"ไข้นกแก้ว" ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แนะวิธีสังเกตอาการ

10 มี.ค. 2567 | 08:15 น.

เปิดข้อมูล "โรคไข้นกแก้ว" กรมควบคุมโรค ยัน ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ สถานการณ์ล่าสุดยังไม่พบรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย แนะวิธีสังเกตอาการ การป้องกัน พร้อมกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง

กรณีพบการระบาด "ไข้นกแก้ว" ในหลายประเทศแถบยุโรปจากข้อมูลพบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย ล่าสุดองค์การอนามัยโรคได้ออกมาเตือนประชาชนเกี่ยวกับการระบาดดังกล่าว ขณะที่บ้านเรา กรมควบคุมโรค เกาะติดเฝ้าระวังโรคนี้เช่นกัน

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า การระบาดของ "ไข้นกแก้ว" หรือ โรคซิตตาโคซิส (Psittacosis) ไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะได้

เชื้อนี้มักก่อโรคในนกที่เป็นสัตว์เลี้ยงรวมถึงนกแก้ว ในอดีตเคยมีการระบาดในนกแก้วแล้วหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ คอสตาริกา ออสเตรเลีย

สถานการณ์ "ไข้นกแก้ว" ในไทย 

ในประเทศไทย เคยมีการรายงานผู้ป่วยโรคนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 จากการวิจัยสำรวจในสัตว์ปีกพบเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เช่นกัน แต่พบในอุบัติการณ์ที่ต่ำ กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อโรคไข้นกแก้วอย่างใกล้ชิด พร้อมประสานความร่วมมือเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดยังไม่พบรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย

สำหรับคนจะสามารถติดต่อโรคนี้ได้ผ่านการหายใจเอาละอองเชื้อเข้าไป จากสารคัดหลั่ง ฝุ่นที่ติดอยู่บนขน และมูลแห้งของนก โดยคนกลุ่มเสี่ยงจะเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับนก เช่น สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ คนเลี้ยงนก รวมถึงผู้ให้อาหารนก เป็นต้น 

อาการผู้ติดเชื้อไข้นกแก้ว 

มักมีการอาการแสดงเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และไอแห้ง ซึ่งผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ 5-14 วันหลังจากได้รับเชื้อและสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือผู้เสียชีวิตมักเป็นกลุ่มคนสูงวัยหรือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและการพบผู้เสียชีวิตสามารถพบได้น้อยมาก

การป้องกันโรคไข้นกแก้ว

ควรหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย หากจำเป็นต้องสัมผัสต้องป้องกันตนเองให้ดี สวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และหลังจากสัมผัสสัตว์แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่

บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนก หมั่นสังเกตอาการตนเองและอาการของสัตว์อยู่เสมอ หากมีอาการไข้รวมถึงอาการทางระบบทางเดินหายใจ ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงเพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง