ถั่วงอกคอนโดฯ ปลูกง่าย ขายได้กำไร

ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับการจัดงาน “เปิดบ้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร” ประจำปี 57 ที่จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 29-31 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ดีเด่นในรอบปีของกรมวิชาการเกษตรสู่สายตาประชาชน ปรากฏว่าตลอด 3 วัน มีประชาชน เกษตรกร นักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก เรียกว่าประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย

คุณดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เป็นสิ่งที่น่ายินดีที่การจัดงาน “เปิดบ้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร” ภายใต้แนวคิด “งานวิจัยก้าวไกล กล้วยไม้ตระการตา ก้าวหน้าเทคโนโลยี” ตลอด 3 วัน ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก ผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมงานอย่างหนาแน่นตลอดทั้งวัน แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของประชาชนในการเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการเกษตรได้เป็นอย่างดี

 

ใช้กระสอบป่านปิดทับด้านบน
ใช้กระสอบป่านปิดทับด้านบน

ถั่วงอกคอนโดฯ

งานจากพืชไร่ชัยนาท

การเพาะถั่วงอกคอนโดฯ เป็นหนึ่งผลงานวิจัยที่กรมวิชาการเกษตรได้นำมาจัดแสดงในงาน โดยมีศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท เป็นเจ้าของผลงาน

คุณอารดา มาสริ นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท กล่าวว่า การศึกษาวิจัยเรื่องการเพาะถั่วงอกคอนโดฯ มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรได้นำองค์ความรู้จากการเพาะถั่วงอกไปสร้างเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว

คุณอารดา มาสริ
คุณอารดา มาสริ

ทั้งนี้ ถั่วงอกคอนโดฯ นอกจากจะมีการเพาะที่ง่าย สะดวก และใช้ระยะเวลาน้อย เพียง 3 วัน ผู้เพาะจะสามารถนำถั่วงอกไปจำหน่ายได้ อีกทั้งยังปลอดสารพิษด้วย และที่สำคัญยังเป็นการเพาะที่เน้นการใช้ภาชนะที่หาได้ง่าย เช่น ในถังพลาสติกสีดำ หรือขวดน้ำมันพืชและหม้อดิน

ในที่นี้จะขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะถั่วงอกคอนโดฯ ปลอดสารพิษในถังพลาสติกสีดำ โดย คุณอารดา บอกว่า อุปกรณ์สำคัญในการเพาะถั่วงอกคอนโดฯ ประกอบด้วย

– เมล็ดถั่วเขียวคุณภาพดี โดยถั่วเขียว 1 กิโลกรัม จะสามารถเพาะถั่วงอกได้ ประมาณ 5 กิโลกรัม

– ถังพลาสติกสีดำ เส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว เจาะรูระบายน้ำที่ก้นภาชนะ 1 รู (ขนาด 0.5 นิ้ว)

– ตะแกรงลวดวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว ขาสูง ประมาณ 1.5 นิ้ว

– ตะแกรงพลาสติกสีดำ ตัดเป็นวงกลม ขนาดเท่าภาชนะเพาะ จำนวน 4 ชิ้น

– กระสอบป่าน ตัดเป็นวงกลม ขนาดเท่าภาชนะเพาะ จำนวน 5 ชิ้น

– อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ถังแช่เมล็ด สายยาง น้ำสะอาด กะละมัง ตะแกรงล้างถั่วงอก

วิธีการเพาะ

  1. ใช้เมล็ดถั่วเขียว ประมาณ 500 กรัม แช่เมล็ดในน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น ประมาณ 6 ชั่วโมง
  2. ล้างเมล็ดถั่วเขียวที่แช่ให้สะอาด โดยล้างเอาสิ่งเจือปนและเมล็ดพองตัวออกทิ้ง
  3. ล้างเมล็ดถั่วเขียวที่แช่ในน้ำสะอาด แล้วใส่ในภาชนะที่เตรียมเพาะ โดยโรยและเกลี่ยเมล็ดให้เสมอกันบนตะแกรงพลาสติกชั้นแรกล่างสุด (ความหนาของเมล็ดที่เพาะ ประมาณ 1 เซนติเมตร) ปิดทับด้วยกระสอบ จากนั้น ชั้นที่ 2-4 ทำเหมือนกับชั้นแรก รวม 4-5 ชั้น แต่ไม่เกิน 5 ชั้น นำไปไว้ในที่ร่มและเย็น
  4. รดน้ำทุกวัน วันละ 3-4 ครั้ง
  5. เมื่อเพาะถึง วันที่ 3 นำถั่วงอกที่ได้มาตัดราก ล้างเอาเปลือกถั่วเขียวออก จะได้ถั่วสำหรับบริโภค ประมาณ 2-2.5 กิโลกรัม
ได้ผลผลิตที่สะอาด ไม่ต้องล้างมากเหมือนกับการใช้ขี้เถ้าแกลบในการเพาะ
ได้ผลผลิตที่สะอาด ไม่ต้องล้างมากเหมือนกับการใช้ขี้เถ้าแกลบในการเพาะ

แต่ในกรณีที่ผู้สนใจไม่สามารถเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ได้เอง ทางคุณอารดาบอกว่า ในขณะนี้ได้จัดชุดเพาะถั่วงอกคอนโดฯ ในถังพลาสติกออกจำหน่ายด้วย ราคาชุดละ 150 บาท

แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้สนใจต้องการเพาะถั่วงอกในแบบการค้า คุณอารดา ให้ข้อมูลว่า มีเทคนิคการเพาะที่ต้องใส่ใจ เช่น

– การเลือกเมล็ดถั่วเขียว ต้องเป็นเมล็ดที่มีคุณภาพดี ไม่ใหม่หรือเก่าเกินไป เมล็ดไม่ถูกฝนในระยะการเก็บเกี่ยว ปลอดโรคแมลงทำลาย อายุเก็บรักษา ประมาณ 3-6 เดือน เพราะเมล็ดใหม่จะมีเมล็ดแข็ง ประมาณ 5-20 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดเก่าจะเป็นเมล็ดเสื่อมคุณภาพ

– ภาชนะเพาะถั่วงอก เป็นภาชนะที่มีผิวเรียบทรงกระบอก หรือมีปากภาชนะแคบเล็กน้อย เพื่อจำกัดพื้นที่ในการงอกให้ถั่วงอกมีลักษณะอวบอ้วน และภาชนะควรมีสีดำป้องกันแสงสว่าง ทำให้ถั่วงอกมีสีขาว

– การเพาะเตรียมเมล็ดก่อนเพาะ แช่เมล็ดเพาะเพื่อช่วยเร่งระยะเวลาการเพาะถั่วงอกให้เร็วขึ้นในชั่วโมงแรกของการแช่น้ำ ควรเลือกเมล็ดที่พอง เมล็ดแตก เมล็ดเหล่านี้จะเป็นสาเหตุทำให้ถั่วงอกเน่าได้

– น้ำ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการงอก ควรเป็นน้ำสะอาด การให้น้ำควรให้อย่างสม่ำเสมอ ให้ในปริมาณที่มากพอ

– ระยะในการเพาะถั่วงอก ประมาณ 3-4 วัน ซึ่งระยะเวลาขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ภาชนะ วัสดุเพาะ

– การใช้สารเคมีกับถั่วงอก สามารถใช้ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น สารส้ม แช่ถั่วงอก เพื่อช่วยให้ถั่วงอกกรอบมีสีขาว แต่ไม่ควรใช้สารฟอกขาว เช่น โซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ โซดาไฟ ฟอร์มาลีน เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้น

สำหรับผู้สนใจ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพาะถั่วงอก สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท โทร. (056) 405-080-1

 

กล้วยไม้ ก็เด่น

พร้อมชูจัดงานเอเชียแปซิฟิก

ทั้งนี้ นอกจากเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรที่สำเร็จสู่สายตาประชาชนแล้ว ไฮไลต์ของปีนี้ได้เนรมิตโซนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมกล้วยไม้ เพื่อแสดงศักยภาพความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ในการเตรียมพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Orchid Committee) ครั้งที่ 12 หรือที่รู้จักกันในชื่อ APOC 12 อีกด้วย ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหภาพเมียนมาร์  อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ไต้หวัน สาธารณรัฐประชาชนจีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และไทย      

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า งานกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก (APOC) เป็นงานใหญ่ที่วงการกล้วยไม้ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ โดยมีทั้งการจัดแสดงโชว์ความหลากหลายที่สวยงามของกล้วยไม้ และการประชุมวิชาการด้านกล้วยไม้ที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมกล้วยไม้ระดับโลก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าเชิงธุรกิจในอันดับต้นๆ ของพืชการเกษตร โดยงานดังกล่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ โดยงานจะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 19-27 มีนาคม 2559 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และเป็นประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการ  ด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อการขยายพันธุ์ เทคนิคการดูแลรักษาที่ก้าวหน้าไปพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และการพัฒนาและอนุรักษ์กล้วยไม้เป็นอย่างมาก    

ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกดอกกล้วยไม้และต้นกล้วยไม้ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท ต่อปี โดยส่งออกดอกกล้วยไม้เขตร้อนมีสัดส่วนสูง เป็นอันดับ 1 ของโลก ในขณะที่การส่งออกต้นกล้วยไม้ เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศไต้หวันเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีความหลากหลายของพันธุกรรมกล้วยไม้กว่า 1,000 ชนิด จากทั่วโลก มี 25,000 ชนิด     

“สำหรับวัตถุประสงค์ในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 12 ของไทยครั้งนี้ เพื่อแสดงถึงศักยภาพและขีดความสามารถของประเทศไทย ทั้งด้านการผลิตและการตลาด และเป็นการสนับสนุนด้านการส่งออกกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ไปสู่ตลาดโลก ทั้งนี้ ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกเขตร้อนรายใหญ่ของโลก รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีกับกลุ่มประเทศสมาชิกและประเทศคู่ค้า ที่สำคัญงานดังกล่าวยังเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพพจน์ของประเทศไทย ซึ่งไม่เฉพาะด้านกล้วยไม้เท่านั้น ยังรวมถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านการศึกษาทั้งในประเทศและระหว่างประเทศอีกด้วย” คุณดำรงค์ กล่าว

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านงานวิจัยและพัฒนากล้วยไม้ ฉะนั้น ในงาน “เปิดบ้านงานวิจัย กรมวิชาการ” ปีนี้ นอกจากจะเป็นเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ดีเด่นของกรมวิชาการเกษตรในรอบปีแล้ว จะนำเสนอบทบาทในการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ของไทยสู่นานาชาติ โดยในงานนี้จึงได้รวบรวมพันธุ์กล้วยไม้พื้นเมือง ที่อยู่ในพื้นที่และในภาคต่างๆ เป็นพืชที่เป็นพันธุ์ในท้องถิ่นมาจัดแสดง โดยจัดแบ่งตามความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์ แต่ละพื้นที่ แต่ละภาค ในลักษณะการเลียนแบบธรรมชาติเพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้เห็นถึงความสวยงามตระการตา ความมีสีสันและความหลากหลายของกล้วยไม้ไทย   

“เช่น ในภาคเหนือ จะมีพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ และกล้วยไม้ที่เกาะบนต้นไม้ในป่า เช่น เอื้องกิ่งดำ เอื้องสายน้ำผึ้ง เอื้องก้างปลา เอื้องคำ เอื้องคำป็อก เอื้องนิ่ม เอื้องสายน้ำเขียว เอื้องผึ้ง และฟ้ามุ่ย เป็นต้น ส่วนทางภาคใต้ก็จะมี รองเท้านารีเหลืองกระบี่ รองเท้านารีเหลืองตรัง รองเท้านารีขาวสตูล รองเท้านารีม่วงสงขลา ขณะที่ในทางภาคอีสานก็จะเป็นพันธุ์กล้วยไม้ที่ขึ้นตามหิน หรือเรียกว่ากล้วยไม้เขาพระวิหาร เป็นกล้วยไม้พันธุ์แท้ในสกุลแวนดอปซิส ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นกล้วยไม้เฉพาะถิ่นและเป็นพืชเด่นประจำอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เอื้องระฟ้า ซึ่งกำลังอยู่ในความนิยมของผู้ปลูกกล้วยไม้เพื่อการสะสม ส่วนภาคกลาง จะเป็นกล้วยไม้สำหรับส่งออกเป็นส่วนใหญ่ เช่น จำพวกสกุลแวนด้า มอคคารา อะแรนด้า และออนซิเดียม และยังมีพันธุ์ใหม่ๆ อีกมาก ที่เกษตรกรนำมาให้กรมรับรองพันธุ์อยู่ตอนนี้” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย