วัดพระธาตุจอมแว่

5071

วัดพระธาตุจอมแว่

เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนยอดดอย หากใครเดินทางผ่านอำเภอพานแล้วล่ะก็ จะต้องมองเห็นพระปางประทานพรตั้งเด่นเป็นสง่าเป็นที่สักการะบูชาของชาวอำเภอพาน นั่นเองเป็นที่ตั้งของพระธาตุจอมแว่ วันนี้ท็อปเชียงรายจะพาไปชมและสักการะพระธาตุจอมแว่ อำเภอพานกันครับ โดยเส้นทางขึ้นมีสองทางครับทั้งเส้นทางรถ และการเดินขึ้นทางบันไดนาคซึ่งสร้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ – ๒๕๐๖ โดยมีขั้นบันไดทั้งหมด ๓๒๗ ขั้นด้วยกัน

ประวัติพระธาตุจอมแว่

จากเดิมแต่องค์พระสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์สมณโคดม ได้ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จจาริกเที่ยวประกาศพระพุทธศาสนา เผยแพร่พระธรรม ที่ได้ตรัสรู้นั้นให้เวไนยสัตว์ทั้งหลายรู้แจ้งเห็นจริง เล่าขานกันต่อมาว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงดอยซางคำจึงได้ทรงพักพระวรกายบนยอดดอย และทรงหยั่งรู้ด้วยพระญาณว่า สถานที่แห่งนี้จักเป็น พุทธสถานที่สําคัญแห่งหนึ่งในอนาคตกาล พระองค์จึงได้ทรงประทานพระเกศาจํานวนหนึ่งให้แก่ผู้ติดตามเฝ้านมัสการ เพื่อกราบไหว้บูชาแทนพระองค์ เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงเสด็จไปแล้ว ชาวบ้านจึงได้ ร่วมกันสร้างที่บรรจุพระบรมเกศาธาตุ ณ ที่พระพุทธองค์ทรงประทับเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้ระลึกถึงพระพุทธองค์ในภายภาคหน้า
ต่อมาเกิดชุมชนเป็นบ้านเมือง เรียกว่าเมืองพานอยู่ภายใต้การปกครองของพญางําเมือง เจ้าเมืองภูกามยาว (จังหวัดพะเยา) ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในนาม “พ่อขุนงําเมือง” มีใจศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้มาเยี่ยมเยียนประชาราษฎร์ ในราวปี พ.ศ. ๑๘๓๙ และพบที่บรรจุพระบรมเกศาธาตุอยู่บนดอยซึ่งอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม จึงได้สั่งให้บรรดาช่างฝีมือมาสร้างเจดีย์ครอบที่บรรจุพระบรมเกศาธาตุแล้วเสร็จ ในเดือน ๔ ปี พ.ศ. ๑๘๓๙ โดยบรรจุแก้วแหวนเงินทองของมีค่าเป็นเครื่องบูชาพระบรมเกศาธาตุ พระเจดีย์ดังกล่าวมีฐานกว้างด้านละ ๑ วา ๒ ศอก สูง ๒ วา ๒ ศอกคืบ และมีการสมโภชเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน
พ.ศ. ๒๓๘๐ เจ้าพญาหาญ พ่อเมืองพานคนแรก เป็นผู้นําทําการบูรณะ พ.ศ. ๒๔๑๖ พญาไชยเฒ่า พ่อเมืองพานคนที่สอง เป็นผู้นําทําการบูรณะ พ.ศ. ๒๔๕๐ พญาไชยชนะสงคราม (ขุนหลวงพวงพูลสวัสดิ์) พ่อเมืองพานคนที่สาม พร้อมด้วยครูบาอินต๊ะ และศรัทธาบ้านสันต้นแหน ครูบาอินทนะ พร้อมด้วยศรัทธาบ้านแม่คาวหลวง ครูบาเตปิน พร้อมด้วยศรัทธาบ้านฝั่งตื้น ทําการบูรณะเจดีย์ให้ใหญ่กว่าเดิม เป็นฐานกว้างด้านละ ๔ วา ๒ ศอก สูง ๗ วา ๒ ศอก เสร็จในเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๕๐ พ.ศ. ๒๕๒๔ พระอธิการสิงห์คำ สิริปัญโญ เจ้าอาวาส ได้นําศรัทธาทําการบูรณะ ในเดือน ๔ เหนือ (๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔) พ.ศ. ๒๕๓๑ ทําการบูรณะทาสีองค์พระธาตุเจดีย์ และกําแพง (ทาสีขาว) พ.ศ. ๒๕๓๖ เทพื้นคอนกรีตรอบองค์พระธาตุเจดีย์ พ.ศ. ๒๕๔๒ บูรณะองค์พระธาตุเจดีย์เป็นสีทองคํา พ.ศ. ๒๕๕๖ บูรณะ ฐานองค์พระธาตุเจดีย์ และพื้นภายในกําแพง ประเพณีสรงน้ำพระธาตุเจดีย์ ในเดือน ๔ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ (แปดเป็ง) ของทุกปี ประเพณีทําบุญสลากภัต เดือน ๑๒ เหนือ ขึ้น ๕ ค่ำ ของทุกปี
หมายเหตุ : ผ้าสําหรับห่มองค์พระธาตุเจดีย์ ยาว ๑๘ เมตร

พระพุทธรูป ปางประทานพร
พระพุทธจอมเกศมหามังคลานุสรณ์ ร.๙
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราชรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี  สร้างไว้ ณ วัดพระธาตุจอมแว่ ตำบลเมืองพาน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ได้ทำการวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 บริเวณด้านหน้าอุโบสถ แต่ไม่มีการก่อสร้างเป็นเวลานานหลายปี ต่อมาในปี พ. ศ. 2537 เจ้าคณะอำเภอพานได้ประชุมกรรมการโดยมี นายบรรจง สุทธิคมน์ นายอำเภอพาน ในที่ประชุมมีมติตกลงสร้างพระพุทธรูปดังกล่าวแต่ย้ายไปก่อสร้างที่ใหม่ ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ ในวัน ศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2537 โดยได้ทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จและได้ประกอบพิธี บรรจุพระหทัย(หัวใจ) ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
และได้ขนานนามว่า “พระพุทธจอมเกศมหามังคลานุสรณ์ ร.๙” รวมระยะเวลาก่อสร้าง 1 ปี ใช้ทุนทรัพย์ในการก่อสร้าง 2,500,000 บาท พระพุทธรูปสูงจากฐานที่ประทับยืน 18.90 เมตรรวมความสูงจากฐานทั้งหมด 26.90 เมตร

พระพุทธจอมเกศมหามังคลานุสรณ์ ร.๙
วิวบรรยากาศมุมมองจากบนวัด
วิวบรรยากาศมุมมองจากบนวัด
แวะไหว้พระนอนก่อนขึ้นวัดพระธาตุจอมแว่

ลิงก์นำทาง : วัดพระธาตุจอมแว่ ตำบลเมืองพาน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย