ด่วน! NASA ไป “ชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์” ได้แล้ว!

มีวรรณกรรม และภาพยนตร์ หลายเรื่อง ที่พูดถึงเรื่องราวของ “การไปเยือนดวงอาทิตย์” ของ “มนุษย์”

ก่อนหน้านี้ รู้ทั้งรู้ ว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้” เนื่องจากพลังงานดวงอาทิตย์นั้นอยู่ในขั้นสุดที่พร้อมจะเผาผลาญทุกสิ่งที่เฉียดใกล้
แต่ถ้ามาพูดถึงเรื่องดังกล่าวกันใน ค.ศ. นี้ ผมคิดว่า มีหลายคนที่เชื่อว่า ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม ในยุคปัจจุบันนั้น “มีทางเป็นได้”
เหมือนหนังเรื่อง Sunshine ภาพยนตร์ปี ค.ศ. 2007 ผลงานการกำกับและเขียนบทโดยสุดยอดคู่หูแห่งวงการบันเทิงโลก Danny Boyle กับ Alex Garland
Sunshine บอกเล่าเรื่องราวของ 8 นักบินอวกาศ ที่ได้รับมอบหมายภารกิจให้ไป “จุดระเบิดดวงอาทิตย์” ที่กำลังจะมอดดับให้กลับมาลุกโชนขึ้นอีกครั้ง
นักบินอวกาศทั้ง 8 คน เดินทางไปกับยานอวกาศ Icarus II
การจงใจตั้งชื่อยานอวกาศว่า Icarus ซึ่งในท้องเรื่อง มีทั้งยานอวกาศ Icarus I (Icarus 1) และยานอวกาศ Icarus II (Icarus 2) นั้น มีที่มาจากชื่อเทพปกรณัมของ “กรีก”
ซึ่งมีชื่อว่า Icarus ครับ
การบรรยายสรรพคุณของ Icarus ก็คือ เป็นเทพปกรณัมผู้มีความทะเยอทะยาน แม้เขาจะมีปีกที่ทำมาจากขี้ผึ้ง
ทว่า ด้วยความยโสโอหัง อยากรู้อยากลอง เขาจึงเหินฟ้า หมายจะโฉบบินเข้าใกล้ กระทั่งอยากลงไปเดินเล่นบน “ดวงอาทิตย์”
อนิจจา อย่างที่ทราบกัน ว่าพลังงานอันร้อนแรงของดวงอาทิตย์นั้น “อยู่ในขั้นสุด” ที่พร้อมจะเผาผลาญทุกสิ่งที่เฉียดใกล้
ปีกขี้ผึ้งน้อยๆ ของ Icarus จึงละลายทันที่โฉบเฉี่ยวเข้าในรัศมีของ “พระอาทิตย์”
เมื่อปีกละลาย Icarus จึงตกลงมา และตายในที่สุด!
ถ้าจะถามว่า เหตุใด Danny Boyle และ Alex Garland จึงตั้งชื่อยานอวกาศที่ไม่เป็นมงคลว่า Icarus I และ Icarus II
ก็คงจะต้องตอบว่า ด้วยความรู้รอบตัวชั้นเซียนของทั้งคู่ การตั้งชื่อยานอวกาศว่า Icarus นัยของมันก็คือ ต้องการเย้ยหยันภารกิจของยานอวกาศ Icarus
หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ “มนุษย์” ที่ไม่ประมาณตัวนั่นเองครับ!

ดวงอาทิตย์

ความตามท้องเรื่อง ทั้งยานอวกาศ Icarus I และ Icarus II แทนที่จะปฏิบัติภารกิจตามแผนที่ได้รับมอบหมาย กลับเฉไฉไปทำในสิ่งอื่น จนเกิดเรื่องเกิดราวใหญ่โตตามมา
เมื่ออยู่ๆ Icarus II ได้รับสัญญาณติดต่อมาจาก Icarus I ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเสี่ยงละเมิดคำสั่ง แวะไป Icarus I ก่อนที่จะไป “ดวงอาทิตย์”
ทว่า กว่าจะรู้ความจริง ว่าพวกเขาตัดสินใจผิดพลาด ก็สายเกินไปเสียแล้ว!
ครับ นี่คือเรื่องราวของหนังเรื่อง Sunshine ที่ในวันนี้ มีเค้าโครงของความเป็นจริง จากเนื้อเรื่องที่ Alex Garland เขียนให้ Danny Boyle กำกับ
นั่นก็คือ ข่าวด่วน! ที่บอกว่า เมื่อไม่นานมานี้ NASA ได้สร้างยานสำรวจอวกาศ ที่นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์โลก!
นั่นก็คือ NASA ได้จัดส่งยานสำรวจอวกาศลำดังกล่าวไปยัง “ชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์” ได้แล้ว!
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) หรือ NASA (National Aeronautics and Space Administration) ได้เปิดเผยถึงข่าวพาดหัว
ว่า ยานสำรวจอวกาศ Parker Solar Probe ได้ “สร้างประวัติศาสตร์” เป็น “ยานสำรวจลำแรก” ซึ่ง “สามารถเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ” ของ “ดวงอาทิตย์” หรือที่รู้จักกันในนาม Corona ได้เป็นผลสำเร็จ!
แถลงการณ์ของ NASA ระบุว่า ยานสำรวจอวกาศ Parker Solar Probe ได้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ Corona เมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากทั้งในวงการอวกาศ และคนทั่วโลก
ทว่า แต่ต้องใช้เวลาเกือบ 8 เดือนในการเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อยืนยันว่า การปฏิบัติภารกิจดังกล่าวได้สำเร็จลุล่วงจริงๆ
NASA ได้จัดงานแถลงข่าวดังกล่าวขึ้น ระหว่างการประชุมร่วมกับ “สหภาพธรณีฟิสิกส์อเมริกัน” หรือ American Geophysical Union ที่นคร New Orleans รัฐ Louisiana ประเทศสหรัฐอเมริกา

ดวงอาทิตย์

โดยโฆษก NASA ได้กล่าวว่า “แม้บนดวงอาทิตย์จะไม่มีพื้นผิวที่แข็ง ทว่า ก็มีวัตถุร้อน ที่จัดประกอบกันขึ้นเป็นชั้นบรรยากาศ Corona ที่ห่อหุ้มรอบดวงอาทิตย์ด้วยแรงโน้มถ่วง และพลังคลื่นแม่เหล็กมหาศาล”

NASA ชี้ว่า ยานสำรวจอวกาศ Parker Solar Probe ได้ผ่านชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือดวงอาทิตย์ราว 13 ล้านกิโลเมตรเป็นที่เรียบร้อย!
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ภาคพื้นดินของ NASA กำลังทำการรวบรวมข้อมูลที่ส่งมาจากยานสำรวจอวกาศ Parker Solar Probe เพื่อวิเคราะห์ต่อไปว่า จุดที่ยานสำรวจเข้าไปถึงนั้นอยู่บริเวณไหนกันแน่?
ทั้งนี้ ยานสำรวจอวกาศ Parker Solar Probe ได้ออกเดินทางจากโลกเมื่อปี ค.ศ. 2018 โดยมีเป้าหมายคือการ “เดินทางเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์ให้ได้มากที่สุด”
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ของ NASA ได้ระบุว่า สิ่งที่ยานสำรวจอวกาศ Parker Solar Probe ลำนี้กำลังทำอยู่ มีความสำคัญพอๆ กับการส่งยาน Apollo 11 ไปลงบนดวงจันทร์
ภารกิจต่อไปของยานสำรวจอวกาศ Parker Solar Probe ก็คือการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ได้มา
เพื่อช่วยชี้แจงแถลงไข ให้นักวิทยาศาสตร์ภาคพื้นดินของ NASA ได้ทำการศึกษาถึง “ลักษณะทางกายภาพของดวงอาทิตย์”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสำคัญในฐานะ “ศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาล”