"โปรตีนเกษตร" วัตถุดิบทางเลือกของคนกินเจ แต่ ! คนเป็นโรคไต ควรระวัง


วันสำคัญ

19 ต.ค. 66

นุดี กฤชโอภาส

Logo Thai PBS
"โปรตีนเกษตร"  วัตถุดิบทางเลือกของคนกินเจ แต่ ! คนเป็นโรคไต ควรระวัง

"เทศกาลกินเจ" 1 ปี มี 1 ครั้ง เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี รวมระยะเวลา 9 วัน หัวใจหลักของการกินเจ คือ งดเว้นบริโภคเนื้อสัตว์ ไข่ นม เนย รวมถึงอาหารอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมจากสัตว์  เพื่อเป็นการทำบุญ ละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดำรงตนในศีล ให้มีความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ และเมื่อเนื้อสัตว์เป็นอาหารประเภทโปรตีน ซึ่งถูกจัดว่าเป็น 1 ในอาหาร 5 หมู่ ที่ร่างกายขาดไม่ได้ เพราะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย สร้างกล้ามเนื้อ กระดูก เม็ดเลือด ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย และยังเป็นแหล่งให้พลังงานแก่ร่างกาย ในกรณีที่ร่างกายขาดพลังงานอีกด้วย อาหารเจที่พบเห็นในปัจจุบัน จึงนิยมนำ "โปรตีนเกษตร" มาเป็นวัตถุดิบในการปรุงเมนูเจให้ดูน่ากิน และอร่อยได้รสชาติยิ่งขึ้น

โปรตีนเกษตร คืออะไร ?

โปรตีนเกษตร เป็นแหล่งโปรตีนจากถั่วเหลือง ที่ผู้คนนิยมนำมาใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ ทำมาจากแป้งถั่วเหลืองที่ผ่านการสกัดไขมันออกไป (Defatted soy flour) และนำมาผ่านกระบวนการอัดพอง (Extrusion) ด้วยความดันและอุณหภูมิที่สูง จนเป็น "โปรตีนเกษตรแห้ง" ในรูปทรงต่าง ๆ ที่สามารถนำไปแช่น้ำ แล้วนำไปประกอบอาหารต่อไปได้ โดยโปรตีนเกษตร 100 กรัม จะให้โปรตีนสูงถึง 49.76 กรัม และยังมีคาโบไฮเดรตที่ให้พลังงานสูงถึง 366 กิโลแคลอรี

โปรตีนเกษตร วัตถุดิบทางเลือกของคนกินเจ

กินมากไป "เสี่ยงอ้วน" - คนเป็นโรคไต ควรหลีกเลี่ยง

ถึงแม้โปรตีนเกษตรจะสามารถทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ แต่ใน 1 วัน ไม่ควรบริโภคเกิน 100 - 150 กรัม เพราะโปรตีนเกษตรไม่ได้มีโปรตีนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสารอาหารอื่น ๆ เช่น คาร์โบไฮเดรต โพแทสเซียม แคลเซียม  เหล็ก  โซเดียม  วิตามินบี รวมถึง "ฟอสฟอรัส" ซึ่งมีปริมาณสูง 773.70 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักโปรตีนเกษตร 100 กรัม อีกทั้งอาหารเจมักมีความมัน และโซเดียมสูง คนเป็นโรคไตที่มีภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูงจึงควรระวัง ไม่กินมากจนเกินไป ในคนปกติกินมากเกินไป ก็เสี่ยงอ้วนง่ายได้อีกเช่นกัน

การนำโปรตีนเกษตรเจไปประกอบอาหาร ควรนำไปแช่ในน้ำเย็นก่อน โดยใช้โปรตีนเกษตร 1 ส่วนต่อน้ำ 2 ส่วน แช่ประมาณ 5 นาที จะดูดน้ำจนพองนิ่ม หรือแช่ในน้ำเดือด 2 นาที บีบน้ำออก จากนั้นนำไปประกอบอาหารได้

ระวัง "เชื้อรา" ในอาหารแห้ง เสี่ยงสารก่อมะเร็งไม่รู้ตัว 

อาหารเจต่าง ๆ มักใช้วัตถุดิบที่เป็นของแห้งมาประกอบอาหาร เช่น โปรตีนเกษตร ฟองเต้าหู้ ถั่วต่าง ๆ ข้าวโพด ผักผลไม้อบแห้ง ฯลฯ ยิ่งควรสังเกตให้ดีก่อนทุกครั้ง หากของแห้งนั้นเก็บไว้ไม่ดี อาจมีเชื้อราเกิดขึ้นได้ โดยเชื้อราบางชนิดสามารถสร้างสาร "อะฟลาทอกซิน" เป็นสารพิษที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง

กินเจต้องระวัง “เชื้อรา” ในอาหารแห้ง

ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใด ๆ ในระยะแรก แต่เมื่อร่างกายได้รับสารพิษปริมาณมาก ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียน ท้องเดิน หากกินน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง สารจะไปสะสมเป็นพิษที่ตับ นำไปสู่ตับแข็ง ทำให้เกิดโรคมะเร็งหรือโรคตับอื่น ๆ โดยระดับความเป็นพิษขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณที่ได้รับ ความถี่ของการกิน อายุ เพศ การทำงานของเอนไซม์ในตับ และปัจจัยโภชนาการอื่น ๆ

5 วิธีปลอดภัยจากเชื้อรา

  1. เลือกซื้ออาหารแห้ง หรือของแห้งที่อยู่ในสภาพใหม่ ๆ ไม่แตก ชำรุด ไม่มีเชื้อรา สะอาด
  2. อาหารแห้งต้องไม่มีกลิ่นเหม็นอับ ส่งกลิ่นเหม็น หรือชื้น
  3. ไม่ควรซื้ออาหารแห้งมาเก็บไว้นาน ๆ หากจำเป็นต้องซื้อ ควรเก็บไว้ในที่แห้ง ไม่อับชื้น
  4. นำอาหารแห้งไปตากแดดจัด ๆ จะช่วยลดความชื้นในอาหารได้
  5. หากอาหารมีราขึ้น ควรทิ้งให้หมด ไม่ควรตัดเฉพาะส่วนที่ขึ้นราทิ้งไป เพราะอาจมีสารอะฟลาทอกซินกระจายทั่วแล้ว


ข้อมูลจาก

แท็กที่เกี่ยวข้อง

กินเจ 2566เทศกาลกินเจวันสำคัญโปรตีนพืชโปรตีนเกษตรอาหารเจโรคไตฟอสฟอรัส
นุดี กฤชโอภาส
ผู้เขียน: นุดี กฤชโอภาส

เพราะชีวิตขาดกาแฟมิได้

บทความ NOW แนะนำ