‘เกษตรประณีต’ ทางเลือกทางรอดของเกษตรกรไทย สร้างความแตกต่างให้ผลผลิตได้อย่างยั่งยืน

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการทำ “เกษตรเคมี” ยังคงเป็นเกษตรกรรมกระแสหลักในประเทศไทย แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่แนวโน้มการทำเกษตรกำลังเริ่มปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี เพราะทั้งเกษตรกรรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ต่างหันมาทำ เกษตรทางเลือก หรือการทำ เกษตรประณีต กันมากขึ้น

ส่วนหนึ่ง เพราะเกษตรกรต่างประจักษ์แล้วว่า เกษตรกรรมกระแสหลัก หรือ การทำเกษตรเคมีก่อให้เกิดผลกระทบหลายประการตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของเกษตรกรเอง ไปจนถึงสุขภาพของผู้บริโภค
เชื่อว่า หลายคนคงนึกภาพออกว่า คุณูปการของการเปลี่ยนมาทำเกษตรทางเลือก คืออะไรบ้าง แต่เพื่อทำให้ทุกคนได้เห็นมิติของการทำ เกษตรประณีต ให้ครบทุกด้าน วันนี้เราได้หยิบเอาข้อมูลน่ารู้ จากบทความเรื่อง “เกษตรประณีต : องค์ความรู้และการพัฒนาเกษตรกรต้นแบบ” ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ใน วารสาร มจร พุทธปัญญาปริทรรศน์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2562) มาแชร์กัน เพื่อสร้างความเข้าใจในการทำเกษตรแบบใหม่นี้ให้มากขึ้น

รู้ที่มาที่ไป การทำวิจัยเพื่อศึกษาองค์ความรู้ เกษตรประณีต เกิดขึ้นเพื่ออะไร

เป้าหมายในการทำเกษตรประณีตที่สำคัญ คือ การลบนิยามของการทำเกษตรเดิมที่เพื่อจำหน่ายเพียงอย่างเดียว เป็น การทำเกษตรเพื่อผลิตอาหารและปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ทำให้เกษตรกรไม่ต้องวิ่งตามกระแสของตลาด อาหารที่ผลิตได้ปลอดภัยจากสารพิษ แถมเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนแบบพึ่งพากันด้วย
โดยในครั้งนี้ ผู้ทำวิจัย ได้ลงไปเก็บข้อมูลจาก “เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน” ใน  5 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ และอำนาจเจริญ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรกรต้นแบบ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรมทั้งวงจร
เกษตรประณีต
ทั้งนี้ “เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน” มีวัตถุประสงค์เพื่อ
  • หนึ่ง สร้างองค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ในการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง
  • สอง ส่งเสริมปราชญ์ชาวบ้านสร้างผู้นำรุ่นใหม่ และพัฒนาผู้นำเหล่านี้ขึ้นเป็นปราชญ์ชาวบ้านรุ่นต่อไป
  • สาม สร้างเครือข่ายการเรียนรู้สู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง โดยจัดประชุมสัญจรเวียนไปตามเครือข่ายฯทั้ง 12 เครือข่าย ใน 5 จังหวัดภาคอีสานทุกเดือน
แต่ละเครือข่ายฯจะมี “เกษตรกรต้นแบบ” แห่งละ 7-23 คน จนในตอนนี้มีเกษตรกรต้นแบบที่เป็นวิทยากรกระบวนการรวม 213 คน เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือปราชญ์ชาวบ้านและร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการให้แก่ผู้เข้าอบรมในหลักสูตรเรียนรู้ของแต่ละศูนย์เรียนรู้ ซึ่งแต่ละคนจะมีแปลงเกษตรประณีตของตนเอง เพื่อทดลองปฏิบัติ เรียนรู้ พัฒนา และใช้เป็นสถานที่ศึกษาดูงาน

ออมน้ำ ออมดิน ออมสัตว์ ออมพืช 4 ปัจจัยหลัก สร้าง เกษตรประณีต ที่คาดหวังได้จริง

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านฯ ปราชญ์ชาวบ้านล้วนมีประสบการณ์ชีวิตที่ล้มเหลวจากการทำเกษตรการค้าหรือเกษตรเคมี สรุปเป็นคำกล่าวได้ว่า “ยิ่งทำยิ่งจน ยิ่งทำยิ่งมีปัญหา ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้” หรือเป็นดังวลีที่ว่า “ทำนาปีเหลือแต่หนี้กับฟาง ทำนาปรังเหลือแต่ฟางกับหนี้”
แต่ด้วยการหันมาทบทวนและฉุกคิด ก็ได้เกิดกระบวนการนำสู่การตกผลึกทางความคิดขึ้นว่าหากคิดเชิงเหตุผล ใช้สติ และปัญญาไตร่ตรองถึงเหตุแห่งทุกข์ และเหตุแห่งหนี้ จะพบว่าทางออกด้วยการทำเกษตรทางเลือกที่เรียกว่า “เกษตรประณีต” ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ที่ดินอันจำกัดอย่างคุ้มค่า สามารถพึ่งตนเอง ด้วยการนำองค์ความรู้ต่างๆในการทำเกษตร มาบริหารจัดการทำเกษตรแบบใหม่
โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรทั้ง 4 ด้าน ที่มีความสำคัญต่อการทำเกษตร นั่นคือ พืช ดิน น้ำ และสัตว์ ในรูปแบบของการออมและใช้อย่างมีคุณค่ามากที่สุด ควบคู่กันไป เพื่อให้มีกินมีใช้บนฐานของการพึ่งตนเอง ช่วยลดหนี้สินในครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน

เกษตรประณีต

  • ออมน้ำ
ยกตัวอย่าง การทำเกษตรประณีต ของ ชุมชนบ้านโคกล่าม-แสงอร่าม ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ที่ริเริ่มทำ การปลูกผักในโรงเรือนด้วยการใช้เทคนิคเกษตรแม่นยำ ใช้น้ำน้อย รดผักด้วยระบบ “น้ำหยด” และละอองน้ำ ช่วยให้ประหยัดน้ำได้มาก
โดยเกษตรกรสามารถใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อบาดาลที่มีอยู่ สูบน้ำขึ้นมาด้วยเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ไปไว้ในถังพักน้ำ และกระจายน้ำสู่โต๊ะเพาะปลูก ระบบนี้จะใช้น้ำน้อยกว่าการรดด้วยสปริงเกอร์ถึง 18 เท่า และถ้าเทียบกับการปลูกข้าวแล้ว ใช้น้ำน้อยกว่าถึง 112 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่
ดังนั้น ด้วยวิธีการปลูกผักในโรงเรือนด้วยระบบน้ำหยดนี้เอง จึงตอบโจทย์ได้ทั้งปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น และช่วยให้การทำเกษตรง่ายขึ้น แบบทำน้อยแต่ได้รายได้มาก เพียงแค่วางแผนและเปลี่ยนมาปลูกผักแบบประณีตและใส่ใจมากขึ้นเท่านั้น

  • ออมดิน
ปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงหลายท่าน กล่าวตรงกันว่า การออมดิน คือการรักษาดินไว้ให้มีแร่ธาตุที่ดีค่อการปลูกพืชได้นานที่สุด นั่นเอง ด้วยการฟื้นฟูและเสริมธาตุอาหารให้กับดิน และการวางแผนการปลูกพืชผักให้เหมาะสมกับพื้นที่ และสลับปลูกพืชผักที่ช่วยสร้างแร่ธาตุคืนกลับให้ดิน
เพราะดินเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี การออมดินจึงเป็นการออมความสมบูรณ์ของดิน ด้วยการใช้ปุ๋ยคอกปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อปรับปรุง และบำรุงรักษาดินให้สมบูรณ์อยู่เสมอ

เกษตรประณีต

  • ออมพืช
หลักการขั้นต้นง่ายๆ ของการ “ออมพืช” คือ การปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูก เพื่อกลับสู่วิถีชีวิตแบบพอเพียง พร้อมกับความพยายามในการขยายพันธุ์พืช อนุรักษ์พันธุ์พืชที่ดี แข็งแรง ทนแล้ง และทนโรค ให้ยังคงอยู่ในสังคมการเกษตรไทย
รวมถึง การออมต้นไม้ ออมพืชพันธุ์ ด้วยการปลูกไว้เป็นอาหารและใช้สอย ทั้งเป็นพืชพี่เลี้ยงที่ให้ร่มเงา สร้างอินทรียวัตถุแก่ดิน และปลูกเป็นอาหารเอาไว้บริโภค เช่น ข้าว พืชกินราก กินหัว ผัก ไม้เลื้อย และถ้ามีพื้นที่เหลือ ก็ควรปลูกไม้เศรษฐกิจไม้ผล ไม้สมุนไพร ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น และไม้ใช้สอย ไม้ประดับไว้ไล่แมลงด้วย
เกษตรประณีต
  • ออมสัตว์
เลือกเลี้ยงสัตว์ที่เป็นทั้งอาหารและแรงงาน ขอแนะนำให้เลี้ยงสัตว์ที่นำไปจำนำ ไปจำหน่ายได้ ยิ่งถ้าสามารถใช้มูลของสัตว์นั้นมาฟื้นฟูบำรุงดิน ก็ถือว่าเป็นการออมสัตว์ที่ได้ประโยชน์สูงสุด

หลักการนอกตำรา ที่คนทำเกษตรแบบประณีตต้องมี ถึงจะเป็น เกษตรกรแบบประณีตตัวจริง

นอกเหนือจากความรู้ที่ได้จากงานวิจัยแล้ว ยังมีบทความอีกชิ้นหนึ่ง ที่นำเสนอในหัวข้อเรื่อง “รูปแบบการทำเกษตรประณีตสำหรับผู้สูงอายุ” ซึ่งมีส่วนหนึ่งได้แชร์หลักการนอกตำรา จากคำบอกกล่าวของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการทำ เกษตรแบบประณีต ตัวจริง มาบอกกัน
โดยเริ่มจาก หลักการประจำใจของผู้ที่อยากทำเกษตรแบบประณีต ว่าต้องมีอะไรบ้าง
  • การวางแผนที่สอดคล้องกับเป้าหมาย พื้นที่ กำลังความสามารถ ศักยภาพ ความพร้อม สภาพแวดล้อม โดยเน้นความพอเพียง ความสมดุล และการเกื้อกูลกันของระบบนิเวศ โดยเกษตรประณีตจะต้องมีความรู้เรื่องการวางระบบน้ำและอนุรักษ์น้ำที่เหมาะสม ตลอดจนการฟื้นฟูและเสริมธาตุอาหารให้กับดิน และการจัดวางและคัดเลือกพืชผักให้เหมาะสมกับพื้นที่
  • ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจในการดำเนินชีวิต ควรเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ไม่เป็นทาสของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม อดออม อดทน เน้นความสุข และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเอง ปรับวิถีชีวิตให้กินอยู่อย่างพอเพียง พอดีพอประมาณ พอใจในสิ่งที่มี ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
  • ประยุกต์ใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ในการทำเกษตรประณีต โดยนำมาปรับให้เข้ากับบริบทและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ซึ่งมีปัจจัยที่แตกต่างกันไป โดยอาจเน้นไปที่ความหลากหลายทางชีวภาพ มีการปลูกพืชผักอาหาร สมุนไพร ไม้ผล ไม้ใช้สอย ไม้บำนาญ
  • มีแนวคิดการพึ่งตนเองประจำใจ ทำตามศักยภาพความสามารถที่มีอยู่ของตนเอง โดยเริ่มจากการปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เพื่อสร้างอาหารให้ตนเอง ครอบครัว เมื่อเหลือกินถึงแจกจ่าย แลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้
เกษตรประณีต
ต่อมา เป็นองค์ประกอบที่ควรมีในตัวของเกษตรกรผู้ที่จะมาริเริ่มทำเกษตรแบบประณีต ซึ่งมีดังนี้
  • มีทุนต่อไปนี้ครบ ทุนทางสุขภาพ ทุนทางสังคม ทุนทางปัญญา ทุนทางเศรษฐกิจ และทุนทางสิ่งแวดล้อม มีที่ดินเป็นของตนเองหรือครอบครัว เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูกขนาดเล็กตามกำลังความสามารถ มีที่อยู่อาศัย มีแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ มีเงินทุนบางส่วนไว้ซื้อพืชพันธุ์ต่าง ๆ มีปัจจัยการผลิต มีสภาพแวดล้อม ลม ฟ้า อากาศที่เอื้ออำนวย
  • มีความตั้งใจ สนใจ มีใจรักที่จะทำเกษตรประณีต มีเป้าหมาย มีความรู้ทางการเกษตรพอสมควรที่จะนำมาทำให้ประสบผลสำเร็จ มีครอบครัวที่มีส่วนร่วมหรือญาติพี่น้องเป็นแรงงานเสริมหนุน
  • มีความรู้ด้านการเกษตรในด้านการจัดการพื้นที่ สามารถออกแบบแบ่งพื้นที่การจัดการดิน การบำรุงดิน การจัดการน้ำ แสงแดด การเพาะปลูก การทำปุ๋ยหมักการเลี้ยงสัตว์ การไล่แมลง และไม่หยุดที่จะเรียนรู้ความร็ใหม่ๆในการทำเกษตรแบบประณีตอย่างต่อเนื่อง
  • เข้าใจหลักการ การออม 4 ด้าน อย่างถ่องแท้ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น การทำเกษตรประณีตจะสำเร็จลงได้ ต้องทำความเข้าใจหลักการการออมให้ลึกซึ้ง เพื่อมาขยายผลกับการออม 4 ด้าน ออมกิน ออมพืช ออมน้ำ และออมสัตว์ เพราะการทำเกษตรทางเลือกรูปแบบนี้ให้ความสำคัญกับความใส่ใจในการออมทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก
  • จดบันทึกและการจัดทำบัญชีครัวเรือน ควบคู่ไปกับการทำเกษตรประณีต เกษตรกรที่ต้องการทำเกษตรแบบประณีตควรจดบันทึกทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อใช้ในการเรียนรู้ และวางแผนพร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย บันทึกการลงทุน รายรับที่ได้จากผลผลิต และรายจ่าย ซึ่งรวมทั้งรายจ่ายในครัวเรือนและรายจ่ายในการทำการเกษตรประณีต แรงงานที่ใช้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพันธุ์พืช ค่าเครื่องจักร ปริมาณผลผลิต ฯลฯ เพราะการจัดทำบัญชีครัวเรือนนี้เอง ที่จะทำให้รู้ได้ถึงสถานะของตน เป็นการอุดรูรั่วสร้างความมั่นคงให้ชีวิตได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ในตอนท้ายของบทความที่เรียบเรียงจากการทำวิจัย เรื่อง “เกษตรประณีต : องค์ความรู้และการพัฒนาเกษตรกรต้นแบบ” ยังได้ให้ข้อเสนอแนะไว้กับ  หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษา ด้วยว่าควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์ความรู้ในการทำเกษตรประณีตของเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการพัฒนาเกษตรกรต้นแบบของเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยการสนับสนุน และช่วยเหลือให้ได้มีโอกาสไปเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และเป็นวิทยากรแชร์ประสบการณ์ในการทำเกษตรประณีตนั้นให้กับเครือข่ายเกษตรกรไทยทั่วประเทศด้วย

ที่มา :

บทความเรื่อง “เกษตรประณีต : องค์ความรู้และการพัฒนาเกษตรกรต้นแบบ” ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ใน วารสาร มจร พุทธปัญญาปริทรรศน์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2562) โดย ธวัชชัย เพ็งพินิจ, ชวลิต สวัสดิ์ผล, นที เพชรสุทธิธนสาร และ พิมพ์ชนก วัดทอง จาก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

บทความเรื่อง “รูปแบบการทำเกษตรประณีตสำหรับผู้สูงอายุ Agriculture Refined (Kaset Praneet) Model for the Elderly โดย วิไลลักษณ์ รัตนเพียรธัมมะ เผยแพร่ใน วารสารร่มพฤกษ์ มหาวิทยาลัยเกริก ปีที่ 33 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2558


อยากรู้ไอเดียดีๆ เพื่อยกระดับการผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่ดีกว่าเดิม ทั้งปริมาณและคุณภาพ คลิกอ่านต่อ

เรียนรู้จาก ‘ทุเรียน ราชาผลไม้ไทย’ ตัวแทนสินค้าเกษตรไทย ฝ่าวิกฤตโรคระบาดได้ ด้วยยอดส่งออกสูงต่อเนื่อง

เมื่อลูกอีสานคืนถิ่น เป็น เกษตรกรรุ่นใหม่ จะ ‘เฮ็ดเกษตรจังได๋’ ถึงจะเป็นอาชีพใหม่ที่ยั่งยืน

3 + 4 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชไทย & อินเตอร์ ช่วยกระจายสินค้าเกษตรช่วงวิกฤต สร้าง Smart Farmer Online ได้เร็วกว่าที่คิด

Previous articleใช้ Edge Data Center ได้อย่างเหมาะสม เป็นหนึ่งในแนวทางของการสร้างความยั่งยืน
Next articleสาลิกาคาบข่าว Vol.266
mm
เริ่มต้นขีดเขียนในฐานะ สื่อมวลชน กับงานผู้สื่อข่าวประจำกองประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ในปี 2546 ก่อนไปหาประสบการณ์ชีวิตที่เมลเบิร์น ออสเตรเลียมา 1 ปี และกลับมายึดอาชีพ “นักเขียน” จริงจัง กับการเป็น กองบรรณาธิการนิตยสารชีวจิต 3 ปี หลังจากนั้นคิดว่าน่าจะเปลี่ยนสายไปทำงานในบริษัท PR agancy ได้ 6 เดือน เมื่อรู้ว่าไม่ถูกจริต เลยออกมาเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารฟีลกู้ดอย่าง Happy+ อยู่ 1 ปี สัมภาษณ์ทั้งดาราและคนบันดาลใจ ก่อนเข้าสู่ระบบงานประจำอีกครั้งกับนิตยสาร MBA กับการเป็นนักเขียนที่รับผิดชอบในเซคชั่นหลักสูตร MBA ของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สั่งสมประสบการณ์อยู่ 3 ปี ก็ได้เวลา Upskill สู่งาน Online content writer ที่ใช้ความชอบและความหลงใหลในการถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ความรู้ใหม่ๆ ในยุค Education 4.0 อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์