เปิดศักราชรับ การค้าชายแดน ไทย-ลาว สร้างอนาคตสดใสให้ “จังหวัดน่าน”

มีการนิยาม การค้าชายแดน ไว้อย่างชัดเจนว่าแต่เดิม หมายถึง รูปแบบการค้าของประชาชนชาวบ้านที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน โดยมีจุดมุ่งหมายแรกเริ่มเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ขาดแคลนของประชาชนตามแนวพรมแดน ผ่านจุดผ่านแดนต่างๆ ทั้งจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่อนปรนพิเศษ จุดผ่อนปรนการค้า และจุดผ่านแดนชั่วคราว ไปจนถึงช่องทางธรรมชาติ ที่มีการเชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย)

แต่ต่อมาเมื่อมีการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์แบบไร้พรมแดน มีการค้าแบบออนไลน์ บริบทของ การค้าชายแดน เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเป็นเชิงธุรกิจมากขึ้น

โดยประเทศไทยมีพื้นที่ติดต่อกันทั้งหมด 31 จังหวัด และมีจุดผ่านแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด 96 แห่ง ใน 29 จังหวัด ดังนี้
  • ด้านเมียนมา 21 แห่ง : จุดผ่านแดนถาวร 5 แห่ง จุดผ่อนปรนการค้า 13 แห่ง จุดผ่อนปรนพิเศษ 1 แห่ง และจุดผ่านแดนชั่วคราว 2 แห่ง
  • ด้าน สปป.ลาว 49 แห่ง : จุดผ่านแดนถาวร 20 แห่ง และจุดผ่อนปรนการค้า 29 แห่ง
  • ด่านกัมพูชา 18 แห่ง : จุดผ่านแดนถาวร 7 แห่ง จุดผ่อนปรนการค้า 9 แห่ง จุดผ่อนปรนเพื่อการท่องเที่ยว 1 แห่ง และจุดผ่านแดนชั่วคราว 1 แห่ง
  • ด้านมาเลเซีย 9 แห่ง : เป็นจุดผ่านแดนถาวรทั้งหมด
โดยจากสถิติ การค้าชายแดน ในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด ประเทศเพื่อนบ้านที่มูลค่าการค้าชายแดนมากที่สุดคือ มาเลเซีย รองลงมา คือ สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา โดยมีมูลค่าการค้ารวมเท่ากับ 826,411.82 ล้านบาท

แต่ประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุดคือ สปป.ลาว (ร้อยละ 99.2) รองลงมา คือ เมียนมา กัมพูชา และมาเลเซีย (ร้อยละ 81.5 55.1 37.9 ตามลำดับ) ส่วนการค้าผ่านแดนไปยังจีน มีมูลค่ามากที่สุด รองลงมาเป็น สิงคโปร์ และเวียดนาม และมูลค่าการค้าผ่านแดนเท่ากับ 341,180.69 ล้านบาท รวมมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนเป็น 1,167,592.51 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้การพัฒนา การค้าชายแดน ไทย-ลาว จึงมีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะในปี 2562 มูลค่าการค้าชายแดนไทย – สปป.ลาว มีสัดส่วนร้อยละ 23.89 ของการค้าชายแดนรวม (4 ประเทศ)
สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดีเซล สินค้าปศุสัตว์น้ำมันสำเร็จรูป สินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าแร่และเชื้อเพลิงอื่นๆ
สินค้านำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ เชื้อเพลิง ทองคำ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ ผักและของปรุงแต่งจากผักและเครื่องรับ-ส่งสัญญาณและอุปกรณ์ติดตั้ง (โทรศัพท์ วิทยุ โทรเลข โทรทัศน์ อุปกรณ์ฯ)

โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีด่านชายแดนไทย – สปป.ลาว ที่สำคัญ คือ
  1. ด่านศุลกากรหนองคาย จ.หนองคาย มีมูลค่าการค้าชายแดนมากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 59,302.69 ล้านบาท มีสัดส่วนการค้าร้อยละ 27.77 ของการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว
  2. ด่านศุลกากรมุกดาหาร มูลค่าการค้า 56,391.60 ล้านบาท
  3. ด่านศุลกากรทุ่งช้าง จังหวัดน่าน มีมูลค่าการค้า 27,468.12 ล้านบาท

มาในปี 2565 นี้ มี ด่านชายแดน ไทย-ลาว ในจังหวัดน่าน ที่มาแรงเกิดขึ้นอีกหนึ่งด่าน นั่นคือ ด่านพรมแดนบ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีความคึกคักอย่างมาก ด้วยมูลค่าการค้าที่สูงถึงปีละ 30,000 ล้านบาท แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
โดยล่าสุด หอการค้าน่าน ได้คาดการณ์ว่า มูลค่าการค้าชายแดนน่านในปีหน้ายังจะเพิ่มสูงขึ้นอีกร้อยละ 10-15 ด้วยหลายปัจจัยที่เอื้ออำนวย เช่น การร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างหอการค้าน่านกับ 4 แขวงสำคัญใน สปป.ลาวเพื่อแก้ปัญหาภาษีซ้ำซ้อน และการพัฒนาด่านชายแดนบ้านห้วยโก๋นในเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ ประธานหอการค้าน่าน ยังยอมรับว่า จุดเริ่มต้นพลิกชีวิตให้กับการค้าชายแดน คือ การที่ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ต้นแบบจังหวัดน่านด้วยศาสตร์พระราชา
ศรีรุ่ง รัตนศิลา ประธานหอการค้าจังหวัดน่าน
ศรีรุ่ง รัตนศิลา ประธานหอการค้าจังหวัดน่าน กล่าวว่า “หอการค้าจังหวัดน่าน บรรลุข้อตกลงในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU : Memorandum of Understanding) ระหว่างจังหวัดน่าน กับ 4 แขวงสำคัญของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประกอบด้วย ไชยะบุรี อุดมไช หลวงพระบาง และนครหลวงเวียงจันทร์”

“ทั้งนี้ สาระสำคัญในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีการแลกเปลี่ยนและแก้ปัญหาในหลายเรื่อง ที่สำคัญคือ การลดปัญหาภาษีซ้ำซ้อน เนื่องจากเมื่อรถขนส่งสินค้าของไทยเข้าลาว จะต้องเสียภาษีเมื่อผ่านแต่ละแขวงในลาว ทำให้รถสินค้าไทยมีค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่รถสินค้าจากฝั่งสปป.ลาว สามารถเดินทางเข้ามาในทุกพื้นที่ของประเทศไทยผ่านด่านภาษีที่ห้วยโก๋นเพียงครั้งเดียว บันทึกความเข้าใจนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการขนส่งสินค้าจากไทยเป็นการเสียภาษีเพียงครั้งเดียว ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจการแข่งขันให้กับสินค้าจากไทย”

โดย ประธานหอการค้าน่าน ยืนยันว่า มูลค่าการค้าชายแดน ในปัจจุบันอยู่ที่ปีละ 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อกว่าสิบปีก่อนที่อยู่ที่หลักสิบล้านบาทเท่านั้น การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการค้าชายแดนเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย

“เช่น การเปิดเส้นทางใหม่ หรือเส้นทาง R2A การนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ของโรงไฟฟ้าหงสา และการนำเข้าวัสดุก่อสร้างต่างๆ ขณะที่สินค้าของไทยที่ได้รับความนิยมจาก สปป.ลาว มาก จะเป็นสินค้าประเภท Knowledge และ Knowhow ที่สปป.ลาวยังไม่มีและไม่สามารถผลิตเองได้ต้องนำเข้าจากฝั่งไทยทั้งหมด อย่าง สินค้าครุภัณฑ์ ยารักษาโรค สินค้าอุปโภคบริโภค และพืชผลทางการเกษตร ซึ่งลาวมีความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยมากกว่าพืชผลการเกษตรจากประเทศอื่น”
“มูลค่าการค้าชายแดนอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท เพราะเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อผ่านสถานการณ์นี้ไปแล้ว ตัวเลขนี้จะสูงขึ้นอีกอย่างแน่นอน อย่างน้อยในปีหน้า ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นได้อีกร้อยละ 10-15 และจะสูงขึ้นอีกมาก เมื่อมีการพัฒนาตามแผนแม่บทที่เราได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว คาดว่าอีกไม่เกิน 2 ปี”

ประธานหอการค้าน่านยังกล่าวเสริมอีกว่า การพัฒนาตามแผนแม่บท จะทำให้น่าน ได้ประโยชน์จากการค้าและการท่องเที่ยว รวมทั้งการประกอบการขนส่งและการก่อสร้าง ที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น คนในพื้นที่ก็จะมีงานทำมากขึ้น ส่วนการเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าเกษตร หอการค้ามีการเจรจากับพ่อค้าจากจีนซึ่งแจ้งความประสงค์ว่า จะขอขนสินค้าการเกษตรจากไทยไปจีน เพื่อจะได้ไม่ต้องตีรถเปล่ากลับไป
“ต้องยอมรับว่าจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่พัฒนาโอกาสของจังหวัดน่าน คือ เมื่อมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ น้อมนำศาสตร์พระราชาเข้ามาพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน เมื่อปี 2552 ทำให้เกิดการพัฒนาแหล่งน้ำ และปัจจัยการผลิตพื้นฐานทั้งหมด รวมทั้งการส่งเสริมการเกษตร ทำให้จังหวัดน่านมีความอุดมสมบูรณ์และคนน่าน ก็หันมาให้ความใส่ใจกับการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเป็นอาหารหล่อเลี้ยงคนในจังหวัดและมีมากพอที่จะสามารถส่งออกไปนอกพื้นที่ได้ จากเดิมที่คนน่านต้องเป็นฝ่ายนำเข้าสินค้าอาหารเข้ามาในพื้นที่”
“น่านก้าวกระโดดได้วันนี้ เพราะการน้อมนำศาสตร์พระราชามาพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องมาก ปิดทองหลังพระฯ ช่วยทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีธุรกิจ มีรายได้ที่ดีขึ้น”
“ทางหอการค้าน่านเองก็ได้นำรูปแบบการพัฒนาตามศาสตร์พระราชาไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่บ้านน้ำกิ อำเภอท่าวังผา ซึ่งเมื่อก่อนเคยมีปัญหาเรื่องการเผาและหมอกควันมาก แต่เมื่อมีการนำศาสตร์พระราชาไปแก้ปัญหา ด้วยการสร้างแหล่งน้ำไว้บริเวณตีนเขา มีการปลูกไม้เศรษฐกิจรายได้สูง เช่น ต้นมะขามยักษ์ ทำให้ในปัจจุบันแม้แต่ไฟกองเดียวก็ไม่มี”
“นอกจากนี้ หอการค้าน่าน ยังได้กำหนดแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตร เพื่อสนับสนุนการส่งออกไปขายใน สปป.ลาว โดยจัดคณะลงไปสำรวจความต้องการในแขวงอุดมไช ไชยะบุรี หลวงพระบาง และนครหลวงเวียงจันทน์ พบว่า ลาวมีความต้องการพืชผักจากไทยมาก ซึ่งข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจดังกล่าวจะนำมาใช้ในการวางแผนการเพาะปลูกในพื้นที่ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่อไป”

ยังมีบทความอัปเดต เขตพัฒนาพิเศษ รูปแบบอื่นที่ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้อีก

รู้จัก เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ให้โตได้อย่างมั่นคงใน 10 จังหวัดชายแดนไทย

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ Cluster-SEZ ยุทธศาสตร์ติดปีกให้การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายไทย

จาก ESB สู่ EEC เขตพัฒนาพิเศษระดับโลก