คืนชีวิตให้ ‘การท่องเที่ยวชุมชน’ สร้างสตอรี่ ‘นาเชิงคีรี-ทุ่งหลวง’ แห่งสุโขทัย พร้อมก้าวสู่มาตรฐาน CBT Thailand

ใครหลายคนอาจมองว่า เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้เราไม่สามารถเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศได้ ทว่า หากเปลี่ยนมุมคิด ช่วงเวลานี้เอง ที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับการเก็บกระเป๋า แล้วออกเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศไทยให้ทั่วทุกมุมเมือง ทุกภูมิภาค อย่างปลอดภัย ไร้กังวล และนอกจากการท่องเที่ยวเพื่อชมความงดงามของธรรมชาติทั่วไทยแล้ว ‘การท่องเที่ยวชุมชน’ ก็เป็นการเดินทางอีกรูปแบบหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวได้ไม่แพ้กัน

เพราะในทุกพื้นที่ทั่วไทย ล้วนมีวัฒนธรรม วิถีชีวิตอันงดงาม ที่รอชาวไทยทุกคนให้เดินทางไปเรียนรู้ด้วยความยินดีอย่างยิ่ง และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยทุกคนที่จะวางแผนเดินทางไปสัมผัสกับ ‘การท่องเที่ยวชุมชน’ ทาง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. หน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ดูแล รับผิดชอบ การวางมาตรฐานให้แหล่งท่องเที่ยวชุมชนทั่วไทย ให้เติบโต สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน จึงได้สร้าง เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย หรือ CBT Thailand ขึ้น

โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาชุมชน ที่ผ่านเกณฑ์ CBT Thailand จะต้องเป็นชุมชนที่มีศักยภาพในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
  • การพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหรือ “นักพัฒนาการท่องเที่ยว”
  • การเพิ่มมูลค่าทรัพยากรท้องถิ่นให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน
  • พัฒนา กิจกรรม เส้นทางการท่องเที่ยว ให้สอดรับกับแนวทางการทำการตลาดที่เหมาะสม และยังคงรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนไว้ได้อย่างครบถ้วน
  • เป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆในการ นำแนวทางการพัฒนาไปประยุกต์ใช้และสามารถเชื่อมโยงกับชุมชนเป็นภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งมากขึ้นได้
  • ต่อยอดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆทั้งในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงศิลปะ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร และ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น
  • เชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายทางการท่องเที่ยวและสามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความอยู่ดีมีสุขในมิติต่างๆ
โดยที่ผ่านมามีชุมชนท่องเที่ยวทั่วไทย ต่างให้ความสนใจพัฒนาการท่องเที่ยวที่จัดขึ้นโดยชุมชนอย่างแท้จริงจนได้มาตรฐานนี้ไปแล้วไม่น้อย อย่างล่าสุดในปี 2562 ที่ผ่านมามีถึง 19 ชุมชนทั่วไทยที่ได้รับมาตรฐาน CBT Thailand ไปแล้ว
ทุ่งนาสีเขียวขจี กับฉากหลังเป็นเทือกเขาหลวง ที่มาของชื่อ “นาเชิงคีรี”
และเพื่อส่งต่อความสำเร็จนี้ไปให้อีกหลายชุมชนทั่วไทย ทาง อพท. จึงได้หยิบยกเอา จังหวัดสุโขทัย เมืองที่มีเอกลักษณ์ด้าน การท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในหลากหลายด้าน มาพัฒนาเป็น เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนในอาณาจักรสุโขทัย โดยนอกจากจะตอกย้ำถึงคุณค่าในความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก แล้ว ยังใส่สีสันให้เมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้ด้วยอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนในจังหวัดสุโขทัย ที่มีเสน่ห์รอให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเยี่ยมเยือนด้วย

ทั้งนี้ แหล่งท่องเที่ยวชุมชนล่าสุด ที่พร้อมเปิดตัวสู่สายตาของนักเดินทางทั้งหลาย นั่นคือ ชุมชนโบราณในตำนวนพระร่วง อย่าง นาเชิงคีรี-ทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ที่มีเรื่องเล่าอันงดงามซ่อนอยู่มากมายในสองชุมชนนี้ ตลอดจนทั้งสองพื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่เป้าหมายต่อไปในการพัฒนาให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน CBT Thailand ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย
จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ก็เป็นโอกาสอันดี ที่เราได้เดินทางไปสัมผัสกับสองชุมชนนี้ และด้วยความประทับใจในวิถีชีวิตง่ายงามของชุมชน จึงอดไม่ได้ ที่จะนำมาถ่ายทอดให้ฟังเพื่อเชิญชวนให้สายเที่ยวชุมชนไปสัมผัสกัน

เปิดโปรแกรม การท่องเที่ยวชุมชน นาเชิงคีรี อู่ข้าว อู่น้ำ สุโขทัย พร้อมสบตากับเทือกเขาหลวงแบบระยะประชิด

เมื่อเราเดินทางถึงพื้นที่ของชุมชน นาเชิงคีรี ก็ได้พบกับ ประครอง สายจันทร์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 หรือ อพท.4 ที่รับหน้าที่ดูแล การท่องเที่ยวชุมชน ในสุโขทัย  ที่มากล่าวต้อนรับและแนะนำจุดขายของทั้ง 2 ชุมชน ที่เราจะได้ไปเยี่ยมเยือนกันในวันนี้ ‘นาเชิงคีรี-ทุ่งหลวง’ ว่า

“ชุมชนนาเชิงคีรี  และ ชุมชนทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นและมีประวัติศาสตร์ ความเป็นมาอันยาวนาน ทั้งเป็นแหล่งอู่ข้าว อู่น้ำโบราณ ตั้งแต่สมัยก่อนก่อร่างสร้างเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี กว่า 700 ปีก่อน และมีแหล่งท่องเที่ยงอิงประวัติศาสตร์ตามตำนานพระร่วงมากมายให้ได้ไปเยี่ยมชม”

ประครอง สายจันทร์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 หรือ อพท.4
“โดย 2 ชุมชนนี้ ได้รับการพัฒนามาตลอดระยะเวลา 3  ปี  เริ่มจาก อบต.นาเชิงคีรี ได้จัดตั้ง ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลนาเชิงคีรี  และ เทศบาลตำบลทุ่งหลวงได้จัดตั้งเป็น ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนทุ่งหลวง ซึ่งทั้งสองชุมชนได้พัฒนาและบริหารจัดการท่องเที่ยวในตำบลของตนเอง ด้วยความร่วมมือของคนในชุมชน
“ทั้งการปรับเอาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อที่เป็นจิตวิญญาณและความศรัทธา ที่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ในศิลาจารึกของ องค์สมเด็จพระร่วงเจ้า และพ่อขุนรามคำแหง ผ่านเรื่องเล่าและตำนานจากนักสื่อความหมายที่เป็นคนรุ่นเก่าผสมผสานกับการบริหารเส้นทางการท่องเที่ยวโดยคนรุ่นใหม่ ทำตลาดผ่านช่องทางโซเซียลเน็ตเวิร์ค มาสู่การสร้างสรรค์กิจกรรมให้บริการกับนักท่องเที่ยว รวมถึงการนำเอาวัตถุดิบในท้องถิ่นมารังสรรค์เป็น หัตถกรรม และอาหารประจำถิ่น โดยมีเขาหลวงเป็นแกนกลางและจุดยึดเหนี่ยวของชุมชนทั้งสอง”

  • ร่วมกิจกรรม DIY หยอดน้ำตาลปึก ถึงแหล่งผลิต
หลังจากฟังคำบอกเล่าโดยสังเขปแล้ว ก็ได้เวลาไปเห็นของจริงกัน โดยวิธีเดินทางท่องเที่ยววิถีชุมชน 2 ชุมชนนี้ ก็เก๋ไก๋อย่าบอกใคร ด้วย รถคอกหมู สีสันสดใส ที่นำเราวิ่งไปตามแนวเทือกเขาหลวงให้ได้สบตากับขุนเขาแห่งนี้ในระยะประชิด เพื่อไปเยี่ยมแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งแรกของ บ้านนาเชิงคีรี นั่นคือ แหล่งเพาะปลูกตาลและแหล่งผลิตน้ำตาลปึกจากตาลโตนดด้วยวิธีโบราณ
ตามประวัติที่บอกเล่ามาจากชาวบ้านในท้องถิ่นนี้ ได้เล่าต่อกันมาว่าด้วยพื้นที่หมู่บ้านนาเชิงคีรี มีจุดเด่นที่เป็นแหล่งเพาะปลูกตาล และได้นำผลผลิตมาทำเป็นน้ำตาลโตนด และส่งเป็นเครื่องเป็นบรรณาการเข้าเมืองสุโขทัยมาแต่โบราณ ตามหลักฐานที่ค้นพบในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง
จนมาในวันนี้ชุมชนยังคงวิถีการผลิตน้ำตาลปึกในแบบดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วน และได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลโตนดแหล่งสำคัญของภาคเหนือตอนล่างด้วย ที่นี่นักท่องเที่ยวจะได้ชมกรรมวิธีเคี่ยวน้ำตาล  ร่วมหยอดน้ำตาลปึก ที่ปัจจุบันส่งขายไปยังพื้นที่ต่างๆ ใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารคาว-หวาน  ทั้งเครื่องดื่มน้ำตาลสด งบตาล ยำกรวยตาล แกงหัวตาล เป็นต้น

  • นั่งไทม์แมชชีน ย้อนยุค ทำ ว่าวพระร่วง จากใบไม้ในเทือกเขาหลวง
กิจกรรมต่อมา ที่รถคอกหมู พาเรามาทำกัน นั่นคือ กิจกรรม DIY ทำว่าวใบไม้หรือว่าวพระร่วง ซึ่งไฮไลต์ของกิจกรรมนี้อยู่ที่การได้รับฟังประวัติความเป็นมาของการทำ หรือ ว่าวใบไม้บูชาพระร่วง ซึ่งเป็นความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาของชุมชนว่าเป็นการสักการะ หรือบูชาพระร่วง เพื่อขอความอุดมสมบรูณ์ในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร 
เพราะหากอ้างอิงตามตำนานในอดีต พระร่วงทรงโปรดการเล่นว่าว ดังนั้นการทำว่าวพระร่วงที่ทำจากใบไม้ที่เก็บได้จากเขาหลวง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นใบไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ นั้น จึงถือเป็นการทำเพื่อถวายองค์พระร่วงซึ่งพระองค์มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ จึงดลบันดาลให้ผู้ทำขอสิ่งใดก็มักสมปรารถนาไปด้วย
  • สักการะ พระแม่ย่า พระมารดาแห่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
และเพื่อความเป็นสิริมงคล ต่อไปเราได้ไปสักการะพระแม่ย่า (ถ้ำพระแม่ย่า ม.9) โดยตามความเชื่อของชุมชนที่เล่าขานและสันนิษฐานกันว่า แม่ย่า ทรงเป็นพระนางเสือง หรือ เป็นพระมารดาของพ่อขุนรามคำแหง เป็นศูนย์กลางการก่อร่างสร้างเมืองหรือตามความเชื่อในอดีตคือเป็นพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง แห่งเทือกเขาหลวง ที่สันนิษฐานว่าที่เป็นประสูติของพระร่วง
  • เรียนรู้ถึงแหล่งปลูก ข้าวเขาหลวง ข้าวดีที่เป็นยา
ปิดท้ายที่ชุมชนนาเชิงคีรี ด้วยการไปพูดคุยกับ ชาญชัย โฉมห่วง เกษตรกรผู้ริเริ่มสร้างแบรนด์ “ข้าวเขาหลวง” พร้อมสโลแกน “ข้าวดีที่เป็นยา” และผลิตภัณฑ์จากข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่รอต้อนรับเราด้วยรอยยิ้มและความยินดีที่จะบอกเล่าถึงที่มาของการปลูกข้าวด้วยน้ำจากเขาหลวง หรือเทือกเขาสรรพยา ซึ่งมีที่นี่ที่เดียวเท่านั้น
ชาญชัย โฉมห่วง เกษตรกรผู้ริเริ่มสร้างแบรนด์ “ข้าวเขาหลวง” พร้อมสโลแกน “ข้าวดีที่เป็นยา”
โดยมีความเชื่อส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นว่า การนำน้ำจากตาน้ำของทุ่งเขาหลวงมาใช้ในการเพาะปลูก จะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ เจริญงอกงาม และเมื่อรับประทานเข้าไปจะมีสรรพคุณในการรักษาโรคอีกด้วย
อีกทั้งข้าวไรซ์เบอร์รี่นี้ โดยธรรมชาติก็มีคุณสมบัติเพื่อรักษาสุขภาพในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เมื่อผสมกับน้ำที่มีการเล่าขานสืบต่อกันมาในเรื่องของการรักษาโรค ยิ่งทำให้ข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่นี่ เป็นที่ต้องการของตลาด และรู้จักกันในกลุ่มผู้รักสุขภาพ ในนามข้าวดีแห่งเมืองสุโขทัย

ทัวร์ ชุมชนทุ่งหลวง ล้อมวงปั้นงานศิลป์ ณ วิทยาลัยใต้ถุนบ้าน

ยามบ่ายคล้อย หลังรับประทานอาหารเที่ยง เราก็ได้มาเยี่ยมเยือน ชุมชนทุ่งหลวง ที่ซึ่ง วันชัย โฆรัษเฐียร  รองนายกเทศมนตรีตำบลทุ่งหลวง (ประธานกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง) ได้บอกเล่าความเป็นมาของชุมชนโบราณแห่งนี้ให้ฟังแบบย่อๆว่า

“ชุมชนทุ่งหลวง ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นแหล่งรวบรวมและผลิตงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งเมืองสุโขทัย ที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมกิจกรรมขึ้นรูปภาชนะ ประดิษฐ์ศิลปะจากดินสู่เครื่องปั้นดินเผาได้ เพราะในชุมชนของเราเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาส่งขายทั่วประเทศ จากฝีมือชุมชนกว่า 200 หลังคาเรือน”

วันชัย โฆรัษเฐียร รองนายกเทศมนตรีตำบลทุ่งหลวง (ประธานกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง)
โดยดินที่เราใช้ปั้นนั้น มีคุณภาพสูงจากแหล่งที่ราบเขาหลวง ด้วยกรรมวิธีการเผาที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ซึ่งมีความแตกต่างจากแหล่งเครื่องปั้นศรีสัชนาลัย ที่ใช้เตาทุเรียง ขณะที่บ้านทุ่งหลวง ใช้เตามังกร เพื่อให้ภาชนะมีความแกร่งมากยิ่งขึ้นด้วย” 
ทั้งนี้ในด้วยเวลาอันจำกัด ทำให้ที่ชุมชนทุ่งหลวง เราได้มีโอกาสร่วมกิจกรรม 2 รูปแบบด้วยกัน
  • บูชาหลวงปู่ต่วน ซึมซับประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของแหล่งงานปั้นทรงคุณค่าที่ พิพิธภัณฑ์วัดลาย
หากเอ่ยนามของ “หลวงปู่ต่วน” วัดลาย ชาวสุโขทัยและพื้นที่ใกล้เคียง ต่างทราบกันดีถึงชื่อเสียงด้านความเป็นผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ใน ปี 2482 มีนกเหยี่ยวขาวตัวหนึ่งไปโฉบเอาลูกไก่ชาวบ้าน ไปเกาะอยู่บนต้นยางภายในวัด ชาวบ้านตามล่าเพื่อจะฆ่าเหยี่ยวตัวนั้นเสีย เมื่อหลวงปู่ต่วนทราบเรื่อง จึงบอกชาวบ้านไม่ให้ฆ่าเหยี่ยวตัวนั้น โดยท่านบอกว่านกมันไม่ไปไหนหรอก แล้วหันหน้าไปทางเหยี่ยวตัวนั้น แล้วพูดว่า เออ มึงอยู่นี่แหละ! เท่านั้น นกเหยี่ยวตัวนั้นเกาะอยู่บนต้นยาง ตลอด 3 วัน ไม่ได้ไปไหนเลย ต่อมาหลวงปู่ต่วนสงสาร และกลัวจะเป็นบาป ท่านจึงบอกให้มันไป แล้วเหยี่ยวตัวนั้นก็บินไปจากต้นยาง  
นอกจากนี้ ที่วัดลาย นักท่องเที่ยวยังสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชุมชน ที่เป็นแหล่งผลิตงานปูนปั้นโบราณ ซึ่งมีทั้ง หม้อ ไห หลากหลายขนาด ผ่านการเดินเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดลาย ที่รวบรวมงานปั้นทรงคุณค่าที่มีอายุหลายร้อยปีไว้มากมาย

  • ปั้นงานศิลป์สร้างสรรค์ ณ วิทยาลัยใต้ถุนบ้าน ชุมชนทุ่งหลวง
ศูนย์เรียนรู้ “วิทยาลัยใต้ถุนบ้าน” เกิดขึ้นจากชาวบ้านในหมู่บ้านที่มีความตั้งใจเปิดบ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคน ให้ได้มาทดลองทำเครื่องปั้นดินเผาด้วยวิธีดั้งเดิมที่มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยวิธีการทำเครื่องปั้นดินเผาที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นกรรมวิธีการทำเครื่องปั้นดินเผาที่ละเมียด ใช้เทคนิคศิลปะสุโขทัย
นอกจากนั้น ผู้มาเยือน ยังได้ชมการสาธิตการใช้เตาอุโมงค์ หรือเตามังกรในการเผาเครื่องปั้นต่าง ๆ เพื่อให้เกิดลวดลายที่ชัดเจน งดงาม และมีความแข็งแรง ทนทานต่อการใช้งาน ซึ่งในปัจจุบันที่นี่เปิดให้นักท่องเที่ยว นักเรียน ชาวบ้านจากที่ต่าง ๆ เข้ามาเรียนการทำเครื่องปั้นดินเผา และแกะลายโบราณ ปัดเงินปัดทองด้วยวิธีพิเศษ โดยผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ที่นี่ จะได้ผลงานปั้น และงานปัดเงินปัดทองติดไม้ติดมือไปเป็นที่ระลึกด้วย  
จากการได้เดินทางท่องเที่ยวในสองชุมชนเก่าแก่ของสุโขทัยนี้ มากกว่าความอิ่มตา อิ่มใจ และอิ่มท้องแล้ว เห็นจะเป็น การรับรู้ได้ถึงความตั้งใจของชาวบ้านในชุมชน ที่อยากส่งต่อความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม วิถีชีวิตท้องถิ่นดั้งเดิม ไร้ซึ่งการปรุงแต่ง ให้นักท่องเที่ยวทุกคนได้รับรู้
แต่ด้วยเวลาอันจำกัด ทำให้เราไม่มีโอกาสได้นั่งพูดคุย เรียนรู้ไปให้ถึงแง่งามของชาวชุมชนทั้ง 2 นี้อย่าลึกซึ้งมากนัก จนเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “ไว้จะกลับมาเที่ยวที่นี่ใหม่” ขนาดเรายังรู้สึกเช่นนี้ เชื่อเหลือเกินว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนแหล่งท่องเที่ยวชุมชนทั้งสองนี้ ก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน
เพราะหากไม่มีการส่งต่อบอกเล่าเรื่องราว สู่เยาวชนและนักท่องเที่ยวได้รู้จักและสัมผัส เสน่ห์ของสองชุมชนนี้ คงถูกเก็บซ่อน เป็นที่รู้จัก และรับรู้เพียงคนในพื้นที่อำเภอคีรีมาศหรือในจังหวัดสุโขทัยนี้เท่านั้น

 

Salika’s says : ใครสนใจจะเดินทางท่องเที่ยว นาเชิงคีรี-ทุ่งหลวง ติดต่อได้ที่ 

  • ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนตำบลนาเชิงคีรี โทร 09 1024 6285, 08 6939 6014
  • กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านทุ่งหลวง โทร 09 6032 7729, 09 3248 5466

ชวนเที่ยวไทย เปิดแง่มุมอะเมซิ่งที่คุณอาจยังไม่เคยเห็น

เรียนรู้ความหมายของ ‘ชุมชนพึ่งตนเอง’ ขุมพลังในท้องถิ่นไทย ที่ บ้านดงน้อย จ.กาฬสินธุ์

บ้านแม่น้ำ “บ้านกวี” Landmark ใหม่ “สังขละบุรี”

Garden in the Sky : สวนสวยในสวนนงนุช แลนด์มาร์คการท่องเที่ยวแห่งใหม่ในอีอีซี

Previous articleโค้ชชิ่ง…ของต้องมีสำหรับธุรกิจ 4.0
Next articleสาลิกาคาบข่าว Vol.264
mm
เริ่มต้นขีดเขียนในฐานะ สื่อมวลชน กับงานผู้สื่อข่าวประจำกองประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ในปี 2546 ก่อนไปหาประสบการณ์ชีวิตที่เมลเบิร์น ออสเตรเลียมา 1 ปี และกลับมายึดอาชีพ “นักเขียน” จริงจัง กับการเป็น กองบรรณาธิการนิตยสารชีวจิต 3 ปี หลังจากนั้นคิดว่าน่าจะเปลี่ยนสายไปทำงานในบริษัท PR agancy ได้ 6 เดือน เมื่อรู้ว่าไม่ถูกจริต เลยออกมาเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารฟีลกู้ดอย่าง Happy+ อยู่ 1 ปี สัมภาษณ์ทั้งดาราและคนบันดาลใจ ก่อนเข้าสู่ระบบงานประจำอีกครั้งกับนิตยสาร MBA กับการเป็นนักเขียนที่รับผิดชอบในเซคชั่นหลักสูตร MBA ของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สั่งสมประสบการณ์อยู่ 3 ปี ก็ได้เวลา Upskill สู่งาน Online content writer ที่ใช้ความชอบและความหลงใหลในการถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ความรู้ใหม่ๆ ในยุค Education 4.0 อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์