เบื้องหลัง Light of Life ภารกิจปลุกไฟชีวิต ไร่แม่ฟ้าหลวง ด้วยแสงไฟ กลไก และภาพเงา

เบื้องหลัง Light of Life ภารกิจปลุกไฟชีวิต ไร่แม่ฟ้าหลวง ด้วยแสงไฟ กลไก และภาพเงา

เบื้องหลัง Light of Life ภารกิจปลุกไฟชีวิต ไร่แม่ฟ้าหลวง ด้วยแสงไฟ กลไก และภาพเงา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไร่แม่ฟ้าหลวง ชื่อนี้อาจเป็นที่รู้จักในแง่แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดเชียงรายน้อยกว่าคาเฟ่ ไร่ชากาแฟหรือดอยต่างๆ ทั้งที่ตัวไร่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบนเนื้อที่ 150 ไร่ เรียบง่ายและกลมกลืนเข้ากับวิถีของผู้คนและเมือง แต่กระนั้น ไร่แม่ฟ้าหลวง หรือชื่อเต็มคือ อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง กลับดึงดูดเฉพาะนักเดินทางที่มีความสนใจเฉพาะด้าน เช่น นักพฤกษศาสตร์ นักดูนก หรือผู้ที่สนใจศิลปะล้านนา และนั่นจึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทางไร่แม่ฟ้าหลวงซึ่งมีบทบาทเป็นทั้งพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมและสวนพฤกษศาสตร์ ได้จุดไอเดีย Light of Life : นิทรรศการแสงไฟ กลไก และภาพเงา นำศิลปะร่วมสมัยมาปลุกชีวิตไร่แม่ฟ้าหลวงให้กลับมาอยู่ในสปอตไลต์ของเมืองในยุคปัจจุบันอีกครั้ง

light7
อาจารย์นคร พงศ์น้อย ผู้อำนวยการอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงเคยให้คำนิยามถึงไร่แม่ฟ้าหลวงแห่งนี้ว่าเปรียบเสมือนปอดของเชียงราย ในขณะที่ข้างนอกวุ่นวายพอเข้าไปภายในไร่จะสัมผัสได้ถึงความสงบ สดชื่น สบายใจ

แต่ในโมงยามปัจจุบันนิยามนั้นอาจไม่ตอบโจทย์ด้านการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างโจทย์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่ 10 ปีก่อนทำให้ไร่แห่งนี้ทำหน้าที่เพียงพื้นที่สีเขียวของเมืองเท่านั้นแต่มาวันนี้ไร่แม่ฟ้าหลวงพร้อมแล้วที่จะขยับปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่เป้าหมายใหม่ ในการเป็นพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยโดยมี Light of Life เป็นโปรเจกต์ตั้งต้นซึ่งได้นักออกแบบมือดี พล หุยประเสริฐ นำทัพศิลปินสื่อผสมรุ่นใหม่ๆ และสตูดิโอชื่อดังของไทยมาร่วมสร้างสรรค์ศิลปะจัดวางท่ามกลางแสงสี lighting installationใส่งานออกแบบลงไปท่ามกลางความงามดั้งเดิมของสถานที่ เพื่อหวังดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้ปักหมุดหมาย ไร่แม่ฟ้าหลวง เข้าไปในแผนที่เดินทางอีกครั้ง

light3พล หุยประเสริฐ

สร้างแรงดึงดูดด้วยงานออกแบบ

พล หุยประเสริฐ ชื่อนี้คือผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบคอนเสิร์ตเบอร์ต้นของเมืองไทย ผู้สร้างผลงานร่วมกับศิลปินดังมามากมาย แต่ช่วงหลังนับตั้งแต่ได้ชิมลางจัดนิทรรศการสื่อผสมระหว่างแสง สี และเสียงเพลงกับนักร้องมากความสามารถBOWKYLIONชื่อของพลก็ถูกพูดถึงในฐานะศิลปิน installation art ควบคู่ไปด้วย

“จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ Light of Life เกิดจากการที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ อยากสร้างสรรค์บางอย่างให้คนนึกถึงไร่แม่ฟ้าหลวงและหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯก็เคยเห็นว่าผมเคยทำงานด้านออกแบบ lighting installation มาก่อน จึงอยากให้มาทำ event installation เพื่อสร้างคาแรกเตอร์ใหม่ให้ไร่นี้”

พลเผยถึงเป้าหมายของ นิทรรศการแสงไฟ กลไก และภาพเงา ที่หวังจะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ ไร่แม่ฟ้าหลวง เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งหลังจากพูดคุยกันได้ไม่นานก็ก่อร่างสร้างโปรเจกต์อย่างรวดเร็วชนิดที่วางแผนเพียง 3 เดือนก็เกิดเป็นงานนี้ขึ้นมา

light4
“พอโยนโจทย์มาให้ ผมซึ่งเป็นคนชอบความท้าทายก็ตกปากรับคำ เพราะจริงๆ แล้วลึกๆ ผมเชื่อว่างานออกแบบที่ดีจะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวอะไรบางอย่างเสมอ จึงอยากลองดูว่าสิ่งที่คิดไว้จะทำให้พื้นที่นี้โตได้จริงไหม จะขยับจากไร่ที่ไม่เคยมีใครเห็นให้คนเริ่มมองเห็นได้หรือไม่ก่อนหน้านี้คนเข้าชมไร่แม่ฟ้าหลวงน้อยมาก ประมาณ 10 คนต่อวันโดยเฉลี่ย และส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ พอคิดจะปั้นงานนี้ให้เกิดขึ้น เราวางเป้าไว้ว่าต้องเพิ่มจำนวนคนเข้ามาชมไร่ให้ได้ 300-500 คนต่อวันนับว่าต้องทำให้การรับรู้สูงขึ้นหลายสิบเท่าเลยทีเดียว”

คีย์หลักของ Light of Life เป็นการนำชิ้นงานศิลปะร่วมสมัยไปจัดวางบนพื้นที่ธรรมชาติ โดยไม่คุกคามธรรมชาติเดิมที่มีอยู่ ทั้งยังต้องคงเอกลักษณ์ของไร่นั่นก็คือ ความสงบ เรียบง่ายทว่าสามารถสร้างแรงกระเพื่อมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานศิลปะและชื่นชอบการออกแบบ

light11
ปลุกชีวิตด้วย “แสงแห่งชีวิต”

Light of Lifeได้ชวนศิลปิน นักออกแบบ และสตูดิโอชื่อดัง อย่าง วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์, พงศ์ภาสกร กุลถิรธรรม, กรกต อารมณ์ดี, ธัชพล สุนทราจารย์, 27 June, Light is, Saturate Design และ H-Lab มาปล่อยของอย่างเต็มที่และท้าทายด้วยคอนเซปต์ที่โจทย์เดียวกันนั่นคือ การสร้างสรรค์ชิ้นงานภายใต้คอนเซปต์แสงสีขาว เป็น kinetic art ที่มีความเคลื่อนไหวหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม

“แสงสีขาวเป็นแสงแห่งชีวิต เป็นแสงอาทิตย์ แสงจันทร์ หรือแสงโคมไฟในบ้าน เป็นแสงสีที่ขับเคลื่อนชีวิตมนุษย์มาตลอด เราตื่นเช้ามาเจอแสงอาทิตย์เราถึงทำงาน พอกลางคืนเราทำงานได้เพราะมีหลอดไฟ ดังนั้นจึงเลือกแสงสีขาวมาเป็นคอนเซปต์หลัก และใช้ชื่อว่า Light of Life คือแสงที่ทำให้เกิดชีวิต แสงที่ทำให้เกิดการเดินทาง และเป็นแสงที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของชิ้นงานทำให้รู้สึกว่าพอดูชิ้นงานแล้วเหมือนได้เดินทาง มีการเคลื่อนไหว จะเป็นการเคลื่อนไหวของตัวชิ้นงานเอง การเคลื่อนไหวของแสงไฟ หรือการเคลื่อนไหวทางความคิดก็ได้ คือบางคนอาจจะมองว่า kinetic art ต้องเคลื่อนไหวในตัวของมัน แต่สำหรับผม kineticหมายถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนดู เหมือนเป็นงานที่คุยกับผู้คนหรือสื่อสารกับคนดูได้”

light10
ด้วยคอนเซปต์นี้ศิลปินกว่า 10 ชีวิตต่างสร้างสรรค์ผลงานตามสไตล์ของตัวเอง จัดวางตามมุมต่างๆ ทั่วไร่แม่ฟ้าหลวง จำนวน 15 ชิ้นงานหลัก และอีก 5 ชิ้นงานสำหรับตกแต่ง รอให้ผู้คนเข้าไปเยี่ยมชมและสื่อสารกับศิลปินผ่านแสงไฟ กลไก ภาพเงา โดยความท้าทายของนิทรรศการนี้นอกจากการสร้างงานแล้วก็ต้องไม่ลืมเรื่องของจำนวนผู้เข้าชมที่จะเป็นตัวชี้วัดว่า งานศิลปะร่วมสมัยจะกลับมาพลิกฟื้นไร่แม่ฟ้าหลวงได้อีกครั้งหรือไม่

light-of-live6
“ผมเคยทำนิทรรศการ new world ที่บางลำพู ในกรุงเทพฯ มาก่อน ซึ่งงานนั้นมีคนสนใจไปชมเยอะมาก พอมาทำกับไร่แม่ฟ้าหลวง เราก็หวังว่าคนจะเยอะเหมือนกันเพราะมองว่าเชียงรายเป็นเมืองท่องเที่ยวและเมืองศิลปินแต่พอเปิดให้เข้าชมจริงก็พบว่าเราประเมินพลาด ช่วงสัปดาห์แรกคนมาชมน้อยกว่าที่คิด ซึ่งผมกังวลนะ แต่ไม่เสียกำลังใจ รู้สึกว่ายังเห็นแสงสว่างในงานของเราอยู่ เพราะนอกจากคนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเองแล้ว ก็ยังต้องมองกลุ่มคนต่างถิ่นที่ต้องมีแผนในการเดินทางมาเชียงรายโดยเฉพาะด้วย”

และเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้สนใจได้ชมนิทรรศการนี้ และเพิ่มโอกาสให้คนทั่วไปได้ทำความรู้จักกับไร่แม่ฟ้าหลวงมากขึ้น นักออกแบบที่เป็นทั้งเจ้าของผลงานและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์นิทรรศการครั้งนี้ได้เผยความตั้งใจว่า หากสิ้นสุดระยะเวลาจัดแสดงในวันที่ 29 มกราคม 2566 ผลงานทั้ง 20 ชิ้นอาจจะปรับเปลี่ยนให้สามารถจัดแสดงแบบกึ่งถาวรโดยไม่มีระยะเวลามาเป็นกรอบกำหนด ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความพร้อมของแต่ละชิ้นงาน

light5
สร้างกระแส เชียงรายเมืองแห่งศิลปะและการออกแบบ

ด้วยเพราะมองเห็นว่าเชียงรายเป็นเมืองที่มีศักยภาพด้านศิลปะและการออกแบบทั้งที่มีทั้งศิลปินและวัตถุดิบที่เอื้อต่อผู้นิยมชมชอบด้านศิลปวัฒนธรรมอยู่มากมาย พลจึงกล่าวว่าหากไร่แม่ฟ้าหลวงสามารถสร้างภาพจำในมุมของการเป็นพื้นที่ทางศิลปะร่วมสมัยได้ ที่นี่จะกลายเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของเหล่านักท่องเที่ยวที่รักงานอาร์ต

“ผมรู้สึกว่าเชียงรายเป็นเมืองแห่งดีไซน์ เป็นเมืองที่มีอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์เฉลิมชัยโฆษิตพิพัฒน์ เป็นหัวหอกของคำว่าอาร์ต และยังมีศิลปินอีกมากผมจึงทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาในคาแรกเตอร์ของเชียงรายที่เป็น artist base นึกถึงเชียงราย นึกถึงงานอาร์ตและอยากให้เมื่อนึกถึงงานอาร์ตก็ต้องนึกถึงไร่แม่ฟ้าหลวงด้วย ใครอยากจัดงานอาร์ตให้นึกถึงไร่นี้ ศิลปินคนไหนอยากเปิดนิทรรศการก็มาเปิดที่นี่ เชียงรายจะได้มีพิกัดใหม่เป็นทางเลือกในการท่องเที่ยว”

Fact File

  • Light of Life : นิทรรศการแสงไฟ กลไก และภาพเงา ตั้งอยู่ อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
  • เปิดให้เข้าชม วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 16.00-22.00 น. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 จนถึงวันที่ 29 มกราคม 2566
  • บัตรเข้าชมราคาปกติ 200 บาท
  • บัตรเข้าชมราคาพิเศษ 100 บาท สำหรับประชาชนที่มีภูมิลำเนาและทำงานในจังหวัดเชียงราย นักเรียน นักศึกษา (ถึงระดับปริญญาตรี) ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • รายละเอียดเพิ่มเติม FB: ไร่แม่ฟ้าหลวง

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ เบื้องหลัง Light of Life ภารกิจปลุกไฟชีวิต ไร่แม่ฟ้าหลวง ด้วยแสงไฟ กลไก และภาพเงา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook