X
วัดพระธาตุช่อแฮ พระธาตุประจำปีขาล

วัดพระธาตุช่อแฮ พระธาตุประจำปีขาล

20 ม.ค. 2565
1710 views
ขนาดตัวอักษร

พุทธศักราช 2565 เป็นปีนักษัตร “ปีขาล” หรือ “ปีเสือ” ตามความเชื่อของชาวล้านนา ผู้ที่เกิดในปีนักษัตรนี้จะต้องไปกราบไหว้บูชา “พระธาตุช่อแฮ” ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายใน “วัดพระธาตุช่อแฮ” ต.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ พระธาตุช่อแฮ เป็นวัดที่ตั้งอยู่เนินเขาเตี้ย สูงประมาณ 28 เมตร องค์พระธาตุช่อแฮ เป็นเจดีย์พุกามรูปแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะแบบเชียงแสน บุด้วยทองดอกบวบสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร ลักษณะองค์พระธาตุตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม 3 ชั้นรองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำและชุดท้องไม้แปดเหลี่ยม ซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป 7 ชั้น จากนั้นเป็นบัวระฆัง 1 ชั้น และหน้ากระดานหนึ่งชั้น จนถึงองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังค์ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉน ส่วนยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา หุ้มด้วยทองจังโก้ตลอดทั้งองค์ มีรั้วเหล็กรอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้าออก 4 ประตู แต่ละประตูได้สร้างซุ้มแบบปราสาทล้านนาไว้อย่างสวยงาม

พระธาตุช่อแฮ เป็นโบราณสถานอายุเก่าแก่กว่าพันปี ที่อยู่คู่เมืองแพร่มาช้านาน สำหรับตำนานความเป็นมาของพระธาตุแห่งนี้ มีอยู่ 2 ตำนานหลักด้วยกัน ได้แก่

ตำนานพระธาตุช่อแฮในพระราชพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย ระบุว่า วัดพระธาตุช่อแฮว่า สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1879-1881 โดย “ขุนลัวะอ้ายก้อม” ได้สร้างเจดีย์ขึ้นที่ “ดอยโกสิยธชัคบรรพต” (สถานที่ตั้งพระธาตุช่อแฮ) และได้นำพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับพระราชทานจาก “พระมหาธรรมราชา (ลิไท)” (เมื่อครั้งเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย) มาบรรจุไว้ใต้ฐานเจดีย์แห่งนี้ ซึ่งก็คือพระธาตุช่อแฮในปัจจุบัน


ตำนานพระธาตุช่อแฮในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ระบุว่า ในอดีตเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่เมืองพล (เมืองแพร่) ได้ประทับที่ “ดอยโกสิยธชัคคะบรรต” หัวหน้าชาวลัวะคือ “ขุนลัวะอ้ายก้อม” ได้มากราบไหว้ พระพุทธองค์ได้แสดงปาฏิหาริย์ และได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเกศาธาตุ) เป็นที่ระลึก พร้อมทั้งรับสั่งว่าหลังพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพานไปแล้ว ให้นำพระบรมสารีริกธาตุพระข้อศอกข้างซ้าย มาบรรจุไว้ ณ สถานที่นี้ ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพระธาตุช่อแฮ


ชื่อพระธาตุ “ช่อแฮ” สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจาก “ช่อแพร” โดยคำว่า “แพร” ก็คือผ้าแพร ซึ่งเชื่อว่ามาจากชื่อของสถานที่ตั้งองค์พระธาตุคือ “ดอยโกสิยธชัคบรรพต” ที่หมายถึงดอยแห่งผ้าแพรอันงดงาม ส่วนชื่อจังหวัดแพร่ หลายข้อมูลระบุว่ามาจาก “เมืองแพล” ที่น่าจะมาจากศรัทธาของชาวเมืองที่มีต่อพระธาตุช่อแพร หรือพระธาตุช่อแฮแห่งนี้ ( เมืองแพล ในอดีตคือเมืองพล หรือนครพล หรือพลรัฐนคร ซึ่งเป็นชื่อเก่าแก่ที่สุดของจังหวัดแพร่) ด้วยเหตุนี้หลาย ๆ คนที่มาไหว้พระธาตุช่อแฮ จึงนิยมนำผ้าแพรเนื้อดีไปถวาย ด้วยเชื่อว่าจะทำให้มีชีวิตผาสุก มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน และมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้ ทุก ๆ ปี  ทางจังหวัดแพร่จะมีการจัดประเพณี “ไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง” ขึ้นในช่วง วันขึ้น 9 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ (ราวปลาย ก.พ.-ต้น มี.ค.) ซึ่งถือเป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นงานประเพณีประจำปีของจังหวัดแพร่ในปัจจุบันในช่วงประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ ฯ จะมีพุทธศาสนิกชนจากทุกสารทิศจะเดินทางมานมัสการพระธาตุช่อแฮเป็นจำนวนมาก ด้วยความเชื่อที่ว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว พระบรมสารีริกธาตุจะแสดงปาฏิหาริย์แผ่บารมีที่เป็นสิริมงคลยิ่งแก่ผู้มาสักการะพระธาตุช่อแฮ


หลวงพ่อช่อแฮ
นอกจากองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว วัดพระธาตุช่อแฮยังมีสิ่งน่าสนใจอื่น ๆ อีก อาทิ
“หลวงพ่อช่อแฮ” หรือ “พระเจ้าช่อแฮ” องค์พระประธานเก่าแก่อายุหลายร้อยปีในพระอุโบสถ สร้างด้วยศิลปะล้านนา เชียงแสน สุโขทัย (สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากสร้างองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว)

หากในปีนี้เพื่อนๆชาวแฟนเพจ MCOTBackbone ได้มีโอกาสขึ้นไปแอ่วเหนือ ก็อยากให้ลองไปสักการะพระธาตุประจำปีขาลที่ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เพื่อเสริมสิริมงคล โชคลาภ ความผาสุกร่มเย็น จากกรุุงเทพฯ ไปเพียง 500 กิโลเมตร ก็จะได้รับพลังจากธรรมชาติ และ อากาศที่สดชื่น แถมเติมพลังศักดิ์สิทธิ์ จากพระธาตุช่อแฮ ให้มาใช้ชีวิตปังปุตลอดปี ตลอดไป


ข้อมูลและภาพจาก : วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล