ระวังตัว!! คุณอาจเป็นเหยื่อ ‘วิทยาศาสตร์ลวงโลก’ (1)

เรากำลังเดินหน้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 มีทั้งสัญญาณ 5G ทีวีดิจิทัล บิ๊กเดต้า สมาร์ทโฟน สมาร์ทซิตี้ รถไฟความเร็วสูง รถพลังไฟฟ้า สารพัดความก้าวล้ำทยอยเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกัน รอบตัวเราก็เอ่อล้นไปด้วย ‘วิทยาศาสตร์ลวงโลก’ บางคนหลงเชื่อ บางคนตกเป็นเหยื่อ ผู้เขียนเองนี่ล่ะที่เป็นหนึ่งในเหยื่อของวิทยาศาสตร์ลวงโลกไปแล้ว มาซิ จะเล่าให้ฟัง


Pseudoscience ในภาษาไทยถูกบัญญัติไว้หลายคำ เช่น วิทยาศาสตร์เทียม วิทยาศาสตร์ลวงโลก หรือวิทยาศาสตร์มายา ใครจะใช้คำไหนก็เลือกสรรกันตามจริต สำหรับผู้เขียนชอบคำว่า “วิทยาศาสตร์ลวงโลก” เพราะมันสะท้อนภาพความบิดเบือน อุปโลกน์ และต้มตุ๋น ได้ชัดเจนดี
ในต่างประเทศพูดถึงวิทยาศาสตร์ลวงโลกมานานแล้ว แต่ผู้เขียนจะไม่ย้อนอดีตให้ยืดเยื้อ ขอโฟกัสมาที่ประเทศไทยเลย จากวิกิพีเดียมีผู้บันทึกไว้ว่า พบการกล่าวถึง Pseudoscience ในบทความที่ลงนิตยสารสารคดี เมื่อปี 2547แต่ตอนนั้นยังไม่เป็นประเด็นที่แพร่หลายในสังคม ได้รับความสนใจเฉพาะในหมู่นักวิทยาศาสตร์
กระทั้งปี 2553 เกิดวิวาทะครั้งใหญ่ระหว่างกองทัพไทยกับ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 นำไปสู่การตรวจสอบจนเป็นข่าวโด่งดัง สั่นสะเทือนไปทั้งกองทัพไทย และทำให้คำว่า “วิทยาศาสตร์ลวงโลก” เริ่มแพร่หลายมากขึ้น พร้อมๆ กับความโด่งดังของ อ.เจษฎา

วิทยาศาสตร์ลวงโลก สู่ธุรกิจลวงผู้บริโภค

ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ลวงโลกถูกใช้หาประโยชน์ ตักตวงผลกำไรในทางธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าเชิงสุขภาพ แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วก็มีไม่น้อย แต่ต้องสร้างสตอรี่ให้ซับซ้อนมากหน่อย ไม่เหมือนในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย ที่สร้างสตอรี่ตื้นๆ อ้างหลักวิทยาศาสตร์ผิวๆ ก็ขายสินค้าทำกำไรได้อื้อซ่า
เราพบเห็นวิทยาศาสตร์ลวงโลกได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ในสื่อโฆษณาสารพัดรูปแบบ ทั้งทางทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ และออนไลน์ จุดสังเกตของสินค้าที่พึ่งพาวิทยาศาสตร์ลวงโลก มาเสกสรรค์ปั้นแต่งสรรพคุณให้เลอเลิศประกอบด้วย
  • กล่าวอ้างอย่างกำกวม เกินจริง หรือพิสูจน์ไม่ได้
  • พยายามใช้คำยืนยันจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นผู้เคยใช้สินค้ามาการันตี แทนที่จะพิสูจน์ข้อสงสัยของผู้บริโภคด้วยหลักวิทยาศาสตร์
  • ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาร่วมพิสูจน์สรรพคุณ
  • ไม่อยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ ขาดขั้นตอนการพิสูจน์ทางทฤษฎี
อ่านถึงตรงนี้แล้ว ลองหันไปมองสินค้าที่ท่านเคยซื้อมาซิว่า มีชิ้นไหนเข้าข่าย 4 ข้อ นี้บ้างหรือไม่ สำหรับตัวผู้เขียนเองสารภาพเลยว่า เท่าที่คิดออกก็มีอย่างน้อยๆ 4 ชิ้น ประเมินมูลค่ารวมกันแล้วก็ราวๆ 6,000-7,000 บาท เห็นจะได้


บันได 9 ขั้น สร้างสินค้าลวงโลก โกยเงินเป๋าตุง

  • Create a Phantom
สร้างภาพมายาลวงตาผู้บริโภค เล่นกับกิเลสหรือความกลัวในใจคน ที่สำคัญคือราคาต้องไม่แพงเกินไป อยู่ในวิสัยที่กลุ่มเป้าหมายสามารถควักกระเป๋าจ่ายได้โดยไม่ต้องลังเล
การเล่นกับความกลัวที่ฮิตอันดับหนึ่งน่าจะเป็นโรคมะเร็ง เช่น สมุนไพรจากเกาะแก้วพิสดาร กินแล้วยับยั้งสารก่อมะเร็งได้ ราคาแค่หลักพัน ส่วนการเล่นกับกิเลส เช่น ครีมมีส่วนผสมของทองคำ ทาแล้วซึมเข้าผิวทำให้ขาวเปล่งปลั่งราวกับครีโอพัตรา ทั้งที่ทองคำไม่มีทางซึมเข้าชั้นผิวหนังได้ เพียงแค่ติดอยู่ตามรูขุมขนเท่านั้น และครีโอพัตราก็ไม่ใช่หญิงผิวขาวอีกด้วย (ฮ่าๆๆ)

  • Set a Rationalization Trap
สร้างหลุมพรางให้เป้าหมายติดกับดักทีละขั้น ยังไม่รีบปิดการขาย แต่จะค่อยๆ อ่อยเหยื่อ เช่น ให้ทดลองใช้สินค้าฟรี ให้เข้าคอร์สหรือใช้บริการฟรี เพื่อซื้อใจและโน้มน้าว พอเป้าหมายตกหลุมพรางแล้ว ก็จะยอมควักกระเป๋าในที่สุด
  • Manufacture Source Credibility
สร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เลย ที่พบมากในปัจจุบันคือ “สร้างตัวละคร” เป็นกูรูผู้รอบรู้ขึ้นมา แสดงตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น ด้านนี้ บ้างก็อ้างตัวว่ามาจากองค์กรชื่อดังที่เราไม่เคยได้ยินชื่อ จะเคยได้ยินได้ยังไงล่ะ ก็ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาทั้งนั้น
ตัวละครที่สร้างขึ้นมาจะต้องน่าเชื่อถือสุดๆ ทั้งบุคลิก การพูดจา รวมไปถึงเสื้อผ้า หน้า ผม จะไก่กาไม่ได้เด็ดขาด วิธีการง่ายๆ ที่นิยมใช้กันมากก็คือต้องสวม “เสื้อกาวน์” เพราะมายาคติอันหนึ่งของคนทั่วโลก คือ เสื้อกาวน์เป็นเครื่องแบบของบุคลากรทางการแพทย์ หรือนักวิทยาศาสตร์ พอเห็นปุ๊บจะรู้สึกเชื่อมั่นอย่างบอกไม่ถูก

  • Establish a Granfalloon
ก่อตั้งกลุ่มผู้ศรัทธา รวบรวมผู้คนที่มีเป้าหมายหรือมีความรู้สึกร่วมกัน บางคนอาจจะเคยโดนถูกชักชวนไปร่วมกิจกรรมหรืออบรม พอไปถึงจึงรู้ว่าจัดขึ้นโดยตัวแทนจำหน่ายสินค้าบางตัว ภายในงานจะมีวิทยากรมาปลุกเร้าอารมณ์ สร้างเป้าหมายร่วมกัน ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นใช้ความ “ร่ำรวย” มาปลุกเร้า
พร้อมทั้งสร้างศัตรูร่วมกันขึ้นมา นั่นก็คือผู้ที่เคลือบแคลงสงสัยในสรรพคุณของสินค้า หรือผู้ที่จะพยายามจะเข้ามาตรวจสอบ จะถือว่าเป็นศัตรูสำคัญที่คนในกลุ่มจะต้องผนึกกำลังต่อต้านให้ถึงที่สุด มิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายร่วม ก็คือความร่ำรวยนั่นเอง

  • Use Self-Generated Persuasion
หลอกตัวเอง คือก่อนจะไปขายสินค้าลวงโลกกับใคร จะต้องหลอกตัวเองให้ได้ก่อน ประมาณว่า “จะโกหกใครให้แนบเนียน ต้องโกหกตัวเองให้เชื่อก่อน” วิธีการก็คือ จัดกระบวนการฝึกอบรมเข้มข้นขึ้นมา จะเรียกว่า “ปรับทัศนคติ” ตามสมัยนิยมก็น่าจะได้
ต้องฝึกฝนจนคล่องแคล่ว ไหลลื่น แนบเนียน เวลากล่อมเป้าหมายต้องทำให้เชื่อสนิทใจว่า ไม่ใช่การเสนอขายสินค้า แต่เป็นการนำเสนอสิ่งดีๆ ด้วยความปรารถนาดีสุดๆ หากทำให้เป้าหมายคล้อยตามได้ นอกจากซื้อสินค้าแล้วยังจะช่วยไปขายต่อให้กับคนอื่นๆ อีกด้วย สุดยอดไปเลยใช่ไหมล่ะ
  • Construct Vivid Appeals
จัดกิจกรรมสาธิตการใช้สินค้าเพื่อดึงดูดใจ เพราะลูกค้าบางคน “จิตแข็ง” พยายามโน้มน้าวด้วยปากเปล่าก็แล้ว ยกแม่น้ำทั้งห้าก็แล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จึงต้องสาธิตกันหน่อย ทำนองว่า “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็น ไม่เท่ามือคลำ”
เช่น เอาครีมทาผิวที่อ้างว่าเป็นสารสกัดจากหอยสะดือมหาสมุทร ในดินแดนแอตแลนติส มาทาบนผิวเรา พร้อมทั้งบรรยายสรรพคุณกรอกหูไปด้วยว่า “เห็นมั้ย เห็นมั้ย เมือกหอยหนืดๆ ค่อยๆ ซึมเข้าผิวไปแล้ว รู้สึกมั้ยว่าผิวเต่งตึงขึ้นทันที” ขนาดแม่ของอควาแมนยังใช้เป็นประจำ (ฮาาาาาา)

  • Use Pre-Persuasion
ชักจูงใจด้วยสิ่งที่เป้าหมายเชื่ออยู่แล้ว ยกว่าตัวเองเป็นของแท้เพื่อข่มเจ้าอื่น ที่สำคัญคือการชี้นำด้วย “พฤติกรรมยาเทียม” (Placebo Effect) หลักการของ “ยาเทียม” คือ สิ่งที่แพทย์ให้ผู้ป่วยกิน อาจจะเป็นแป้งอัดเม็ด แต่ผู้ป่วยคิดว่าเป็นยา ผลที่ออกมาคือ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่กินยาเทียมก็จะมีอาการดีขึ้นเช่นเดียวกับกลุ่มที่กินยาจริง
จึงมีคนนำหลักการของ “พฤติกรรมยาเทียม” มาสร้างสินค้าลวงโลก เช่น อ้างว่าให้เด็กกลุ่มหนึ่งกินซุปนกฟีนิกซ์สกัดเข้าไป แล้วพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีสุขภาพแข็งแรง สติปัญญาเฉียบแหลมกว่าเด็กอีกกลุ่มที่ไม่ได้กิน ส่วนนึงมาจาก “อุปทาน” อีกส่วนถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะอย่างน้อยในซุบนั้นก็มีสารอาหารจากสัตว์ ไม่ใช่เรื่องวิเศษเลิศเลอใดๆ

วิทยาศาสตร์ลวงโลก

  • Frequently Use Heuristics
ตีขลุมตามที่เชื่อกันมา เช่น สินค้าที่แพงกว่าย่อมดีกว่า ของนำเข้าย่อมดีกว่า สินค้าที่มาจากประเทศนี้มีคุณภาพดี ใครๆเขาก็ใช้กินยี่ห้อนี้ แพคเกจดูดีมีราคา เป็นต้น ซึ่งหลักคิดแบบนี้ ไม่มีวิทยาศาสตร์ใดๆ มารองรับโดยสิ้นเชิง เป็นการ “คิดเอง เออเอง” ล้วนๆ ซึ่งเป็นกันเยอะมาก
การตีขลุมรูปแบบหนึ่งที่พบมาก คือ สินค้าตัวใดที่มีชื่อหรือส่วนผสมที่ฟังดูแล้วมีความเป็นวิทยาศาสตร์ย่อมน่าเชื่อถือ เช่น สินค้าที่มีคำว่า นาโน ไบโอ ไมโคร แม้แต่บางคำที่ไม่คุ้นหูด้วยซ้ำ แต่ขอให้ลงท้ายด้วยสระโอเข้าไว้
อีกคำที่น่าจะกลายเป็นมายาคติไปแล้วก็คือ “อินทรีย์” หรือ “ออแกนิก” พอได้ยิน 2 คำนี้ จะรู้สึกว่าสะอาด ปลอดภัย ไร้สารเคมี ในบัดดล ซึ่งไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะความจริงแล้ว สารเคมีบางตัวยังมีความปลอดภัยกว่าสินค้าอินทรีย์หรือสมุนไพรบางตัวด้วยซ้ำ ผู้บริโภคจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบมากกว่าแค่คำไม่กี่คำที่อยู่บนสลาก

  • Attack Opponents Through Innuendo and Character Assassination
ทำลายฝ่ายตรงข้าม ทั้งผู้ที่เคลือบแคลงสงสัยและคู่แข่ง โดยหลีกเลี่ยงการพิสูจน์สรรพคุณของสินค้า แต่ใช้วิธีดิสเครดิต ทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด
เช่น ถ้าเราไปตั้งข้อสงสัยสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าช่วยประหยัดน้ำมัน ก็อาจจะถูกกล่าวหาว่าไปรับเงินมาจากบริษัทน้ำมันเพื่อมาโจมตีผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยผู้ใช้รถประหยัดเงิน แล้วนายทุนที่หนุนหลังธุรกิจเหล่านี้ มีกำลังไม่ใช่น้อย พร้อมจะใช้สรรพกำลังทั้งหมดทำลายผู้ที่มีแววจะเป็นก้างขวางคออย่างเต็มที่
ทั้ง 9 ข้อนี้ คือบันไดไต่สู่ความร่ำรวยของพ่อค้าหัวใส ที่ใช้หลัก “วิทยาศาสตร์ลวงโลก” มาผลิตสินค้าดูดเงินจากกระเป๋าเราๆ ท่านๆ ที่อยากจะสุขภาพดี แล้วที่ว่ารอบตัวเราเต็มไปด้วยวิทยาศาสตร์ลวงโลก มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ รอติดตามอ่านในตอน 2

รู้ทันปัญหาทุกด้าน อ่านบทความดีๆต่อไปนี้กันต่อ

สังคมผู้สูงอายุในฝัน ‘ชราแลนด์’ ดินแดนแห่งความเข้าใจ ลดช่องว่างระหว่างวัย รองรับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

เราต้องนับถอยหลัง รอ กรุงเทพ เป็น เมืองจมน้ำ จริงหรือ? ชะตาเมืองหลวง ที่ต้องทำความเข้าใจและหาทางออกร่วมกัน

จาก VAR ถึง A.I. Justice ภาพสะท้อน “กระบวนการยุติธรรม” ที่บิดเบี้ยว