สงครามในนามปฏิวัติวัฒนธรรม 23 มกราคม 2020 – Posted in: People & Places

ถ้า “สงคราม” คือกระทำอันป่าเถื่อนซึ่งคนกลุ่มหนึ่งกระทำต่อคนอีกกลุ่มหนึ่ง หากแต่ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” (The Cultural Revolution) ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ในช่วงปี ค.ศ.1966-1976 นั้นก็ไม่ต่างไปจากสงคราม ที่มีจุดมุ่งหมายในการล้มล้างชนชั้น และทำลายล้างคนในชาติเดียวกันที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการเดินหน้าของประเทศจีนในยุคคอมมิวนิสต์

ดร.ซุน ยัตเซน ผู้ก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋ง image cr. : Sun Yat-sen’s legacy in China on Youtube

หลังจากที่ดร.ซุน ยัตเซ็น ได้นำการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีนได้สำเร็จเมื่อปี ค.ศ.1911 ภายใต้ “การปฏิวัติซินไฮ่” ส่งผลให้พระจักรพรรดิผู่อี้ พระจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิงสละราชสมบัติในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1912 ทว่าการเสียชีวิตของ ดร.ซุน  ยัตเซ็น ผู้ก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋ง ทำให้เขาไม่ทันได้เห็นผลพวงของการปฏิวัติ ที่คาดหวังว่าจะนำพาประเทศจีนไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย

ภายหลังจากที่ดร.ซุน  ยัตเซ็น เสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1925 ประเทศจีนเกิดความแตกต่างทางความคิดในด้านระบอบการปกครอง โดยเหมา  เจ๋อตุง เด็กชายจากครอบครัวชาวนาผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ.1921 ได้มีชัยเหนือพรรคก๊กมินตั๋ง ผลักดันให้ เจียง ไคเช็ก หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋งในขณะนั้น ตัดสินใจนำพลพรรคที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยล่าถอยไปจัดตั้งรัฐบาลที่ไต้หวัน เมื่อสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1949  ประธานเหมา เจ๋อตุง จึงประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1949 โดยใช้สัญลักษณ์ค้อนเคียวเป็นสัญลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์

การปฏิวัติวัฒนธรรมจีน

Image Cr. : theguardian.com/world

การมีชัยชนะเหนือพรรคก๊กมินตั๋งไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีกลุ่มคนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการในระบอบคอมมิวนิสต์ ภายหลังจากที่ประธานเหมาปฎิวัติจีนแดงได้สำเร็จในปี ค.ศ.1949 อำนาจของเขาก็เสื่อมถอยลง ส่งผลให้เกิดกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองในระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ เหมา  เจ๋อตุง จึงเดินหน้าล้มล้างคนหัวเก่าที่อาจจะลุกขึ้นมาขัดขวางการเปลี่ยนแปลงประเทศซึ่งเป็นอุดมการณ์ของเขามาตลอด ในรูปแบบของการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อ “โค่นล้มพวกลัทธิทุนนิยม และวิพากษ์ศิลปวัฒนธรรมที่แบ่งแยกชนชั้น” โดยเน้นการล้มล้าง “4 เก่า” ที่จัดว่าเป็นความโบราณคร่ำครึ ได้แก่ ประเพณีเก่าๆ วัฒนธรรมเก่า ๆ พฤติกรรมหรือนิสัยเก่าๆ  และแนวคิดหรือสันดานเก่า ๆ ซึ่งคนที่จะทำหน้าที่ลบภาพลักษณ์เก่าของจีนโบราณได้ดีที่สุดย่อมหนีไม่พ้นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ถูกจุดเชื้อไฟแห่งการเป็นนักปฏิวัติรุ่นเยาว์ให้ลุกโชติช่วง

กำเนิด “กองทัพพิทักษ์แดง” (Red Guards)

Image Cr. : when-we-were-young.tripod.com

เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1966 เหมาเผยแพร่ความคิดออกไปว่าชนชั้น “กระฎุมพี” (ชนชั้นกลาง พ่อค้าวาณิชทั้งหลาย) เริ่มแทรกซึมเข้ามาสั่นคลอนลัทธิคอมมิวนิสต์ในรูปแบบของ “ลัทธิแก้” (ผู้ให้กำเนิดลัทธิแก้ หรือ Revisionist คือ Eduard Bernstein เขาเชื่อในสังคมนิยมประชาธิปไตย และเสนอแนวทางการปฏิรูปไม่ใช่ปฏิวัติ) ซึ่งต้องการฟื้นฟูระบบทุนนิยมที่ถูกมองว่าเป็นปีศาจร้ายในยุคนั้น กลุ่มเยาวชนในสถานศึกษาต่าง ๆ ตอบสนองต่อการเรียกร้องของท่านประธานเหมา โดยตั้งกลุ่ม “หงเว่ยปิง” หรือ “กองทัพพิทักษ์แดง” (Red Guards) ขึ้นทั่วประเทศเพื่อขจัดกลุ่มที่มีความคิดแตกต่างจากลัทธิเหมาให้สิ้นซาก

image cr. : chinese-revolution-gigitam.weebly.com

ในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ.1966 กองทัพพิทักษ์แดงทยอยเดินทางมายังจัตุรัสเทียนอันเหมินแบบมืดฟ้ามัวดินกว่าสิบล้านคนเพื่อพบกับ “ท่านประธานเหมา” จากนั้นก็มีการกระจายกำลังออกไปทั่วสารทิศ เพื่อไปติดใบปลิว โปสเตอร์ ป้ายคำขวัญ ตั้งเวทีอภิปราย ทุบทำลายโครงกระดูกโบราณ หลุมฝังศพ ป้ายวิญญาณบรรพบุรุษ วัด ศาลเจ้า พระราชวัง พระพุทธรูป ฯลฯ และในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.1966 ประธานเหมาประกาศห้ามตำรวจขัดขวางขบวนการเคลื่อนไหวปฏิวัติของนิสิต นักศึกษา และอ้างถึงพลังบริสุทธิ์ของวัยหนุ่มสาว ซึ่งการประกาศครั้งนี้ยิ่งทำให้กลุ่มกองทัพพิทักษ์แดงฮึกเหิมและทวีความบ้าคลั่งมากขึ้นไปอีก

หนังสือปกแดง

Image Cr. : voanews.com/east-asia-pacific

นอกจากยูนิฟอร์มเขียวที่มีหมวกรูปดาวแดง ผ้าพันคอและปลอกแขนที่ยืนยันตัวตนของกองทัพพิทักษ์แดงแล้ว เยาวชนทุกคนต้องพกพาหนังสือปกแดงอันเปรียบได้กับไบเบิลของลัทธิเหมา ซึ่งกองทัพพิทักษ์แดงต้องอ่านและท่องจำให้ขึ้นใจ จากเยาวชนจีนที่เคยเชื่อฟังพ่อแม่ ว่านอนสอนง่าย กลายเป็นวัยรุ่นยุวชนแดง ที่กล้าเอาพ่อแม่ของตนเองมาประจานในที่สาธารณะ ทำร้ายครูจนเสียชีวิต ความเคลื่อนไหวของกองทัพพิทักษ์แดงในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมได้ถูกกล่าวไว้ในหนังสือหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือหนังสือเรื่อง “Bend not Break” ซึ่งสำนักพิมพ์สันสกฤตนำมาแปลเป็นไทยในชื่อว่า “ผิงฟูผู้ไม่ยอมแพ้” ซึ่งเป็นเรื่องจริงของเด็กหญิงที่เกิดมาในตระกูลพ่อค้าวาณิช ซึ่งชีวิตวัยเด็กต้องขมขื่นเพราะตกเป็นเหยื่อของการปฏิวัติวัฒนธรรม

“การปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มขึ้นแล้วและในครอบครัวฉันไม่มีใครเคยคาดคิดเลยว่า เหตุการณ์จะบานปลายยาวนานไปถึงสิบปี กลายเป็นช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ ชาวจีนกว่าสามสิบหกล้านคนถูกลงทัณฑ์ และอีกกว่าสามล้านคนถูกคร่าชีวิตหรือกลายเป็นคนพิกลพิการ ประธานเหมากำลังรวบรวมอำนาจในฐานะผู้นำแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่เอียงซ้ายจัด ต่อต้านปัญญาชน ยกย่องกลุ่มกรรมาชีพ และได้รับการผนึกกำลังจากพวก หงเว่ยปิง – ยุวชนแดง หรือ กองทัพพิทักษ์แดง กองทัพคนหนุ่มสาว ที่หลายครั้งบ้าคลั่งจนเกินการควบคุม”

Image Cr. : allthatsinteresting.com คณะครูและนักศึกษาจัดการแสดงส่งเสริมนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์ แทนงิ้วและนาฏศิลป์จีนโบราณที่ถูกสั่งห้าม

การหนุนหลังกระบวนการนักศึกษาขึ้นไปสู่การรณรงค์ระดับชาติ รวมไปถึงการเรียกร้องให้กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ชาวไร่ชาวนาและเหล่าทหาร ช่วยกันบรรลุภารกิจแห่งการปฏิวัติจีนให้สำเร็จ ด้วยการกำจัดคนร่ำรวยที่โกงกินบ้านเมือง และเหล่าปัญญาชนที่ทรงอิทธิพล ส่งผลให้สถานศึกษาหลายแห่งต้องปิดตัวลง หนึ่งในนั้นคือ “วิทยาลัยนาฏศิลป์ปักกิ่ง” (Beijing Dance Academy) ที่ทำหน้าที่ผลิตเยาวชนเพื่อสืบสานนาฏศิลป์จีน ซึ่งถูกกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “A Girl Named Faithful Plum-จงเหมย” ซึ่งเล่าถึงการฟื้นฟูวัฒนธรรมจีนให้กลับคืนมาอีกครั้งผ่านบัลเลต์จีนที่มีรูปแบบแตกต่างไปจากบัลเลต์รัสเซีย

ถึงแม้การปฏิวัติวัฒนธรรมจะสิ้นสุดลงไปแล้วแต่บาดแผลยังคงสด ช่องว่างระหว่างปัญญาชนกับเด็กหญิงจากชนบทยังคงคละคลุ้ง ทำให้คุณครูผู้สอนบัลเลต์รังเกียจเดียดฉัน ‘จงเหมย’ ถึงขนาดไม่ยอมสอนโดยไล่ให้เธอไปเกาะราวหลังห้องด้วยเหตุที่เธอเป็นเด็กหญิงบ้านนอกชนชั้นกรรมกร  แผลของชนชั้นถ่างกว้าง เกินกว่าจะเยียวยาในช่วงเวลาสั้นๆ

เลือดดำจงหมดไป

Image cr. : thestand.nl/2018/10

ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ผู้คนในประเทศจีนถูกแบ่งออกเป็นสองพวก คือ พวกดำ (เฮยอู่เล่ย) และพวกแดง (หงอู่เล่ย) โดยใช้สัญลักษณ์เป็น “เลือดดำ” และ “เลือดแดง” เปรียบได้กับเลือดเสียและเลือดดี พวกเลือดดำ ได้แก่ เจ้าของที่ดิน ชาวนาที่ร่ำรวย พวกต่อต้านการปฏิวัติ อาชญากร และพวกเอียงขวา พวกฝักไฝ่ทุนนิยม สายลับ ปัญญาชน และใครก็ตามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อลัทธิเหมา ส่วนพวก “เลือดแดง” 5 กลุ่ม ได้แก่ ชาวนายากจน ชนชั้นกรรมาชีพ ผู้อุทิศตนเพื่อต่อต้านทหารที่เป็นปฎิปักษ์ต่อการปฏิวัติ ผู้พลีชีพเพื่อการปฏิวัติ และพวกยุวชนแดง

หนังสือเรื่อง “ผิงฟูผู้ไม่ยอมแพ้” ได้บอกเล่าชะตากรรมของเด็กหญิงผิงฟูในวัยสิบขวบที่ถูกพรากจากอกพ่อแม่ต้องไปอยู่รวมกับพวกยุวชนแดง กิจกรรมในสถานกักกันทำให้เธอรู้ตัวว่าตนเองเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาในสังคม

Image Cr. : allthatsinteresting.com/cultural-revolution#7 ในยุคนั้นนักศึกษากว่า 17 ล้านคนถูกผลักดันให้ไปเป็นเกษตรกรในชนบท

“พวกยุวชนแดงผลัดกันขึ้นไปยืนบนแท่นในสนาม เพื่อทำการสั่งสอนเรา พวกเขาบอกว่าเราเป็น “เด็กเลือดดำ” ไม่ควรค่าที่จะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ พวกเราเป็นไอ้พวกลูกคนรวยที่ได้รับการศึกษา ในวัฒนธรรมจีน สีดำมีความหมายในทางลบ เป็นสีแห่งความชั่วร้ายและความตาย…การถูกตราหน้าว่า “เลือดดำ” นั้นหมายความว่า เราเกิดมามีความผิดตัวเพราะอาชญากรรมที่พ่อแม่และบรรพบุรุษก่อไว้”

นอกจากเธอจะต้องถูกล้างสมองด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำไป ซ้ำมาในแต่ละวันแล้ว เธอยังต้องเผชิญกับการกระทำอันป่าเถื่อนที่เด็กหญิงที่ในวัยสิบขวบยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าการข่มขืนคืออะไร!!

Image Cr. : allthatsinteresting.com/cultural-revolution#22 การสังหารเจ้าของที่ดิน และชนชั้นกลางในสังคมเกิดขึ้นทุกวันหลังการปฏิวัติ

ในขณะที่หนังสือเรื่อง ผมชื่อหลิวอ้าย – English” สะท้อนภาพเด็กชายชาวจีนที่เกิดในเมืองชายแดนอย่างอูหลู่มูฉี หลิวอ้ายเติบโตในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ฯ  เขาประสบพบเห็นความรุนแรงมากมายในรูปแบบต่าง ๆ กัน เขาเห็นคนสาดน้ำกรดใส่กัน เห็นเยาวชนแดงทุบตีครูจนตายแล้วลากศพประจานทั่วโรงเรียน เขาเห็นการโกหกเพื่อเอาตัวรอด เห็นผู้ใหญ่ใช้อำนาจทำร้ายกัน เห็นครูผู้รักลูกศิษย์กลับต้องจองจำ เห็นพ่อแม่ผู้เป็นปัญญาชนต้องทำตัวลีบแอบซ่อนความรู้ความฉลาดไม่ให้ใครมองออก ความปั่นป่วนของสังคมจีนในยุคนั้นส่งผลให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเด็กที่เติบโตในยุคนั้นอย่างหลิวอ้าย

“วันยิงเป้าเป็นวันที่สนุกที่สุด สมัยนั้นนอกจากงิ้วปฏิวัติวัฒนธรรมแล้วก็ไม่มีอะไรให้ดูนอกจากการยิงเป้า ผมดูเขายิงเป้าตั้งแต่ 8 ขวบ พวกนักโทษประหารจะถูกโกนหัวโล้น ยืนบนท้ายรถบรรทุก หน้าแดงแจ๋” ความตอนหนึ่งที่ฉายภาพสะท้อนของการปฏิวัติวัฒนธรรมในหนังสือเรื่องนี้

ผลกระทบจากการปฏิวัติวัฒนธรรม

Imge Cr. : oldpics.net/destroy-the-old-maos-cultural-revolution-china-1966/

ช่วงเวลาปฏิวัติวัฒนธรรมทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายในประเทศจีน ส่วนคนที่ไม่อยากตายอย่างไร้ทางสู้ ก็เลือกที่จะหนีไปตายเอาดาบหน้าด้วยการอพยพไปสู่ในประเทศอื่นๆ แม้ว่าประธานเหมาจะประกาศให้การปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1969 ทว่าการกวาดล้างไล่ล่าศัตรูทางการเมืองและผู้ต่อต้านลัทธิเหมายังคงลากยาวไปถึงปี ค.ศ.1976 โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังการกระทำนี้คือ นางเจียงชิง ภรรยาคนที่ 4 ของท่านประธานเหมาร่วมกับพวกที่ชื่อว่า “แก๊งสี่คน”

นับตั้งแต่การปฏิวัติครั้งแรกในปี ค.ศ.1949 ที่เหมา  เจ๋อตุง นำพาพรรคคอมมิวนิสต์มีชัยเหนือพรรคก๊กมินตั๋ง จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมอีกครั้งในปี ค.ศ.1966-1976 ซึ่งเป็นเวลาที่ห่างกันถึง 17 ปี ในมุมมองของโรเดอริก  แมคฟาร์กูฮาร์ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง “The Origin of the Cultural Revolution” ได้ให้สัมภาษณ์ต่ออินิเชียม มีเดีย สื่อออนไลน์ภาษาจีนในฮ่องกง ในวาระครบรอบ 50 ปีของการปฏิวัติวัฒนธรรมไว้ว่า

Image Cr. : allthatsinteresting.com/cultural-revolution#24 ฝูงชนต้อนรับท่านประธานเหมา ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน วันที่ 9 สิงหาคม 1967

“เหมาไม่ได้ต้องการให้การปฏิวัติแบบการปฏิวัติทางวัฒนธรรมหรือการปฏิวัติแบบปี 1949 เกิดขึ้นมาตลอดเวลา แต่ในความเข้าใจของเขานั้น ระบบขุนนางข้าราชการของจีน ฝังรากลึกมากเข้าไปอยู่ในยีนส์ของคนจีน ดังนั้นหลังผ่านการปฏิวัติทางวัฒนธรรมไปอีกสักไม่กี่ปี ถ้าหากเขายังคงมีชีวิตอยู่ ก็จะเกิดความจำเป็นที่จะต้องทำการปฏิวัติกันอีกครั้ง เพราะระบบราชการของจีนนั้นทรงอำนาจเหลือเกิน มันจะเข้าครอบครองและดำเนินการต่างๆ ในวิถีทางที่ไม่ใช่การปฏิวัติ

จนถึงบัดนี้ผลพวงของการปฏิวัติวัฒนธรรมได้นำพาประเทศจีนมาสู่ครรลองของการพัฒนาอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่ว่าเหมา  เจ๋อตุงจะเป็นผู้ร้าย หรือเทพเจ้าในสายตาของชาวจีนและชาวโลก แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการปฏิวัติวัฒนธรรมก็คือ การกระทำอย่างสุดโต่งไม่เคยให้ผลลัพธ์ที่ดีเพียงด้านเดียว

หากคุณสนใจเรื่องราวที่เป็นดังกระจกสะท้อนช่วงเวลาของการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน หาอ่านได้จากหนังสือเหล่านี้

                   
                   
                   
                   

 

อ้างอิง

https://mgronline.com/around/detail/9590000050681

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

มัดเท้า…สุขสมบนความปวดร้าว?

เพราะเคยเป็นเด็กจึงมีวันนี้

กองทหารนางบำเรอแห่งโสมแดง

 

 

 

 

 

« ฺBirthday Diary ทายนิสัยคนเกิดเดือนกุมภาพันธ์
มัดเท้า…สุขสมบนความปวดร้าว? »