jos55 instaslot88 The Tidal คืออะไร – Koh Talu Island Resort ดำน้ำดูปะการัง เกาะทะลุ บางสะพาน

The Tidal คืออะไร

น้ำขึ้นได้อย่างไร? น้ำเกิดคืออะไร? เกี่ยวอะไรกับกระแสน้ำ? แต่ที่แน่ๆ วันไหนไปดำน้ำแล้วเจอกระแสแรงๆ นั้นไม่ใช่เรื่องสนุกเลย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าวันไหนจะมีกระแสน้ำแรง?

คอนเท้นต์นี้จะทำให้คนที่รักทะเลสามารถหยั่งรู้อนาคต สามารถพยากรณ์กระแสน้ำ เพื่อเลือกวันและเวลาที่จะทำให้เราเที่ยวทะเลได้อย่างมีความสุขที่สุด

 

the tidal น้ำขึ้น น้ำลง

 

พระจันทร์และพระอาทิตย์คือตัวการสำคัญของน้ำขึ้นน้ำลง แต่ตำแหน่งของพระจันทร์และพระอาทิตย์นั้นเปลี่ยนไปเรื่อย เพราะโลกของเรานั้นหมุนรอบตัวตลอดเวลา เมื่อพระจันทร์(และพระอาทิตย์) ตั้งฉากกับตรงไหนของโลก ที่นั่นก็จะมีปรากฏการณ์น้ำขึ้นแต่ในเมื่อน้ำบนโลกมีเท่าเดิม ถ้ามีน้ำขึ้นที่หนึ่ง ก็ต้องมีน้ำลงอีกที่หนึ่ง และระหว่างมวลน้ำกำลังเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง จึงเกิดสิ่งที่เราเรียกว่ากระแสน้ำนั่นเอง

ในวันที่น้ำทะเลขึ้นเยอะ – ลงเยอะ เราเรียกว่าวันน้ำเกิด กระแสน้ำก็จะไหลแรง

ส่วนในวันที่น้ำทะเลขึ้นน้อย – ลงน้อย เราเรียกว่าวันน้ำตาย กระแสน้ำก็จะไหลเอื่อยๆ

 

the tidal น้ำขึ้น น้ำลง

 

ปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลงในแต่ละวันนั้นมากน้อยไม่เท่ากัน เพราะพระจันทร์นั้นโคจรรอบโลกอย่างช้าๆ (รอบละ 1 เดือนโดยประมาณ) ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าพระจันทร์ขึ้นช้าลงทุกๆ วัน ตำแหน่งของพระจันทร์จึงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และตำแหน่งของพระจันทร์ที่สัมพันธ์กับพระอาทิตย์นี่แหละที่เกี่ยวข้องกับน้ำขึ้นน้ำลง

เพราะในวันพระจันทร์เต็มดวง (Full Moon) หรือวันพระจันทร์ดับ (Black Moon) ตรงกับวันขึ้น/แรม 15 ค่ำ ที่โลก พระจันทร์ และพระอาทิตย์ จะเรียงกันเป็นเส้นตรงนั้น พระจันทร์และพระอาทิตย์ต่างมีแรงดึงดูดมหาศาลที่ทำให้น้ำทะเลตรงนั้นขึ้นสูงมาก ในขณะเดียวกัน บริเวณอื่นของโลกที่ตั้งฉากกับตำแหน่งพระจันทร์ก็จะลดต่ำมาก (เพราะน้ำมีเท่าเดิม) และเมื่อโลกหมุนไป พระจันทร์ก็เปลี่ยนตำแหน่งไป จุดที่น้ำขึ้นก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ น้ำทะเลในมหาสมุทรก็ต้องเคลื่อนย้ายตามไปเรื่อยๆ ดังนั้น ในช่วงวันดังกล่าว กระแสน้ำก็จะไหลเชี่ยว เราเรียกวันดังกล่าวว่า วันน้ำเกิด

พระจันทร์(และพระอาทิตย์) ตั้งฉากกับตำแหน่งไหนของโลก น้ำทะเลที่นั่นก็มักจะขึ้นสูง พอพระจันทร์เปลี่ยนตำแหน่งไปที่อื่น น้ำทะเลก็จะเริ่มลดต่ำ แต่น้ำทะเลในมหาสมุทรมีเท่าเดิม เมื่อที่หนึ่งขึ้น ที่หนึ่งลด ก็ต้องไหลจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ทำให้เกิดกระแสน้ำไหลเปลี่ยนตำแหน่งอย่างรุนแรง

 

วันพระจันทร์ครึ่งดวง น้ำตาย

 

 

ในวันที่เราแหงนหน้ามองฟ้าและเห็นพระจันทร์ครึ่งซีก (ขึ้น/แรม 7-8 ค่ำ) นั้นคือวันที่พระจันทร์กับพระอาทิตย์ทำมุมตั้งฉากกัน พระจันทร์และพระอาทิตย์ต่างก็แย่งกันดึงดูดมวลน้ำไปคนละฉาก ในวันนั้น ปริมาณน้ำทะเลจึงถูกเฉลี่ยไปในแต่ละซีกโลก ทำให้ช่วงวันดังกล่าวจะมีน้ำขึ้น-ลงไม่มาก กระแสน้ำจึงไม่ไหลเปลี่ยนตำแหน่งมาก ถ้าเราไปดำน้ำในช่วงวันดังกล่าว ก็มักจะพบกระแสน้ำไหลเอื่อย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น น้ำขึ้นน้ำลงก็ยังมีตัวแปรอื่นๆ ด้วย เช่น ในช่วงที่มีลมพายุ น้ำทะเลก็จะโดนลมพายุหอบเอาไปด้านปลายลม น้ำทะเลในภูมิภาคที่รับลมพายุก็จะขึ้นสูง ในขณะที่บริเวณด้านตรงกันข้าม น้ำทะเลก็จะลดต่ำผิดปกติ ตัวอย่างเช่นในช่วงที่พายุเข้าชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก น้ำทะเลในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยก็จะลดต่ำผิดปกติ เพราะโดนลมพายุหอบเอาน้ำไปด้วย

 

 

 

ที่เล่าให้ฟังไปนั้นเป็นทฤษฏีน้ำขึ้นน้ำลงในมหาสมุทร แต่ปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาคนั้นจะแตกต่างกันไปเล็กน้อย เช่น น้ำขึ้นน้ำลงในอ่าวไทยที่จะขึ้น-ลงวันละครั้งเดียว (เรียกว่าน้ำเดี่ยว หรือน้ำผสม) ทั้งๆ ที่น้ำทะเลในมหาสมุทรนั้นขึ้นลงวันละ 2 รอบ ทั้งนี้ก็เพราะอ่าวไทยนั้นเป็นอ่าวที่เว้าลึกเข้ามาในทวีป อีกทั้งท้องน้ำอ่าวไทยก็เป็นน้ำทะเลตื้นๆ เมื่อน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิคขึ้นและลง น้ำก็จะไหลเข้ามาเติมในอ่าวไทยอย่างช้าๆ และลงอย่างช้าๆ ซึ่งบางที น้ำในอ่าวยังไม่ทันลงจนสุด น้ำในมหาสมุทรก็ขึ้นและไหลเข้ามาเติมอีกครั้ง ปรากฏการณ์ดีเลย์นี้ทำให้น้ำในอ่าวไทยไม่ขึ้นลงตามมหาสมุทร และมีความซับซ้อนมากกว่าน้ำขึ้นน้ำลงในทะเลอันดามัน ซึ่งขึ้นลงวันละสองครั้ง เช่นเดียวกับน้ำขึ้นลงในมหาสมุทรอินเดีย

 

 

 

 

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าในแต่ละพื้นที่ น้ำจะขึ้นตอนไหน ลงตอนไหน ขึ้นมาก ขึ้นน้อยเพียงใด ตัวช่วยที่จำเป็นต้องใช้คือ “ตารางน้ำ” หรือ “มาตราน้ำ” ซึ่งเป็นข้อมูลพยากรณ์ตัวเลขระดับน้ำในแต่ละช่วงวัน เวลา และสถานที่ โดยเราสามารถเข้าไปดูตารางน้ำได้ที่เว็บไซต์ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือตามลิงค์นี้ http://www.hydro.navy.mi.th/servicestide.htm และจะมีสถานีพยากรณ์ที่ใกล้เคียงจุดที่เราต้องการไปดำน้ำมากที่สุดให้เลือกดู

ตารางน้ำของแต่ละสถานี จะบอกระดับน้ำในแต่ละช่วงเวลา โดยเน้นช่วงเวลาที่ระดับน้ำสูงสุด และต่ำสุด ถ้าลองไล่สายตามองดูตัวเลขอันลายตาในตาราง แล้วหาวันที่น้ำขึ้น-ลง ต่างกันน้อยที่สุด ก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย แต่ถ้าเรารู้ทฤษฏีน้ำขึ้นน้ำลงมาแล้วว่า น้ำจะขึ้น-ลงต่างกันไม่เยอะในวันพระจันทร์ครึ่งดวง เราก็จะสามารถปักหมุดดูตัวเลขอย่างละเอียดได้ทันทีโดยไม่ต้องสุ่มหา

การรู้ “วัน” น้ำเกิด-น้ำตาย นั้นทำให้เราเลือกวันดำน้ำได้ดี แต่การรู้ “เวลา” น้ำขึ้นน้ำลงอย่างละเอียด ยังมีทำให้เราสามารถเลือกเวลาลงดำน้ำได้อย่างเหมาะสม เพราะถึงแม้จะเป็นช่วงวันที่น้ำขึ้น-ลงเยอะ แต่ช่วงเวลาที่น้ำขึ้นสูงสุด และลงต่ำสุด จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่กระแสน้ำจะหยุดนิ่งชั่วขณะ หรือการดำน้ำในพื้นที่ๆ ใกล้ปากแม่น้ำ ช่วงเวลาที่น้ำกำลังขึ้นอาจเหมาะในการดำน้ำกว่าช่วงเวลาที่น้ำลง เพราะเมื่อน้ำในทะเลกำลังลง น้ำในแม่น้ำก็จะไหลตามลงมา และพาเอาตะกอนในแม่น้ำลงมาในทะเล ทำให้น้ำขุ่น

 

 

แอพพลิเคชั่นทำนายน้ำขึ้นน้ำลงนั้นเป็นตัวช่วยที่ดีและใช้ง่าย เพราะแสดงผลเป็นกราฟ ถ้าน้ำขึ้นเยอะลงเยอะ เส้นกราฟจะชัน ถ้าน้ำขึ้นน้อยลงน้อย เส้นกราฟก็จะราบเรียบ อีกทั้งยังแสดงผลเปรียบเทียบส่วนต่างของน้ำขึ้นลงในแต่ละวันเป็นแบบ Bar Graph ซึ่งทำให้เลือกวันได้ง่ายมา

แต่ข้อเสียของการใช้แอพพลิเคชั่นแบบนี้คือ แอพพลิเคชั่นส่วนใหญ่นั้นเป็นของต่างประเทศ ซึ่งใช้ข้อมูลการทำนายผ่านโมเดล และอาจมีการใช้ข้อมูลที่แชร์ระหว่างเครือข่ายพยากรณ์ในท้องถิ่นบ้าง แต่อย่างไรก็คงไม่มีความเชี่ยวชาญการทำนายในท้องถิ่นเหมือนข้อมูลจากกรมอุทกศาสตร์โดยตรง อีกทั้งสถานีทำนายในประเทศไทยก็มีน้อยแห่ง จึงแนะนำให้ใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อดูแนวโน้มกว้างๆ (เลือกวัน) และใช้ตารางน้ำแบบละเอียดจากกรมอุทกศาสตร์ในการพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง

 

 

เมื่อเรารู้แล้วว่าน้ำขึ้น-ลงอย่างไร วันไหน เมื่อไหร่ กระแสน้ำจะไหลแรง เราก็สามารถเลือกวันเวลาที่เหมาะสมในการดำน้ำได้ เพราะคงไม่มีใครอยากดำน้ำในกระแสน้ำที่ไหลแรง

แต่บางที กระแสน้ำก็ทำให้ทะเลสวยงามเช่นกัน เพราะกระแสน้ำนั้นพัดพาอาหารและแพลงตอนมาด้วย เราจึงมักเห็นปะการังอ่อนบานฟูฟ่องอย่างสวยงามเพื่อดักจับกินแพลงตอน เช่นเดียวกับฝูงปลาที่ออกมาหาอาหารกันอย่างร่าเริง

You don't have permission to register