“ไม้ฝาง” สารพัดสรรพคุณ “ดอยคำ” ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ทำน้ำสมุนไพรป้องกันโรคจากเชื้อไวรัส

by ThaiQuote, 18 มกราคม 2565

“ไม้ฝาง” มีคุณค่าทางสมุนไพรมากมาย “ดอยคำ” ผลักดันไม้ฝาง เพื่อเกษตรกรไทย” นำสมุนไพรแก่นฝางมาเป็นวัตถุดิบทำน้ำสมุนไพร ดื่มแล้วสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อไวรัสได้

ฝาง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชีย โดยสามารถพบได้ตามประเทศต่างๆ ที่อยู่ในเขตร้อนดังกล่าว เช่น อินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา ศรีลังกา บังคลาเทศ เวียดนาม รวมถึงทางตอนใต้ของจีน สำหรับในประเทศไทยนั้น สามารถพบได้บริเวณป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และภูเขาหินปูน ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และบางส่วนของภาคกลาง เป็นต้น ทั้งนี้สามารถแบ่งฝางออกเป็น 2 ประเภท ตามเนื้อไม้ คือ ฝางเสน และฝางส้ม

 

 

ประโยชน์และสรรพคุณฝาง

1. ใช้เป็นยารักษาวัณโรค
2. แก้ท้องเสีย
3. ใช้เป็นยาระบาย
4. ช่วยให้เย็นศีรษะ (ผสมกับปูนขาว)
5. ช่วยลดอาการเจ็บปวด (ผสมกับปูนขาว)
6. ใช่เป็นยาขับระดูอย่างแรง
7. แก้ท้องร่วง
8. แก้ธาตุพิการ
9. แก้ร้อนใน
10. แก้โลหิตออกทางทวารหนัก
11. แก้โลหิตออกทางทวารเบา
12. แก้โลหิตตกหนัก
13. แก้เสมหะ
14. ช่วยบำรุงโลหิตสตรี
15. แก้ปวด
16. แก้บวม
17. แก้เลือดอุดตัน
18. ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก
19. ช่วยรักษาประจำเดือนมาไม่ปกติ
20. แก้อาการหัวใจขาดเลือด
21. แก้จุก เสียด แน่น เจ็บหน้าอก
22. ช่วยกระจายเลือดที่อุดตัน
23. ช่วยลดอาการปวดมดลูกในสตรีหลังคลอด
24. ใช่เป็นยาสมานลำไส้
25. แก้บิด
26. แก้ฟกช้ำดำเขียว
27. แก้ปอดพิการ
28. ขับหนองในฝีอักเสบ
29. แก้ไข้ตัวร้อน
30. แก้ปวดเมื่อยร่างกาย
31. ใช่เป็นยาฝาดสมาน
32. ช่วยขับหนอง
33. ช่วยทำให้โลหิตเย็น
34. แก้กระหายน้ำ
35. แก้คุดทะราด
36. แก้กำเดาไหล
37. รักษาโรคผิวหนังบางชนิด
38. แก้ความผิดปกติของอาโปธาตุหรือธาตุน้ำ

ที่ผ่านมามีการนำฝางไปใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ น้ำต้มจากแก่นฝางแดงจะให้สีแดงที่เรียกว่า Sappanin นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมหลักของน้ำยาอุทัย ที่นิยมใช้กัน หรือใช้ผสมในน้ำดื่ม และใช้สำหรับทำสีผสมอาหารส่วนฝางส้มจะนำมาต้มสกัดสาร Haematexylin ใช้ย้อมสีนิวเคลียสของเซลล์ ในปัจจุบันมีการนำมาแปรรูปเป็นน้ำดื่มสมุนไพรฝาง โดยมีทั้งในรูปแบบพร้อมดื่มและแบบชง และสารสีแดงหรือสีเหลืองที่สกัดจากแก่นฝาง ที่มีความเป็นกรดด่างที่ต่างกัน มักใช้เป็นสารให้สี และเพิ่มความสวยงามให้แก่ผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น สบู่อาบน้ำ แป้งผัดหน้า ครีมทาหน้ารวมถึงมักใช้เป็นสีย้อมผ้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส่วนสารสกัดจากแก่นฝางมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย จึงมีการถูกนำมาเป็นส่วนผสมในยา และเครื่องสำอาง ประเภทครีม เจล และโลชั่น เพื่อใช้ในการต้านเชื้อแบคทีเรียและสำหรับเนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือนชั้นดี ตกแต่งชักเงาได้ดี โดยสีของเนื้อไม้จะออกแดงหรือสีน้ำตาลเข้มอีกด้วย นอกจากนี้ในอินโดนีเซียยังมีการใช้ปรุงแต่งสีเครื่องดื่มให้เป็นสีชมพู ในฟิลิปปินส์ใช้เนื้อไม้เป็นเชื้อเพลิง และใช้ทำเครื่องใช้ต่าง

วิธีใช้เพื่อสรรพคุณทางยา

• บำรุงโลหิต แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ท้องร่วง แก้เสมหะ เลือดกำเดา แก้ไอ คุมกำเนิด แก้ไข้ แก้หอบ แก้ช้ำ ฟอกโลหิต โดยใช้แก่นฝางหนัก 3-9 กรัม ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว (500 มิลลิลิตร) เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว หรือใช้แก่นฝาง 1 ส่วน น้ำ 20 ส่วน ต้มเคี่ยว 15 นาที รับประทานครั้งละ 2-4 ช้อนโต๊ะ

• ขับประจำเดือนใช้แก่นฝาง 5-15 กรัม หรือ 5-8 ชิ้น ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เติมเนื้อมะขามที่ติดรกอยู่ (แกะเมล็ดออกแล้ว) ประมาณ 4-5 ฝัก เคี่ยวให้เหลือ 1 แก้ว รับประทาน เช้า-เย็น

• บำรุงร่างกายทั้งบุรุษและสตรี แก้ประดง โดยใช้แก่นฝาง แก่นไม้แดง รากเดื่อหอมอย่างละเท่ากัน นำมาต้ม หรือใช้แก่นฝางตากแห้งผสมกับเปลือกต้นนางพญาเสือโคร่ง ตานเหลือง ข้าวหลามดง โด่ไม่รู้ล้มต้มน้ำ ม้ากระทืบโรง มะตันขอ ไม้มะดูก หัวข้าวเย็น และลำต้นฮ่อสะพายควาย ต้มกับน้ำดื่ม หรืออีกตำรับระบุให้ใช้แก่นฝาง กำลังช้างสาร ม้ากระทืบโรง และรากกระจ้อนเน่าอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำดื่ม และอีกตำรับระบุให้ใช้แก่นฝาง 1 บาท, ดอกคำไทย 2 สลึงนำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เอา 1 แก้ว ใช้แบ่งกินเช้า, เย็น

• แก้กษัยให้ใช้แก่นฝาง เถาวัลย์เปรียง และรากเตยอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำกิน หรืออาจเติมน้ำตาลให้พอหวานเพื่อช่วยทำให้รสชาติดีขึ้นด้วยก็ได้

• แก้ไข้ตัวร้อน ให้ใช้แก่นฝาง 70 กรัม, ผงโกฐน้ำเต้า 30 กรัม, และน้ำประสานทองบดเป็นผง 15 กรัม นำมารวมกันต้มให้เป็นน้ำเหลวแล้วเติมเหล้าเข้าผสม ใช้กินครั้งละ 30 ซีซี วันละ 2 ครั้ง

• แก้ไข้ทับระดูใช้ฝางเสน เกสรบัวหลวง แก่นสน รากลำเจียก รากมะพร้าว รากมะนาว รากเท้ายายม่อม รากย่านาง ดอกบุนนาค ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกสารภี จันทน์ขาว จันทน์แดง สักขี อย่างละ 1 บาท นำมาบดให้เป็นผงชงกับน้ำร้อน ใช้จิบครั้งละ 1 ช้อนชา โดยให้จิบบ่อย ๆ จนกว่าไข้จะสงบ

• แก้อาการไอ แก้หวัด ใช้แก่นฝางหนัง 3 บาท, ตะไคร้ 3 ต้น ทุบให้ละเอียด, น้ำ 1 ลิตร ใส่น้ำปูนใสเล็กน้อยแล้วต้มพอให้ได้น้ำยาสีแดง ใช้รับประทานครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา หรืออาจผสมน้ำตาลกรวดด้วยก็ได้

• แก้โรคหืดหอบ ใช้แก่นฝางเสน, แก่นแสมสาร, เถาวัลย์เปรียง, ใบมะคำไก่ อย่างละ 2 บาท 2 สลึง ใส่น้ำพอท่วมยา แล้วต้มให้เดือด 10 นาที นำมากินต่างน้ำให้หมดภายในวันนั้น พอวันต่อมาให้เติมน้ำเท่าเดิม ต้มเดือด 5 นาทีแล้วกินเหมือนวันแรก ต้มกินจนยาจืดประมาณ 5 วัน แล้วค่อยเปลี่ยนยาใหม่ โดยให้ต้มกินไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหาย

• แก้บวม ปวดบวม แก้ฟกช้ำดำเขียว แก้ช้ำใน ใช้แก่นฝาง 60 กรัม นำมาบดเป็นผงผสมกับเหล้า แบ่งกิน 3 ครั้ง ใช้กินตอนท้องว่าง

• รักษาน้ำกัดเท้า ใช้แก่นฝาง 2 ชิ้น ฝนกับน้ำปูนให้ข้นๆ ทาบริเวณที่น้ำกัดเท้า จะช่วยฆ่าเชื้อได้เพราะ ในแก่นฝางมีตัวยาฝาดสมาน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ดอยคำ” ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ฝางในระบบวนเกษตรเป็นวัตถุดิบในภาคตะวันออก เพื่อส่งแก่นฝางให้กับบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยไม่เบียดเบียนป่าธรรมชาติ แต่จะเป็นวิธีในการสร้างป่าที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชน โดยแก่นฝางในพื้นที่ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ดอยคำจะนำมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์เป็นน้ำสมุนไพร

โดยหวังว่าจะเป็นเครื่องดื่มดับกระหาย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ที่เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพให้กับทุกคน ในปี พ.ศ.2565 นี้เป็นต้นไป” นายพิพัฒพงศ์ กล่าว

นายทวีศักดิ์ เลาหวิโรจน์ รองผู้จัดการใหญ่ (ด้านนวัตกรรมและการผลิต) บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เปิดเผยว่า “สำหรับแก่นฝาง ดอยคำได้พัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์โดยใช้แก่นฝางเป็นวัตถุดิบ โดยเล็งเห็นว่าแก่นฝางมีสารสำคัญ จากงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี พบว่ามีสารสำคัญ จำนวน 4 ชนิด ซึ่งสามารถต่อต้านเชื้อไวรัสรวมถึงเชื้อ SARS-CoV-2 หรือไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ได้” นายทวีศักดิ์ กล่าว

“ฝาง” เป็นต้นไม้ที่สามารถเจริญเติบโตในทุกสภาพภูมิอากาศภูมิประเทศในประเทศไทย สามารถปลูกร่วมกับไม้ชนิดอื่นๆ ได้โดยไม่มีปัญหาในระบบนิเวศ เป็นต้นไม้ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูก โดยเฉพาะประชาชนผู้ประสบปัญหาช้างบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากช้างป่าไม่กินและไม่ทำลาย สามารแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมายทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค (ข้อมูลจาก หนังสือประชาสัมพันธ์การจัดการความรู้ เรื่องไม้ฝาง พันธุ์ไม้ที่ช้างไม่ชอบและไม่ทำลาย : กรมป่าไม้และสถานีวนวัฒนวิจัยเขาสอยดาว)