เมื่อวิกฤต “คลื่นความร้อน” ที่กลายเป็นภัยคุกคามชีวิตผู้คนทั่วโลก ได้เร่งกดดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการทำความเย็นที่ยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล อันเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “คลื่นความร้อน” นั้น ถือเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ และจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ปัญหานี้โดยเร่งด่วน


คลื่นความร้อน
Daniel Swain นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่รุนแรงและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก”
“คลื่นความร้อนอาจเป็นภัยพิบัติประเภทที่ถูกประเมินค่าต่ำที่สุด เพราะถึงแม้จะมันคร่าชีวิตของคนจำนวนมากเป็นประจำ แต่เผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้ปรากกฏให้เห็นเป็นศพเกลื่อนกลาดข้างถนน เหมือนภัยพิบัติประเภทอื่น” Swain กล่าว
ปัจจุบัน ความเครียดจากความร้อนส่งผลกระทบถึง 1 ใน 3 ของประชากรโลกแล้ว โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ใน 4 ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ตามรายงานประจำปี 2565 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ของสหประชาชาติ แม้จะเป็นผลกระทบที่มองเห็นได้ในทันทีน้อยกว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอื่นๆ เช่น พายุรุนแรงหรือน้ำท่วมหนัก แต่ข้อเท็จจริงคือ คลื่นความร้อนเป็นภัยอันตรายถึงแก่ชีวิต และการบรรเทาผลกระทบเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง
คลื่นความร้อน
จากอินโฟกราฟิกนี้จะเห็นว่าประเทศที่เผชิญกับอุณหภูมิที่ร้อนจัดที่ได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์นั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในตะวันออกกลาง ตามมาด้วยแอฟริกา และโดยมากมักตรวจวัดได้ในทะเลทราย ขณะที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ อุณหภูมิร้อนจัดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็เกิดขึ้นพร้อมกับแผ่ขยายเป็นวงกว้างและยาวนานทั้งในยุโรปและอเมริกา ตามมาด้วยภัยแล้ง ไฟป่า และผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของผู้คน
“ในอนาคต คลื่นความร้อนจะกลายเป็นเรื่องปกติ เราจะเห็นความร้อนแบบสุดขั้วมาก จากการที่เราได้สูบฉีดคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากจนกระทั่งแนวโน้มเชิงลบนี้จะดำเนินต่อไปอีกหลายทศวรรษ เราไม่สามารถลดการปล่อยมลพิษของเราได้ทั่วโลก” Petteri Taalas ผู้อำนวยการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก  (World Meteorological Organization: WMO) กล่าว

SolCold

แค่ Chief Heat Officer ไม่พอ ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการทำความเย็นที่ยั่งยืน

แม้จะมีเพียงไม่กี่เมืองในโลก เช่น ไมอามี สหรัฐอเมริกา, เอเธนส์ กรีซ, ฟรีทาวน์ เซียร์ราลีโอนที่ ว่าจ้าง Chief Heat Officer แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะแสดงถึงความตั้งใจจริงของภาครัฐในการเผชิญศึกกับคลื่นความร้อน โดยผู้ทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้จะให้คำแนะนำรัฐบาลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่สามารถทำได้และหาวิธีใหม่ๆ ในการทำให้เมืองเย็นลง รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงจากความร้อนสูงเพื่อปกป้องพลเมืองที่เปราะบางที่สุดในเมือง ขณะเดียวกันก็วางแผนและประสานงานการตอบสนองต่อคลื่นความร้อน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งยังดำเนินโครงการลดความเสี่ยงในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม การที่จะต่อสู้และรับมือกับคลื่นความร้อนจำเป็นต้องทำมากกว่านี้ เพื่อช่วยให้ผู้คนรับมือกับปัญหาที่เพิ่มขึ้นนี้ได้โดยไม่เพลี่ยงพล้ำ น่ายินดีที่ปัจจุบันนี้มีบริษัทที่มุ่งเน้นในการพัฒนานวัตกรรมหลายแห่งกำลังมองหาเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้อาคาร รถ และบ้านเย็นลงได้โดยไม่เพิ่มก๊าซเรือนกระจก

SolCold

ตัวอย่างเช่น SolCold บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีของประเทศอิสราเอล เพิ่งประกาศความร่วมมือกับ Volkswagen เพื่อเริ่มทดสอบการใช้ Anti-Stokes Fluorescence เทคโนโลยีวัสดุสะท้อนแสงในรถยนต์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว โดยวัสดุจะสะท้อนความร้อนออกจากตัวรถเพื่อให้ภายในเย็นขึ้นถึง 70% โดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศภายในรถ
โดย SolCold เชื่อว่าพลังความเย็นของแสงแดด จะทำให้พระอาทิตย์กลายเป็นเครื่องปรับอากาศราคาประหยัดในไม่ช้า ด้วยหลักการที่ว่าในขณะที่ดวงอาทิตย์เป็นแหล่งกำเนิดแสงที่ใหญ่ที่สุด แต่ก็เป็นแหล่งความร้อนที่ใหญ่ที่สุดด้วย เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น รังสีของดวงอาทิตย์จะถูกดูดซับและสร้างความร้อน ยิ่งแสงแดดแรง รังสียิ่งแรง ยิ่งร้อน แต่ถ้าเราสามารถควบคุมการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ได้จริงๆ การย้อนกลับความสัมพันธ์นี้จาก ‘การแผ่รังสีที่มากขึ้นหมายถึงความร้อนที่มากขึ้นในอาคารของเรา’ เปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ของ “การแผ่รังสีที่มากขึ้นจริงๆ แล้วหมายถึงความร้อนน้อยลงในอาคารของเรา” จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาทางการเงินได้พร้อมๆ กัน มากน้อยเพียงใด

SolCold ใช้เทคโนโลยีที่ปฏิวัติความสัมพันธ์นี้ ด้วยสีชนิดพิเศษจาก SolCold ยิ่งดวงอาทิตย์สาดแสงแรงกล้าเท่าไหร่ก็ยิ่งเย็นลงเท่านั้น การแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์หมายถึงการทำให้เย็นลงและไม่ร้อนขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมของสตาร์ทอัพรายนี้ จะควบคุมแสงแดดเพื่อทำให้ทุกอย่างเย็นลงแทนที่จะอุ่นขึ้น
สีที่พัฒนาโดย SolCold ประกอบด้วยสองชั้น คือชั้นนอกที่กรองรังสีของดวงอาทิตย์ และชั้นในที่ทำให้วัสดุเย็นลงอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยการเปลี่ยนความร้อนให้เป็นแสง
ทั้งนี้ Sol ในภาษาละติน แปลว่า ดวงอาทิตย์ และเมื่อรวมกับคำว่า “เย็น” จึงหมายถึงว่า “ดวงอาทิตย์ที่หนาวเหน็บ”
ด้านนักวิจัยจากแผนกวัสดุศาสตร์ของ Berkeley Lab หรือ Lawrence Berkeley National Laboratory ห้องปฏิบัติการที่บริหารงานโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้พัฒนาวัสดุที่เรียกว่า TARC หรือการเคลือบด้วยรังสีที่ปรับอุณหภูมิได้ ซึ่งสามารถนำไปใช้กับหลังคาได้เช่นกัน ด้วยนวัตกรรมการเคลือบนี้จะปรับอุณหภูมิโดยอัตโนมัติเพื่อสะท้อนความร้อนเมื่อภายนอกร้อน หรือดูดซับความร้อนเมื่ออากาศเย็นโดยไม่ใช้พลังงานเพิ่มเติม
TARC
TARC
นอกจากนี้ สมาคมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในอินเดีย (SEEDS) ได้ทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์ด้วยการใช้การใช้พลังของข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาแบบจำลอง AI ซึ่งสามารถคาดการณ์ผลกระทบของคลื่นความร้อนแบบละเอียดหรือแบบทีละบ้านได้ โมเดลนี้จะทำการวิเคราะห์หลังคาของอาคาร และสามารถให้คำแนะนำเป็นรายบุคคลสำหรับผู้อยู่อาศัยได้ เช่น อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ทำให้มีเหตุจำเป็นในการอพยพหรือไม่
ทั้งนี้ ตามรายงานจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติชี้ว่าโดยมากแล้วความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลกระทบกับชุมชนที่ยากจนทั่วโลก ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ขึ้นกำลังแซงหน้าความพยายามในการปรับตัวเพื่อรับมือกับภัยพิบัตินี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา โดยรายงานนี้ระบุว่าประเทศกำลังพัฒนาจะต้องใช้เงินทุนมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน 5-10 เท่าเพื่อจัดการกับผลกระทบต่อสภาพอากาศ ดังนั้นหากมีนวัตกรรมหรือโซลูชันใดในราคาถูก จับต้องได้จริง ใช้งานได้ง่าย และมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม จะช่วยพลเมืองของประเทศเหล่านี้ที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบางให้รอดพ้นจากคลื่นความร้อนที่กำลังถาโถมอย่างหนักหน่วงและรุนแรงได้

ที่มา :