×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » โปรตีนทางเลือก ปฏิวัติวงการอาหาร ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน

โปรตีนทางเลือก ปฏิวัติวงการอาหาร ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน

วันที่เผยแพร่ 31 มีนาคม 2021 6584 Views

ใครเคยได้ยินเรื่องของ “โปรตีนทางเลือก” บ้างเอ่ย? เชื่อว่าบางคนอาจยังไม่รู้จัก หรือบางคนอาจคุ้นชินว่าเป็นอาหารสำหรับชาวมังสวิรัติ แต่จริงๆ แล้วโปรตีนทางเลือกมีบทบาทมากกว่านั้น ดังนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักไปด้วยกัน เพราะโปรตีนทางเลือกจะเข้ามาปฏิวัติวงการอาหารในอนาคตอย่างแน่นอน

โปรตีนทางเลือกคืออะไร

โปรตีนทางเลือก คือโปรตีนที่ไม่ได้มาจากเนื้อปศุสัตว์ โดยผลิตจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น พืช สาหร่าย ถั่ว แมลง เชื้อราที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และโปรตีนจากการเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง เป็นต้น ซึ่งเรามักพบเห็นการกินโปรตีนจากพืชได้ง่ายๆ ในเทศกาลกินเจ หรือพบได้ในหมวดอาหารสำหรับผู้กินมังสวิรัติ ซึ่งโปรตีนทางเลือกเป็นอาหารที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้โลกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื้อจากพืช (Plant-Based Meat) มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมกระบวนการผลิตมาใช้ เช่น กระบวนการหมักที่เกิดจากการนำยีสต์และโปรตีนที่สังเคราะห์ได้จากรากของพืชตระกูลถั่ว เพื่อทำให้เกิดฮีม (Heme) ที่มีลักษณะคล้ายกล้ามเนื้อของสัตว์ หรือกระบวนการหมักจากถั่วเหลือง ยีสต์และสารสกัดจากเมล็ดดอกทานตะวัน เพื่อผลิตเนื้อที่มีความใกล้เคียงอาหารทะเล เป็นต้น

ทำไมต้องมีโปรตีนทางเลือก

โปรตีนทางเลือกถูกให้ความสำคัญขึ้นเพราะเราเริ่มตระหนักว่าประชากรโลกเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าความเร็วในการผลิตอาหาร ทำให้โปรตีนจากเนื้อสัตว์อาจผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้การเลี้ยงปศุสัตว์ยังก่อให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งทำลายชั้นบรรยากาศ อีกทั้งยังช่วยลดพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีการคำนวณไว้ว่า 1 คนรับประทานเนื้อสัตว์ ใช้พื้นที่ 4 ไร่ แต่ถ้า 1 คนรับประทานผักในปริมาณเท่ากัน ใช้พื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งก็แน่นอนว่าจะส่งผลให้มีพื้นที่เพียงพอในการผลิตอาหารให้กับประชากร แหล่งโปรตีนอื่นๆ จึงเป็นทางเลือกที่จะมาทดแทนเนื้อปศุสัตว์

สถานการณ์โปรตีนทางเลือกในปัจจุบัน

ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญและให้บทบาทกับโปรตีนทางเลือกมากขึ้น เห็นได้จากตลาดของโปรตีนทางเลือกมีการเติบโตที่สูง และมีผู้สนใจลงทุนจำนวนมาก เช่น ร้าน Dunkin Donut ร่วมมือกับ Beyond Meat บริษัทอาหารรายใหญ่ เพื่อทำเมนูอาหารเช้าจากโปรตีนทางเลือก หรือ Burger King, McDonald’s และ Subway ได้เพิ่มส่วนประกอบที่เป็นโปรตีนทางเลือกจากพืชในเมนูอาหาร ขณะที่ IKEA ได้เสนอลูกชิ้นผักที่ทำจากถั่วลูกไก่ ถั่วลันเตาและแครอท โดยพัฒนาให้มีลักษณะและรสชาติเหมือนลูกชิ้นแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีบริษัทอีกหลายแห่งทั่วโลกที่ปรับตัวด้านอาหารให้สามารถใช้โปรตีนทางเลือกมาทดแทนเนื้อสัตว์ได้ สำหรับในประเทศไทยเอง ก็มีบริษัท Startup ที่มีการผลิตและวางจำหน่าย Plant-Based Meat ในตลาด เช่น บริษัท More Meat จำกัด, บริษัท Meat Avatar จำกัด และบริษัท NRF จำกัด และได้มีการคาดการณ์การเติบโตของ Plant-Based Food ในไทย ว่าจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2024

สอวช. จับตาโปรตีนทางเลือก โอกาสใหม่ของไทย

โปรตีนทางเลือก ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่ สอวช. อยู่ระหว่างการศึกษารวบรวมข้อมูล ทั้งในส่วนของโปรตีนจากแมลง และโปรตีนจากพืช โดยโปรตีนทางเลือก เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเกิดใหม่ (Emerging Food) ที่จะส่งเสริมการสร้างโอกาสใหม่ของผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงโดยมีการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน และยังสอดคล้องกับทิศทางกระแสโลก รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมในอนาคต

สอวช. ได้วิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น พบว่า Plant-Based Meat มีจุดเด่นคือ ความท้าทายของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากเพื่อพัฒนาทั้งรสชาติ เนื้อสัมผัสและกลิ่นให้มีความใกล้เคียงเนื้อสัตว์ และมีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยมีหน่วยงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต รวมถึงการผลิตอาหารจากพืช ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อย ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้พื้นที่ เป็นต้น ส่วนในด้านของปัญหาและอุปสรรค พบว่า ยังขาดนโยบายและมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจน เช่น การกำหนดฉลากสำหรับสินค้า Plant-Based และยังขาดการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจให้ถูกต้องกับผู้บริโภคในประเทศว่าเนื้อจากพืช ไม่ใช่เนื้อเทียม หรือเนื้อปลอมที่มีส่วนผสมบางส่วนจากเนื้อสัตว์ เป็นต้น

Tags:

เรื่องล่าสุด