เอื้องพลายชมพู / -

เอื้องพลายชมพู เป็นกล้วยไม้ในป่ามอส ชอบขึ้นตามสันเขาสูงที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,200 เมตร ขึ้นไป ที่มีอากาศเย็น ชื้น แสงจัดแต่ไม่ร้อน และลมแรง ดอกขนาดค่อนข้างใหญ่สีชมพูอ่อนสวยงามมาก เห็นแล้วนึกถึงอัญมณีสีชมพูติดตามลำต้นไม้บนผืนมอส เป็นกล้วยไม้ที่นิยมปลูกในหมู่ผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ทั่วโลก ควรเก็บรักษาไว้ในป่าธรรมชาติ และเป็นจุดถ่ายภาพสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ หากนำไปปลูกในพื้นล่างจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ในประเทศไทยพบเอื้องพลายชมพูในจังหวัดเชียงใหม่ เลย และพิษณุโลก เพิ่งพบในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในปี พ.ศ. 2563 เหลือเพียงกอเดียวเท่านั้น จึงควรอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรไม่ให้สูญหายไปจากพื้นที่ ประวัติการค้นพบ: ตั้งชื่อครั้งแรกโดย James Edward Smith ด้วยชื่อ Epidendrum praecox ต่อมาในปี ค.ศ. 1825 Professor David Don นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษตรวจสอบชื่อและย้ายไปอยู่สกุล Pleione ที่มาชื่อไทย: ดอกสวยงามมีเสน่ห์ เปรียบประดุจหนุ่มรูปงามในวรรณคดีไทย คือ ขุนแผน ใครเห็นก็หลงไหล ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: กล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยเป็นกระเปาะรูปน้ำเต้า สีเขียว มีประสีม่วงคล้ำ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 ซม. สูง 5-6 ซม. ใบ รูปรี กว้าง 3-4 ซม. ยาว 7-10 ซม. มีร่องเป็นจีบตื้นๆ ดอก ออกเป็นช่อจากโคนกอ จำนวน 1-2 ดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอก สีขาวหรือสีชมพูเข้ม กลีบปากแผ่ ขอบกลีบจักเป็นคลื่น และ มีแต้มสีแดงอมม่วง ดอกบานเต็มที่กว้าง 6 ซม. นิเวศวิทยา: พบตามป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 900-2,500 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ออกดอกช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม การกระจายพันธุ์: อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมาร์ และไทย ข้อมูลชีววิทยาอื่นๆ: - สถานภาพทางการอนุรักษ์: หายากในประเทศไทย เอกสารอ้างอิง: qsbg.org/database/botanic_book


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Pleione praecox (Sm.) D. Don

สถานที่เก็บตัวอย่าง/แหล่งอาศัย/ถิ่นที่อยู่ = ชายฝั่ง