สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/ไพล ยอดโอสถยุคพระนารายณ์ ใช้เยียวยาออเจ้า

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย
www.thaihof.org

ไพล

ยอดโอสถยุคพระนารายณ์ ใช้เยียวยาออเจ้า

ช่วงละครออนแอร์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” กำลังดังโพละเป็นหม้อมูตร (ของออเจ้า) แตก
ใครๆ แม้แต่ คสช. ก็ยังต้องโหนกระแสแม่การะเกดกันทั้งบ้านทั้งเมือง ละครย้อนยุคเก่าก็ไม่ใช่ ยุคใหม่ก็ไม่เชิง
เรื่องนี้มีหลากหลายมิติให้เกาะกระแส มีทั้งมิติประวัติศาสตร์ การเมืองปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มิติศิลปวัฒนธรรม มิติโบราณคดี แม้กระทั่งมิติภาษาเก่าๆ ที่เรียกเสียงฮา เช่นคำว่า เวจ (ส้วม) หม้อมูตร (โถฉี่) อัตปือนัง (เยอะแยะ) เตียบ (ตะลุ่มใส่ของ) คันฉ่อง (กระจกเงา) ฯลฯ รวมทั้งมิติการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม-โบราณคดี เป็นต้น
เรตติ้งนักท่องเที่ยวกรุงศรีอยุธยาพุ่งกระฉูด วันธรรมดาจากเดิม 700-800 คน เพิ่มเป็น 4,000 คน โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จากแค่ 3,300 คน พุ่งขึ้นถึง 18,300 คน
แต่ในที่นี้ขอเกาะชายผ้านุ่ง เอ้ย! ไม่ใช่ดิ ขอเกาะชายสไบออเจ้าการะเกดในมิติยาสมุนไพร คงจำกันได้ ฉากตอนที่คนดูรู้สึกเจ็บปวดแทนออกขุนศรีวิสารวาจา คู่หมายของออเจ้า ก็คือ ตอนที่ป้าปริกเฆี่ยนแม่การะเกดด้วยหวาย ตรงนี้ทำให้นึกถึงโคลงสองบาทแรกของสมเด็จพระนารายณ์ ต่อด้วยสองบาทหลังของศรีปราชญ์ที่ว่า

อันใดย้ำแก้มแม่ หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย ลอบกล้ำ
ผิวชนแต่จักกราย ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ ชอกเนื้อเรียมสงวน

อันธรรมดาหญิงงามนั้น เป็นสิ่งที่น่าทะนุถนอม แม้แต่ยุงยังไม่ให้ไต่ ริ้นไรไม่ให้ตอม มีหรือที่จะยอมให้หวายหวดลงหลังอันแบบบางของนาง จนเป็นรอยแผลเหวอะหวะ
แต่ออเจ้าการะเกดแก่นแก้วก็โดนเข้าจนได้ ถ้าท่านออกขุนฯ กล่าวเป็นโคลงได้แบบศรีปราชญ์ผู้พี่ก็คงร้องอุทานว่า

อันใดทำออเจ้า หมองหมาย
ใช่เหลือบหากโดนหวาย ชอกช้ำ (ฮา)

แล้วประเด็นเกี่ยวกับสมุนไพรก็เกิดขึ้นเมื่อท่านขุนมาดแมน สวมวิญญาณหมอไทยจำเป็นสั่งไอ้จ้อยบ่าวคนสนิทว่า “ไปเอาไพลมาให้ข้า” แต่ก็เกิดเสียงฮือฮาในหมู่คนดูที่รู้จริง เพราะคู่หมายของออเจ้าแทนที่จะฝนไพลแต่ไพล่ไปฝนขมิ้นชันเสียฉิบ ไม่รู้ว่าไอ้จ้อยหยิบยาผิด หรือกองถ่ายเผลอจัดให้ ดีนะเนี่ยที่เป็นการสั่งยาใช้ภายนอกเพราะทายาผิดคงไม่สู้กระไร
แต่ถ้ากินยาผิด ออเจ้าคงไม่สวยแน่ (ฮา)

ไพล
ขมิ้นชัน

คนโบราณเขารู้ความแตกต่างระหว่างขมิ้นกับไพลดี เอาเฉพาะความต่างทางสีสัน สมุนไพรอะไรที่ขึ้นชื่อว่า ขมิ้น หรือ ขี้หมิ้น ล้วนมีเนื้อสีเหลืองหรือเหลืองอมแสด (ยกเว้นขมิ้นขาว) ไม่ว่าจะเป็นเหง้าอย่าง ขมิ้นชัน (มีอีกชื่อว่า ขมิ้นแกง) ขมิ้นอ้อย ขมิ้นทองคำ ซึ่งมีสารสีเหลืองส้ม จำพวกเคอร์คูมินอยด์ (curcuminoid)
ด้วยเหตุฉะนี้ ขมิ้นจำพวกหัวเหง้าจึงมีชื่อชนิด (species) เหมือนกันว่า “เคอร์คูม่า” (Curcuma)
หรือหากเป็นขมิ้นจำพวกเถา หรือต้น อย่างขมิ้นเครือ ขมิ้นต้น ก็จะมีสารสีเหลืองอีกกลุ่มหนึ่งคือ “เบอร์เบอรีน” (berberine)
สารสีเหลืองของขมิ้นโดยเฉพาะขมิ้นชันเมื่อผสมกับปูนขาวจะกลายเป็นสีแดงเลือด จึงมีสำนวนไทยว่า “ขมิ้นกับปูน” หมายถึงเป็นคู่กัดกันนั่นเอง คือเจอกันทีไรเป็นได้เลือดทุกที
แต่เหง้าไพลนั้น แม้จะมีน้ำมันเคอร์คูมินสีเหลืองอยู่ด้วย แต่ก็มีสารสำคัญอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น สารฟีนิลบิวตานอยด์ (phenylbutanoid) ที่ให้สีเหลืองแกมเขียว อันเป็นเอกลักษณ์เรียกว่า “สีไพล” การที่ท่านออกขุนศรีฯ หยิบยาผิดเป็นขมิ้นชันนั้นก็ไม่มีผลเสียหายอะไร เพราะขมิ้นก็มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและช่วยสมานแผล
อย่างละครย้อนยุคเรื่อง นางทาส ก็มีฉากที่ลูกชายผู้ดีฝนขมิ้นสมานแผลแก่อีเย็นนางทาสผู้เป็นแม่ แต่ถ้าจะให้ได้สรรพคุณเต็มที่ในการรักษาแผลฟกช้ำบวมรุนแรง ก็ต้องใช้เหง้าไพลนี่แหละ
ดังนั้น จึงมีชื่อพฤกษศาสตร์ของไพลที่บ่งบอกสรรพคุณแก้อักเสบฟกช้ำ บวมอย่างชัดเจนว่า Zingiber purpureum คำว่า เพอร์พิวร่า (purpura) นี่แหละแปลว่า อักเสบ ฟกบวม ฟกช้ำเลือดช้ำหนอง มีการทดสอบฤทธิ์สารสำคัญของเหง้าไพล (Plai Rhizome) ในหนูทดลอง เช่น สารเทอร์พินีน (terpinene) สารอัลฟ่าพินีน (alpha pinene) เป็นต้น พบว่าสารกลุ่มฟีนิลบิวตานอยด์เหล่านี้ สามารถยับยั้งเอนไซม์อันตรายที่ทำให้เกิดอาการฟกช้ำบวมอักเสบได้
โดยสามารถออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบันอย่าง ไดโคลฟีแนค (diclofenac) ถึง 2 เท่า

ด้วยความที่เป็นสมุนไพรดีมีฤทธิ์แรงเช่นนี้ ในตำราพระโอสถพระนารายณ์จึงมีสูตรยาที่เข้าไพลถึง 5 ตำรับ ได้แก่
(1) ยาแก้อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) พิการของพระแพทย์โอสถฝรั่ง
(2) ยาแก้ปถวีธาตุ (ธาตุดิน) พิการ
(3) ยาพระอังคบ (ลูกประคบ) พระเส้น
(4) ยาทรงนัตถุ์ (ยานัตถุ์) แก้พระวาโยทั้งหลาย (โรคลมทั้งหลาย) แก้ปวดพระเศียรของออกขุนประสิทธิโอสถ
และ (5) ยาสีผึ้งบี้พระเส้นของออกพระสิทธิสาร
ในที่นี้คงต้องบันทึกเพิ่มเติมว่า ท่านตรีทูตออกขุนศรีวิสารวาจา แพทย์แผนไทยกิตติมศักดิ์ได้ประกอบยาไพลและลูกอังคบไพลใช้เยียวยาออเจ้าคู่หมายให้หายจากแผลฟกช้ำเพราะโดนหวายลงหลังเพื่อตอบแทนที่ออเจ้าเคยทำเม้าธ์ทูเม้าธ์ช่วยฟื้นชีวิตพี่ออกขุนฯ ไว้นั้นแล