svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

13 มีนาคม "วันช้างไทย" เปิดแผนลดขัดแย้ง คน-ช้างป่า เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

12 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

13 มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันช้างไทย" Nation STORY ชวนอ่านแผนปฏิบัติการของกรมอุทยานฯ แก้ปัญหาความขัดแย้งคน-ช้างป่า ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

วันช้างไทย ริเริ่มจากคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นว่า หากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น จะช่วยให้ประชาชนคนไทย หันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น

คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้พิจารณาวันอื่น และเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสม จึงได้นำเสนอมติตามลำดับขั้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกทางหนึ่ง

ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น วันช้างไทย และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2541ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2541

ผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์

13 มีนาคม \"วันช้างไทย\" เปิดแผนลดขัดแย้ง คน-ช้างป่า เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ฉัตรโชติ ทิตาราม ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สรุปสถานการณ์ของช้างไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ว่า

จำนวนประชากรช้างป่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจากรายงานของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ประมาณการว่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 93 แห่งทั่วประเทศ ในปี พ.ศ.2566 มีช้างป่าจำนวน 4,013 - 4,422 ตัว

ปัญหาหลักที่พบตอนนี้ คือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่า ซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นทุกปี จากรายงานของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในปี พ.ศ.2566 พบคนเสียชีวิตจากช้างป่า จำนวน 21 ราย และได้รับบาดเจ็บจากช้างป่าจำนวน 29 ราย และช้างป่าล้ม (ตาย) จากความขัดแย้งนี้จำนวน 24 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปัญหาช้างออกนอกพื้นที่นี้พบได้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 70 แห่ง จาก 93 แห่ง (75%) ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มป่าตะวันออก

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การที่ช้างออกนอกพื้นที่มากินอาหาร พืชไร่ อ้อย ข้าว ผลไม้ ของชาวบ้าน โดยอาจมาจากช้างติดใจดลิ่นและรสชาติของอาหารเป็นหลัก การสำรวจ ความอยากรู้อยากเห็น การถูกรบกวนภายในป่าจากการลักลอบตัดไม้ภายใน มีผู้บุกรุกมากจากการขยายตัวทางการเกษตร การเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่ป่า ทำให้ช้างออกมานอกเขตป่าอนุรักษ์มาอยู่ในพื้นที่ป่ากันชน หรือ ป่าชุมชนแล้วไม่ยอมกลับ นอกจากนี้บางครั้งช้างอาจมีการทำร้ายคน ซึ่งเป็นชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่ ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ

ในการวางแผนแก้ปัญหาดังกล่าว กรมอุทยานฯ ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างแห่งชาติ 2567-2571 ขึ้น โดยมีการทำงานเป็นระยะสั้น กลาง ยาว และมีการแบ่งเป็นด้านต่างๆ ดังนี้

13 มีนาคม \"วันช้างไทย\" เปิดแผนลดขัดแย้ง คน-ช้างป่า เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

ด้านบุคลากร มีการการสร้างระบบเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการทำงาน ทั้งชุดเฝ้าระวังช้าง ชุดผลักดันช้าง ชุดเคลื่อนย้ายช้างป่า พร้อมกับการจัดทำคู่มือที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน

ด้านพื้นที่ จะได้มีการวางแผนการจัดการพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยช้างป่า ปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ การจัดพื้นที่จัดการและรองรับช้างป่าที่สร้างปัญหา และเกิดการพลัดหลงในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย และมีการยกระดับมาตรการเฝ้าระวังในพื้นที่โดยการสำรวจเขตแนว รวมถึงจัดตั้งระบบแจ้งเตือนในพื้นที่เมื่อมีช้างออกนอกพื้นที่

ด้านชุมชน ได้มีการเยียวยาผู้ได้ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม รวมทั้งการให้ความรู้และตระหนักรู้แกชุมชนในพื้นที่ การส่งเสริม ฝึกอบรม อาชีพทางเลือกให้กับชุมชน

ด้านการวิจัย พัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยี จะได้พัฒนาการติดตามสถานการณ์แบบ real time พัฒนารูปแบบการผลักดันช้างที่เหมาะสม พัฒนาระบบการแจ้งเตือน พัฒนาระบบกรีดยางอัตโนมัติ การติดตามพฤติกรรมช้างป่าทั้งในและนอกพื้นที่อนุรักษ์ การควบคุมประชากรช้างป่า ศึกษาข้อมูลความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

ด้านความร่วมมือและบูรณาการความร่วมมือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย มีการจัดตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ และจัดการช้างป่า คณะกรรมการระดับท้องถิ่นเพื่อผลักดันงานและแก้ไขปัญหา การประชาสัมพันธ์ การจัดประชุมสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน

การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับช้างป่า และการทำงานร่วมกันตามแผนนี้เป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะได้ผลช้าหรือไม่ชัดเจนก็คงต้องทำต่อไป เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการอยู่ร่วมกันได้ระหว่างคนและช้างป่า

13 มีนาคม \"วันช้างไทย\" เปิดแผนลดขัดแย้ง คน-ช้างป่า เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

สถานการณ์ช้างเลี้ยงเริ่มดีขึ้น

จำนวนช้างเลี้ยงในประเทศไทย มีจำนวนคงที่จนถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ประมาณ 3,800-4,000 เชือก ด้วยเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ไปทั่วโลก ทำให้สถานการณ์ธุรกิจการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับช้างลดลง ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเจ้าของปางช้าง เจ้าของช้าง ควาญช้าง รวมทั้งตัวช้างเอง

เมื่อผ่านไป 2-3 ปี สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ปัจจุบันการท่องเที่ยวปางช้างกลับมามากถึง 80% ในช่วงไฮซีซั่น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่จำนวนช้างยังไม่ได้เพิ่มมากนัก เนื่องจากปางช้างหลายแห่งยังไม่มั่นใจในสถาณการณ์ COVID-19 ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ดีมาก จึงชะลอการผสมพันธุ์ช้าง ซึ่งต้องมีการวางแผนล่วงหน้า

ด้านกฎระเบียบของช้างเลี้ยง ได้มีการออกประกาศ มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ. 6413-2563) เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสาหรับปางช้าง (Good Animal Practices for Elephant Facility) จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ มาตรฐานปางช้างนั่นเอง

โดยเป็นมาตรฐานภาคบังคับเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติ ในการจัดการควบคุมดูแลและเลี้ยงช้างให้ถูกต้องและเหมาะสม เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานปางช้างไทย มีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 สิงหาคม 2567 นี้

ปางช้างและสถานที่เลี้ยงช้างทุกแห่งในประเทศไทย ต้องเข้าการตรวจรับกับมาตรฐานนี้ โดยปัจจุบันมีสถานที่เลี้ยงช้างที่ผ่านมาตรฐานนี้เพียง 3 แห่ง จากสถานที่เลี้ยงช้างจำนวน 200 กว่าแห่งทั่วประเทศ และในช่วงวันที่ 26-29 มีนาคม 2567 นี้ ทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และ กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกันจัด ฝึกอบรมหลักสูตรสัตวแพทย์ผู้ควบคุมปางช้าง และมาตรฐานฟาร์มสัตว์เลี้ยงสำหรับผู้ประกอบการ (ปางช้าง) เพื่อให้ปางช้างทั่วประเทศเข้ามาตรฐานการจัดการปางช้างและการดูแลช้าง

13 มีนาคม \"วันช้างไทย\" เปิดแผนลดขัดแย้ง คน-ช้างป่า เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

เป็นที่รู้กันว่าช้างจะมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับควาญช้างเป็นหลัก การมีมาตรฐาน ใบอนุญาต และการยกระดับวิชาชีพของควาญช้าง จะช่วยพัฒนาการเลี้ยงช้างไปได้อีกไกล ทางสถาบันคชบาลแห่งชาติ และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพ และคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพควาญช้าง โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ตามความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ดังนี้

  • ควาญช้างระดับ 2 สามารถดูแลสุขอนามัย จัดการอาหาร และ ที่อยู่อาศัย ให้ช้างได้
  • ควาญช้างระดับ 3 สามารถประเมินพฤติกรรม ควบคุมและใช้อุปกรณ์ควบคุมช้างให้ทำตามคำสั่งได้ และ เตรียมช้างก่อนให้บริการได้
  • ควาญช้างระดับ 4 สามารถฝึก ควบคุมช้าง สังเกต ประเมิน และให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น พาช้างนำเที่ยว ให้ข้อมูลและดูแลนักท่องเที่ยวได้
  • ควาญช้างระดับ 5 สามารถเข้าใจในภูมิปัญญาของควาญช้างท้องถิ่น สามารถใช้สมุไพร และ สามารถทำอุปกรณ์ที่ใช้กับช้างได้ 

ซึ่งอยากให้ควาญช้างทุกคนเข้าร่วม เพื่อที่จะได้ใบอนุญาตตามระดับความรู้ความสามารถ และได้รับค่าตอบแทนตามระดับความสามารถ และความเชี่ยวชาญนั้นด้วย

ในด้านกฎหมายพระราชบัญญัติช้าง ได้รับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปแล้ว เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ปัจจุบันสำนักกฎหมาย กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังจัดทำร่างพระราชบัญญัติช้าง เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งยังไม่มีกำหนดที่แน่นอนว่าจะเสร็จเมื่อใด

ปัจจุบัน สถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้นทำให้การท่องที่ยวฟื้นตัว นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลับมาท่องเที่ยวมากขึ้น การเรียกร้องเรื่องสวัสดิภาพของช้างก็ยังคงมีต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นเมื่อสถานการณ์การท่องเที่ยวดีขึ้น

ดังนั้น ปางช้างแต่ละที่ควรต้องมีการปรับตัวเพื่อสวัสดิภาพและสุขภาพที่ดีของช้างและให้ได้ปางช้างที่มีคุณภาพ

13 มีนาคม \"วันช้างไทย\" เปิดแผนลดขัดแย้ง คน-ช้างป่า เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

มีนาคม เดือนแห่งช้างไทย ชวนรู้จัก "เสียงร้องของช้างป่า"

ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ข้อมูลเนื่องในวันช้างไทย ระบุว่า ช้างป่าเป็นสัตว์สังคม และมีการสื่อสารกันได้หลายวิธี ทั้งการใช้งวงสัมผัสตัวกัน การส่งเสียงร้อง และการรับแรงสั่นสะเทือนโดยประสาทสัมผัสที่เท้า เป็นต้น

ช้างป่า สามารถสื่อสารกันด้วยเสียงผ่านระยะทางไกลได้มากกว่า 10 กิโลเมตร เป็นคลื่นเสียงที่มีความถี่ต่ำกว่าความถี่เสียงที่มนุษย์ได้ยิน เสียงของช้างป่าแต่ละแบบแสดงออกถึงการสื่อสารที่แตกต่างกัน เช่น

  • โฮก : เสียงเรียกสมาชิกในโขลงให้มารวมกัน มักส่งเสียงในช่วงก่อนออกเดินทาง หากิน ขณะกําลังหากิน และขณะจะเดินกลับที่พัก
  • แปร๋น : เสียงแสดงอาการตกใจ มีหลายระดับความดัง และมีพฤติกรรมติดตาม ด้วยการหนีหรือการเข้าทําร้าย
  • แอ๋ง แอ๋ง : เสียงแสดงอาการหงุดหงิดรําคาญ มักมีพฤติกรรมการส่ายหัว และโยกตัวพร้อมกันไปด้วย
  • เอ๊ก เอ๊ก : เสียงแสดงความยินดี หรือเป็นเสียงหัวเราะที่ช้างใช้สื่อสารกัน
  • เสียงต่ำ และใช้ปลายงวงแตะพื้นดิน : เสียงแสดงออกว่ากําลังเผชิญกับอันตรายอยู่

13 มีนาคม \"วันช้างไทย\" เปิดแผนลดขัดแย้ง คน-ช้างป่า เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูล : วิกิพีเดีย, ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, Human Elephant Voices

logoline