กล้วยไม้ (Orchid)

หอมกลิ่นกล้วยไม้ที่ใกล้ทาง เหมือนกลิ่นสไบนางขนิษฐา

อิเหนา...พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2

กล้วยไม้ไต่ไม้ค่าง
รัถยา
ส่งกลิ่นตระหลบมา เฟื่องฟุ้ง
กลกลิ่นขนิษฐ์นา รีรัตน์ เรียมเอย
หอมตระหลบอบมุ้ง รุ่งเช้ายังหอม

นิราศกาญจนบุรี...พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5

ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วกันว่า กล้วยไม้หรือดอกเอื้องนั้นมีมากมาย มีทั้งที่ขึ้นกับดิน มีทั้งที่เกาะอาศัยกับลม หิน น้ำ อยู่กับที่ต่าง ๆ มีทั้งที่ผู้คนนำเอามาปลูกเพาะเลี้ยงกันด้วยใจรักนิยม มีทั้งที่เป็นของเทศ มีทั้งที่เป็นของไทยแท้ และในบรรดาเอื้องกล้วยไม้เหล่านี้ที่มีกลิ่นหอมอยู่ก็ไม่น้อย โดยเฉพาะกล้วยไม้ของไทยเราเท่าที่อ้างในที่นี้คือ

หวายตะมอย Dendrobium crumenatum

ช้างดำ ช้างแดง ช้างเผือก Rhynchostylis gigantea Ridl.

เอื้องกุหลาบ Aerides spp.

เอื้องสามปอยขุนตาล สามปอยหลวง Vanda denisoniana

เอื้องสายปอยดง Vanda bensonii

และอื่น ๆ อีกไม่น้อย

ส่วนกล้วยไม้ต่างประเทศที่หอม ๆ ก็คือพวกคัทลิยา ทั้งที่เป็นของป่าและลูกผสม (Cattleya sp. And Cattleya hybrids) หลายต่อหลายชนิดที่มีกลิ่นหอมแรง มีทั้งที่หอมอ่อน ๆ ระรวย ส่วนเรื่องการปลูกนั้นเนื่องจากมีผู้นิยมเลี้ยงเล่นกล้วยไม้อยู่แล้วมากมาย ฉะนั้นการปลูกการขยายพันธุ์ก็คงจะมีผิดแผกแตกต่างกันมากมาย แต่จะอย่างไรก็ตามกล้วยไม้ส่วนมากปลูกง่าย เพราะส่วนใหญ่อยู่ที่น้ำกับลมเท่านั้น


เอื้องกุหลาบ (Aerides spp.)

 

มีกล้วยไม้หลายชนิดที่เรียก เอื้องกุหลาบ แต่ที่มีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นดอกกุหลาบนั้น มี 2 ชนิด คือ เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด (Aerides falcata Lindl.) และ เอื้องกุหลาบกระเป๋าปิด (Aerides odorata Lour.) ทั้งสองชนิด เป็นกล้วยไม้ท้องถิ่นของไทย ออกดอกในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม ช่อดอกห้อยลงเป็นพวง ยาว 20 - 30 เซนติเมตร ดอกบานทนประมาณ 1 สัปดาห์ ต้นเป็นลำยาวได้ถึง 50 เซนติเมตร หรือมากกว่านี้ อาจจะตั้งตรงหรือเอน ห้อยลง ใบเป็นแถบยาว เรียงสลับซ้ายขวา โคนใบหุ้มต้น ขนาดใบยาว 15 - 20 เซนติเมตร กว้าง 2 - 25 เซนติเมตร


เอื้องแซะหลวง (Dendrobium scabrilingue Lindl.)

กล้วยไม้ชนิดนี้ มีกลิ่นหอมเป็นที่เลื่องลือ และได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ในอดีตหัวเมืองในภาคเหนือ เช่นแม่ฮ่องสอน ใช้เป็นเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าเชียงใหม่ ดอกนอกจากจะหอมแล้ว ยังบานทนทานนานเป็นเดือน แต่ปลูกเลี้ยงในภาคกลางได้ยาก เนื่องจากในธรรมชาติเจริญงอกงามได้ดีตามภูเขาที่ระดับสูงจากน้ำทะเลมากกว่า 9,000 เมตรขึ้นไป เอื้องแซะหลวงเป็นกล้วยไม้ท้องถิ่นของไทย พม่า และลาว ต้นเป็นลำเล็ก ๆ ยาว 6 - 18 เซนติเมตร ขึ้นเป็นกอ มีขนละเอียดสีดำตามต้น ใบเกิดใกล้ยอด รูปขอบขนานและค่อนข้างแข็ง ยาว 6 - 7 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ดอกเกิดตรงซอกใบ ขนาด 2 - 2.5 เซนติเมตร สีขาว กลีบปากสีเขียวอมเหลือง สีของกลีบปากจะเข้มขึ้นเป็นสีเหลืองสด และสีเหลืองอมส้มในวันต่อ ๆ มา ดอกบานในช่วงฤดูร้อน