posttoday

วัดจอมสวรรค์ โบราณสถานจากสักทอง

20 เมษายน 2557

เมื่อมีโอกาสได้หยุดรับซัมเมอร์ก่อนที่งานปีใหม่เมืองจะมาถึงในช่วงวันที่ 14-16 เม.ย.ที่ผ่านมา

โดย...พงศ์ พริบไหว

เมื่อมีโอกาสได้หยุดรับซัมเมอร์ก่อนที่งานปีใหม่เมืองจะมาถึงในช่วงวันที่ 14-16 เม.ย.ที่ผ่านมา ด้วยที่ผมเติบโตทางภาคเหนือในจังหวัดเล็กๆ ที่ชื่อว่าเมืองแพร่ ก็มักได้เห็นวิถีปฏิบัติของคนชาวเหนือก่อนวันปีใหม่ อย่างเช่นการที่ชาวบ้านนัดกันเข้ามาช่วยทำความสะอาดวัดวาอารามในตำบลของตัวเอง เพื่อต้อนรับช่วงเทศกาล นัยหนึ่งการทำเช่นนี้คงเป็นการเข้ามาพบปะพูดคุยนัดหมายกันก่อนที่วัดจะมีงานเพื่อตระเตรียมสิ่งต่างๆ ซึ่งวัดแต่ละวัดก็จะมีงานช่วงสงกรานต์ ตามแต่ทางวัดนั้นๆ ถือปฏิบัติกันมา

วัดจอมสวรรค์ โบราณสถานจากสักทอง

 

อย่างวันที่ผมตั้งใจแวะไปเก็บรูปวัดที่ตั้งใจจะเขียนแนะนำผู้อ่านได้มาเที่ยวกันอย่าง “วัดจอมสวรรค์” (วัดจองเหนือ) ก็ได้เห็นชาวบ้านในชุมชนนั้นกำลังสาละวนทำงานเก็บกวาดวัดแห่งนี้อยู่ ก่อนที่อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีงาน เนื่องจากวัดแห่งนี้อยู่บริเวณถนนสายหลักแพร่น่าน ด้วยว่าในช่วงนี้นักท่องเที่ยวกำลังฮิตไปเที่ยวเมืองสุดฮอตอย่างเมืองน่านที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวก็มักจะขับรถผ่านเลยวัดแห่งนี้ไปเฉยๆ

วัดจอมสวรรค์ โบราณสถานจากสักทอง

 

ผมคิดว่าคงดีไม่น้อยหากนักเดินทางจะเสียเวลาแวะชมวัดแห่งนี้ และเพลินไปกับความสวยงามความวิจิตรในวัดเล็กๆ ภายในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ อาจทำให้การเดินทางของคุณมีความหมายมากกว่าเดิม

วัดจอมสวรรค์ โบราณสถานจากสักทอง

 

ต้องเล่าก่อนว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว สภาพของวัดจอมสวรรค์ครั้งนั้นยังทรุดโทรม ตัวอารามถูกทิ้งร้าง เต็มไปด้วยข้าวของโบราณรูปทรงประหลาดๆ อีกทั้งมีต้นตะเคียนอายุหลายร้อยปี และเจดีย์ทรงโบราณ ที่ชวนให้บรรยากาศดูวังเวงไม่เชื้อเชิญให้เข้าไปเสียเลย แต่หลังจากที่กรมศิลปากรมาบูรณะวันจอมสวรรค์อย่างจริงจัง วัดแห่งนี้ก็ได้กลับมางดงามสมชื่อ “จอมสวรรค์” อีกครั้ง

วัดจอมสวรรค์ โบราณสถานจากสักทอง

 

วัดแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยศิลปะแบบพม่าซึ่งใช้เวลาในการสร้างถึง 5 ปีเต็ม โดยผู้สร้างตามใบลานระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นพวกเงี้ยว (ชาวไทยใหญ่) ซึ่งอพยพจากพม่าเข้ามาอยู่ในเมืองแพร่ จากที่เห็นตัววิหารนั้นเป็นไม้สักทองทั้งหลังซึ่งเป็นไม้ประจำจังหวัดแพร่ โดยช่างผู้สร้างวัดได้ฉลุลวดลายอันวิจิตรคงรูปแบบเฉพาะตัวของวัดพม่า ซึ่งในบริเวณวัดจะเป็นอาคารอเนกประสงค์ ทำหน้าที่ทั้งวิหาร อุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฏิ โดยภายหลังบริเวณวิหารและเจดีย์ของวัดจอมสวรรค์ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ

วัดจอมสวรรค์ โบราณสถานจากสักทอง

 

เมื่อสำรวจทั้งในและนอกตัววิหารวัด จะเห็นว่าเป็นอาคารไม้สักยกพื้นสูง เคยมีบันไดขึ้นด้านหน้าสองข้างเป็นไม้ แต่หลังกรมศิลปากรเข้ามาบูรณะ จึงสร้างให้มั่นคงด้วยการก่ออิฐฉาบปูน จากนั้นตกแต่งหัวเสาบันไดและกำแพงชานพักด้วยลายปูนปั้น ส่วนราวบันไดช่างได้ปั้นเป็นลายนูนสูงซึ่งคงลักษณะให้คล้ายเดิมไว้มากที่สุด ส่วนหลังคาทางขึ้นเป็นซุ้มซ้อนลดหลั่นกัน 6 ชั้น ลักษณะของยอดซุ้มเป็นยอดฉัตรทำด้วยแผ่นโลหะฉลุลาย ระหว่างชั้นของซุ้มประดับด้วยกรอบลายย่อมุมไม้สิบสอง ติดลายดาวรูปดอกไม้ตรงกลาง อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแบบพม่า

วัดจอมสวรรค์ โบราณสถานจากสักทอง

 

เมื่อก้าวพ้นบันไดจะแปลกตาด้วยระเบียงสองข้าง ซึ่งมีลูกกรงเป็นไม้กลึงกลมลูกมะหวดลักษณะคล้ายระเบียงบ้านแต่กว้างกว่า ถัดจากระเบียงใหญ่สองข้างหน้าอุโบสถ จะมีประตูบานเฟี้ยมหลายบานเปิดโล่งอยู่ เพื่อประโยชน์ในการเดินเข้าวัดได้สะดวก ตามมุมต่างๆ ลงลวดลายปิดทองไว้ทุกจุด ซึ่งทำให้เห็นถึงการใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของฝีมือช่างในสมัยก่อน

วัดจอมสวรรค์ โบราณสถานจากสักทอง

 

แม้แต่ลักษณะการตีฝาไม้กระดานแทนที่จะตีเหมือนๆ กัน วัดจอมสวรรค์กลับตีทั้งตามแนวตั้งและแนวนอน บ้างก็ตีเฉียงสลับกันเป็นรูปก้างปลาทำให้เกิดเส้นสายที่แปลกตา เจ้าอาวาสสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการที่มีช่างมากฝีมือหลายคนมาร่วมกันสร้าง จึงทำให้ดูแตกต่างแต่กลับลงตัวอย่างวิจิตรบรรจง เมื่อขึ้นมายังตัววิหารจะเห็นเพดานลวดลายไม้ฉลุรูปดอกไม้และสัตว์หิมพานต์นานาชนิด เรียงตัวแนวเดียวกันกับเสาไม้สักทรงกลม ฉลุด้วยสีทองสวยงามเพื่อนำสายตาไปสู่หลวงพ่อจอมสวรรค์ปางห้ามมารที่ประดิษฐานอยู่เพียงองค์เดียว โดยรวมเมื่อเข้ามาข้างในจะเห็นว่าทั้งงดงามและไม่เหมือนวัดใด

วัดจอมสวรรค์ โบราณสถานจากสักทอง

 

ประวัติการสร้างวัดและเจดีย์รูปทรงศิลปะแบบพม่า ตามคำบอกเล่าของ “พระครูนิวัฐ” เจ้าอาวาสวัดแห่งนี้เล่าให้ฟังไว้ว่า ที่นี่ได้มีสองพ่อค้าเงี้ยวเข้ามาสร้างก่อนแต่ไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งไม่ปรากฏปีที่หยุดสร้าง แต่ต่อมา “จอง นันตา” ได้เข้ามาบูรณะวัดแห่งนี้ใหม่หลังถูกทิ้งไว้เป็นร้อยปี ซึ่งเขาเองเป็นพ่อค้าชาวไทยใหญ่ อพยพจากพม่าเพื่อทำไม้และเหมืองจนร่ำรวย จึงชวนชาวไทยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมืองแพร่มาทำการบูรณะซ่อมแซมวัดนี้ขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นวัดศิลปะพม่าที่ถูกทิ้งไว้จนทรุดโทรม จากนั้นเมื่อบูรณะก็ก่อสร้างเจดีย์เพิ่มเติมจนเป็นอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน

วัดจอมสวรรค์ โบราณสถานจากสักทอง

 

ตั้งแต่นั้นชาวพม่าที่อพยพก็มาอยู่อาศัยบริเวณโดยรอบของวัด กระทั่งกลายเป็นหมู่บ้านขึ้น เรียกว่า ‘บ้านใหม่’ โดยชาวบ้านได้ยึดถือวัดแห่งนี้เพื่อทำบุญบำเพ็ญกุศลตามแบบพม่ามาโดยตลอด หลังจากนั้นเมื่อเวลาล่วงผ่าน ชาวไทยใหญ่เริ่มถูกกลืนจนมีขนบและวัฒนธรรมเป็นคนไทยแท้ วิถีปฏิบัติอันคุ้นเคยของชาวไทยใหญ่ที่บ้านใหม่ก็ไม่มีผู้สืบทอด ทำให้วัดแห่งนี้ทรุดโทรม

วัดจอมสวรรค์ โบราณสถานจากสักทอง

 

แต่ด้วยวัดจอมสวรรค์เต็มไปด้วยวัตถุที่มีคุณค่าหลายอย่าง อันเป็นศิลปะล้ำค่าทางพระพุทธศาสนา กรมศิลปากรได้เล็งเห็นความสำคัญจึงเข้ามาบูรณะและจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ในปี 2533 ไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม

วัดจอมสวรรค์และพิพิธภัณฑ์เปิดให้เยี่ยมชมตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ไม่มีวันหยุดหากท่านผู้อ่านผ่านไปเส้นทางแพร่น่าน วัดแห่งนี้จะอยู่บริเวณข้างทางขวามือ เมื่อเข้าไปในบริเวณจะมีที่จอดรถกว้างขวางมาก แวะกราบไหว้หลวงพ่อจอมสวรรค์ปางห้ามมารเพื่อความเป็นสิริมงคล