“แคทลียา” ราชินีแห่งกล้วยไม้

  • 04/06/2020
  • จำนวนผู้ชม 28,011 คน

กล้วยไม้ หรือ เอื้อง เป็นพืชดอกที่มีความหลากหลายมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง โดยมีประมาณ 899 สกุล และมีประมาณ 27,000 ชนิดที่มีการยอมรับ และจะมีการค้นพบราวๆ 800 ชนิดทุกๆ ปี มีสกุลใหญ่ๆ คือ Bulbophyllum (2,000 ชนิด), Epidendrum (1,500 ชนิด), Dendrobium (1,400 ชนิด) และ En:Pleurothallis (1,000 ชนิด) แต่หากจะกล่าวถึงดอกกล้วยไม้ที่คนทั่วไปต่างก็รู้จัก ผู้คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงภาพของดอกกล้วยไม้ที่มีขนาดใหญ่ สีสันสวยงาม และยังนึกถึงกลิ่นหอมอ่อนๆ ละมุน น่าหลงใหล ท่านทราบหรือไม่ว่า สัญลักษณ์ของกล้วยไม้ที่ยอมรับกันเป็นสัญลักษณ์สากลทั่วโลก นั้นเป็นกล้วยไม้ประเภทใด คำตอบคือ กล้วยไม้สกุลแคทลียา (Cattleya) นั่นเอง

การค้นพบกล้วยไม้สกุลแคทลียานั้น พบว่ามีการนำมาปลูกเลี้ยงกันครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1818  โดยในขณะนั้น Mr. Swainson ผู้ทำหน้าที่เก็บพันธุ์พืชให้แก่ Mr. William Cattley (นักพืชสวนและพ่อค้าชาวอังกฤษ) ได้มีการรวบรวมพันธุ์มอสและไลเคนกันมากจากประเทศบราซิล แล้วได้มีการเก็บต้นไม้ชนิดหนึ่งมาด้วยซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีใบหนาและลำต้นค่อนข้างใหญ่ เมื่อ Mr. Cattley ได้รับต้นไม้ที่ไม่รู้จักมาก่อนก็ทำการปลูกเลี้ยงไว้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1824 ต้นไม้ที่ปลูกเลี้ยงไว้ให้ดอกดูเป็นครั้งแรก จึงส่งไปจำแนกชนิดที่ Glasgow Botanic Gardens นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ (Dr. John Lindley) จึงได้ตั้งชื่อต้นไม้ชนิดนี้ว่า Cattleya ตามชื่อผู้ปลูกเลี้ยงจนออกดอก ซึ่งต่อมาได้มีการตั้งชื่อว่า Cattleya labiata autumnalis เนื่องมาจากดอกบานในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และปากของกล้วยไม้ชนิดนี้มีความสวยงามมาก และชื่อได้ถูกตัดให้สั้นลงเหลือแต่เพียง Cattleya labiata ในช่วงระยะนั้น กล้วยไม้สกุลแคทลียาได้รับความนิยมมาก และมีราคาแพง มีการส่งคนออกไปเสาะแสวงหาแคทลียาในป่าที่อเมริกาใต้กันมาก มีการขนส่งมาเป็นลำเรือ นำมาปลูกเลี้ยงกันในยุโรป และได้มีการนำเข้ามาปลูกเลี้ยงในประเทศเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 โดย Mr. Henry Alabaster [รองกงสุลชาวอังกฤษ สถานทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย (ต้นตระกูลเศวตศิลา)] ได้นำเข้ามาปลูกในพระราชอุทยานสราญรมย์ ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง

แคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่เจริญเติบโตและมีรูปทรงแบบ sympodial คือมีเหง้าแนบไปตามเครื่องปลูก เหง้าอาจจะมีทั้งยาวและสั้น มีรากเจริญงอกจากเหง้า ไม่มีรากแขนง เป็นระบบรากกึ่งอากาศ ดูดน้ำและอาหารจากอากาศและเครื่องปลูก  แคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่ไม่ชอบอากาศเย็นมากนัก โดยเฉพาะไม่ชอบอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงจากร้อนไปเย็นหรือเย็นไปร้อนอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิในการปลูกเลี้ยง ในช่วงกลางคืน ไม่ควรต่ำกว่า 13 องศาเซลเซียส และในช่วงกลางวันประมาณ 25-28 องศาเซลเซียส ความชื้นพอเหมาะ (ในเชียงใหม่ อุณหภูมิค่อนข้างเหมาะสมในการปลูกเลี้ยง แต่ควรเสริมในเรื่องของความชื้นบ้าง) การพรางแสงควรอยู่ประมาณ 60 -70 % วัสดุปลูกที่ใช้ ควรเป็นวัสดุที่โปร่ง ระบายน้ำได้ดี เช่น อิฐมอญทุบ หรือถ่าน

กล้วยไม้ในสกุลแคทลียานี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน (ตามลักษณะของใบ) ได้แก่

1. Unifoliate group (ประเภทใบเดี่ยว) เป็นแคทลียาประเภทที่ปลายลำลูกกล้วยมีใบเพียงใบเดียวเท่านั้น มักออกดอกน้อย ช่อหนึ่งอาจมีเพียง 1 หรือ 2 ดอกเท่านั้น ช่อดอกสั้น ดอกมีขนาดใหญ่ มีลักษณะผึ่งผาย มีกลีบปากที่สวยงามและเป็นจุดเด่นของดอก

2. Bifoliate group (ประเภทใบคู่) เป็นแคทลียาประเภทที่ลำลูกกล้วยมี 2 ใบ อาจจะมีใบถึง 3 ใบก็ได้ มักจะออกดอกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีหลายดอก ช่อดอกยาว ดอกมีขนาดค่อนข้างเล็ก กลีบดอกเป็นมัน มีจำนวนดอกต่อช่อมาก 5 - 20 ดอก ปากมีขนาดเล็ก ปลายปากค่อนข้างแหลม รูปคล้ายหอก สีดอกมีความสดใสและหลากหลาย มีหลายชนิดที่กลีบดอกมีจุดน้ำตาลหรือม่วงแดงแต้ม

ปัจจุบันนี้นิยมผสมข้ามกันไปมาระหว่าง 2 กลุ่มนี้ และยังผสมข้ามสกุลระหว่างกล้วยไม้สกุลแคทลียากับกล้วยไม้สกุลใกล้เคียงอื่นๆ เกิดเป็นแคทลียาลูกผสมขึ้นจำนวนมาก และในปัจจุบันแคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ เนื่องจากเป็นกล้วยไม้ที่มีดอกขนาดใหญ่ที่สุดและสีสวยงามที่สุด บางชนิดมีกลิ่นหอม และด้วยรูปทรง สีสัน และขนาดของดอกแคทลียา ซึ่งมีความงดงามเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น จึงทำให้แคทลียาได้รับการยกย่องเป็น "ราชินีแห่งกล้วยไม้" กลายเป็นสัญลักษณ์สากลของกล้วยไม้ที่ปรากฏในตราของสมาคมกล้วยไม้โลก สำหรับคนไทยคงรู้จักแคทลียาพันธุ์ "ควีน สิริกิติ์" (Cattleya ‘Queen Sirikit’) ซึ่งบริษัทกล้วยไม้เก่าแก่ของอังกฤษ แบล็ก แอนด์ ฟลอรี เป็นผู้ผสมพันธุ์สำเร็จ ได้เป็นกล้วยไม้แคทลียาทรงต้นขนาดกะทัดรัด ดอกสีขาวมีแต้มสีเหลืองทอง ฟอร์มดี ตั้งชื่อพันธุ์ว่า Exquisite แปลว่า ยอดเยี่ยม หาที่ติไม่ได้ ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2501 ต่อมาเมื่อได้รับรางวัลยอดเยี่ยม-Award of Merit จากราชสมาคมพืชสวนแห่งอังกฤษ (The Royal Horticultural Society) จึงได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย Sirikhit ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นชื่อกล้วยไม้พันธุ์ดังกล่าว ซึ่งก็ได้พระราชทานพระราชานุญาต ดอกกล้วยไม้ลูกผสมนี้จึงมีชื่อว่า “แคทลียาควีนสิริกิติ์” และหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551 สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้รับพระราชทานดอกกล้วยไม้พระนาม แคทลียาควีนสิริกิติ์ เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันสตรีไทย นับเป็นกล้วยไม้แคทลียาที่งดงามยิ่งสายพันธุ์หนึ่งของโลก

สำหรับท่านที่ต้องการชื่นชมความงดงามของดอกกล้วยไม้แคทลียาสายพันธุ์ต่างๆ สามารถเข้ามาชมได้ที่บริเวณสวนกล้วยไม้ของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

กล้วยไม้. (ระบบออนไลน์). https://th.wikipedia.org/wiki/กล้วยไม้. (15 พฤษภาคม 2563)

กล้วยไม้สกุลแคทลียา. (ระบบออนไลน์). https://www.panmai.com/Orchid/C/c.shtml (15 พฤษภาคม 2563)

แคทลียา (Cattleya). (ระบบออนไลน์). http://web.agri.cmu.ac.th/hort/course/359405/1cat.html (15 พฤษภาคม 2563)

ชาติ ประชาชื่น. 2562. แคทลียาควีนสิริกิติ์. (ระบบออนไลน์). https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_2789627 (15 พฤษภาคม 2563)

เดชา ศิริภัทร. 2552. คัทลียา ราชินีแห่งกล้วยไม้. (ระบบออนไลน์). https://www.doctor.or.th/article/detail/5879 (15 พฤษภาคม 2563)

สกุลแคทลียา (กล้วยไม้). (ระบบออนไลน์). https://th.wikipedia.org/wiki/สกุลแคทลียา_(กล้วยไม้). (15 พฤษภาคม 2563)

The Showy Cattleya, Queen of the Orchids Beginners' Handbook – XV. (ระบบออนไลน์). http://www.aos.org/orchids/additional-resources/cattleya-queen-of-the-orchids.aspx (15 พฤษภาคม 2563)

มูลนิธิโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือเจริญโภคภัณฑ์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
gistda
ธนาคารกรุงไทย