูกระดึง และภูหลวง จ.เลย และภูหินร่องกล้า จ.เพชรบูรณ์

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และเส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาสมเด็จ

แพร่กระจายในอินเดีย พม่า และไทย

15. หรีด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gentiana hesseliana Hoss. var. lakshnakarae (Kerr.) Toyokuni

วงศ์ : GENTIANACEAE

หรีด

เป็นไม้ล้มลุกขึ้นรวมเป็นกอเล็กๆติดดิน ไม่แตกกิ่งก้านสาขา ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกบริเวณโคนต้น รูปไข่ รูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกตามยอด ช่อละ 2-16 ดอก ดอกสีม่วงอมน้ำเงิน สีม่วงแกมฟ้า สีม่วงอมชมพู หรือสีม่วงอมขาว ดอกเป็นรูปหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็นกลีบแหลม5กลีบดูคล้ายดาว ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – พ.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 360 ชนิด ในเมืองไทยพบ 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามลานหินทรายบนภูเขาหินทราย และทุ่งหญ้าป่าสนเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,200 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบครั้งแรกจากป่าสนบนภูกระดึง จ.เลย ประกาศเป็นชนิดใหม่ของโลกเมื่อปี พ.ศ.2524

16. หญ้าดอกคำ

ชื่อท้องถิ่น : ดอกคำหญ้า , ดอกหญ้าคำ , ตาลเดี่ยว(ภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hypoxis aurea Lour.

วงศ์ : HYPOXIDACEAE

หญ้าดอกคำ

ไม้ล้มลุก สูง 15-20 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม โดยออกเป็นกระจุกติดพื้นดิน รูปแถบแกมรูปขอบขนาน หรือรูปเรียวยาวคล้ายใบหญ้า ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจะตามซอกใบหรือโคนใบ ช่อละ 1-4 ดอก ขนาดดอก 1-3 ซม. ดอกสีเหลือง หรือสีเหลืองสด ดอกเป็นรูปหลอดเล็กๆ ปลายแยกเป็น6กลีบแหลมดูคล้ายดาว ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 103 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 2-3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นดินทรายบริเวณกอหญ้า ลานหินที่ชุ่มชื้น มีทางน้ำไหลผ่าน ตลอดจนบนบนภูเขาสูงทั่วทุกภาค โดยพบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในทวีปเอเชีย

17. ใบกระวาน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Laurus nobilis L.

วงศ์ : LAURACEAE

ใบกระวาน

ไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 12 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปใบหอก จนถึงรูปไข่ ใบมีกลิ่นหอมเหมือนกระวาน(Amomum testaceum

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบเพียง 4 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามภูเขาหินที่ชื้น หุบเขา และป่าดิบ ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน

แพร่กระจายในทวีปอเมริกา ทวีปแอฟริกา ทวีปยุโรป ปากีสถาน อินเดีย เกาหลี จีนตอนใต้ ไต้หวัน ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย

18. ตะไคร้ต้น

ชื่อท้องถิ่น : ตะไคร้(จันทบุรี) ; จะไค้ต้น(มลายู-นราธิวาส)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Litsea cubeba (Lour.) Pers.

วงศ์ : LAURACEAE

ตะไคร้ต้น

ไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 10 เมตร เมื่อนำเปลือกต้นมาขยี้จะมีกลิ่นหอมฉุนคล้ายเครื่องเทศ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอก หรือรูปไข่แคบ ออกดอกเป็นช่อกลมแน่นตามซอกใบ ช่อละ 4-6 ดอก ดอกสีเหลืองแกมขาวจนถึงสีเหลืองสด ไม่มีกลีบดอก คงมีแต่กลีบเลี้ยง6กลีบ ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – ก.พ.

ตะไคร้ต้น

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบเกือบ 400 ชนิด ในเมืองไทยพบ 35 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่โล่งแจ้งบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตร ขึ้นไป ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาช้างผ่าน

แพร่กระจายในอินเดียทางตะวันออกเฉียงเหนือ เนปาล จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และอินโดนีเซีย

19. ยางบง

ชื่อท้องถิ่น : ยางโบง(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Machilus kurzii King ex Hook. f.

วงศ์ : LAURACEAE

ยางบง

ยางบง

เป็นไม้ยืนต้น ลำต้นเปล้าตรง สูง 5-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกเรียบ สีน้ำตาลแดง มีช่องระบายอากาศแตกเป็นแขนงสั้นๆตามลำต้น ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่กลับ หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามปลายกิ่ง ขนาดดอก 0.8 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีขาวปนเขียวอ่อน ไม่มีกลีบดอก คงมีแต่กลีบเลี้ยง2ชั้นๆละ3กลีบ ออกดอกในราวเดือน ม.ค. – มี.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบเกือบ 100 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าผลัดใบและป่าดิบเขาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินจากหน่วยฯโคกนกกระบา-ผาสมเด็จ อนึ่งนักวิชาการบางท่านระบุว่าไม้ป่าชนิดนี้ คือ มะดูกโคก Persea rimosa Zoll. ex Meisn. แต่เนื่องจากผู้เขียนยังค้นคว้าหาข้อมูลของมะดูกโคกไม่พบ และพบว่ามีหนังสือบางเล่มระบุว่าเป็นยางบง จึงขออนุญาตให้เป็นยางบงไปก่อนแล้วกัน

20. ประทัดทอง

ชื่อท้องถิ่น : กาฝากทอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macrosolen avenis Danser

วงศ์ : LORANTHACEAE

ประทัดทอง

เป็นไม้พุ่มจำพวกกาฝาก แตกกิ่งก้านมากมาย ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปใบหอก หรือรูปมนรี ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามซอกใบ ช่อละ 3-7 ดอก ดอกสีแดงแกมส้ม ดอกเป็นหลอด ปลายดอกบานแยกออกเป็น5แฉกและตลบกลับไปด้านหลัง ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ก.พ.

ดอกตูมของประทัดทอง

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 30 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5-6 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นพืชเบียนหรือพืชกาฝากเกาะตามคาคบไม้ในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,800 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาสมเด็จ และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-หมู่เกาะสุมาตรา

21. ขี้ครอก

ชื่อท้องถิ่น : ขี้คาก , ปอเส้ง , หญ้าผมยุ่ง , หญ้าอียู(ภาคเหนือ) ; บอเทอ , ปะเทาะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; หญ้าหัวยุ่ง(เย้า-แม่ฮ่องสอน) ; ชบาป่า(น่าน) ; ขมงดง(สุโขทัย) ; ขี้หมู(นครสวรรค์) ; ขี้ครอกป่า(ภาคกลาง) ; ปูลู(ภาคใต้) ; เส้ง(นครศรีฯ) ; ปูลุ(มลายู-นราธิวาส)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Urena lobata L.

วงศ์ : MALVACEAE

ขี้ครอก

ไม้พุ่ม สูงราว 0.5-2 เมตร ตามลำต้น กิ่งก้าน ก้านใบ และก้านดอกมีขนรูปดาวปกคลุมและมีขนธรรมดาสีขาวแซม ต้นแก่มีผิวค่อนข้างเกลี้ยง และสีออกม่วง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ใบมีรูปร่างและขนาดของใบแตกต่างกันมาก ใบบริเวณโคนต้นค่อนข้างกลม ปลายใบแยกเป็นแฉกตื้นๆ3แฉก ใบตอนกลางของต้นเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม ไม่เป็นแฉก และใบบริเวณยอดเป็นรูปค่อนข้างกลมยาวจนถึงรูปใบหอก

ออกดอกเดี่ยว หรือเป็นช่อกระจุกๆละ 2-3 ดอก ตามซอกใบ ดอกบานในตอนเช้ามืด เลยเที่ยงมักเริ่มหุบดอก ดอกสีชมพู สีชมพูอมม่วง หรือสีชมพูอมแดง กลีบดอก5กลีบ เรียงเป็นรูปกงล้อ ออกดอกเกือบตลอดปี โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาว

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 10 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่เป็นดงหนาแน่นตามที่โล่งทั่วไป ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,000 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาสมเด็จ และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก

22. โคลงเคลงขี้นก

ชื่อท้องถิ่น : อ้า , อ้าหลวง(ภาคเหนือ) ; กะช้างลิ , ตะลาเด๊าะ , ปอฮี้แท้(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; ซอลาเปล(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ; อี้สี่(มูเซอ-เชียงใหม่) ; ซือจือท่ง(ม้ง-แพร่) ; ซิซะโพะ(กะเหรี่ยง-กาญจนฯ) ; ขันก๋าง(เพชรบูรณ์) ; โคลงเคลงขี้หมา(ตราด) ; จุกนารี(กทม.) ; เบร์ , มะเหร , มังเคร่ , มังเร้ , สาเร , สำเร(ภาคใต้) ; กะดูคุ , กาดูโด๊ะ(มลายู-ปัตตานี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melastoma malabathricum L.

วงศ์ : MELASTOMATACEAE

โคลงเคลงขี้นก

เป็นไม้พุ่ม สูง 1.5-3 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปยาวรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามปลายกิ่ง ช่อละ 3-5 ดอก ขนาดดอก 4-5 ซม. ดอกสีชมพูเข้ม สีชมพูอมม่วง หรือสีม่วงอมชมพู ออกดอกตลอดปี แต่มีมากในช่วงฤดูฝน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 22 ชนิด ในเมืองไทยพบ 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นราบที่ชุ่มชื้น ขอบป่าพรุ พื้นที่โล่งแจ้งบริเวณทุ่งหญ้า ตลอดจนในป่าดิบบนภูเขาสูงทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายบริเวณไทย มาเลเซีย และออสเตรเลีย

23. ส้มสา

ชื่อท้องถิ่น : ตุด , ถั่วฤาษีเศก , เม็ดชุนตัวผู้ , หม่อนอ่อน , หมาก , หว้าโละ , อินสัมปัดถา , เอี้ยบ๊วย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Myrica esculenta Buch.-Ham. ex D. Don

วงศ์ : MYRICACEAE

ผลของส้มสา

ผลของส้มสา

ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 9-15 เมตร หรืออาจพบสูงได้ถึง 20 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกใกล้ปลายกิ่งก้าน รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตามซอกใบ และมีขนสั้นนุ่ม ดอกแยกเพศและแยกต้น ขนาดดอกเล็กมาก กลิ่นหอม ไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง ช่อดอกเพศผู้แตกแขนงสั้นๆ ยาว 2-9 ซม. แรกบานมีสีเหลือง ก่อนเปลี่ยนเป็นสีแดง แต่ละดอกมีกาบดอกขนาดเล็กรองรับ สีเขียวอ่อน ส่วนช่อดอกเพศเมียไม่แตกแขนง ยาว 2-8 ซม. ดอกสีเขียว ติดอยู่บนใบประดับขนาดเล็ก2อัน ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – เม.ย.

ผลรูปกลม รูปรี หรือแบนเล็กน้อย สีเขียว ขนาด 1-2 ซม. ผิวมีตุ่มเล็กๆขรุขระ ผลสุกสีแดง มีเนื้อบางๆ มีเมล็ดเดียว ชั้นหุ้มเมล็ดแข็ง ผลทานได้ มีรสชาติอมเปรี้ยว หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นำมาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ ออกผลในราวเดือน มี.ค. – พ.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 35 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามพื้นที่ค่อนข้างโล่งในป่าดิบเขา มักขึ้นปะปนกับป่าสนเขาในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200-2,400 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

24. หญ้าเอ็นยืด

หญ้าเอ็นยืด

ชื่อท้องถิ่น : ผักกาดน้ำ , หมอน้อย(กทม.)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plantago major L.

วงศ์ : PLANTAGINACEAE

หญ้าเอ็นยืด

หญ้าเอ็นยืด

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 30-120 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกที่โคนต้น รูปช้อน หรือรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อเชิงลด ยาว 10-35 ซม. มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกสีขาวแกมเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น4กลีบ ออกดอกในราวเดือน ส.ค. – มี.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 185 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามสนามหญ้า แปลงปลูกพืช ทุ่งหญ้า และพื้นที่เปิดโล่งที่ชุ่มชื้นบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,500 เมตร ทั่วทุกภาค โดยพบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แพร่กระจายทั่วโลก

25. Ardisia sp.

วงศ์ : PRIMULACEAE

ผลของ Ardisia sp.

เป็นไม้พุ่มสกุลเดียวกับตาไก่(เดิมอยู่ในวงศ์ MYRSINACEAE) แต่ไม่ทราบชนิด ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ รูปใบหอก ปลายใบมน ขอบใบหยักมน โคนใบรูปลิ่ม ออกดอกตามซอกใบ ผลรูปกลมแป้น ผลดิบสีเขียว ผลสุกสีแดง

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 450 ชนิด ในเมืองไทยพบ 72 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน

26. ข้าวสารหลวง

ชื่อท้องถิ่น : ไคร้ย้อย , หลอดเขา(เชียงใหม่) ; ต้นแมงทับ(หนองคาย) ; กระดูกไก่ , เม้าหมด(จันทบุรี) ; ขี้หนอน(ตราด) ; กะผ้ากะสาย , เสียดนก(ชุมพร) ; ปัน(นครศรีธรรมราช) ; ลวย(ตรัง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Maesa ramentacea (Roxb.) A. DC.

วงศ์ : PRIMULACEAE

ข้าวสารลวง

ข้าวสารลวง

ไม้พุ่ม สูงไม่เกิน 10 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอก รูปดาบ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อแตกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว 4-20 ซม. ดอกขนาดเล็ก สีนวล หรือสีขาว ดอกเป็นหลอดรูประฆังสั้น ปลายแยกเป็น5กลีบ กลีบดอกรูปกลม ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ก.พ.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 41 ชนิด ในเมืองไทยพบ 10 ชนิด(เดิมอยู่ในวงศ์ MYRSINACEAE) สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นป่าดิบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาช้างผ่าน

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

27. รังกะแท้

ชื่อท้องถิ่น : ไก๋แดง(เลย) ; รามยูนนาน(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Myrsine seguinii H. L?v.

วงศ์ : PRIMULACEAE

รังกะแท้

ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 7 เมตร หรือมากกว่า ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่งก้าน รูปช้อน ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามกิ่งก้านที่มีเกล็ดปกคลุม ดอกแยกเพศและแยกต้น ขนาดดอก 0.25-0.3 ซม. ดอกสีเขียวอ่อน หรือสีคราม ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – มี.ค.

รังกะแท้

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 134 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามสันเขา หรือใต้ร่มเงาป่าดิบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,200 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และเส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาช้างผ่าน

แพร่กระจายในจีน ไทย และเวียดนาม

28. เหมือดคนดง

ชื่อท้องถิ่น : เข็ม , ผักหยู(เชียงใหม่) ; เนียงกรุบ(สุราษฎร์ธานี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Helicia formosa Hemsl.

วงศ์ : PROTEACEAE

เหมือดคนดง

เหมือดคนดง

ไม้ยืนต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 16 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจะห้อยลงตามซอกใบและกิ่งก้าน ช่อดอกยาว 12-30 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 1.6-3 ซม. ดอกสีขาว หรือสีเหลือง ไม่มีกลีบดอก คงมีแต่กลีบเลี้ยงเป็นรูปหลอดสั้นๆ ปลายผายออกเป็น4กลีบ ออกดอกในราวเดือน ก.พ. – เม.ย.

ผลของเหมือดคนดง

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 28 ชนิด ในเมืองไทยพบ 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 400-1,300 เมตร เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง บริเวณผาช้างผ่าน

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ ไต้หวัน ไทย ลาว และเวียดนาม

29. เหมือดคนตัวผู้

ชื่อท้องถิ่น : เหมือดตบ(ภาคเหนือ) ; จิกหิน(เชียงใหม่) ; เดื่อหิน , ตะขาบต้น , โพสะลอง(เลย) ; ช่องดุง(กะเหรี่ยง-กาญจนฯ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Helicia nilagirica Bedd.

วงศ์ : PROTEACEAE

ผลของเหมือดคนตัวผู้

ไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 3-15 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง รูปรี หรือรูปไข่กลับค่อนข้างยาว ออกดอกเป็นช่อเชิงลดห้อยลงตามซอกใบและกิ่งก้าน ช่อดอกยาว 5-34 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 1-2 ซม. กลิ่นหอมเอียน ดอกสีขาว สีขาวอมเขียว หรือสีเหลืองอ่อน ไม่มีกลีบดอก คงมีแต่กลีบเลี้ยงเป็นรูปหลอดสั้นๆ ปลายผายออกเป็น4กลีบ เมื่อดอกแก่..กลีบจะโค้งไปข้างหลัง ออกดอกในราวเดือน ม.ค. – มิ.ย.

ผลรูปกระสวย หรือรูปกลม ปลายผลมีติ่งหนาม ขอบมีรอยเป็นร่อง ผลแก่สีดำเป็นมัน และมีคราบขาวติดตามผิว มีเมล็ดเดียว รูปไข่ ผลกินได้ ก้านผลย่อยยาว 0.5 ซม.

มักพบขึ้นปะปนกับไม้สนเขาในป่าสนเขา และป่าดิบเขา แต่บางครั้งอาจพบได้ในป่าเต็งรัง ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง บริเวณผาช้างผ่าน

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ พม่า และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

30. คันคาก

ชื่อท้องถิ่น : กับแก , พังกี่ , อะห้วย(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; เม้งสะเกริม(ภาคตะวันออก)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhaphiolepis indica (L.) Lindl. ex Ker.

วงศ์ : ROSACEAE

คันคาก

คันคาก

เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-8 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อแตกแขนงสั้นๆตามปลายกิ่ง ยาว 3-10 ซม. ขนาดดอก 1 ซม. ดอกสีขาว หรือสีขาวแกมชมพู กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – มี.ค.

ดอกตูมของคันคาก

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 8 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามพื้นที่โล่งในป่าละเมาะบนภูเขาหินทราย และชายป่าดิบเขา บริเวณพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 500-1,500 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ ไต้หวัน ไทย และอินโดนีเซีย

31. หนามไข่กุ้ง

ชื่อท้องถิ่น : ไข่กุ้ง , ไข่ปู , บ่าฮู้ดอย , มะฮู้หลวง(เชียงใหม่) ; กูวาซา(ละว้า-เชียงใหม่) ; โก้วอาซา , ตาซู(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rubus ellipticus Sm.

วงศ์ : ROSACEAE

หนามไข่กุ้ง

ไม้พุ่มหรือไม้รอเลื้อย สูงได้ถึง 10 เมตร ใบประกอบแบบใบย่อย3ใบ ออกเรียงสลับ รูปไข่ รูปไข่กลับ รูปวงรีกว้าง หรือรูปกลม ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกที่ซอกใบยาว 5 ซม. ส่วนช่อดอกตามปลายกิ่งยาวได้ถึง 10 ซม. มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ขนาดดอก 0.5-1.2 ซม. ดอกสีขาว หรือสีขาวอมชมพู กลีบดอก5กลีบ ปกติออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ม.ค.

กิ่งก้านของหนามไข่กุ้ง

พืชสกุลนี้พบในเมืองไทย 23 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามที่โล่งแจ้งบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ศรีลังกา ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

32. แก้มขาว

ชื่อท้องถิ่น : กำเบ้อ , กำเบ้อขาว(เชียงใหม่ , เพชรบูรณ์) ; พอแต(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ; กัลปพฤกษ์เครือ(ลำปาง) ; กะเบ้อขาว , ต่างไก่ขน , ผีเสื้อขาว(เลย) ; ดอกแกมใบ , ผีเสื้อ(เพชรบูรณ์) ; ใบต่างดอก(สงขลา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mussaenda sanderiana Ridl.

วงศ์ : RUBIACEAE

แก้มขาว

เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 1-2 เมตร เมื่อต้นเติบโตสูงเต็มที่ก็จะทานน้ำหนักกิ่งก้านและใบไม่ไหว ทำให้กิ่งก้านราบลู่ลงกับพื้นหรือพาดพิงไปตามต้นไม้อื่นจนดูคล้ายไม้เลื้อย ซึ่งทอดยาวไปได้ไกล 10-15 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปใบหอก รูปรี หรือรูปดาบ ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก แต่จะทยอยออกดอกบานทีละ 2-4 ดอก ขนาดดอก 1 ซม. ดอกสีเหลือง หรือสีส้ม ดอกเป็นรูปหลอดคล้ายแจกันทรงสูง ปลายแยกออกเป็น5กลีบคล้ายรูปดาว กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น5แฉก 4แฉกมีขนาดเล็กและปลายแหลม อีกแฉกหนึ่งขยายใหญ่เป็นรูปป้อมหรือรูปรี สีขาว ดูคล้ายใบประดับหรือใบต่างดอกซึ่งดูเด่นสะดุดตา ออกดอกตลอดปี

แก้มขาว

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 160 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามข้างทางที่ชุ่มชื้นหรือชายป่าดิบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 400-1,300 เมตร ทั่วทุกภาค โดยพบมีมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

33. Psychotria sp.

วงศ์ : RUBIACEAE

ผลของ Psychotria sp.

เป็นไม้พุ่มไม่ทราบชนิด ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปใบหอกแกมรูปช้อน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่น ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ดอกสมบูรณ์เพศ ผลรูปกลม สีแดง ผลแก่มีสีดำ ผิวมัน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 1,919 ชนิด ในไทยพบมากกว่า 50 ชนิด พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และเส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาช้างผ่าน

34. ราชาวดีป่า

ชื่อท้องถิ่น : ไคร้บก(ภาคเหนือ) ; ปวกน้ำ(เชียงราย) ; เกี๊ยงพาไหล , ไคร้หางหมา , ดอกฟู , มะหาดน้ำ , หญ้าน้ำแป้ง , หัวเถื่อน , หัวเลื่อน(เชียงใหม่) ; ดอกด้ายน้ำ(เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน) ; ดอกด้ายหางหมา(เชียงใหม่-ลำปาง) ; ปุนปุ้ก(เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ; พู่จีบอย(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; ดอกถ่อน , ฟอน(เลย) ; งวงช้าง(ชัยภูมิ) ; ดอกแม่ม่าย , ม่าย , แม่ม่าย(กาญจนฯ) ; โพหนองปี๊(กะเหรี่ยง-กาญจนฯ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Buddleja asiatica Lour.

วงศ์ : SCROPHULARIACEAE

ราชาวดีป่า

เป็นไม้พุ่ม สูงราว 1-5 เมตร เรือนยอดค่อนข้างโปร่ง กิ่งก้านห้อยย้อยลง ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม และสลับตั้งฉาก รูปเรียวยาว หรือรูปขอบขนานถึงรูปใบหอกแคบ ผลัดใบช่วงสั้นๆ ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 10-25 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมากเรียงอัดกันแน่น ขนาดดอก 0.4-0.6 ซม. กลิ่นหอมแรง ดอกสีขาวถึงม่วงอ่อน ดอกเป็นรูปหลอดขนาดเล็ก ปลายแยกเป็น4กลีบ สีเขียว ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 125 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้(เดิมอยู่ในวงศ์ BUDDLEJACEAE) พบตามที่รกร้าง ชายป่า และพื้นที่โล่งแจ้งในป่าทั่วทุกภาค แต่มีมากบนภูเขาสูงที่มีอากาศหนาวเย็น

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินทั่วไป

แพร่กระจายบริเวณเทือกเขาหิมาลัย – เขตร้อนของทวีปเอเชีย

35. เขืองสร้อย

ชื่อท้องถิ่น : เขืองโทน(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Smilax davidiana A. DC.

วงศ์ : SMILACACEAE

เขืองสร้อย

ไม้เลื้อย ลำต้นกลม เป็นสัน 8-12 สัน ลำต้นตั้งตรง ปลายต้นแตกกิ่งหนาทึบ ผิวเกลี้ยงหรือมีหนามโค้งประปราย มีมือพันยาวราว 3 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี รูปรีกว้าง หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มตามซอกใบล่างสุดของกิ่งอ่อน ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อละ 10-20 ดอก ดอกสีค่อนข้างเขียว มี6กลีบเรียงเป็น2วง ดอกเพศผู้แผ่กางออก กลีบนอกรูปขอบขนาน กลีบในรูปแถบแกมรูปใบหอกกลับ ส่วนดอกเพศเมียมีกลีบรูปใบหอกแกมรูปไข่ ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – ก.พ.

เขืองสร้อย

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 257 ชนิด ในไทยพบ 27 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยหรือพาดตามต้นไม้อื่นตามทุ่งหญ้าหรือพื้นที่เปิดโล่งในป่าละเมาะ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าก่อ ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-1,500 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในจีน ไทย และลาว

36. ย่านทาด

ชื่อท้องถิ่น : เขือง(ภาคเหนือ) ; เครือด่าว , ฟ้าแลบ(สุราษฎร์ฯ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Smilax luzonensis C. Presl.

วงศ์ : SMILACACEAE

ย่านทาด

ไม้เลื้อย ยาวได้ถึง 5 เมตร ลำต้นกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย มีหนามกระจายห่างๆ มีมือพันยาวได้ถึง 12 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มตามซอกใบ 1-3 ช่อ มีใบประดับรูปไข่กว้าง ดอกแยกเพศต่างต้น ดอกสีเขียว หรือสีเขียวอ่อน กลีบดอก6กลีบเรียงเป็น2วงๆละ3กลีบ กลีบวงในมักแคบกว่ากลีบวงนอก ช่อดอกเพศผู้มี 20-80 ดอก ส่วนช่อดอกเพศเมียมี 15-30 ดอก ออกดอกในราวเดือน ก.พ. – ส.ค.

ย่านทาด

พบทอดเลื้อยหรือพาดตามต้นไม้อื่นตามทุ่งหญ้าหรือพื้นที่เปิดโล่ง และป่าเต็งรังทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และเส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น

แพร่กระจายในอินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อนึ่งพืชชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในเมืองลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์

37. เมี่ยงดอย

ชื่อท้องถิ่น : เมี่ยงอีอาม(ภาคเหนือ) ; เมี่ยง , เมี่ยงดอง(เชียงใหม่) ; คันโคกต้น , เมี่ยงหลวง , เหมือดเม็ก , เหมือดหมี(เลย) ; เมี่ยงอาม(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Camellia kissii var. confusa (Craib) T.L.Ming

วงศ์ : THEACEAE

เมี่ยงดอย

ไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 10 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ขนาดดอก 3.5-5 ซม. กลิ่นหอมเย็น ดอกสีขาว กลีบดอก5กลีบซ้อนกันและหลุดร่วงง่าย ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ก.พ.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 120 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป ทั่วทุกภาค โดยพบมากทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง บริเวณบ้านพัก และเส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ดงแปกดำ

แพร่กระจายในจีนตะวันตกเฉียงใต้ แคว้นอัสสัม พม่า และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

38. เมี่ยงหลวง

ชื่อท้องถิ่น : ตีนจำ(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; เข็มใหญ่ , ไข่ดาว แมวคล้องตอ , ส้านเขา , อินทปัฎฐา(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gordonia axillaris (Roxb. ex Ker) Endl.

วงศ์ : THEACEAE

เมี่ยงหลวง

ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง 20 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกบริเวณปลายกิ่ง รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกกลับ ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ตามซอกใบ ขนาดดอก 8-12 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีขาว หรือสีขาวนวล กลีบดอก5กลีบเรียงซ้อนเหลื่อมกัน ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 60 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบเขาบนภูเขาหินทรายที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,100-1,300 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะภูหลวง และภูกระดึง จ.เลย

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามเส้นทางเดินจากผาเตลิ่นสู่ถนนที่ตัดขึ้นหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ ไต้หวัน ไทย ลาว และเวียดนาม

39. ตาเหิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hedychium villosum Wall.

วงศ์ : ZINGIBERACEAE

ตาเหิน

เป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูงราว 1 เมตร หรือมากกว่า ซึ่งอาจขึ้นเพียงต้นเดียวหรือหลายต้นรวมกันเป็นกอ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อตั้งตรงตามปลายยอด ยาว 10-40 ซม. แกนช่อดอกมีขนนุ่มปกคลุม มีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก กลิ่นหอมแรง ดอกสีขาว ดอกเป็นรูปหลอด ปลายแยกเป็นริ้ว กลีบล่าง1กลีบแยกเป็น2แฉกลึก ออกดอกในราวเดือน เม.ย. – ก.ค.

ตาเหิน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 50 ชนิด ในไทยพบประมาณ 28-30 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่ชุ่มชื้น ลานหิน หรืออิงอาศัยบนต้นไม้ในป่าดิบเขา และภูเขาหินทรายที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900-1,300 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


กล้วยไม้ป่า


 

รายชื่อกล้วยไม้บนภูหลวงที่ออกดอกในช่วงนี้(เรียงลำดับตามวงศ์ย่อย สกุล และชนิด) มีทั้งหมด 23 ชนิด ได้แก่

1. รองเท้านารีสุขะกุล

ชื่อท้องถิ่น : รองเท้านารีปีกแมลงปอ(กทม.)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Paphiopedilum sukhakulii Schoser & Senghas

วงศ์ย่อย : CYPRIPEDIOIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

ดอกอ่อนของรองเท้านารีสุขะกุล

ดอกอ่อนของรองเท้านารีสุขะกุล

 

ลำต้นสูง 10-15 ซม. ต้นหนึ่งมี 3-8 ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ออกดอกเดี่ยวตั้งตรง ขนาดดอก 5-10 ซม. ดอกมีหลายสีในดอกเดียวกัน กลีบเลี้ยงตอนบนรูปหัวใจ สีขาว หรือสีเขียวอ่อน และมีเส้นสีเขียวเข้มขนานตามแนวยาว กลีบดอกสีเขียวอ่อน หรือสีเขียวอมเหลือง มีเส้นสีเขียวเข้มพาดตามยาว และมีจุดประสีม่วงอมน้ำตาลจนถึงสีม่วงเข้มทั่วทั้งกลีบ ปากดอกเป็นรูปถุงคล้ายหัวรองเท้า สีเขียว และมีเส้นสีน้ำตาลอมชมพูระเรื่อ สีน้ำตาลแดง จนถึงสีม่วง เป็นตาข่ายกระจายอยู่ทั่วไป ออกดอกในราวเดือน ส.ค. – ธ.ค. บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือน พ.ค. – มิ.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 119 ชนิด ในเมืองไทยพบ 18 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นบริเวณซากใบไม้ทับถมตามโคนต้นไม้ริมลำธาร หรือพื้นที่ที่มีความชื้นสูงในป่าดิบเขาบนภูเขาหินทรายที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000-1,500 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะเขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง จ.เลย เท่านั้น อนึ่งกล้วยไม้ชนิดนี้พบขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2507

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง บริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

เป็นพืชถิ่นเดียวของเมืองไทย โดย Gustav Schoser และ Karlheinz Senghas พบครั้งแรกจากกล้วยไม้ที่ส่งออกไปประเทศเยอรมัน และตั้งชื่อชนิดนี้ให้เป็นเกียรติแก่นายประสงค์ สุขะกุล นักเลี้ยงกล้วยไม้ในเมืองไทยที่รู้แหล่งที่มาของกล้วยไม้ชนิดนี้ ประกาศเป็นชนิดใหม่ของโลกเมื่อปี พ.ศ.2508

2. รองเท้านารีอินทนนท์

ชื่อท้องถิ่น : รองเท้านารีคอลาย , เอื้องไข่ไก่ , เอื้องคางกบ , เอื้องแมลงภู่ , เอื้องอินทนนท์(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Paphiopedilum villosum (Lindl.) Stein

วงศ์ย่อย : CYPRIPEDIOIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

รองเท้านารีอินทนนท์อิงอาศัยบนก้อนหิน

ลำต้นแตกกอเป็นกลุ่มๆ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ต้นหนึ่งมี 4-8 ใบ รูปขอบขนาน รูปแถบ หรือรูปเข็มขัด ออกดอกเดี่ยวทอดเอียงหรือห้อยลงตามซอกใบบริเวณปลายยอด ขนาดดอก 6.5-12.5 ซม. กลีบเลี้ยงตอนบนมีสีเขียวอมเหลืองหรือสีม่วงแดงระเรื่อ และมีแต้มเป็นปื้นสีน้ำตาลอมแดงตอนกลางกลีบ ขอบกลีบมีขลิบสีขาวและมักบิดงอไปด้านหลัง กลีบดอกมีเส้นสีน้ำตาลลากกึ่งกลางกลีบตามแนวยาวดูคล้ายกับแยกออกเป็น2ส่วน ส่วนบนสีม่วงแดงหรือสีน้ำตาลแดง ส่วนล่างสีเหลืองอมน้ำตาล ปากดอกเป็นรูปถุงคล้ายหัวรองเท้า สีม่วงแดง สีเหลือง สีน้ำตาลแดงระเรื่อ หรือสีน้ำตาลอ่อน ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – มี.ค.

รองเท้านารีอินทนนท์อิงอาศัยบนต้นไม้

พบขึ้นอิงอาศัยตามโขดหิน ซอกหิน หรือบนต้นไม้ในป่าดิบเขาที่มีความชุ่มชื้นสูงและมีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , โคกพรหมจรรย์ และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ พม่า และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

3. สิงโตก้านหลอด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bulbophyllum capillipes C.S.P. Parish & Rchb. f.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

สิงโตก้านหลอด

สิงโตก้านหลอด

 

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปไข่จนถึงค่อนข้างกลม ต้นหนึ่งมีเพียง1ใบชูตั้งขึ้นบริเวณยอด รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปขอบขนาน หรือรูปแถบ ออกดอกเดี่ยวจากโคนต้น ขนาดดอก 1-1.3 ซม. ดอกสีเหลืองอมเขียว สีเหลืองอมน้ำตาลแดง หรือสีเหลืองแกมสีแดงระเรื่อ และมีเส้นสีน้ำตาลแดงหรือสีม่วงแดงพาดตามความยาวของกลีบ ปากดอกสีน้ำตาลจนถึงสีแดงเข้ม โคนปากดอกสีม่วง ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – พ.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 1,884 ชนิด ในเมืองไทยพบ 167 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามก้อนหินที่มีไลเคนส์และมอสส์ปกคลุม หรือตามต้นไม้ในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700-1,500 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาสมเด็จ และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในอินเดีย พม่า และไทย อนึ่งพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2417

4. เอื้องขยุกขยุย

ชื่อท้องถิ่น : สิงโตขยุกขยุย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bulbophyllum dayanum Rchb. f.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

เอื้องขยุกขยุย

เอื้องขยุกขยุย

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปไข่จนถึงกลม หรือรูปรี สีม่วงเข้มออกคล้ำ ต้นหนึ่งมีเพียง1ใบชูตั้งขึ้นบริเวณยอด รูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจะสั้นๆเพียงช่อเดียว ช่อละ 2-5 ดอก ขนาดดอก 1.2-2 ซม. กลิ่นเหม็นรุนแรงคล้ายซากสัตว์ ดอกสีเหลืองอมเขียว ก่อนเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดง ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ม.ค.

ผลของเอื้องขยุกขยุย

พบอิงอาศัยตามต้นไม้หรือลานหินในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,100-1,400 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน

แพร่กระจายในพม่า ไทย และกัมพูชา อนึ่งพบครั้งแรกในประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ.2408

5. สิงโตสยาม

ชื่อท้องถิ่น : ลิ้นฟ้า(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bulbophyllum lobbii Lindl.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

สิงโตสยาม

สิงโตสยาม

 

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปไข่ ต้นหนึ่งมีเพียง1ใบชูตั้งขึ้นบริเวณยอด รูปแถบแกมรูปรี หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวจากโคนต้น ขนาดดอก 3-6 ซม. ดอกสีเหลืองหรือสีเหลืองครีม และมีขีดสีแดงเข้มหรือสีม่วงอมแดงหลายเส้นพาดตามความยาว ปากดอกสีเหลือง และมีประสีม่วงอมแดง ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – มี.ค.

พบอิงอาศัยตามก้อนหินหรือต้นไม้ในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-2,100 เมตร พบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาสมเด็จ และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบครั้งแรกในเมืองไทย

6. สิงโตรวงข้าว

ชื่อท้องถิ่น : สิงโตรังแตน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bulbophyllum morphologorum F.Kranzl.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

สิงโตรวงข้าว

สิงโตรวงข้าว

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปรี สีเขียวอมเหลือง ต้นหนึ่งมีเพียง1ใบชูตั้งขึ้นบริเวณยอด รูปลิ้น รูปแถบ รูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งตรงจากโคนลำต้น มีดอกย่อยเรียงตัวกันอยู่แน่นมากกว่า 100 ดอก ออกดอกบานพร้อมกันเกือบทั้งช่อดอก ขนาดดอก 0.5-1 ซม. กลิ่นคล้ายคาวปลา ดอกสีครีม สีเหลืองอ่อน สีเหลืองอมเขียว จนถึงสีส้ม มีจุดสีน้ำตาลเข้มค่อนข้างหนาแน่น และมีประสีน้ำตาลแกมม่วง ปากดอกสีเหลือง และมีจุดประสีน้ำตาล ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – พ.ค.

ดอกตูมของสิงโตรวงข้าว

พบอิงอาศัยตามต้นไม้หรือลานหินในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900-1,400 ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และเส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาสมเด็จ

แพร่กระจายในไทย และเวียดนาม พบครั้งแรกในปี พ.ศ.2451

7. สิงโตเลื้อย

ชื่อท้องถิ่น : สิงโตภูหลวง(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bulbophyllum reptans (Lindl.) Lindl. ex Wall.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

สิงโตเลื้อย

สิงโตเลื้อย

 

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยขนาดเล็ก รูปไข่ หรือรูปไข่เกือบกลม ต้นหนึ่งมีเพียง1ใบชูตั้งขึ้นบริเวณยอด รูปแถบ ออกดอกเป็นช่อกระจะ ช่อละ 2-5 ดอก ขนาดดอก 0.5 ซม. ดอกสีเหลือง หรือสีเหลืองอมเขียว ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ม.ค.

พบอิงอาศัยอยู่ตามต้นไม้หรือตามลานหินก้อนหินในป่าดิบเขาที่มี่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200-2,000 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และรอบๆบริเวณหน่วยฯโคกกระบา

แพร่กระจายในเนปาล สิกขิม ภูฏาน แคว้นอัสสัมของอินเดีย จีน พม่า ไทย และเวียดนาม อนึ่งพบครั้งแรกในปี พ.ศ.2364

8. สิงโตช้อนทอง

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องช้อนทอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bulbophyllum spathulatum (Rolfe ex E.W.Cooper) Seidenf.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

สิงโตช้อนทอง

สิงโตช้อนทอง

 

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปไข่ถึงรูปรี สีน้ำตาลแดง ต้นหนึ่งมีเพียง1ใบชูตั้งขึ้นบริเวณยอด รูปขอบขนาน ปลายใบมนถึงแหลม ออกดอกเป็นช่อกึ่งซี่ร่มที่โคนต้น ช่อละ 2-5 ดอก หรือมากกว่า ขนาดดอก 0.6-1.7 ซม. ดอกสีเหลืองอมน้ำตาลถึงน้ำตาลไหม้ ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – มี.ค.

พบอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800-1,200 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในแคว้นสิกขิม พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2472

9. สิงโตใบพาย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bulbophyllum wallichii Rchb. f.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

สิงโตใบพายอิงอาศัยบนต้นไม้

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปหยดน้ำ รูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ สีเขียวอมส้ม สีเหลือง หรือสีเหลืองอมส้ม ต้นหนึ่งมี2ใบชูตั้งขึ้นบริเวณยอด ออกตรงกันข้าม รูปแถบ หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งตรงจากโคนต้น 1-2 ช่อ ช่อละ 5-10 ดอก ขนาดดอก 3-5 ซม. ดอกสีเหลืองสดจนถึงสีแสด ปากดอกสีเขียวแกมเหลืองจนถึงสีส้มแดง ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – มี.ค.

สิงโตใบพายอิงอาศัยบนก้อนหิน

พบอิงอาศัยอยู่ตามลานหินในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200-1,400 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ดอกตูมของสิงโตใบพาย

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในแคว้นสิกขิม เนปาล ภูฎาน พม่า และไทย พบครั้งแรกในปี พ.ศ.2373

10. เอื้องหินเลย

ชื่อท้องถิ่น : น้ำเต้าฤาษี , เอื้องน้ำเต้า(เลย) ; เอื้องเทียนน้อย , เอื้องหิน(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coelogyne lactea Rchb. f.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องหินเลย

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปรีหรือรูปไข่ ต้นหนึ่งมี2ใบชูตั้งขึ้นบริเวณยอด รูปรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนานจนถึงรูปใบหอกกลับ ออกดอกเป็นช่อยาว 15-20 ซม. ช่อละ 6-10 ดอก หรือมากกว่า ขนาดดอก 2.5-4.5 ซม. กลิ่นหอมฉุน ดอกสีขาวนวล หรือสีครีมถึงสีเหลืองนวล ปลายปากดอกมีแต้มสีเหลืองอมส้ม ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – มี.ค. บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือน เม.ย. – พ.ค.

เอื้องหินเลย

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 200 ชนิด ในเมืองไทยพบ 33 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามลานหินและต้นไม้ในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000-1,500 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

11. เอื้องใบหมาก

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องหมาก(ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coelogyne trinervis Lindl.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องใบหมาก

เอื้องใบหมาก

 

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปไข่อวบสั้น หรือรูปรี สีเหลือง สีเหลืองอมเขียว หรือสีเขียวอมเหลือง ต้นหนึ่งมีเพียง 2 ใบ ชูตั้งขึ้นบริเวณยอด รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปรี ออกดอกเป็นช่อราว 10-20 ซม. ช่อละ 3-8 ดอก ขนาดดอก 2.5-4 ซม. กลิ่นหอม ดอกสีขาวอมครีม หรือสีครีม ปากดอกมีเส้นสีน้ำตาลหลายเส้นพาดตามความยาว ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – พ.ย. บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือน ม.ค. – ก.พ.

พบอิงอาศัยตามก้อนหินหรือลานหินที่ชุ่มชื้นบนภูเขาสูงในป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,300 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และเส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น

แพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบครั้งแรกในประเทศพม่า

12. เอื้องกระเจี้ยง

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องกว่าง(ภาคเหนือ) ; เอื้องศรีเที่ยง , เอื้องสีเที่ยง(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrobium amplum Lindl.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

ผลของเอื้องกระเจี้ยง

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปไข่ หรือรูปรี อวบน้ำ ต้นหนึ่งมี 2 ใบ รูปขอบขนาน รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ออกดอกเดี่ยวตามปลายยอด ขนาดดอก 4-8 ซม. กลิ่นหอมมาก ดอกบานทนนานราว1สัปดาห์ ดอกบานแรกเริ่มมีสีเหลืองอมน้ำตาลและมีจุดประหรือขีดสีน้ำตาลแดง สีน้ำตาลแกมม่วงเข้ม สีน้ำตาลเข้ม สีแดงเข้ม หรือสีม่วงอยู่หนาแน่น ต่อมาสีของดอกจะเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลอมแดงในวันถัดๆไป ปากดอกสีน้ำตาลแดงเข้มเกือบดำ หรือสีม่วงเข้มจนเกือบดำ ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ม.ค. บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือน ก.พ. – มี.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 1,523 ชนิด ในเมืองไทยพบ 163 ชนิด สำหรับชนิดนี้(เดิมอยู่ในสกุล Epigeneium)พบอิงอาศัยตามโขดหินหรือลานหินที่ชุ่มชื้น ขอนไม้ล้ม และต้นไม้ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และเส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น

แพร่กระจายในสิกขิม เนปาล ภูฎาน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

13. เอื้องสีตาล

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องแซะดง(แม่ฮ่องสอน) ; เอื้องสีจุน(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrobium heterocarpum Wall. ex Lindl.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องสีตาลอิงอาศัยบนต้นไม้

ลำต้นรูปแท่งดินสอกลม ต้นหนึ่งมี 2-4 ใบ รูปเรียวยาว หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจะ มักมีมากกว่า1ช่อๆละ 2-5 ดอก ขนาดดอก 3-6 ซม. กลิ่นหอมเย็น ดอกบานทนนานหลายสัปดาห์ สีของดอกจะเข้มขึ้นตามอายุของดอก ดอกแรกบานมีสีขาวครีมกึ่งน้ำตาลอ่อนๆ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองแกมน้ำตาลอ่อน ปากดอกสีเหลือง สีแสด สีเหลืองทองแกมน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมเหลือง และมีเส้นสีน้ำตาล สีแดง หรือสีม่วงแดงเป็นกำมะหยี่กระจายอยู่ทั่ว ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – พ.ค. บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือน ก.ค. – ต.ค.

เอื้องสีตาลอิงอาศัยบนก้อนหิน

พบอิงอาศัยตามก้อนหินและต้นไม้ในป่าผลัดใบและป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-1,600 เมตร เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และเส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น

แพร่กระจายในเทือกเขาหิมาลัย อินเดีย ศรีลังกา จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

14. เอื้องตาเหิน

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องเงินหลวง(แม่ฮ่องสอน)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrobium infundibulum Lindl.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องตาเหินอิงอาศัยบนต้นไม้

ลำต้นเป็นรูปแท่งดินสอกลมและผอม ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปยาวรี หรือรูปไข่ สีเขียวเข้ม ออกดอกเดี่ยวๆตามข้อใกล้ปลายยอด โดยจะออกข้อละดอก แต่อยู่ใกล้ๆกัน ทำให้ดูคล้ายออกดอกเป็นช่อ ขนาดดอก 3.5-8 ซม. กลิ่นหอม ดอกบานทนนานเป็นเดือน ดอกสีขาว ปากดอกมีแต้มสีเหลือง สีเหลืองเข้ม สีแสด หรือสีแดงที่กลางปาก ออกดอกตลอดทั้งปี แต่มีมากในราวเดือน พ.ย. – มี.ค.

เอื้องตาเหินอิงอาศัยบนก้อนหิน

พบอิงอาศัยตามโขดหินและต้นไม้ในป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก โดยพบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

ผลของเอื้องตาเหิน

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาเตลิ่น และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในอินเดีย พม่า ไทย และลาว

15. เอื้องตะขาบขาว

ชื่อท้องถิ่น : ก้านก่อ , เอื้องแปรงสีฟันพระอินทร์(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eria siamensis Schltr.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องตะขาบขาวอิงอาศัยบนต้นไม้

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปแท่งดินสอกลม ต้นหนึ่งมี2ใบ ออกบริเวณยอด รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งขึ้นตามยอด 1-2 ช่อๆละ 15 ดอก หรือมากกว่า ขนาดดอก 0.3-0.5 ซม. กลิ่นหอม ดอกทยอยบานเกือบพร้อมกันทั้งช่อ ดอกสีขาว สีเขียวอ่อน หรือสีเขียวอมเหลือง ปากดอกสีแดงม่วง ออกดอกในราวเดือน ม.ค. – พ.ค. บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือน ก.ค. – ส.ค.

เอื้องตะขาบขาวอิงอาศัยบนก้อนหิน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 500 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 60 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามก้อนหินและต้นไม้ในป่าดิบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800-1,400 เมตร ทั่วทุกภาค พืชชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศไทย ณ ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่

เอื้องตะขาบขาว

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาสมเด็จ และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายบริเวณเทือกเขาหิมาลัย พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม

16. ทำทาน

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องดอกไม้เงิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mycaranthes floribunda (D.Don) S.C.Chen & J.J.Wood

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

ทำทานอิงอาศัยบนต้นไม้

ลำต้นเป็นลำยาว อวบน้ำ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปแถบแคบ ออกดอกเป็นช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง 1-4 ช่อ ดอกทยอยบานจากกลางช่อไปปลายช่อ ขนาดดอก 0.6-1 ซม. ดอกบานทนเป็นเวลานาน ดอกสีขาวอมเขียวอ่อน สีเหลืองอมเขียว หรือสีครีม ปากดอกมีจุดสีม่วงหรือสีม่วงอมแดงจำนวนมาก ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – พ.ค.

ทำทานอิงอาศัยบนก้อนหิน

พืชสกุลนี้ย้ายมาจากสกุล Eria ทั่วโลกพบ 36 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามก้อนหินและต้นไม้ในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง

ทำทาน

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล สิกขิม ภูฐาน จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

17. เอื้องสร้อยระย้า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Otochilus fuscus Lindl.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องสร้อยระย้าอิงอาศัยบนต้นไม้

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปทรงกระบอกจนถึงรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ต้นหนึ่งมี2ใบ ออกที่แท่นรูปกรวยสามเหลี่ยม รูปแถบแคบ สีเขียวเข้ม ออกดอกเป็นช่อกระจะโค้งห้อยลง ยาว 10-15 ซม. ช่อละ 20 ดอก หรือมากกว่า ขนาดดอก 0.8-1.2 ซม. กลิ่นหอม ดอกทยอยบานเกือบพร้อมกันทั้งช่อ ดอกบานทนนานหลายวัน ดอกสีขาว ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – มี.ค. บางครั้งอาจพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือน เม.ย. – พ.ค.

เอื้องสร้อยระย้าอิงอาศัยบนก้อนหิน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 4 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด(ซึ่งมีชื่อไทยเหมือนกัน และมีรูปลักษณะดอกคล้ายกันมาก) สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามก้อนหินและต้นไม้ในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200-1,600 เมตร เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง

ผลของเอื้องสร้อยระย้า

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาสมเด็จ และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในเนปาล สิกขิม ภูฎาน อินเดีย จีน พม่า และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

18. เอื้องทับทิมดอกเรียว

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องขาแมงมุม(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sunipia angustipetala Seidenf.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องทับทิมดอกเรียว

ลำลูกกล้วยรูปทรงกรวย ต้นหนึ่งมีเพียง1ใบชูตั้งขึ้นบริเวณยอด รูปแถบแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อๆละ 3-4 ดอก ดอกสีเหลืองอมเขียว กลีบเลี้ยงมีเส้นสีชมพูพาดตามยาว กลีบดอกสีชมพู ปากดอกสีเหลืองอมเขียว มักมีแถบสีชมพู2แถบบริเวณขอบปาก ภาคเหนือจะพบออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ต.ค. ส่วนบนภูหลวง จ.เลย จะพออกดอกในราวเดือน ก.พ. – มี.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 20 ชนิด ในเมืองไทยพบ 13 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าดิบเขา ปัจจุบันมีรายงานการพบที่ จ.เชียงใหม่ และภูหลวง จ.เลย

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

เป็นพืชถิ่นเดียวของเมืองไทย

19. เอื้องทับทิมภูหลวง

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องรังนกกระจิบ(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sunipia minor (Seidenf.) P.F.Hunt

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEA

ดอกตูมของเอื้องทับทิมภูหลวง

ลำลูกกล้วยมีขนาดสั้น ต้นหนึ่งมี 1-2 ใบ ออกชูตั้งขึ้นบริเวณยอด รูปแถบแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อยาวราว 10 ซม. ช่อละ 5-6 ดอก ดอกสีขาว และมีสีม่วงหรือสีแดงเข้มพาดตามความยาว ปากดอกแยกเป็น3แฉก แฉกกลางมีสีค่อนข้างเขียว ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ก.พ.

พบอิงอาศัยตามลานหินหรือต้นไม้ในป่าโปร่งและป่าดิบเขาโดยเฉพาะบนต้นสนเขาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาสมเด็จ และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

เป็นพืชถิ่นเดียวของเมืองไทย

20. เอื้องสีลาน้อย

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องสีลากลีบลาย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tainia latifolia (Lindl.) Rchb.f.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องสีลาน้อย

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปทรงกลม หรือรูปแถบ อวบน้ำ สีม่วงคล้ำ ใบรูปรีกว้าง ออกดอกเป็นช่อ มีดอกย่อยจำนวนมาก บานพร้อมกันทั้งช่อ ขนาดดอก 1.5-2 ซม. ดอกสีม่วงคล้ำ ปากดอกสีครีมอมเหลือง จนถึงสีเหลือง กลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีประลายเส้นสีเขียวตามยาว ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ก.พ.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 32 ชนิด ในเมืองไทยพบ 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ดิน พบตามพื้นในป่าเบญจพรรณและดิบเขาที่มีแสงรำไรและมีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700-1,500 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน

แพร่กระจายในอินเดีย ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า ไทย และลาว โดยพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย

21. เอื้องสีลา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tainia viridifusca (Hook.) Benth. ex Hook.f.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องสีลา

เอื้องสีลา

 

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปไข่ หรือรูปรี สีน้ำตาลแกมเขียว ใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจะ สูง 40-100 ซม. ช่อละ 20-40 ดอก ขนาดดอก 2.5-4 ซม. ดอกจะทยอยบานจากโคนขึ้นไปหาปลายช่อ ดอกบานทนนานเป็นเวลาหลายวัน ดอกสีเหลืองอมน้ำตาลอ่อนจนถึงสีน้ำตาลแกมเขียวหรือสีน้ำตาลอมม่วง ปากดอกสีขาว สีเขียวอ่อน หรือสีเหลือง ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – ก.พ.

เป็นกล้วยไม้ดิน พบตามทุ่งหญ้า ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000-1,900 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม

22. เอื้องสำเภางาม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cymbidium insigne Rolfe

วงศ์ย่อย : VANDOIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องสำเภางามอันนัม

เอื้องสำเภางามอันนัม

 

ลำต้นโผล่พ้นขึ้นมาเหนือดินเพียงเล็กน้อย ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปแถบยาวแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจะ ยาวราว 100-120 ซม. หรือมากกว่า ช่อละ 10-12 ดอก หรือมากกว่า ดอกทยอยบานทีละ 4-5 ดอก ขนาดดอก 5-10 ซม. ดอกบานทนเป็นเวลานาน ดอกสีขาว สีขาวอมชมพู หรือสีชมพูอ่อน ดอกบานแรกเริ่มมีปากดอกสีจาง ก่อนมีสีเข้มขึ้นในวันต่อๆมา ซึ่งมีสีแดงระเรื่อ สีชมพูเข้ม หรือสีเหลือง และมีลายเส้นสีแดงพาดตามความยาว ออกดอกในราวเดือน ส.ค. – มี.ค.

ทั้งนี้เมื่อเร็วๆนี้ใน FB ของหอพรรณไม้ รายงานว่าสำเภางามนั้น แต่ก่อนรู้จักกันในชื่อพฤกษศาสตร์ Cymbidium insigne Rolfe (นักพฤกษศาสตร์บางท่านแยกกล้วยไม้ชนิดนี้ออกเป็น 2 ชนิดย่อย คือ สำเภางามอันนัม(C. insigne subsp. insigne) มีขนาดต้นและดอกใหญ่กว่า ปากดอกมีจุดสีแดงกระจาย ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – เม.ย. และสำเภางามภูหลวง(C. insigne subsp. seidenfadenii) มีขนาดต้นและดอกเล็กกว่ามาก ปากดอกมีขีดสีแดงกระจาย หรือไม่มี หรือมีแต้มสีเหลืองกลางปากดอก) แต่ภายหลังผู้ศึกษากล้วยไม้สกุลนี้ทั่วโลกคือ ด๊อกเตอร์ฟิลิป คริบ จากสวนพฤษศาสตร์คิว สหราชอาณาจักร มีความเห็นว่าสำเภางามที่พบที่ภูหลวงแตกต่างจาก Cymbidium insigne Rolfe ที่พบทั่วไปในไทย และเวียดนาม ท่านจึงตั้งเป็น Cymbidium insigne Rolfe subsp. seidenfadenii P. J. Cribb & Du Puy แต่ในหนังสือพรรณพฤกษชาติประเทศไทย เล่มกล้วยไม้ 12 (2) ปี 2014 ท่านได้ตีพิมพ์ยกระดับเป็นชนิดไปเลย คือ Cymbidium seidenfadenii (P. J. Cribb & Du Puy) P. J. Cribb

เอื้องสำเภางามภูหลวง

เอื้องสำเภางามภูหลวง

 

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 45 ชนิด ในเมืองไทยพบ 19-21 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ดิน พบขึ้นตามพื้นดินที่ชื้นแฉะ มีทางน้ำไหลผ่าน ป่าละเมาะเขา หรืออยู่ใกล้ลำธารในทุ่งหญ้าป่าสนเขาและป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000-1,500 เมตร สำเภางามอันนัมพบทางภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพบมากบนภูกระดึงและภูหลวง จ.เลย ส่วนสำเภางามภูหลวงเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะที่ภูหลวง จ.เลย เท่านั้น

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาสมเด็จ และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

เป็นพืชถิ่นเดียวของเมืองไทย

23. เอื้องหนวดพราหมณ์ภู

ชื่อท้องถิ่น : หนวดพราหมณ์ขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Holcoglossum subulifolium (Rchb.f.) Christenson

วงศ์ย่อย : VANDOIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

 

เอื้องหนวดพราหมณ์ภู

เอื้องหนวดพราหมณ์ภู

 

ลำต้นขนาดสั้น ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ห้อยระย้า รูปแถบแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อเดียวหรือหลายช่อ ยาว 10-20 ซม. หรือมากกว่า ขนาดดอก 2-3 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกบานทนนาน 2-3 สัปดาห์ ดอกสีขาว โคนปากดอกมีลายแต้มสีม่วงหรือสีม่วงอมแดงกระจาย ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – เม.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 9 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาสมเด็จ และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แพร่กระจายในจีน พม่า ไทย และเวียดนาม


มอสส์ และเห็ดมอสส์ และเห็ด


 

พบหลายชนิด แต่ขอนำเสนอเพียง 3 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. เห็ดขลำหมา

ชื่อท้องถิ่น : เห็ดไข่อ่อน , เห็ดหำหมา(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpova trappei Fogel

วงศ์ : MELANOGASTRACEAE

เห็ดขลำหมา

หมวกเห็ดรูปกลม หรือค่อนข้างกลม สีเหลืองอมส้ม จนถึงสีส้ม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 ซม. สูงราว 2 ซม. บางดอกมีรอยจีบย่นที่โคนเล็กน้อย โคนมีเส้นใยสีเหลืองอ่อนคล้ายเชือกฝังลงในดิน ผิวดอกเห็ดบาง เมื่อแก่จะปริแตกหลุดปลิวไป ภายในดอกเห็ดเมื่อยังอ่อนมีสีขาว มองเห็นเป็นรัศมีออกจากโคน เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ดอกเห็ดทั้งอ่อนและแก่มีลักษณะนิ่มยืดหยุ่นคล้ายยางลบ สปอร์รูปดอกบัวตูม ปลายมน และมีก้านเล็กๆยื่นสปอร์ออกมา ว่ากันว่าเป็นเห็ดที่ทานได้เมื่อดอกยังอ่อน

พบขึ้นตามพื้นดิน บางครั้งพบขึ้นระหว่างขอนไม้ผุกับพื้นดินทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน

แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก และทวีปอเมริกาเหนือ

2. เห็ดกรวยทองตากู

ชื่อท้องถิ่น : เห็ดกรวยทองตะกู

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Microporus xanthopus (Fr.) Kuntze

วงศ์ : POLYPORACEAE

เห็ดกรวยทองตากู

เห็ดกรวยทองตากู

 

หมวกเห็ดรูปกรวยปากกว้าง สีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง กว้าง 3.5-10 ซม. มีแถบสีน้ำตาลอมเหลืองจนถึงสีน้ำตาลเข้มเป็นวงหลายวง เรียงเป็นรัศมี ผิวเรียบเป็นมันวาว บาง และหยักย่นเป็นคลื่นเล็กน้อย ด้านล่างเต็มไปด้วยรูกลมเล็กๆสีขาว ก่อนเปลี่ยนเป็นสีขาวนวล ก้านเห็ดรูปทรงกระบอก กว้าง 0.3-0.4 ซม. ยาว 1-3 ซม. ผิวเรียบ แข็ง สีขาว สีขาวอมเหลือง หรือสีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง ปลายก้านใหญ่ โคนก้านแผ่เป็นแป้นกลมเล็กๆไว้ยึดติดกับขอนไม้ เนื้อเห็ดสีขาว และเหนียว สปอร์รูปรียาว สีขาว ว่ากันว่าเป็นเห็ดที่ทานได้ แต่ต้องทำให้สุก

พบขึ้นตามขอนไม้หรือกิ่งไม้ร่วงในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินทั่วไป

แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก

3. ข้าวตอกฤาษี

พืชกลุ่มไบรโอไฟต์ มี 3 กลุ่ม คือ มอส(Moss) ลิเวอร์เวิร์ต(Liverwort) และฮอร์นเวิร์ต(Hornwort) เป็นพืชกลุ่มแรกที่วิวัฒนาการจากน้ำขึ้นมาสู่บก จากหลักฐานฟอสซิลทำให้ทราบว่าพืชกลุ่มไบรโอไฟต์มีกำเนิดบนโลกนี้มากว่า 400 ล้านปี ในยุคที่บรรยากาศโลกยังไม่คงที่ มีทั้งก๊าซชนิดต่างๆ และความร้อนสูง ทำให้พืชกลุ่มนี้ต้องพัฒนากลไกพิเศษขึ้นเพื่อการอยู่รอด เช่น การเติบโตแบบไร้ทิศทางเพื่อให้สามารถขยายจำนวนออกไปได้อย่างไม่มีขีดจำกัด การมีโครงสร้างที่ดูดซับความชื้นและน้ำได้เร็ว เนื่องจากประกอบด้วยเซลล์เรียงซ้อนกันไม่มากนัก(ประมาณ 1-10 ชั้นเซลล์) และการสร้างโครงสร้างสืบพันธุ์ที่มีจำนวนมากทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ เป็นต้น

ข้าวตอกฤาษีกำลังจะเริ่มพักตัว หยุดการเจริญเติบโต

ในระบบนิเวศป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มชื้นสูง ไบรโอไฟต์ทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำคอยดูดซับความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า โดยมอสส์มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ปกคลุมพื้นป่า ทำให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ในดินได้มาก

แม้ว่าประเทศไทยจะมีความหลากหลายของพืชกลุ่มไบรโอไฟต์สูง แต่การศึกษายังมีไม่มากนัก โดยข้อมูลความหลากหลายของชนิดที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นการศึกษาโดยนักวิจัยต่างชาติที่ทำขึ้นมาเมื่อประมาณ 60-100 ปีมาแล้ว รายงานจำนวนไบรโอไฟต์ทั้งหมดในประเทศไทยประมาณ 1,000 ชนิด ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังมีข้อมูลด้านการกระจายพันธุ์และสถานภาพของพืชกลุ่มนี้ตลอดจนรายละเอียดประจำชนิดมีน้อยมาก ดังนั้นการค้นหาตำแหน่งที่สามารถพบไบรโอไฟต์ชนิดต่างๆเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และจำเป็นต้องศึกษาควบคู่ไปกับการหาศักยภาพพิเศษของไบรโอไฟต์ เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ได้

ในกลุ่มไบรโอไฟต์ มอสส์มีจำนวนชนิดมากที่สุด(ทั่วโลกพบประมาณ 9,500 ชนิด) พบได้ทั่วไปมากกว่าลิเวอร์เวิร์ตและฮอร์นเวิร์ต ซึ่งทั้งมอสส์ ลิเวอร์เวิร์ต และฮอร์นเวิร์ต เป็นพืชที่มีวิวัฒนาการน้อยกว่าพืชกลุ่มอื่นๆ ไม่มีแม้กระทั่งราก ลำต้น และใบที่แท้จริง แต่กลับมีกลไกพิเศษมากมายที่ช่วยให้พืชเหล่านี้สามารถอยู่รอดมาได้ ซึ่งพืชในกลุ่มนี้มีชื่อไทยเพียงชื่อเดียวคือ “ข้าวตอกฤาษี”(Sphagnum spp. วงศ์ SPHAGNACEAE) เป็นมอสส์ชนิดหนึ่ง นอกนั้นยังไม่มีชื่อในภาษาไทย คงเรียกชื่อทับศัพท์ตามภาษาอังกฤษ

วงศ์ SPHAGNACEAE

มอสส์ในวงศ์นี้ ทั่วโลกมี 3 สกุล ได้แก่ สกุล Ambuchanania ทั่วโลกพบเพียงชนิดเดียว คือ A. leucobryoides (T. Yamag., Seppelt & Z. Iwats.) Seppelt & H.A. Crum ex A.J. Shaw ; สกุล Flatbergium ทั่วโลกพบเพียงชนิดเดียว คือ F. sericeum (M?ll. Hal.) A.J. Shaw และ สกุล Sphagnum ทั่วโลกพบ 523 ชนิด

ข้าวตอกฤาษีกำลังจะเริ่มพักตัว หยุดการเจริญเติบโต

มอสส์วงศ์นี้ชอบขึ้นในที่ชื้นและในแอ่งน้ำ มีคุณสมบัติพิเศษ คือ ทำให้น้ำและดินบริเวณใกล้เคียงกับที่มอสส์ขึ้นอยู่มีสภาพเป็นกรด ดังนั้นต้นส่วนล่างที่ตายไปแล้วจึงสลายตัวช้า อันเป็นอาหารให้แก่ต้นใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ สภาพแวดล้อมที่มีมอสส์วงศ์นี้ขึ้นอยู่มีสังคมพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะเฉพาะ นอกจากนั้นใบของมอสส์วงศ์นี้ยังมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ เนื่องจากมีช่องว่างที่เรียงกันอยู่จำนวนมากภายในเซลล์ แต่ละช่องว่างจะมีลักษณะคล้ายลูกโป่งที่มีช่องเปิด 1 ช่อง และสามารถขยายขนาดเพื่อรองรับน้ำได้ปริมาณมาก ทำให้ซึมซับน้ำได้ดี จึงได้รับสมญานามว่า“ฟองน้ำมีชีวิต” มีความสำคัญต่อธรรมชาติ โดยเป็นแหล่งรักษาความชุ่มชื้นของป่า

ข้าวตอกฤาษี

ชื่อท้องถิ่น : ข้าวตอกฤาษี(ภาคเหนือ)

ชื่อสามัญ : Sphagnum Moss

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sphagnum sp.

ลักษณะลำต้น : เป็นพืชไร้ท่อลำเลียงที่มีขนาดใหญ่กว่ามอสส์ชนิดอื่นๆ ลักษณะคล้ายต้นไม้เล็กๆ ส่วนที่คล้ายลำต้นและใบ คือ “แกมมีโตไฟต์”(Gametophyte) มีสีเขียวอ่อน สีเหลือง หรือสีแดง มีก้านเล็กๆที่ดูเหมือนลำต้นเป็นแกน ส่วนปลายแกนจะประกอบด้วยกิ่ง3แบบ ได้แก่ กิ่งขนาดยาวจะห้อยลงแนบลำต้น ยาว 1-5 ซม. ทำหน้าที่ดูดซับน้ำจากส่วนโคนต้น กิ่งแบบที่สองเป็นกิ่งยาวแยกตั้งตรงกันข้ามกับกิ่งแบบแรก ยาว 3-8 ซม. ทำหน้าที่ช่วยพยุงลำต้น และกิ่งแบบที่สามเจริญขึ้นไปทางยอด เป็นกิ่งสั้นๆ ยาว 1-2 ซม. ซึ่งต่อมาจะหักออกแล้วเติบโตเป็นต้นใหม่ ปลายยอดของกิ่งที่ตั้งตรงจะมีกิ่งเล็กๆจำนวนมากเกิดเป็นกระจุกๆละ 3-8 กิ่ง ขึ้นอยู่กับชนิด ทำหน้าที่สร้างอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ กิ่งทั้ง3แบบมีรูปร่างคล้ายเรือเรียงซ้อนทับกันตลอด ในช่วงฤดูฝนจะมีสีเขียวสดใส แต่ในช่วงฤดูร้อนจะพักตัว มีสีน้ำตาลอ่อนและเหี่ยวแห้งลงจนกลายเป็นสีขาว

ลักษณะใบ : ส่วนที่คล้ายใบนั้นจะออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่ กว้าง 0.1-0.2 ซม. ยาว 0.2-0.3 ซม. ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบโค้งขึ้นคล้ายเรือ แผ่นใบบาง มีเซลล์ชั้นเดียว แต่ประกอบด้วยเซลล์ 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง มีขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายไส้กรอก ประเภทที่สองเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ภายในเป็นช่องว่าง ทำหน้าที่ช่วยเก็บน้ำ

ลักษณะดอก : ไม่มีดอก แต่ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ ซึ่งสปอร์โรไฟต์เจริญอยู่บริเวณยอดแกมมีโตไฟต์ อับสปอร์รูปกลม ขนาด 0.2 ซม. ก้านชูอับสปอร์สั้น มองเห็นได้ไม่ชัดเจน เมื่ออับสปอร์แก่จะเจริญยืดยาวออกเป็นก้านชูอับสปอร์เทียม สปอร์รูปคล้ายผอบเล็กๆ สีเหลือง สีน้ำตาล และเปลี่ยนเป็นสีดำในที่สุด ก่อนแตกตามแนวรอยต่อของฝาปิดอับสปอร์

แหล่งที่พบในไทย : สกุลนี้ในเมืองไทยมีรายงานการพบประมาณ 11 ชนิด โดยพบขึ้นอยู่รวมเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ตามที่ชื้นแฉะ ทางน้ำไหลผ่านตลอดเวลา บนผิวน้ำที่มีค่าความเป็นกรด-ด่าง(pH)ค่อนข้างต่ำ หรือริมลำธารบนภูเขาที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปีและมีความชื้นสูง ทั่วทุกภาค

ข้าวตอกฤาษีพักตัว หยุดการเจริญเติบโต

สำหรับ 11 ชนิดที่พบในไทย ได้แก่ S. cuspidatum Ehrh. ex Hoffm. Habitat. พบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200 เมตร ขึ้นไป โดยพบดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ภูกระดึง จ.เลย ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา จ.ปราจีนบุรี จ.นครนายก และเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช ในทวีปเอเชียพบแพร่กระจายในอินเดีย จีน พม่า ไทย ลาว คาบสมุทรมาเลย์ ฟิลิปปินส์ เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว เกาะเซเลบีส และเกาะนิวกินี ; S. cuspidatum var. subrecurvum (Warnst.) A. Eddy พบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 50-1,100 เมตร โดยพบที่ จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.เลย และ จ.จันทบุรี ในทวีปเอเชียพบแพร่กระจายในไทย มาเลเซีย เกาะชวา เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว และเกาะนิวกินี ; S. cuspidatulum C. M?ll. ; S. junghuhnianum Dozy & Molk. Habitat. พบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,150-1,400 เมตรโดยพบที่ จ.เลย จ.กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี ในทวีปเอเชียพบแพร่กระจายในอินเดีย จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ไทย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาะชวา เกาะบอร์เนียว เกาะเซเลบีส และเกาะนิวกินี ; S. luzonense Warnst. Habitat. พบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,00-1,300 เมตร โดยพบที่ จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เลย ในทวีปเอเชียพบแพร่กระจายในจีน ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ; S. ovatum Hampe โดยพบที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เลย ในทวีปเอเชียพบแพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีน และไทย ; S. palustre L. Habitat. Alt. พบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200-1,300 เมตร โดยพบที่ จ.เลย ในทวีปเอเชียพบแพร่กระจายในอินเดีย จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาะชวา และเกาะเซเลบีส ; S. palustre subsp. pseudocymbifolium (M?ll. Hal.) A. Eddy พบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร โดยพบที่ จ.เลย และ จ.จันทบุรี ในทวีปเอเชียพบแพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน และไทย ; S. perichaetiale Hampe Habitat. พบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000-1,350 เมตร โดยพบที่ จ.เลย จ.ปราจีนบุรี และ จ.นครนายก ในทวีปเอเชียพบแพร่กระจายในอินเดีย จีน ไทย กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย เกาะบอร์เนียว เกาะชวา เกาะสุมาตรา เกาะนิวกินี ; S. robinsonii Warnst. Habitat. พบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร โดยพบบนภูกระดึง จ.เลย ในทวีปเอเชียพบแพร่กระจายในไทย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ; S. subsecundum Nees Habitat. พบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200-1,400 เมตร โดยพบที่ จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เลย ในทวีปเอเชียพบแพร่กระจายในอินเดีย จีน ไซบีเรีย เกาหลี ญี่ปุ่น พม่า ไทย เวียดนาม เกาะนิวกินี

เฉพาะบนภูหลวง มีรายงานการพบข้าวตอกฤาษีอย่างน้อย 3 ชนิด ได้แก่ S. cuspidatum Ehrh. ex Hoffm. Habitat. ชนิดนี้พบมากที่สุด ; S. junghuhnianum Dozy & Molk. Habitat. ชนิดนี้พบรองลงมา และ S. perichaetiale Hampe Habitat. ชนิดหลังนี้พบน้อยที่สุด โดยพบเพียงแห่งเดียว ณ บริเวณแปกดำ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาสมเด็จ และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

แหล่งกำเนิดและแพร่กระจาย : เขตอบอุ่นและเขตหนาวทั่วโลก-เขตร้อนบางแห่งที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยพบมากชนิดในทวีปอเมริกาเหนือ

สรรพคุณ : 1) ซึมซับน้ำได้ดี มีความสำคัญต่อธรรมชาติ โดยเป็นแหล่งรักษาความชุ่มชื้นของป่า 2) มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการเกษตร ซึ่งใช้เป็นวัสดุคลุมดินเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ ต่างประเทศมีการจำหน่ายในรูปพีทมอสส์และมอสส์แห้ง แต่ในประเทศไทยยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับมอสส์สกุลนี้น้อยมาก 3) ทั้งต้นมีฤทธิ์เป็นกรด(antiseptic) อุ้มน้ำได้ดีกว่าสำลี จึงใช้ซับแผลแทนสำลีได้เป็นอย่างดี และ 4) มอสส์ทุกชนิด รวมทั้งลิเวอร์เวิร์ธและฮอร์นเวิร์ธ จากการศึกษาพบว่าพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจำพวกสารต้านเชื้อรา สารต้านแบคทีเรีย และสารต้านเซลล์มะเร็ง ทำให้เราพบว่าไม่มีแมลงหรือสัตว์อื่นๆกินพืชกลุ่มนี้ และยังไม่พบเชื้อราและโรคพืชต่างๆในพืชกลุ่มนี้ ในประเทศจีนมีการใช้ประโยชน์จากมอสส์และลิเวอร์เวิร์ธในรูปแบบของสมุนไพรและภูมิปัญญาชาวบ้านมาแล้วเป็นเวลานาน เช่น การใช้ลิเวอร์เวิร์ธรักษาฝีหนอง ใช้เป็นยาลดไข้ ยาคลายกล้ามเนื้อ และยังนำมอสส์มาทำเป็นชา ชงดื่มแก้เมื่อย และเป็นยาขับนิ่วในไต เป็นต้น


นก ณ ภูหลวง


 

พบหลายชนิด แต่บันทึกภาพได้เพียง 7 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. นกจับแมลงสีฟ้า

ชื่อสามัญ : Verditer Flycatcher

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eumyias thalassina (Swainson, 1838)

วงศ์ : MUSCICAPINAE

นกจับแมลงสีฟ้า

ส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น บางส่วนเป็นนกอพยพ มีขนาด 15-17 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้มีปากสั้น หัวตาและแถบตาสั้นๆ สีดำ หัวและลำตัวสีฟ้าแกมเขียวเข้ม ส่วนตัวเมียมีหัวและลำตัวสีฟ้าอ่อมแกมสีเทากว่าตัวผู้ หัวตาและแถบตาไม่ชัดเจนเหมือนตัวผู้ แตกต่างจากนกจับแมลงสีฟ้าอ่อน(Pale Blue Flycatcher)ตรงที่มีปากสั้นกว่า ก้นสีฟ้าและมีลายขาว

พบอาศัยตามป่าชายเลน สวนผลไม้ สวนสาธารณะ ป่าโปร่ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,565 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน , เส้นทางเดินจากหน่วยฯโคกกระบา-ผาสมเด็จ และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

2. นกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า

ชื่อสามัญ : Mrs.Gould’s Sunbird

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aethopyga gouldiae (Vigors, 1831)

วงศ์ : NECTARINIIDAE

นกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า

เป็นนกอพยพ มีขนาด 11-16.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้มีหน้าผาก กระหม่อมถึงท้ายทอย ข้างแก้ม คอ และอกสีฟ้าเข้มเหลือบเป็นมัน ลำตัวด้านบนและอกสีแดงสด ลำตัวด้านล่างสีเหลืองสด ปีกสีเขียวแกมเหลือง ตะโพกสีเหลืองสด โคนหางสีฟ้า หางยาวสีฟ้าเข้มและเหลือบเป็นมัน สำหรับตัวผู้ช่วงผลัดขนมีลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่อกมีสีแดงแซม ท้องมีสีเหลืองเข้ม

ส่วนตัวเมียมีลำตัวด้านบนสีเทาแกมเขียวคล้ำ ลำตัวด้านล่างสีเหลือง ตะโพกสีเหลือง

พบอาศัยตามชายป่าดิบ ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200 เมตร ขึ้นไป พบมากทางภาคเหนือ และ จ.เลย

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง บริเวณโคกพรหมจรรย์

3. นกติ๊ดแก้มเหลือง

ชื่อสามัญ : Yellow-cheeked Tit

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parus spilonotus (Bonaparte, 1850)

วงศ์ : PARIDAE

นกติ๊ดแก้มเหลือง

เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 13.5-15.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้มีหงอนตั้งที่ท้ายทอย คิ้ว แก้ม ท้ายทอย และลำตัวด้านล่างสีเหลือง หน้าผากถึงหงอนด้านหน้า แถบตา คอ และอกสีดำ ลำตัวด้านบนเป็นลายเกล็ดสีดำสลับเหลือง ปีกมีแถบสีขาว ท้องด้านล่างและก้นสีขาวแกมเทา

ส่วนตัวเมียคล้ายตัวผู้ แต่สีซีดกว่า ส่วนที่เป็นสีดำจะเป็นสีดำจางๆแกมเขียว

เสียงร้องดังว่า“ชี-ชี-ชี-วิด” หรือ“วี-วี-วี้”

พบอาศัยตามชายป่าดิบ ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900 เมตร ขึ้นไป โดยพบกระจายประปรายอยู่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันตก

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง บริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

4. ไก่ฟ้าหลังขาว ชนิดย่อย jonesi

ชื่อสามัญ : Silver Pheasant

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lophura nycthemera jonesi (Linnaeus, 1758)

วงศ์ : PHASIANIDAE

ไก่ฟ้าลังขาว ชนิดย่อย jonesi

ไก่ฟ้าลังขาว ชนิดย่อย jonesi

 

เป็นนกประจำถิ่น ตัวผู้มีขนาด 120-127 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีหงอนยาวสีดำปรกท้ายทอย ใบหน้าสีแดง ลำตัวด้านบนสีขาวเด่นชัด มีลายเกล็ดและลายบั้งสีดำ ลำตัวด้านล่างสีดำ หางยาวสีขาว แข้งและตีนสีแดง

ส่วนตัวเมียมีขนาด 56-71 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หงอนสั้น ลำตัวด้านบนสีน้ำตาล ลำตัวด้านล่างสีดำ มีลายเกล็ดสีขาว หางคู่นอกมีลายบั้งสีขาวดำ

เสียงร้องขณะหากินเป็นเสียงสั้นในลำคอว่า“อึ๊ดๆ”

พบอาศัยตามชายป่าดิบ ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700-2,000 เมตร โดยพบกระจายทางภาคเหนือ , จ.เลย , อุทยานฯเขาใหญ่ , อุทยานฯทับลาน , อุทยานฯปางสีดา , อุทยานฯตาพระยา และ จ.ตราด

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง ตามทางเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน และบริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

5. นกปรอดภูเขา ชนิดย่อย simillis

ชื่อสามัญ : Mountain Bulbul

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ixos mcclellandii ssp. simillis (Horsfield, 1840)

วงศ์ : PYCNONOTIDAE

นกปรอดภูเขา ชนิดย่อย simillis

โดยปกตินกปรอดภูเขาทั่วไป เป็นนกประจำถิ่น ะมีขนาด 21-24 ซม.(วัดจากปลายปากพาดผ่านลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวด้านบนสีน้ำตาลแดง ท้ายทอยมีหงอนสั้นๆ แก้มและข้างคอสีน้ำตาลอ่อนแกมแดง คางและอกสีเทา มีลายขีดสาวที่หัวและอก ลำตัวด้านบนและปีกสีเขียวมะกอก ลำตัวด้านล่างสีขาว ก้นสีเหลือง

เสียงร้องแหลมคล้ายลูกเจี๊ยบ ดังว่า“เจี๊ยบ-เจี๊ยบ”หรือ“จี๊ป-จี๊ป”

พบอาศัยตามชายป่า และป่าดิบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตร ขึ้นไป โดยพบประปรายในบางแห่งของแต่ละภาค ยกเว้นภาคตะวันออกยังไม่มีรายงานการพบ

แต่ชนิดย่อย simillis พบบนภูหลวง จ.เลย เพียงแห่งเดียว ขนคลุมหลังและไหล่มีสีเทาอมน้ำตาล

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง บริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

มีรายงานการพบในจีนตอนใต้ เกาะไหหลำ พม่าตะวันออกเฉียงเหนือ และภูมิภาคอินโดจีนตอนเหนือ

6. นกปรอดคอลาย

ชื่อสามัญ : Stripe-throated Bulbul

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pycnonotus finlaysoni (Strickland, 1844)

วงศ์ : PYCNONOTIDAE

นกปรอดคอลาย

นกปรอดคอลาย

 

เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 19-20 ซม.(วัดจากปลายปากพาดผ่านลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) แถบตามีสีดำ หน้าผาก ใบหน้า และคอถึงอกตอนบนมีลายขีดสีเหลืองกระจาย เห็นได้ชัดเจน หัวและลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเขียว ปีกสีเขียวไพลแกมเหลือง ก้นสีเหลือง ท้องสีน้ำตาลอ่อน

เสียงร้องค่อนข้างแหบดังว่า“วีก-วิ๊ก-อิ-วิ๊ก”

นกปรอดคอลาย

พบอาศัยตามชายป่า ป่าโปร่ง และป่าดิบเขา ทั่วทุกภาค เฉพาะภาคกลางพบประปราย

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง บริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา

7. นกกระจิ๊ดหางขาวเล็ก

ชื่อสามัญ : White-tailed Leaf Warbler

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phylloscopus davisoni (Deignan, 1956)

วงศ์ : SYLVIIDAE

นกกระจิ๊ดหางขาวเล็ก

นกกระจิ๊ดหางขาวเล็ก

 

เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 11-11.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากล่างสีส้มปลายดำ คิ้วสีเหลือง แถบตาสีคล้ำ กระหม่อมสีเทาแกมเขียว มีแถบกลางสีอ่อน ลำตัวด้านบนสีเขียวแกมเหลืองคล้ำ มีแถบปีก2เส้นสีเหลืองสดใส ลำตัวด้านล่างสีเหลืองสดใส ใต้หางขณะหุบมีสีขาวชัดเจน

เสียงร้องแหลมระรัวว่า“ทิชชี-ชี้วี่ ทิชชี-ชี้วี ทิซ”

พบอาศัยตามชายป่า ป่าโปร่ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900-2,565 เมตร โดยพบกระจายทางภาคเหนือ , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง บริเวณรอบๆหน่วยฯโคกนกกระบา


นก ณ บึงบอระเพ็ด


พบหลายชนิด แต่บันทึกภาพได้เพียง 19 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. นกกะเต็นปักหลัก

ชื่อสามัญ : Pied Kingfisher

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ceryle rudis (Linnaeus, 1758)

วงศ์ : ALCEDINIDAE

นกกะเต็นปักหลัก ตัวเมีย

นกกะเต็นปักหลัก ตัวเมีย

 

เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 27-30.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวมีหงอนสั้นๆ แถบตาสีดำ คิ้วสีขาว ปากแหลมยาวสีดำ ขนสลับลายสีขาวดำ เวลาบินปีกมีแถบสีขาวขนาดใหญ่ ตัวผู้มีแถบอก2แถบ แถบบนกว้างกว่าแถบล่าง

ส่วนตัวเมียมีแถบอก1แถบ ตรงกลางแถบมักไม่ต่อเนื่อง

เสียงร้องแหลมสั่นดังว่า“ชิชิริ-ชิชิริ”

สามารถกระพือปีกบินอยู่กับที่กลางอากาศได้ ก่อนพุ่งตัวลงจับปลาในน้ำ

นกกะเต็นปักหลัก ตัวเมีย

พบอาศัยตามแหล่งน้ำจืดในพื้นที่ราบ โดยพบประปรายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก พบมากทางภาคกลาง

2. เป็ดแดง

ชื่อสามัญ : Lesser Whistling-Duck

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrocygna javanica (Horsfield, 1821)

วงศ์ : ANATIDAE

เป็ดแดง

เป็ดแดง

 

เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 40-43 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ลำตัวทั่วไปสีน้ำตาลแกมเหลือง กระหม่อม ท้ายทอย และหลังสีน้ำตาลเข้ม ขนคลุมไหล่และหางสีน้ำตาลแดง ขนปลายปีกสีเทาดำ ปากและขาสีดำ ขณะบินต่างจากนกเป็ดน้ำชนิดอื่นตรงที่หัวและคออยู่ระดับต่ำกว่าลำตัวเล็กน้อย ปีกกว้างและกลมกว่านกเป็ดน้ำอื่นๆ บินตรง กระพือปีกไม่เร็วมาก

เสียงร้องแหลมสูงคล้ายเสียงนกหวีด ดังว่า“วี้ด-วี้ด”

พบอาศัยตามนอง บึง และแหล่งน้ำต่างๆ โดยพบประปรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ พบมากทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

3. เป็ดคับแค

ชื่อสามัญ : Cotton Pygmy-goose

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nettapus coromandelianus (Gmelin, 1789)

วงศ์ : ANATIDAE

เป็ดคับแค

เป็ดคับแค

 

เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 32-33 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวและคอสีขาว ตัวผู้มีหัวและลำตัวสีขาว กระหม่อมสีดำ มีเส้นรอบคอสีดำเหลือบเขียว หลังสีดำเหลือบเขียว ข้างลำตัวสีเทา ท้องสีขาว ขณะบินจะเห็นแถบสีขาวขนาดใหญ่พาดตลอดปีก

ส่วนตัวเมียมีแถบคาดตาสีน้ำตาลเข้ม หัว คอ และลำตัวด้านล่างสีเนื้อ กระหม่อมสีน้ำตาลเข้ม อกมีลายประสีน้ำตาลกระจาย ขณะบินปีกมีสีดำและมีขอบสีขาวที่ปลายขนกลางปีก

เป็ดคับแค

พบอาศัยตามนอง และบึงที่มีพืชน้ำ โดยพบประปรายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ พบมากทางภาคกลาง

4. นกยางโทนใหญ่

ชื่อสามัญ : Great Egret

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardea alba (Linnaeus, 1758)

วงศ์ : ARDEIDAE

นกยางโทนใหญ่

นกยางโทนใหญ่

 

ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพ ส่วนน้อยเป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 85-102 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีลักษณะคล้ายนกยางโทนน้อย หัวค่อนข้างเล็ก คอเรียวยาว หนังหน้าสีฟ้าเข้ม ปากสีดำสนิท ขาสีแดงคล้ำ โดยเฉพะที่น่อง อกและหลังมีขนเจ้าชู้ยาวออกมา โดยเฉพาะขนหลังจะยาวมาก

เสียงร้องดังว่า“กร็าก..ก..ก”

พบอาศัยตามพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม โดยพบประปรายทางภาคเหนือ พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้

5. นกกระสานวล

ชื่อสามัญ : Grey Heron

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardea cinerea (Linnaeus, 1758)

วงศ์ : ARDEIDAE

นกกระสานวล

เป็นนกอพยพ มีขนาด 90-100 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวและคอสีขาว ปากสีเหลือง ด้านหน้าคอมีลายขีดสีดำเป็นเส้นประ หลังตาถึงท้ายทอยมีขนยาวคล้ายเปีย สีดำ ขนลำตัวสีเทา ขนปีกบินสีเทาเข้มเกือบดำ ช่วงฤดูผสมพันธุ์มีปากสีส้มสด หัวและคอสีขาวมากขึ้น ช่วงวัยอ่อนนั้นหน้าผาก คอ และลำตัวสีเทา ปากสีเหลืองคล้ำ

เสียงร้องดังว่า“กว้าก”หรือ“ร้าก”

พบอาศัยตามทุ่งนา พื้นที่ชุ่มน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม โดยพบประปรายเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกที่ยังไม่มีรายงานการพบ ในอดีตเคยขยายพันธุ์ในไทย ปัจจุบันเป็นเพียงนกอพยพ

6. นกยางกรอกพันธุ์ชวา

ชื่อสามัญ : Javan Pond Heron

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardeola speciosa (Horsfield, 1821)

วงศ์ : ARDEIDAE

นกยางกรอกพันธุ์ชวา

เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 44-45 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ค่อนข้างจะแยกได้ยากจากนกยางกรอกชนิดอื่น แต่ปลายปีกอาจมีสีน้ำตาลแกมเหลืองหรือสีอ่อนกว่านกยางกรอกพันธุ์จีน ช่วงฤดูผสมพันธุ์นั้นหัวสีน้ำตาลแกมเหลืองนวล หนังรอบตาสีฟ้าแกมเทา คอถึงอกสีค่อยๆเข้มเป็นน้ำตาลแดง ท้ายทอยมีขนเจ้าชู้ยาวคล้ายเปีย2เส้น หลังและขนคลุมไหล่สีเทาดำ แข้งสีเหลืองหรือสีชมพูแกมแดง

เสียงร้องขณะบินดังว่า“กรอก-กรอก”

พบอาศัยตามทุ่งนา พื้นที่ชุ่มน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม โดยพบทางภาคกลาง

7. นกยางเปีย

ชื่อสามัญ : Little Egret

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Egretta garzetta (Linnaeus, 1766)

วงศ์ : ARDEIDAE

นกยางเปีย

นกยางเปีย

 

ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพ ส่วนน้อยเป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 5-65 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หนังหน้าสีเทา หรือสีเขียวแกมเหลือง ปากสีดำ ขาสีดำ ตีนสีเหลือง ช่วงฤดูผสมพันธุ์มีหนังหน้าสีชมพูแกมแดง ท้ายทอยมีขนเปียยาว2เส้น หน้าอกและหลังมีขนเจ้าชู้ยาวเด่นเห็นชัด ขาสีดำสนิท ตีนสีเหลืองส้ม หรือบางตัวอาจเป็นสีแดง ช่วงวัยอ่อนมีหน้าและโคนปากสีเทา ขาสีเทาเข้ม

เสียงร้องดังว่า“คร๊าก”หรือ“อ้าก”

พบอาศัยตามทุ่งนา และพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ทั่วทุกภาค

8. นกยางโทนน้อย

ชื่อสามัญ : Intermediate Egret

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mesophoyx intermedia (Wagler, 1827)

วงศ์ : ARDEIDAE

นกยางโทนน้อย

นกยางโทนน้อย

 

เป็นนกอพยพ มีขนาด 65-72 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีลักษณะคล้ายนกยางโทนใหญ่ แต่ตัวเล็กกว่า หัวใหญ่หว่า คอหนาและสั้นกว่า หนังหน้าสีเหลือง ปากสีเหลือง ปลายปากสีดำ มุมปากลึกระดับเดียวกับตำแหน่งดวงตา ขาและตีนสีดำ ช่วงฤดูผสมพันธุ์มีหนังหน้าสีเขียวแกมเหลือง ปากสีเหลืองสด ปลายปากสีดำมากขึ้น อาจถึงครึ่งปาก ขนเจ้าชู้ที่อกและหลังยาวมากขึ้น โดยเฉพาะขนนอกยาวกว่านกยางโทนใหญ่

เสียงร้องดังว่า“กว๊าก”หรือ“กู-ว๊าก”

พบอาศัยตามทุ่งนา และพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยพบประปรายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ พบมากทางภาคกลาง

9. นกแซงแซวหางปลา

ชื่อสามัญ : Black Drongo

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicrurus macrocercus (Vieillot, 1817)

วงศ์ : DICRURIDAE

นกแซงแซวหางปลา

เป็นนกประจำถิ่น บางส่วนเป็นนกอพยพ มีขนาด 27-28.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ขนลำตัวสีดำเหลือบน้ำเงินเล็กน้อย หางแฉกลึก บางครั้งจุดขาวที่หัวตา ช่วงวัยอ่อนมีอกสีเทาเข้ม ท้องและตะโพกมีสีขาวแซม

เสียงร้องแหบดังว่า“แซ่ก-แซ่ก”

พบอาศัยตามทุ่งนา พื้นที่เกษตรกรรม หนอง บึง ส่วนใหญ่พบตามพื้นที่ราบ ในช่วงย้ายถิ่นอาจพบได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 2,000 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก เป็นนกประจำถิ่น ส่วนทางภาคใต้จะเป็นนกอพยพ

10. นกนางแอ่นบ้าน

ชื่อสามัญ : Barn Swallow

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hirundo rustica (Linnaeus, 1758)

วงศ์ : HIRUNDINIDAE

นกนางแอ่นบ้าน

มีทั้งที่เป็นนกอพยพและนกประจำถิ่น มีขนาด 14-15 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หน้าผากและคอสีน้ำตาลแดงเข้ม มีแถบดำเหลือบน้ำเงินพาดอก ขนลำตัวด้านบนสีดำเหลือบน้ำเงินเป็นมัน ลำตัวด้านล่างและขนคลุมใต้ปีกสีขาว หางแฉกลึก ขนหางคู่นอกยาวที่สุด และจะยาวมากขึ้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ขนหางแต่ละเส้นมีจุดสีขาว ยกเว้นคู่ในสุด ช่วงวัยอ่อนมีหน้าผากและคอสีน้ำตาล ขนลำตัวด้านบนสีดำแกมน้ำตาล และแถบคาดอกสีดำ

พบอาศัยตามพื้นที่เปิดโล่ง ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2ล565 เมตร ทั่วทุกภาค

11. นกอีแจว

ชื่อสามัญ : Pheasant-tailed Jacana

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hydrophasianus chirurgus (Wagler, 1832)

วงศ์ : JACANIDAE

นกอีแจว

ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพ ส่วนน้อยเป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 29-31.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หน้าผากถึงท้ายทอยมีสีน้ำตาลเข้ม หน้าและคอสีขาว มีแถบตาต่อเนื่องถึงแถบอกสีดำ ข้างคอสีเหลือง ลำตัวด้านบนสีน้ำตาล ลำตัวด้านล่างสีขาว ลักษณะคล้ายนกพริกช่วงไม่เต็มวัย แต่ขณะบินปีกสีขาว ปลายปีกสีดำ ช่วงฤดูผสมพันธุ์มีหัวและหน้าสีขาว กระหม่อมสีดำต่อเนื่องกับเส้นข้างคอ ลำตัวสีน้ำตาลดำ แถบปีกสีขาว หางยาวขึ้นอย่างน้อย 25 ซม.

เสียงร้องดังว่า“มิ-อูย”หรือ“แจว-แจว”

ด้วยความที่มีรูปร่างสวยงาม จึงได้รับสมญานามว่า“ราชินีแห่งนกน้ำ” แต่ผู้เขียนกลับคิดว่าเหตุที่ได้สมญานามนี้ เพราะว่าตัวเมียจะผสมพันธุ์กับตัวผู้ถึง4ตัว หรือมากกว่า ก่อนวางไข่

พบอาศัยตามหนอง และบึงที่มีพืชน้ำ โดยพบประปรายทั่วทุกภาค พบมากทางภาคกลาง

12. นกนางนวลแกลบเคราขาว

ชื่อสามัญ : Whiskered Tern

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chlidonias hybrida (Pallas, 1811)

วงศ์ : LARIDAE

นกนางนวลแกลบคอขาว

เป็นนกอพยพ มีขนาด 24-28 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) กระหม่อมมีลายขีดจนเป็นแถบดำที่ท้ายทอย แถบตาสีดำ ปากหนาและสั้น สีดำ ปีกกว้างและสั้น หางเว้าตื้น แข้งและตีนสีแดงเข้ม ช่วงฤดูผสมพันธุ์นั้น หน้าผากถึงท้ายทอยมีสีดำ ข้างแก้มสีขาว ตัดกับลำตัวด้านล่างสีเทาเข้มหรือเกือบดำ ปากสีแดงเข้มเกือบดำ ส่วนช่วงวัยอ่อน..ลำตัวด้านบนมีลายแถบจากขนสีน้ำตาลเข้ม

เสียงร้องดังว่า“เก็ก-เก็ก”

นกนางนวลแกลบคอขาว

นกนางนวลแกลบคอขาว

 

พบอาศัยตามหนอง บึง แม่น้ำ และชายฝั่งทะเล โดยพบประปรายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ พบมากทางภาคกลาง

13. นกกาน้ำเล็ก

ชื่อสามัญ : Little Cormorant

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phalacrocorax niger (Vieillot, 1817)

วงศ์ : PHALACROCORACIDAE

 

นกกาน้ำเล็ก

เป็นนกประจำถิ่น มีบางส่วนเป็นนกอพยพ มีขนาด 51-54.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีขนาดเล็กกว่านกกาน้ำชนิดอื่น ปากสั้นสีเทาแกมเนื้อ คอสั้น ใต้คอสีขาว ขนลำตัวสีน้ำตาลดำ ปีกและขอบขนปีกสีน้ำตาลแกมเทา ช่วงฤดูผสมพันธุ์บริเวณหัว คอ และลำตัวด้านบนมีสีดำเหลือบเขียวเป็นมัน กระหม่อม ขนคลุมหู และท้ายทอยมีขนสีขาวแซมเป็นเส้นเล็กๆ ปากสีดำ

นกกาน้ำเล็ก

นกกาน้ำเล็ก

พบอาศัยตามหนอง บึง ทะเลสาบ แหล่งน้ำต่างๆ และป่าชายเลน โดยพบประปรายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ และพบมากทางภาคกลาง

14. นกเป็ดผีเล็ก

ชื่อสามัญ : Little Grebe

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tachybaptus ruficollis (Pallas, 1764)

วงศ์ : PODICIPEDIDAE

นกเป็ดผีเล็ก

เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 25-29 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หน้าผาก และท้ายทอยจนถึงหลังมีสีน้ำตาลเข้ม ใบหน้า ข้างคอ อก และท้องสีน้ำตาลแกมเหลือง ปากแหลมสีเหลืองอ่อน หางสั้นกุด ช่วงฤดูผสมพันธุ์นั้นตาสีเหลือง ใบหน้าและข้างคอมีสีน้ำตาลแดงเข้ม สีข้างสีน้ำตาลเข้ม ปากสีดำ โคนปากสีเหลือง

นกเป็ดผีเล็ก ช่วงฤดูผสมพันธุ์

เสียงร้องรัวดังว่า“กรี๊รก-กรี๊รกกก”

นกเป็ดผีเล็กกำลังดำน้ำหนี

เป็นนกดำน้ำเก่ง พบอาศัยตามหนอง บึง ทะเลสาบ ตลอดจนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 800 เมตร ทั่วทุกภาค

15. นกคู้ต

ชื่อสามัญ : Common Coot

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Fulica atra (Linnaeus, 1758)

วงศ์ : RALLIDAE

นกคู้ต

เป็นนกอพยพ มีขนาด 40.5-42.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตาสีน้ำตาล ปากและกระบังโคนสันปากบนมีสีขาว ขนลำตัวสีดำ ลำตัวด้านล่างสีดำแกมเทา แข้งและตีนสีเขียว ช่วงวัยอ่อนมีหน้า คอ และอกสีขาวแกมเทา กระบังโคนสันปากเล็ก และขนลำตัวสีเทาแกมน้ำตาล

พบอาศัยตามหนอง บึง ทะเลสาบ และแหล่งน้ำต่างๆที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 800 เมตร โดยพบประปรายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง

16. นกอีโก้ง

ชื่อสามัญ : Purple Swamphen

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Porphyrio porphyrio (Linnaeus, 1758)

วงศ์ : RALLIDAE

นกอีโก้ง

นกอีโก้ง

 

เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 38.5-42 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวและลำตัวสีน้ำเงินแกมม่วง ปากอวบใหญ่สีแดง โคนสันปากมีกระบังสีแดงสด หลังและปีกสีน้ำเงินคล้ำแกมน้ำตาล ก้นและขนคลุมใต้หางสีขาว แข้งและตีนสีแดงสด ช่วงวัยอ่อนมีสีคล้ำกว่า ปากสีดำ ตัวผู้ที่โตเต็มวัยมักชอบไล่ตีตัวผู้อื่นที่เข้ามาใกล้บริเวณหากินของตน

เสียงร้องแหบดังว่า“คร้ากก”

นกอีโก้ง

นกอีโก้ง

 

พบอาศัยตามพื้นที่ชุ่มน้ำจืด ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ราบ แต่สามารถพบได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร โดยพบประปรายในแต่ละภาค พบมากทางภาคกลาง

17. นกตีนเทียน

ชื่อสามัญ : Black-winged Stilt

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Himantopus himantopus (Linnaeus, 1758)

วงศ์ : RECURVIROSTRIDAE

นกตีนเทียน ตัวผู้

ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพ มีบ้างที่เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 35-40 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้มีหัวและลำตัวสีขาว ปากบาง แหลม และยาวตรง สีดำ ปีกและลำตัวด้านบนสีดำ ขายาวมาก สีชมพูอมแดง บางตัวอาจมีสีดำที่หัวและท้ายทอยในรูปแบบแตกต่างกัน

นกตีนเทียน ตัวเมีย

ส่วนตัวเมียมีลำตัวด้านบนสีดำแกมน้ำตาล หัวและท้ายทอยอาจมีแถบสีเทา ช่วงวัยอ่อนมีกระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำตาลแกมเทา ลำตัวด้านบนและปีกสีน้ำตาลแกมเทา และมีลายเกล็ดจากขอบบนเป็นสีน้ำตาลอ่อน

เสียงร้องดังว่า“กิ๊ก-กิ๊ก-กิ๊ก”

นกตีนเทียน ช่วงวัยอ่อน

พบอาศัยตามทุ่งนา พื้นที่ชุ่มน้ำ นาเกลือ และชายฝั่งทะเล โดยพบประปรายทางภาคเหนือ และภาคใต้ พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง

18. นกเอี้ยงหงอน

ชื่อสามัญ : White-vented Myna

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acridotheres grandis (Moore, 1858)

วงศ์ : STURNIDAE

นกเอี้ยงหงอน

เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 24.5-27.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ขนลำตัวสีดำ ตาสีน้ำตาลแดงเข้มเกือบดำ หน้าผากมีหงอนยาวตั้งเด่นเห็นชัด ปากสีเหลือง ช่วงวัยอ่อนมีหงอนสั้น ขนลำตัวสีดำแกมน้ำตาล

เสียงร้องคล้ายกับนกเอี้ยงสาลิกา เป็นเสียงแหบดัง ก้องกังวาน และร้องเสียงสูงต่ำได้หลายแบบ

พบอาศัยตามพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เปิดโล่ง และใกล้ชุมชนเมืองทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก เฉพาะภาคใต้พบประปราย

19. นกเอี้ยงด่าง

ชื่อสามัญ : Asian Pied Staring

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gracupica contra (Linnaeus, 1758)

วงศ์ : STURNIDAE

นกเอี้ยงด่าง


สัตว์ป่า


 

พบหลายชนิด(ยกเว้นนก) แต่บันทึกภาพได้เพียง 3 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. งูทางมะพร้าวแดงภูหลวง

ชื่อสามัญ : Thai Bamboo Racer ; Thai Red Mountain Racer

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oreocryptophis porphyraceus (Cantor, 1839)

วงศ์ย่อย : COLUBRINAE

วงศ์ : COLUBRIDAE

งูทางมะพร้าวแดงภูหลวง

เป็นงูไม่มีพิษ ออกหากินในตอนกลางวัน หัวและลำตัวสีส้มแดง มีขีดหนาสีดำตามยาวกลางหัว และมีแถบลายสีดำขนานกับแนวกลางสันหลังตั้งแต่คอจรดหาง โดยแถบสีดำแต่ละแถบจะคลุมพื้นที่เกล็ดลำตัวแถวที่ 6-8 ทำให้ดูว่าแถบหนากว่างูทางมะพร้าวแดงชนิดย่อยอื่นๆ และไม่มีลายพาดขวางลำตัว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของงูชนิดย่อยนี้

พบตามพื้นป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้(มีรายงานการพบใน จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ จ.พิษณุโลก ภูหลวง จ.เลย ภูเขียว จ.ชัยภูมิ จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี จ.กาญจนบุรี ฯลฯ)

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง บริเวณหน้าบ้านพักฯ

แพร่กระจายในอินเดีย พม่า และไทย

2. ผีเสื้อปีกแหว่ง

ชื่อสามัญ : Blue Admiral

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kanidka canace (Linnaeus, 1763)

วงศ์ย่อย : NYMPHALINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อขาหน้าพู่)

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อปีกแหว่ง ระยะหนอน

ผีเสื้อปีกแหว่ง ระยะหนอน

 

มีขนาด 6-7 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกบน(หรือหลังปีก)มีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีแถบสีฟ้าอ่อนพาดยาวจากปีกคู่หน้าต่อเนื่องมายังปีกคู่หลัง

ปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีพื้นปีกเป็นสีน้ำตาลเลอะๆคล้ายเปลือกไม้แห้ง ขอบปีกด้านข้างของปีกทั้ง2คู่เว้าแหว่ง อันเป็นที่มาของชื่อ“ผีเสื้อปีกแหว่ง”

เป็นผีเสื้อที่หาพบได้ยาก โดยพบได้ตามป่าไผ่ และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง บริเวณผาเตลิ่น

3. ผีเสื้อแดงอินเดีย

ชื่อสามัญ : Indian Red Admiral

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vanessa indica (Herbst, 1794)

วงศ์ย่อย : NYMPHALINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อขาหน้าพู่)

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อแดงอินเดีย

มีขนาด 5.5-6.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกบน(หรือหลังปีก)คู่หน้ามีพื้นปีกสีน้ำตาลและสีส้ม มุมปลายปีกคู่หน้ามีสีดำและมีแต้มสีขาวบนสีดำ ส่วนปีกคู่หลังมีพื้นปีกสีน้ำตาล ขอบปีกด้านข้างมีสีส้ม แต้มจุดสีดำ

ปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีพื้นปีกเป็นลายสีน้ำตาลเลอะๆทั่วทั้งปีก

เป็นผีเสื้อที่หาพบได้ยาก โดยพบได้ตามบนภูเขา ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง บริเวณผาเตลิ่น


ความในใจของผู้เขียน


ผาเตลิ่น มองจากผาสมเด็จ

“ภูหลวง..ดินแดนสวรรค์แห่งพันธุ์พืช โดยเฉพาะกล้วยไม้” เป็นสมญานามของผู้ชื่นชอบพรรณไม้ที่กล่าวขานกันต่อๆมา ซึ่งไม่ว่ามาเยือนในเดือนใดก็ย่อมได้เห็นพรรณไม้หลากชนิดบานสะพรั่งให้เราชมอยู่เสมอ ซึ่งพื้นที่แห่งนี้มีพันธุ์ไม้เขตอบอุ่นแพร่กระจายพันธุ์มาถึง รวมทั้งเป็นที่กล่าวขานทั่วไปว่าเป็นแหล่งรวมความหลากหลายแห่งพืชพรรณไม้ป่าที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย สิ่งที่ยืนยันได้ดีก็เป็นคำกล่าวของ“ดร.เต็ม สมิตินันท์”ปรมาจารย์แห่งวงการพฤกษศาสตร์ไทยผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า“ภูหลวงคือแหล่งสุดท้ายที่พืชพรรณไม้เขตอบอุ่นกระจายพันธุ์ลงมาถึง” นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญกล้วยไม้ของโลกต่างยอมรับว่า“ภูหลวงคือแหล่งรวมสายพันธุ์กล้วยไม้ป่าที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”

เลาะเลียบผาเตลิ่น