TNN ระวัง “พายุสุริยะรุนแรง” จุดดับบนดวงอาทิตย์สูงเป็นประวัติการณ์

TNN

Tech

ระวัง “พายุสุริยะรุนแรง” จุดดับบนดวงอาทิตย์สูงเป็นประวัติการณ์

ระวัง “พายุสุริยะรุนแรง” จุดดับบนดวงอาทิตย์สูงเป็นประวัติการณ์

นักฟิสิกส์เตือน ! จำนวนจุดดับ (Sunspot) บนดวงอาทิตย์สูงถึง 163 จุด ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2002 และอาจส่งผลให้เกิดพายุสุริยะรุนแรง

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา คีธ สตรอง (Keith Strong) นักฟิสิกส์พลังงานแสงอาทิตย์และผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสภาพอากาศอวกาศที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด (Space Weather Technology Center at the University of Colorado) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลผ่านทวิตเตอร์ (Twitter) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าจำนวนจุดดับ (Sunspot) บนดวงอาทิตย์เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา สูงถึง 163 จุด และสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2002 โดยอาจส่งผลให้เกิดพายุสุริยะรุนแรงกระทบมาถึงโลกของเรา

จุดดับ (Sunspot) บนดวงอาทิตย์คืออะไร ? 

โดยจุดดับบนดวงอาทิตย์ คือบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณอื่นบนดวงอาทิตย์และมีสนามแม่เหล็กปั่นป่วนสูง ซึ่งจำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์มีความสัมพันธ์กับการปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์ (Coronal Mass Ejection) และเมื่อมีการปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์มาก มันจะกลายเป็นพายุสุริยะ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับดาวเทียมในวงโคจรรอบโลก

ระวัง “พายุสุริยะรุนแรง” จุดดับบนดวงอาทิตย์สูงเป็นประวัติการณ์

เมื่อดาวเทียมในวงโคจรรอบโลกเกิดความเสียหายและเสียการควบคุม มันอาจไปชนกับดาวเทียมดวงอื่น ๆ ในวงโคจรและก่อให้เกิดการชนกันแบบโดมิโน่ 


นอกจากนี้ หากพายุสุริยะมีความรุนแรงมาก มันอาจสามารถทะลุสนามแม่เหล็กโลกเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลก และสร้างความเสียหายให้กับโครงข่ายไฟฟ้า ในทางกลับกันมันอาจก่อให้เกิดแสงออโรร่าในหลายพื้นที่ด้วย


ภัยจากพายุสุริยะ 

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา ตามรายงานของเว็บไซต์Spaceweather.com  ชี้ว่าพายุสุริยะได้ทำให้วิทยุดับชั่วคราวทางตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกาและทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเหตุการณ์นี้อาจเกิดได้บ่อยขึ้นเนื่องจากดวงอาทิตย์ของเราอายุมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันดวงอาทิตย์มีอายุประมาณ 4,600 ล้านปี และมันมีอายุขัยประมาณ 10,000 ล้านปี


ก่อนหน้านี้เคยมีปรากฏการณ์พายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในปี 1959 มีรายงานจากเสมียนรายหนึ่ง ณ หมู่บ้านแคร์ริงตัน ประเทศอังกฤษ ว่ามีประกายไฟบินออกจากเครื่องจักรทำให้เอกสารลุกเป็นไฟ อีกทั้งยังมีการหยุดชะงักของบริการโทรเลขในยุโรปและอเมริกาเหนือกินเวลานานหลายวัน


ข้อมูลจาก space.com

ภาพจาก NASA

ข่าวแนะนำ