posttoday

สิงโตบนคอนโด

07 กรกฎาคม 2556

ในบรรดากล้วยไม้ในหมู่นักปลูกสะสมกล้วยไม้อยู่ไม่น้อย ทั้งนี้เพราะมันมีขนาดไม่ใหญ่โตเกินไป หลายชนิดเล็กถึงกลางมีเหง้ายืดและยึดติดท่อนไม้หรือกิ่งไม้ที่ให้มันเกาะอาศัยได้ดี

โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม

ในบรรดากล้วยไม้ในหมู่นักปลูกสะสมกล้วยไม้อยู่ไม่น้อย ทั้งนี้เพราะมันมีขนาดไม่ใหญ่โตเกินไป หลายชนิดเล็กถึงกลางมีเหง้ายืดและยึดติดท่อนไม้หรือกิ่งไม้ที่ให้มันเกาะอาศัยได้ดี ดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ โดยมากแทงออกมาจากโคนลำ ดอกมีขนาดตั้งแต่เล็กจิ๋วจนถึงใหญ่ เมืองไทยมีสิงโตประมาณ 150 ชนิด แต่ แอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย รวมทั้งเกาะแก่งในแปซิฟิก ปาปัวนิวกินี และนิวซีแลนด์ มีประมาณสองพันชนิด นับว่าเป็นกล้วยไม้ที่มีจำนวนชนิดรองลงไปจากกล้วยไม้สกุลเดนโดรเบียม ทีเดียว

นักกล้วยไม้เรียกชื่อสกุลสิงโตว่า บัลโบฟิลลัม (Bulbophyllums) และนิยมปลูกสะสมกัน เพราะความที่มันมีความหลากหลายมากนี่เอง หลายชนิดหลายพันธุ์ถูกนำเข้ามาในกรุงเทพฯ โดยพ่อค้ากล้วยไม้ชาวฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน และสิงคโปร์ สิงโตมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกล้วยไม้สกุลเซอโรพีตาลัม (Cirrhopetalum)

ย้อนกลับไปใน ค.ศ. 1822 อูเบิต ดู พีติด (Aubert du Petit) ตั้งชื่อสกุลนี้ไว้โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร (Orchidees des Iles de I’ Afrigue) ชื่อสกุลมาจากภาษากรีกสองคำ คือ บัลโบส (Bulbos) ซึ่งมาจากลำลูกกล้วย (Bulb) ของมัน ส่วนคำว่า ฟิลลอน (Phyllon) ซึ่งหมายถึงใบที่พองออกหลายหัว กล้วยไม้สกุลสิงโตนี้มีลักษณะการเจริญเติบโตและรูปร่างที่แปลกประหลาดอยู่มาก ผู้คนจึงสนใจเก็บสะสมปลูกเลี้ยงกันจนถึงปัจจุบัน

สิงโตที่รู้จักกันในบรรดานักสะสมรุ่นแรกๆ คือ Bulbophyllum nutans ซึ่งมาจากแอฟริกา ในป่าเมืองไทยพบสิงโตได้ในพื้นที่ภูเขาระดับตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไปจะพบมากที่สุด อยู่ทั้งคาคบไม้และเกาะอยู่ตามโขดหิน (Lithophyte) ในป่าฟิลิปปินส์เราได้พบกล้วยไม้สิงโตมาก (ประมาณ 120 ชนิด เห็นจะได้) แต่มีอยู่ 103 ชนิดที่เป็นของเฉพาะถิ่น (Endemic) ไม่พบในที่อื่นใดอีก

สิงโตมีการเจริญเติบโตจากด้านข้างหรือแบบฐานร่วม (Sympodial growth) และหลังจากมันสร้างลำลูกกล้วยและใบแล้วมันจะหยุดการเติบโต กลับไปสร้างเหง้าทอดยาวสร้างลำลูกกล้วยและเกิดใบใหม่ ใบของสิงโตมักอวบน้ำและมีรูปทรงและขนาดแตกต่าง ใบของกล้วยไม้สกุลสิงโตค่อนข้างอวบน้ำ ผิวใบมัน และมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไป ช่อดอกแทงขึ้นมาจากลำต้นหรือเหง้าในบริเวณใกล้ โดนของลำลูกกล้วย และเกิดดอกได้จากหนึ่งดอกถึงหลายดอก ขนาดมีตั้งแต่เล็กจิ๋วถึงขนาดใหญ่ กลีบรองมักมีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกและปาก กล้วยไม้สกุลนี้มีความโดดเด่นอยู่ที่ส่วนปากของดอกซึ่งมีความโดดเด่น สีฉูดฉาด สะดุดตา และมีส่วนยึดที่ฐาน และส่วนนี้สามารถสั่นหรือผงกขึ้นและลงได้ แม้จะมีการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย สีดอกของสิงโตมีแตกต่างกันไปตั้งแต่สีขาวบริสุทธิ์ ไปจนถึงเขียว น้ำตาล แดง เหลือง

การปลูกเลี้ยง – กล้วยไม้สิงโตชอบแสงแดดจัดรำไร ควรพรางแสงแดดเที่ยงตรงให้อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ในช่วงฤดูร้อน ควรพ่นละอองน้ำให้ทุกๆ 23 วัน และแขวนต้นให้ห่างกันพอสมควร อย่าให้เบียดเสียดกัน เพราะความชื้นมากเกินไปมีส่วนทำอันตรายแก่กล้วยไม้สกุลนี้ได้

กล้วยไม้สิงโตเป็นกล้วยไม้อิงอาศัยหรือไม้เกาะหิน ดังนั้นการผูกต้นติดกับกิ่งไม้แก่นเนื้อแข็ง หรือแผ่นกระดาน หรือรากกูดต้น เป็นวิธีซึ่งปฏิบัติกันทั่วไป จากนั้นจึงแขวนไว้ในโรงเรือนที่มีการระบายอากาศดี เช่น บนเฉลียงของคอนโดมิเนียมจะเหมาะมาก

การปลูกกล้วยไม้สิงโตในกระถาง ทำได้โดยใช้กระถางพลาสติก 3 นิ้ว ที่มีรูระบายน้ำขนาดใหญ่ หรือใช้ถ่านไม้และกาบมะพร้าวเล็กน้อยเป็นเครื่องปลูก อาจเติมรากกูดต้นสับ หรือออสมันด้าเล็กน้อยก็ได้

การให้ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยเคมีละลายน้ำเจือจางฉีดพ่นให้ 2 สัปดาห์ต่อครั้งตอนเช้า

ศัตรูและโรค ควรดูแลให้ต้นไม่เปียกแฉะเกินไป ใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แคพแทน (Captan) หรือไดเทน (Dithane) หนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ในช่วงฤดูฝน ระวังศัตรู เช่น ทาก และหอยทาก ซึ่งระบาดในฤดูฝน

สิงโตในประเทศไทย (และประเทศใกล้เคียง) ที่โดดเด่นได้แก่ สิงโตงาม (Bulbophyllum affine) สิงโตเชียงดาว (B. albibracteum) สิงโตสองสี (B. bicolor) สิงโตพุ่ม (B. khasyanum) สิงโตรวงข้าว (B. morphologorum) และสิงโตนิพนธ์ (B. nipondii) สิงโตปากนกแก้ว (B. psittacoglossum) สิงโตสยาม (B. siamense) และสิงโตอาจารย์เต็ม (B. smitinandii)