ลำไส้บอกโรค

ลำไส้บอกโรค

Highlights:

  • การรับประทานอาหารซ้ำๆ ทุกวัน ทำให้ได้รับสารอาหารที่จำกัด และไม่เพียงพอต่อการทำงานของอวัยวะในร่างกาย  ควรเลือกรับประทานอาหารหลากหลาย และมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิป้องกันโรค  
  • การทำงานของลำไส้ที่เปลี่ยนแปลงไป อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะท้องเสียหรือท้องผูก รู้สึกว่าถ่ายไม่สุด อุจจาระมีเลือดปน และเริ่มมีน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคที่ร้ายแรง   
  • การตรวจสุขภาพลำไส้ด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เป็นการช่วยตรวจคัดกรองในเบื้องต้น ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการตรวจได้ โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ การตรวจคัดกรองจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

“ลำไส้” อวัยวะที่อาจถูกมองข้าม ด้วยเห็นความสำคัญของสมอง หัวใจ ตับ และปอดมากกว่า แต่ในความจริงแล้ว ลำไส้มีความสำคัญไม่น้อยกว่าอวัยวะอื่นๆ ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ช่วยสร้างพลังงาน และขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย หากระบบทางเดินอาหารมีปัญหาหรือขาดสมดุล ร่างกายจะไม่สามารถทำงานได้ปกติ ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยล้า ขาดสมาธิ สุดท้ายอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอย่างโรคมะเร็งได้  

ทำความรู้จักกับลำไส้

ระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract-GI tract) เรียกอีกอย่างว่า ระบบย่อยอาหาร (digestive tract) เริ่มตั้งแต่ช่องปาก ลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่  ไปจนถึงทวารหนัก ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี และตับอ่อน  

ร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทั้งโปรตีน ไขมัน วิตามินและน้ำ หลังรับประทานอาหาร  ระบบย่อยอาหารจะย่อยสารอาหารเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ พอที่ร่างกายจะดูดซึมได้ 
หลังจากนั้นร่างกายจะนำสารอาหารไปใช้เป็นพลังงาน ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตและซ่อมแซมเซลล์  รวมถึงขับถ่ายของเสีย 

การทำงานของลำไส้

ลำไส้เป็นส่วนที่ยาวที่สุด  แบ่งเป็น ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่

  • ลำไส้เล็ก 
    ทำหน้าที่ย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน โดยอาหารที่ย่อยแล้วบางส่วนและที่ยังไม่ถูกย่อยจะเคลื่อนที่ผ่านกล้ามเนื้อหูรูดระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็ก ซึ่งลำไส้เล็กสามารถหลั่งเอนไซม์หรือน้ำย่อยเพื่อใช้ในการย่อยได้เองและได้น้ำย่อยจากตับอ่อนอีกส่วนหนึ่ง 
    นอกจากนี้ลำไส้เล็ก ยังเป็นบริเวณที่ดูดซึมสารอาหาร แร่ธาตุและวิตามินเกือบทั้งหมด เพราะเป็นบริเวณที่มีการย่อยอาหารเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ผ่านผนังทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อส่งต่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย  
  • ลำไส้ใหญ่ 
    การดูดซึมอาหารที่ย่อยแล้วส่วนใหญ่ เกิดขึ้นที่ผนังลำไส้เล็ก ส่วนอาหารที่ไม่ถูกย่อยหรือย่อยไม่ได้  จะถูกส่งไปยังลำไส้ใหญ่     เมื่อลำไส้ใหญ่รับกากอาหารมาแล้ว จะทำการดูดซึมน้ำจากกากอาหาร จากนั้นจึงส่งต่อกากอาหารไปยังลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนัก เพื่อกำจัดออกจากร่างกายในรูปอุจจาระ 

อาหารบำรุงลำไส้

  • อาหารหลากหลายและครบหมู่ 
    การรับประทานอาหารซ้ำๆ ทุกวัน ทำให้ได้รับสารอาหารที่จำกัด และไม่เพียงพอต่อการทำงานของอวัยวะในร่างกาย ควรเลือกรับประทานอาหารหลากหลายและมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิป้องกันโรค
  • ผักผลไม้หลากสี 
    นอกจากช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลายแล้ว สีในผัก ผลไม้แต่ละชนิดยังแตกต่างกัน ดังนี้ 
    • สีแดง อุดมด้วยไลโคปีน (lycopene) พบมากในผัก ผลไม้สีแดง เช่น มะเขือเทศ บีทรูท และแอปเปิ้ล 
    • สีเหลืองและส้ม อุดมด้วยวิตามินเอ และเบต้าแคโรทีน (beta carotene) พบใน ฟักทอง แครอท และส้ม
    • สีเขียว อุดมด้วยอัลฟ่าแคโรทีน (alpha carotene) และคลอโรฟิลล์ (chlorophyll) พบใน ผักใบเขียว 
    • สีม่วง อุดมด้วยสารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) พบในกะหล่ำม่วง ดอกอัญชัน ลูกพรุน และข้าวเหนียวดำ
    • สีขาว อุดมด้วยสารแซนโทน (Xanthone) พบมากในกระเทียม หัวไชเท้า และเห็ด
  • ธัญพืชและถั่ว 
    ธัญพืชและถั่ว อุดมด้วยวิตามิน เกลือแร่ ไฟเบอร์ และโปรตีน รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ ยังช่วยรักษาระดับน้ำตาลให้สมดุล ช่วยลดอาการท้องผูก 
  • เครื่องเทศ 
    ช่วยเพิ่มรสชาติและกลิ่นหอมให้อาหาร เช่น พริก ขมิ้น  กระเทียม  และขิง มีสรรพคุณ ลดการอักเสบ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง 

อาหารที่ไม่ดีต่อลำไส้

  • เนื้อแดงและอาหารแปรรูป การบริโภคเนื้อแดงในปริมาณมากเป็นประจำส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และอาจกลายเป็นมะเร็งลำใส้ใหญ่ ทั้งนี้อาหารแปรรูปส่วนใหญ่มีความเค็มจัด ส่งผลให้ความดันเลือดสูง
  • อาหารที่มีไขมันสูง ส่งผลให้น้ำหนักตัวเกิน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เช่น เนื้อติดมัน ไขมันสัตว์ เนย และกะทิ 
  • อาหารทอดหรือปิ้งย่าง โดยเฉพาะปิ้งย่างจนไหม้เกรียม หรือใช้น้ำมันทอดซ้ำ เนื่องจากเป็นสารก่อมะเร็ง
  • อาหารที่ขึ้นราง่าย อาหารแห้งที่ขึ้นราง่าย ได้แก่ พริกแห้ง กระเทียม และถั่วลิสง ควรหมั่นสังเกตให้แน่ใจว่าไม่มีราก่อนรับประทาน 
  • อาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารดิบหรือการปรุงแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ อาจทำให้ติดเชื้อพยาธิ ปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคแอลกอฮอล์มีความเชื่อมโยงกับโรคมะเร็งลำไส้และทวารหนัก การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้และทวารหนักได้  

“ลำไส้ดี” ร่างกายดี

การทำงานของลำไส้ที่เปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อย อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะท้องเสียหรือท้องผูก รู้สึกว่าถ่ายไม่สุด อุจจาระมีเลือดปน และเริ่มมีน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคที่ร้ายแรง 

ปัญหาสุขภาพลำไส้ที่ควรรีบปรึกษาแพทย์

  1. ริดสีดวงทวาร เกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนัก พบได้ในภาวะท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด คัน แสบร้อน มี เลือดไหลขณะขับถ่าย ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิต 
  2. แผลปริที่ขอบทวารหนัก มักพบในคนท้องผูกเรื้อรัง ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดขณะขับถ่าย และมีเลือดออกขณะขับถ่าย และมีอาการต่อเนื่องหรือเป็นๆ หายๆ เป็นเวลานาน 
  3. ลำไส้อักเสบเรื้อรัง เกิดจากการอักเสบของระบบทางเดินอาหารเรื้อรัง หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ลำไส้เสียหาย  
  4. อาการที่พบคือ รู้สึกไม่สบายท้องหรือปวดท้อง มีแก๊สในท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูกและ/หรืออาเจียน
  5. มะเร็งลำไส้ หากพบลักษณะของอุจจาระมีการเปลี่ยนแปลง รู้สึกถ่ายไม่สุด นานติดต่อกันกว่าหนึ่งเดือน รวมถึงอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว 

อย่างไรก็ตามปัญหาสุขภาพลำไส้ ยังสามารถป้องกันได้ โดยเริ่มจากการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นประจำ เมื่อมีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป 

การตรวจคัดกรองโรคเกี่ยวกับลำไส้ ควรตรวจตั้งแต่อายุเท่าไหร่

คือ การตรวจผนังลำไส้และหาติ่งเนื้อ ซึ่งอาจเป็นจุดกำเนิดของมะเร็งก่อนที่แสดงอาการ โดยสามารถตรวจพบมะเร็งลำไส้และทวารหนักได้ตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งสามารถทำการรักษาได้และประสบความสำเร็จสูง 
จากการศึกษาพบว่า การเข้ารับการตรวจคัดกรอง โดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้  

นอกจากนี้หากเป็นผู้มีความเสี่ยง เนื่องจากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรเข้ารับตรวจคัดกรองก่อนอายุ 45 ปี โดยคำนวณจากการนำอายุของบุคคลใกล้ชิดที่เป็นมะเร็งลบด้วย 10 จะได้อายุที่ควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เช่น หากพบมะเร็งในพ่อหรือแม่เมื่ออายุ 40 ปี ลบออกด้วย 10 จะเหลือ 30 ดังนั้น ลูกควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เมื่อมีอายุ 30 ปี โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ  

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเทคนิคการส่องกล้อง NBI

ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเทคนิคที่ทันสมัยผ่านทางกล้อง เช่น NBI (Narrow Band Image), EMR (Endoscopic Mucosal Resection) และ Endobrain (เป็น program AI) ที่ช่วยประเมินความเสี่ยงของติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ และเมื่อตรวจพบติ่งเนื้อ สามารถทำการตัดก้อนเนื้อผ่านกล้องด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย ร่วมกับเทคนิคการทำ EMR (Endoscopic mucosal resection) และ ESD (Endoscopic Submucosal Dissection) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ Minimal invasive surgery ในการตัดก้อนเนื้อที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งสูง ออกจากลำไส้ใหญ่ผ่านกล้อง โดยไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง  ช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด และลดระยะเวลาการอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล สิ่งสำคัญ คือ สามารถฟื้นตัวได้เร็ว กลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้รวดเร็ว

หากมีการตรวจพบติ่งเนื้อขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ควรเข้ารับการตรวจซ้ำทุก 3-5 ปี กรณีพบติ่งใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร อาจจำเป็นต้องตรวจทุก 1-3 ปี แต่ถ้าตรวจไม่พบติ่งเนื้ออาจเว้นระยะการตรวจนานขึ้นถึง 5-10 ปี  โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 

ดังนั้นการรับประทานอาหาร พฤติกรรมในการดำเนินชีวิต และกรรมพันธุ์ เป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่โรคต่างๆ เกี่ยวข้องกับลำไส้ หากมีอาการผิดปกติ ควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และนำไปสู่การรักษาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ  รวมถึงการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ตามเวลาจะช่วยป้องกันโรคร้ายแรงได้เช่นกัน

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?