posttoday

ยกระดับผ้าทอล้านนาด้วย 3 เทคโนโลยี

24 กุมภาพันธ์ 2562

“การทอผ้า” เป็นภูมิปัญญาอันเป็นรากเหง้าและมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนานของคนไทยในหลายยุคหลายสมัย

“การทอผ้า” เป็นภูมิปัญญาอันเป็นรากเหง้าและมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนานของคนไทยในหลายยุคหลายสมัย ซึ่งผ้าทอไทยยังคงเป็นสินค้าหัตถกรรมหลักที่ไม่เพียงสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศไทยเท่านั้น ความสวยงาม ประณีต อันเป็นเอกลักษณ์ยังสร้างชื่อเสียงให้ผ้าไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

กลุ่มทอผ้าฝ้ายบ้านหนองเงือก คือ หนึ่งในชุมชนแห่ง อ.ป่าซาง ที่มีวิถีชีวิตทอผ้าเป็นหลัก โดยเฉพาะผ้าฝ้ายทอมือที่ผ่านการถักทอด้วยลวดลายวิจิตรบรรจงของชาวหนองเงือกนั้น ขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพดี และมีราคาที่ย่อมเยา จนทำให้บ้านหนองเงือกถูกยกให้เป็นแหล่งผลิตฝ้ายทอมือที่สำคัญของ จ.ลำพูน

แต่ทุกวันนี้ ผ้าฝ้ายทอมือผืนงามของบ้านหนองเงือกไม่ได้มีดีแค่สีสันลายผ้าที่เป็นอัตลักษณ์จากชาวยองเท่านั้น เพราะกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายยังผสมผสาน “นวัตกรรม” และ “เทคโนโลยีสมัยใหม่” ซึ่งไม่เพียงช่วยปรับปรุงแก้ไขปัญหาผ้าฝ้ายทอมือที่มีมาแต่เดิม ยังช่วยเพิ่มมูลค่าผ้าฝ้ายให้ทันสมัย โดดเด่นด้วยนวัตกรรม

วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และในฐานะผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) กล่าวว่า สวทช.เป็นองค์กรวิจัยของประเทศ มีหน้าที่สำคัญในการสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งโจทย์ใหญ่ถัดมาคือทำอย่างไรให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สท.จึงเป็นหน่วยงานน้องใหม่ที่เข้ามารับบทบาทหน้าที่นำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นผลงานทั้งจาก สวทช.เอง หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยเครือข่ายต่างๆ มาถ่ายทอดให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์

“หมู่บ้านสิ่งทอหนองเงือก คือหนึ่งในหมู่บ้านจากโครงการการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับสิ่งทอพื้นเมือง โดย สท.ได้นำผลงานวิจัยจากศูนย์วิจัยแห่งชาติของ สวทช.มาถ่ายทอดให้กับชุมชน ซึ่งจะมี 3 เทคโนโลยีหลัก คือ เทคโนโลยีเอนไซม์เอนอีซ เทคโนโลยีพิมพ์สกรีนผ้าด้วยสีธรรมชาติ และเทคโนโลยีสิ่งทอนาโน เพื่อต่อยอดผ้าทอล้านนาให้มีจุดเด่นทั้งในด้านคุณภาพ และตรงตามความต้องการของลูกค้า”

ทำความสะอาดผ้าฝ้ายด้วย “เอนไซม์ธรรมชาติ”

ยกระดับผ้าทอล้านนาด้วย 3 เทคโนโลยี

กว่าจะเป็นผ้าฝ้ายทอมือบ้านหนองเงือกเริ่มต้นจากการเก็บดอกฝ้ายมาอัดเพื่อเอาเมล็ดออก นำฝ้ายที่แยกเมล็ดแล้วมาตีให้ฟู ปั้นเป็นหลอดเล็กๆ คล้ายหลอดกาแฟ สำหรับนำไปปั่นเป็นเส้นด้ายฝ้ายเพื่อใช้เป็นเส้นพุ่ง เส้นยืน ซึ่งในการทอผ้าจะมีการใส่แป้งลงไปที่ด้ายเส้นยืนก่อน เพื่อลดแรงเสียดทานในการดึงเส้นด้ายระหว่างทอ ทำให้เส้นด้ายไม่ขาดง่าย ฉะนั้นผ้าที่ได้มาจึงมีแป้งเคลือบอยู่ ต้องนำไปผ่านกระบวนการลอกแป้ง กำจัดไขมันและสิ่งสกปรกออกให้หมดก่อนนำไปย้อมหรือพิมพ์สีธรรมชาติ ซึ่งปกติชาวบ้านจะนำผ้าฝ้ายมาต้มนานหลายชั่วโมงเพื่อลอกแป้งและเอาสิ่งสกปรกที่ติดมากับดอกฝ้ายออก หากแต่ว่าผ้าฝ้ายที่ต้มแล้วยังมีปัญหาแป้งและสิ่งสกปรกตกค้าง ทำให้เวลานำมาย้อมก็จะไม่ติดสี หรือมีสีด่างเป็นจุดๆ สีไม่สม่ำเสมอ

เอนไซม์เอนอีซ คือ ผลงานวิจัยของดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เป็นเอนไซม์อัจฉริยะทูอินวัน มีเอนไซม์ 2 ตัว คือ เอนไซม์อะไมเลสและเพกติเนส ซึ่งสามารถทำงานได้ดีในช่วงค่าพีเอช (pH) และอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกัน โดยเอนไซม์อะไมเลสใช้ลอกแป้ง ส่วนเอนไซม์เพกติเนสกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้า จึงทำให้ลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายได้พร้อมกันในขั้นตอนเดียว ช่วยประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนในการผลิต ที่สำคัญเอนไซม์ที่ใช้มาจากจุลินทรีย์ในธรรมชาติจึงปลอดภัยและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

พิมพ์ลายบนผ้าฝ้ายด้วยใบลำไยของดีท้องถิ่น

ยกระดับผ้าทอล้านนาด้วย 3 เทคโนโลยี

ในกระบวนการย้อมหรือพิมพ์สีผ้า ส่วนใหญ่จะใช้สีเคมี เนื่องจากสะดวก หาซื้อง่าย ให้สีที่เข้มและมีความคงทนสูง หากแต่ว่าสีเคมีบางตัวสามารถแตกตัวให้สารที่มีแนวโน้มเป็นสารก่อมะเร็งได้ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก ทำให้ถูกยกเลิกหรือห้ามนำเข้าสินค้าที่ใช้สีเคมีนี้ในบางประเทศ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านและผู้ประกอบการหันมาย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติแทนสีเคมีมากขึ้น แต่สำหรับการพิมพ์สีธรรมชาติยังไม่นิยมมากนัก

ดร.มณฑล นาคปฐม นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ได้พัฒนาการผลิตสีผงธรรมชาติจากวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่นและการเตรียมแป้งพิมพ์สีธรรมชาติให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการพิมพ์บนผ้าทอ โดย จ.ลำพูน นั้นขึ้นชื่อในเรื่องการปลูกต้นลำไยจำนวนมาก จึงมีการนำใบลำไยมาต้มสกัดในน้ำและทำการระเหยจนได้น้ำสีสารละลายเข้มข้น แต่หากต้องการเก็บไว้ใช้ในรูปของผงสีก็เพียงนำสีสารละลายเข้มข้นมาผ่านลมร้อนในเครื่องสเปรย์ดรายก็จะได้ผงสีพร้อมใช้ แต่หากชาวบ้านไม่มีเครื่องมือสามารถทำด้วยวิธีง่ายๆ คือนำไปตากแดดจัดๆ 3-4 วัน สีจะแข็งตัวเป็นก้อนแล้วนำมาขูดเป็นผง ก็จะได้ผงสีที่ได้จากพืชแต่ละชนิด ซึ่งสามารถเก็บได้นานและนำออกมาใช้ได้ทุกเมื่อยามต้องการ

การนำวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่นมาทำเป็นสีผง นอกจากสีที่ได้จะย้อมติดสีสูง ลดปัญหาสีซีดจางได้แล้ว ยังเป็นการใช้วัตถุดิบเหลือทิ้งในท้องถิ่น และสร้างอัตลักษณ์ให้ผ้าทอชุมชนด้วยเพิ่มมูลค่าผ้าฝ้ายล้ำสมัย ด้วยเทคโนโลยีนาโน

นอกจากการปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ้าทอพื้นเมืองให้สวยงามและมีคุณภาพมากขึ้นแล้ว ยังมีการนำความรู้และงานวิจัยด้าน “นาโนเทคโนโลยี” มาเพิ่มสมบัติใหม่ๆ ให้ผ้าพื้นเมือง ถือเป็นการสร้างก้าวใหม่ให้ผ้าทอไทยมีความทันสมัย ไม่ถึงทางตัน

ยกระดับผ้าทอล้านนาด้วย 3 เทคโนโลยี

ทั้งนี้ ดร.วรล อินทะสันตา นักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ได้คิดค้นพัฒนาน้ำยานาโนที่จะเข้ามาช่วยลบจุดด้อย เสริมจุดเด่นให้กับผ้าทอไทยแล้วถึง 5 สมบัติด้วยกัน ได้แก่ 1) สมบัติผิวสัมผัสนุ่มลื่นไม่ยับง่าย 2) สมบัติสะท้อนรังสียูวี ช่วยลดสีซีดจาง 3) สมบัติสะท้อนน้ำ 4) สมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุให้เกิดกลิ่น และ 5) มีกลิ่นหอมติดทนนาน ซึ่งสมบัติพิเศษเหล่านี้ไม่เพียงขยายโอกาสทางการค้า แต่ยังช่วยให้คนไทยหันกลับมาสวมใส่ผ้าทอไทยในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

ปัจจุบันผ้าฝ้ายทอมือที่เลื่องชื่อแห่งบ้านหนองเงือก ได้ถูกส่งมาเคลือบน้ำยานาโนสูตรพิเศษ ก่อนจะถูกนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าฝ้ายที่มีดีไซน์ทันสมัย หรือนำไปใช้ทำผ้าส่วนประกอบเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ

มาลี กันทาทรัพย์ ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผ้าฝ้ายทอมือ-ผ้าฝ้ายนาโนบ้านหนองเงือก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผ้าฝ้ายฯ ได้ส่งแกนนำกลุ่มทอผ้าไปอบรมเทคโนโลยีกับทาง สวทช. แล้วนำองค์ความรู้กลับมาพัฒนาต่อยอดปรับใช้กับการผลิตผ้าทอพื้นเมืองบ้านหนองเงือก เช่น การใช้เอนไซม์เอนอีซในการลอกแป้ง ทำความสะอาดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้าย

จากเดิมที่ต้องต้มผ้าฝ้ายนานๆ ก็เปลี่ยนมาแค่แช่ผ้าฝ้ายกับเอนอีซ 1 คืน ผ้าที่ได้สะอาดไม่หลงเหลือแป้ง เวลาย้อมสีธรรมชาติ สีก็ติดดี สม่ำเสมอ แถมสีผ้าดูใสสว่างขึ้นมาก ประหยัดทั้งเวลา ทั้งต้นทุน และที่สำคัญก็คือ แต่เดิมนั้นการต้มผ้าด้วยความร้อนจะทำให้เส้นใยของผ้าถูกทำลาย แต่การแช่ด้วยเอนไซม์จากธรรมชาติไม่สร้างผลเสียต่อผ้าเลย นอกจากนี้ นักวิจัยยังมาช่วยเรื่องการพิมพ์ลายผ้าด้วยสีธรรมชาติ โดยพัฒนาสีผงจากใบลำไยซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีมากใน จ.ลำพูน เป็นสีธรรมชาติที่มาในรูปแบบผง ที่เราสามารถละลายสีและใช้พิมพ์ลายได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง ช่วยเพิ่มมูลค่าได้มาก เพราะแต่เดิมการพิมพ์ลายจะต้องใช้สีเคมี แต่อันนี้เป็นสีจากธรรมชาติที่ดี ปลอดภัยทั้งต่อลูกค้าและสิ่งแวดล้อม

ยกระดับผ้าทอล้านนาด้วย 3 เทคโนโลยี

“ที่พิเศษเลยก็คือ เทคโนโลยีนาโนที่บ้านหนองเงือกได้ส่งผ้าไปเคลือบน้ำยานาโนที่ศูนย์นาโนเทค ทำให้ได้ผ้าฝ้ายมีคุณสมบัติพิเศษ 5 สมบัติ คือ นุ่มลื่น ให้กลิ่นหอม ยับยั้งแบคทีเรีย ป้องกันรังสียูวี และสะท้อนน้ำ ซึ่งสมบัติเหล่านี้ช่วยให้ผ้าฝ้ายทอมือมีความนุ่มลื่น มีกลิ่นหอม ไม่เหม็นอับจากแบคทีเรีย สีซีดจางน้อยลงจากการป้องกันรังสียูวีแล้วก็สะท้อนน้ำได้ เวลาน้ำหกใส่ผ้าก็ไม่เลอะเปรอะเปื้อน ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ชอบใจว่าผ้านุ่มลื่น เป็นผ้าทอนวัตกรรมกันน้ำได้ จากเมื่อก่อนขายเสื้อผ้าฝ้ายราคาตัวละ 1,000 บาท เคลือบนาโนแล้วก็ขายได้เพิ่มเป็นตัวละ 1,500 บาท”

ทุกวันนี้ ผ้าฝ้ายบ้านหนองเงือกแห่งเมืองหละปูน ไม่เพียงงดงามด้วยภูมิปัญญาที่สานต่อมาสู่คนรุ่นหลัง แต่ยังถูกพัฒนาต่อยอดให้โดดเด่นด้วยวิทยาศาสตร์ ก้าวข้ามขีดจำกัดของงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ได้ผ้าฝ้ายทอมือที่มีคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน