posttoday

โบตั๋นดอกไม้เมืองสวรรค์

25 สิงหาคม 2556

ภาพเขียนโบราณของจีนมักปรากฏภาพดอกไม้ชนิดหนึ่งปรากฏอยู่เสมอและมันทำให้เราฉงนใจในความสวยงามอ่อนช้อยของกลีบดอก

โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม

ภาพเขียนโบราณของจีนมักปรากฏภาพดอกไม้ชนิดหนึ่งปรากฏอยู่เสมอและมันทำให้เราฉงนใจในความสวยงามอ่อนช้อยของกลีบดอก ซึ่งดูแปลกตาไม่เหมือนดอกไม้จากเมืองจีนที่เรารู้จัก ไม่ว่าจะเป็นกุหลาบ โรโดเดนดรอน เบญจมาศ หรือแม้แต่คามีเลีย พริมูลา หรือแม้แต่แมกโนเลีย หลายครั้งที่ผู้เขียนเคยได้ฟังการบรรยายเรื่องราวของวัดวาอารามจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งกล่าวถึงศิลปกรรมจีนที่ปรากฏอยู่ตามผนังโบสถ์วิหาร โดยยืนยันว่าโบตั๋นนั้นก็คือดอกพุดตานนั่นเอง ทำให้เป็นที่มาของเรื่องราวของโบตั๋นในวันนี้

สำหรับคนจีนมีความเชื่อกันมาแต่โบราณว่าดอกโบตั๋น (Peony) เป็น “ราชาแห่งดอกไม้” (The King of Flowers) เป็นความงามระดับชาติ (National Beauty) และมีกลิ่นหอมของสรวงสวรรค์ (Heavenly Fragrance) โบตั๋นเป็นดอกไม้ที่มีชื่อเสียงและเป็นดอกไม้ธรรมชาติ ซึ่งนิยมปลูกกันในประเทศจีนมา แต่โบราณและได้รับความนิยมกันในหมู่ประชาชนคนจีนเอง ในปี พ.ศ. 2502 อดีตนายกรัฐมนตรี โจว เอน ไล ระหว่างการตรวจราชการในเมืองโลวหยาง กล่าวว่า ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติของจีน เป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้าของชนชาวจีน

การจำแนกทางพฤกษศาสตร์ของโบตั๋น

โบตั๋นยุคปัจจุบันและโบตั๋นพื้นเมืองของจีนล้วนแต่อยู่ในสกุลพีโอเนีย (Paeonia) ในวงศ์ Ranunculaceae แต่ปัจจุบันนักวิชาการจัดให้มันรวมอยู่ในวงศ์ใหม่ของมันเองคือ วงศ์ Paeoniaceae พีโอนี ซึ่งเรารู้จักกันดี ยุคปัจจุบันคือ P.suffruticosa นั้นจัดเป็นไม้พุ่มที่เป็นไม้ผลัดใบสูงประมาณ 12 เมตร มีใบเกิดและจัดเรียงตัวแบบสลับ แบ่งสามสองครั้ง (Bitemate) ใบย่อยมี 3 แฉก ดอกขนาดใหญ่เกิดเป็นดอกเดี่ยวที่ปลายกิ่งขนาด 1520 เซนติเมตร หรืออาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 30 เซนติเมตร ก็ได้ P.lactiflora เป็นโบตั๋นอีกชนิดในเมืองจีนที่เป็นไม้พุ่มอายุหลายปี สูง 0.61.2 เมตร ใบเล็กกว่าโบตั๋นทั่วไป โดยมีใบ 13 ใบ อยู่ที่ปลายกิ่งหรืออยู่ในซอกใบที่ยอด ดอกขนาด 913 เซนติเมตร เล็กกว่าโบตั๋นชนิดอื่นๆ โบตั๋นชนิดนี้มีดอกงดงามเป็นที่สุดจนเลื่องลือไปทั่วทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจีนและมีประวัติการปลูกเลี้ยงมานานในประวัติศาสตร์โดย หยาง ชู (Yangzhou) แห่งเจียงชู เป็นผู้มีชื่อเสียงในการปลูกเลี้ยง รากของโบตั๋นชนิดนี้มักถูกนำไปใช้เข้ายาจีน รากของโบตั๋น ซึ่งอยู่ภายใต้การปลูกเลี้ยงจะมีสีขาว ซึ่งเรียกกันว่า Radix Paeoniae alba) ส่วนโบตั๋นป่าจะเรียกกันว่า “โบตั๋นรากแดง” ซึ่งให้ผลในทางบำบัดเช่นเดียวกับเปลือกของรากโบตั๋นทั่วไป โดยเป็นผลชะงัดในด้านการทำให้เชื่องซึมและระงับปวด โบตั๋นป่าและโบตั๋นซึ่งปลูกเป็นสมุนไพรนั้นมักพบตามสวนของบริษัทยาจีน การขยายพันธุ์โบตั๋นมักทำโดยการเสียบยอด (Grafting) หรือการตัดชำ โดยการเพาะเมล็ด ต้นโบตั๋นจะออกดอกบานในเวลา 56 ปี สมัยปัจจุบันมีการขยายพันธุ์โดยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกันแล้ว

เทคนิคปลูกเลี้ยงในจีน

โบตั๋นเป็นไม้ดอกเมืองหนาวโดยแท้จริง หลายปีมาแล้ว (ประมาณ 1415 ปี) เห็นจะได้เคยมีการนำเอาโบตั๋นจากจีนเข้ามาปลูกเลี้ยงบนเรือนโรงพิเศษบนสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง หลังจากพยายามปลูกปล้ำกันอยู่หลายปี โบตั๋นชุดนั้นก็ทยอยกลับบ้านเก่าจนหมด และสาบสูญพันธุ์ไปนับตั้งแต่นั้น กล่าวกันว่าแม้แต่ในเมืองจีน โบตั๋นยังชอบอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูร้อนและชอบอากาศหนาวจัดพอในช่วงฤดูหนาว ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะปลูกโบตั๋นในเขตที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีเกินกว่า 15 ?C นอกจากนี้ ภัยสำคัญของโบตั๋นก็คือการได้รับฝนชุก ซึ่งจะทำให้เกิดโรครากเน่า ดังนั้น พื้นที่ปลูกจึงควรเป็นดินที่แห้งระบายน้ำดี และต้องไม่รดน้ำมากเกินไป แสงแดดตลอดวันเป็นสิ่งดีแต่แสงแดดจัดอุณหภูมิสูงในฤดูร้อนเป็นสิ่งควรระวัง โดยมีตาข่ายพรางแสงให้บ้างเพื่อลดอุณหภูมิลง ดินปนทรายเป็นสิ่งจำเป็นและควรมีฮิวมัสหรืออินทรียวัตถุสูง ดินควรเป็นดินด่างเล็กน้อย หากจะปลูกในดินเป็นกรดก็ต้องหาปูนขาวใส่ปรับพีเอชให้อิงไปทางด่าง โบตั๋นเป็นพืชที่แพ้โรคราฟิวซาเรียม (Fusarium Oxysporum) ซึ่งพบมากในเมืองไทยเช่นกัน

พันธุกรรมโบตั๋นในแคว้นยูนนาน

โบตั๋นดอกเหลือง (P.lutea) พบตามภูเขาหินปูนในยูนนาน มันมีต้นสูง 0.61 เมตร มักเกิดดอกคราวละ 25 ดอก สีทองเหลืองอร่ามบนปลายกิ่ง โดยเกิดดอกตามซอกใบ แต่ละดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 56 เซนติเมตร และมีกลีบดอก 912 กลีบทีเดียว โบตั๋นชนิดนี้ดอกบานในเดือน เม.ย.พ.ค. ผลแบบ Follicle มีความเหนียวยาว 3 เซนติเมตร หนา 1.5 เซนติเมตร ติดผลในเดือน ก.ย.ต.ค. แถบลี่เจียงในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของยูนนาน เราจะพบโบตั๋นอีกชนิดคือ P.delavayi var. angustiloba พบตามโขดภูเขาหินที่มีสนเกี๊ยะขึ้นอยู่ด้วยในระดับ 2,3002,700 เมตร ในแถบลี่เจียงและดีคิน ในยูนนานนับเป็นพันธุกรรมดีที่ใช้ยีนในการปรับปรุงสร้างลูกผสมโบตั๋นใหม่ๆ ออกสู่สายตาชาวโลก

กล่าวถึงโบตั๋นเพียงแค่นี้ก็คงยืนยันได้แล้วนะครับว่า โบตั๋นนั้นเป็นคนละเรื่องกับดอกพุดตานในบ้านเราสวัสดี