“ยิงผมให้ตาย แล้วปฏิวัติไป” เปิดเบื้องหลัง “ป๋าเปรม” เจรจา “กบฏยังเติร์ก”


ประวัติศาสตร์

3 เม.ย. 67

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
“ยิงผมให้ตาย แล้วปฏิวัติไป” เปิดเบื้องหลัง “ป๋าเปรม” เจรจา “กบฏยังเติร์ก”

ในช่วงที่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตลอด 8 ปี มีความพยายามยึดอำนาจชัดเจน 2 ครั้ง พยายามลอบสังหารอีกหลายครั้ง แต่ พล.อ. เปรม ก็ผ่านสถานการณ์คับขันมาได้ แต่ความพยายามยึดอำนาจครั้งใหญ่ที่สุดคือ “กบฏยังเติร์ก” หรือที่เรียกกันว่า “เมษาฮาวาย” เป็นความพยายามปฏิวัติ ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ. 2524 เพื่อยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พล.อ. เปรม 

ผู้ลงมือโค่น “ป๋า” ซึ่งล้วนแต่เป็นลูกน้องคนสนิท หรือ “ลูกป๋า” เองทั้งนั้น โดยมี พล.อ. สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก ถูกยกให้เป็นหัวหน้าคณะ แต่กลุ่มผู้ลงมือปฏิบัติการก็คือ “กลุ่มยังเติร์ก” กลุ่มทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 7 เป็นกลุ่มนายทหารหนุ่มที่มีบทบาทสำคัญในกองทัพ อย่าง พ.อ. มนูญ รูปขจร พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร ทั้งยังมี พล.ท. วศิน อิศรางกูร ณ อยุธยา แม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นกองกำลังสำคัญที่คุมกรุงเทพฯ เป็นฐานอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลทหารมาทุกยุค เข้าร่วมก่อการด้วย

คืนวันที่ 31 มีนาคม 2524 เวลา 20.00 น. กลุ่มทหารยังเติร์ก นำกำลังทหารพร้อมอาวุธ ปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ ยื่นคำขาดกับ พล.อ.เปรม ว่าจะปฏิวัติในหนังสือรัฐบุรุษชื่อเปรม ที่คณะผู้จัดทำคือนายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม บันทึกบทสนทนาระหว่างทหารกลุ่มยังเติร์กกับ พล.อ.เปรม ไว้ว่า

“มนูญกับประจักษ์ มากันสองคน ก็ถามเขาว่าจะปฏิวัติทำไม 
เขาบอกว่าผมทำเพื่อป๋า และขอเชิญป๋าเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ 
ผมก็บอกว่า ผมไม่ปฏิวัติหรอก ผมปฏิวัติไม่ได้ และไม่ต้องการปฏิวัติด้วย 
ขอให้เลิกคิด เลิกทำเสียหรือไม่งั้นก็ยิงผมให้ตายแล้วก็ปฏิวัติไป” 
พล.อ. เปรม กล่าว

การต่อรองระหว่างกลุ่มยังเติร์กกับ พล.อ. เปรม ในบ้านสี่เสาเทเวศร์ เรื่อยไปจนถึงกลางดึกในคืนวันที่ 31 มีนาคม  แต่จู่ ๆ ผู้ก่อการที่ควบคุมตัว พล.อ. เปรม ไว้ ก็ปล่อยให้ พล.อ. เปรม ออกจากบ้านสี่เสาเทเวศน์ ไปที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา

“ตอนที่ป๋าลงมาจากข้างบน พี่จักษ์ (พ.อ.ประจักษ์) ยังพูดโทรศัพท์ข้างบน ไม่ได้ลงมาด้วย พวกนั้นคงนึกว่าป๋ายอมแล้ว เลยไม่มีใครขวาง วิ่งมาถึงสี่แยกไทยเจริญ เลี้ยวซ้ายผ่านหน้าหอประชุมกองทัพบก เลี้ยวขวาที่สี่แยกการเรือน เลี้ยวขวามาทางพระที่นั่งวิมานเมฆ ป๋าก็เข้าวังสวนจิตร” 
นายทหารรักษาความปลอดภัย เล่าในหนังสือรัฐบุรุษชื่อเปรม

ในหนังสือเล่มนี้ไม่มีคำตอบว่า ปลายสายที่ พ.อ. ประจักษ์ พูดด้วยนั้นคือใคร และทำไมผู้ก่อการจึงปล่อย พล.อ. เปรม ออกมา

คืนนั้น พล.อ. เปรม เดินทางไปที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาทิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ที่นั่น

ปฏิบัติการต่อต้านคณะปฏิวัติจึงเริ่มต้นขึ้นที่ค่ายสุรนารี ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหา โดยมีกำลังสนับสนุนจาก พล.ต. อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2  (ยศในขณะนั้น) และได้พล.ต.ชวลิต ยงใจยุทธ (ยศในขณะนั้น) เริ่มใช้ปฏิบัติการจิตวิทยา ออกแถลงการณ์ตอบโต้คณะปฏิวัติ สั่งพิมพ์ใบปลิวที่จังหวัดนครราชสีมา  จำนวน 100,000 แผ่น โปรยทางอากาศ 11 จุด ทั่วกรุงเทพฯ   ในวันที่ 1 เมษายน 2524

กรุงเทพฯ เวลานั้น มีกองกำลังฝ่ายปฏิวัติประมาณ 40 กองพันควบคุมสถานที่ต่าง ๆ เอาไว้ ถือเป็นการรวมกำลังพลเพื่อยึดอำนาจมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 จ.นครราชสีมา  พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ที่มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามคณะปฏิวัติ /ที่มา : นายพลของแผ่นดิน (2559), น. 192

วันที่ 2 เมษายน 2524 ฝ่ายต่อต้านคณะปฏิวัติที่ประกอบด้วย หน่วยเฉพาะกิจสุรนารีและหน่วยเฉพาะกิจชลบุรี หรือกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ รวมถึงเครื่องบินของกองทัพอากาศ ค่อย ๆ เคลื่อนทัพเข้ากรุงเทพฯ 

หลังจากนั้นฝ่ายรัฐบาลเดิมตอบโต้ด้วยการใช้เครือข่ายการประชาสัมพันธ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และส่งต่อไปออกอากาศในกรุงเทพฯ ทั้งยังมีการทำแผ่นปลิวชี้แจงข้อเท็จจริงจำนวน 100,000 แผ่น โปรยทางอากาศ 11 จุด ทั่วกรุงเทพฯ ในวันรุ่งขึ้นอีกด้วย

และนับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน คณะปฏิวัติก็เพลี่ยงพล้ำ สูญเสียความได้เปรียบที่ครองอยู่แต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ และการที่แกนนำบางคนถูกฝ่ายรัฐบาลควบคุมตัวได้

จนในที่สุด วันที่ 3 เมษายน 2524 เวลา 9.30 น. กองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติสามารถยึดจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ คืนได้จนสำเร็จ โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ

ความพยายามต่อต้านกลุ่มกบฏใช้เวลา 55 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลโดย พล.อ.เปรม ก็ปราบกลุ่มกบฏได้สำเร็จ โดยมีรายงานว่า ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งกำลังเข้ายึดสถานที่ต่าง ๆ คืน และในบางจุดสามารถจับกุมกลุ่มผู้ก่อการได้โดยบังเอิญ เช่น พล.ต.ทองเติม พบสุข พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร และ พ.อ.สาคร กิจวิริยะ ถูกจับกุมระหว่างออกตรวจแนวทหารใกล้พระราชวังสวนจิตรลดา โดยไม่รู้ว่าทหารที่ประจำการแถบนั้นเป็นทหารฝ่ายรัฐบาล จึงถูก ร.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก (ยศในขณะนั้น) จับกุม (ซึ่ง ร.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก คือ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหมในเวลาต่อมา)

ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ (ซ้าย) และ พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก (ขวา) ณ บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2524 /ที่มา : นายพลของแผ่นดิน (2559), น. 192.

หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนรัฐบาล พล.อ. เปรม ออก พ.ร.ก. นิรโทษกรรมกับผู้ก่อการที่ถูกคุมขัง ยกเว้น พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา หัวหน้าคณะผู้ก่อการที่ยังหลบหนี เมื่อความพยามยึดอำนาจไม่สำเร็จ คณะผู้ก่อการก็กลายเป็นกบฏ

เนื่องจากการปฏิวัติครั้งนี้จบลงด้วยดี ไม่มีฝ่ายไหนเสียเลือดเนื้อ และเกิดขึ้นในเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนที่มีงานรื่นเริงสโมสรที่เวทีลีลาศสวนลุมพินีในชื่อ “เมษาฮาวาย” เป็นประจำ หนังสือพิมพ์ทั้งหลายจึงให้ฉายากบฏครั้งนี้ด้วยอารมณ์ขันว่า “เมษาฮาวาย”

หนังสือรัฐบุรุษชื่อเปรมบันทึกไว้ว่า… 
“เหนือสิ่งอื่นใด คือเดชะพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เหตุการณ์จึงสงบเรียบร้อยคนไทยไม่ต้องรบกันเอง ไม่มีการนองเลือด”

อีกข้อความในหนังสือระบุว่า ความเป็นนายกับลูกน้องของ พล.อ.เปรม กับนายทหารกลุ่มยังเติร์ก ทำให้ทหารที่ก่อการครั้งนั้นไม่กล้ากักตัว พล.อ. เปรม เอาไว้ ด้วยวิธีการรุนแรง สาเหตุหลักของการก่อกบฏยังเติร์กครั้งนั้น เกิดจากความไม่พอใจการต่ออายุราชการให้ พล.อ. เปรม เป็นผู้บัญชาการทหารบกต่ออีก 1 ปี และความขัดแย้งในกองทัพจากการแต่งตั้งโยกย้าย รวมถึงการปรับคณะรัฐมนตรีเปรม 2 ที่มีเพื่อนร่วมรุ่น พล.อ. เปรม อยู่ใน ครม.

รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตคณะที่ปรึกษาของ พล.อ. เปรม วิเคราะห์ในรายการข่าวเจาะย่อโลก ทางไทยพีบีเอส ถึงสิ่งที่ทำให้ พล.อ. เปรม รอดพ้นจากการยึดอำนาจได้จาก 2 ปัจจัย เพราะความไม่เป็นเอกภาพของกองทัพ และบารมีของ พล.อ.เปรม ทำให้ฝ่ายการเมืองในยุคนั้นยอมรับให้ พล.อ. เปรม เป็นเกราะป้องกันทหารเข้ามายึดอำนาจ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ในอดีต
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ