เปิดเส้นทางศึกษานิเวศป่าเมฆ ‘ยอดดอยอินทนนท์’ ห้องรับแขกธรรมชาติ

สูงสุดแดนสยาม เป็นคำที่กล่าวถึง “ยอดดอยอินทนนท์” ว่าเป็นจุดสูงที่สุดของประเทศไทย จากการวัดระดับด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม ของกรมแผนที่ทหารล่าสุดมีความสูง 2,565.3341 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ยังเป็นหนึ่งในสี่ภูเขาสูงแห่งแผ่นดินล้านนา ร่วมกับดอยสุเทพ ดอยหลวงเชียงดาว และดอยผ้าห่มปก

ด้วยความสูงเสียดฟ้านี่เอง ทำให้ยอดดอยอินทนนท์ปกคลุมด้วยความหนาวเย็นตลอดทั้งปี ดึงดูดให้ผู้รักลมหนาวปักหมุดอินทนนท์ เป็นจุดหมายปลายทาง

กริชสยาม คงสตรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ให้ข้อมูลว่า อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2515 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 6 ของประเทศไทย มีพื้นที่กว่า 480 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 300,000 ไร่ คลอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอดอยหล่อ และอำเภอแม่วาง มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 400 เมตรเป็นต้นมา จนถึงบริเวณยอดดอย ซึ่งสูงถึง 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเล

Advertisement

“จากระดับความสูงที่แตกต่างกันกว่า 2,000 เมตร ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพืชและสัตว์ป่า ซึ่งสัตว์ป่าที่อยู่ในเขตพื้นที่ดอยอินทนนท์มีจำนวนมากถึง 520 ชนิด ขณะเดียวกัน ดอยอินทนนท์ยังเป็นป่าต้นน้ำ จึงมีคุณค่าต่อทั้งระบบนิเวศ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้เองทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากวางจุดหมายปลายทางที่ดอยอินทนนท์ โดยสถิติตลอดปี 2560 มีนักท่องเที่ยวรวมแล้วประมาณ 800,000 คน” กริชสยามอธิบาย

พิธีเปิดและส่งมอบ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย” บริเวณจุดสูงสุดแดนสยาม

ทุกภาคส่วนร่วมเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยอย่างเป็นทางการ

สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยอินทนนท์ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของประเทศ ด้วยความหลากหลายของระบบนิเวศและด้วยความซับซ้อนของสภาพพื้นที่ ทั้งลักษณะของดิน อากาศ ความชื้น เอื้อให้เกิดสังคมพืชและสัตว์ที่หลากหลาย ดังที่ กริชสยามอธิบายไว้ทำให้บนดอยอินทนนท์สามารถพบได้ทั้งป่ารังเต็งที่แห้งแล้ง ไปจนถึงป่าเมฆและป่าดิบเขาระดับสูง ที่มีพรรณไม้ดึกดำบรรพ์และสัตว์ป่ามากมาย

Advertisement

ส่วนบริเวณจุดสูงสุดแดนสยาม ถือเป็นไฮไลต์ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนดอยอินทนนท์ เนื่องจากด้านบนของยอดดอยจะมี หมุดหลักฐานจุดสูงสุดแดนสยาม ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของยอดดอยอินทนนท์ ใกล้กันมี กู่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ซึ่งเป็นที่สักการะกราบไหว้ของประชาชนชาวเชียงใหม่ ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั่วไป

ขณะเดียวกันด้วยศักยภาพทางระบบนิเวศ ทำให้จุดสูงสุดแดนสยามแห่งนี้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติป่าเมฆที่สมบูรณ์เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

หมุดหลักฐานจุดสูงสุดแดนสยาม สัญลักษณ์สำคัญของยอดดอยอินทนนท์

คมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า จุดสูงสุดแดนสยาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนปีละกว่า 500,000 คน ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ จึงต้องมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าเมฆที่สมบูรณ์ สะดวกและปลอดภัย เป็นแหล่งเรียนรู้นับเป็นประโยชน์ในการเพิ่มพูนและต่อยอดการเรียนรู้ให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ

จุดนี้เองเป็นที่มาที่ทำให้กรมอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนโดยบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก เข้ามาปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย โดยเน้นการทำงานบนแนวคิด ความกลมกลืนกับธรรมชาติ และคงคุณค่าของผืนป่าบนดอยอินทนนท์ให้มากที่สุด ผ่านการออกแบบก่อสร้างอย่างมีมาตรฐาน แข็งแรง ปลอดภัย และเป็นไปตามกฎระเบียบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

โดยมีการจัดพิธีเปิดและส่งมอบ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย” บริเวณจุดสูงสุดแดนสยาม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า กรมอุทยานฯให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน อันเป็นการหนุนเสริมภารกิจของกรมอุทยานฯในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

“สำหรับการดำเนินการร่วมกันของกรมอุทยานฯ และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า นับเป็นตัวอย่างของภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมและขับเคลื่อนภารกิจให้สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งพื้นที่ดอยอินทนนท์ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการบอกเล่าเรื่องราวของธรรมชาติ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของประเทศ”

ขณะที่ จักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า บอกว่า ดอยอินทนนท์มีความสำคัญทางด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยศาสตร์และนิเวศวิทยา เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ควรคู่แก่การรักษาและส่งเสริมให้ผู้มาเยี่ยมเยือนมีความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของผืนป่าสำคัญแห่งนี้

“การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ เป็นหนึ่งในภารกิจของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชน ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกิดความรู้ความเข้าใจ ได้รับแรงบันดาลใจที่จะต่อยอดความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ตลอดจนตระหนักถึงคุณค่าของป่าต้นน้ำและร่วมรักษาไว้ จากความสำคัญดังกล่าวจึงเป็นที่ของความร่วมมือกับกรมอุทยานฯในการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย โดยมีแนวทางการพัฒนาให้มีความแข็งแรงปลอดภัยมีความกลมกลืนและเป็นมิตรต่อระบบนิเวศ”

สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย มีระยะทาง 150 เมตร ทอดยาวบนพื้นที่ป่าเมฆ ภายใต้แนวคิด ห้องรับแขกทางธรรมชาติของชาติ

มานนีย์ พาทยาชีวะ
มอสส์พืชโบราณที่ปกคลุมต้นไม้รอบบริเวณ ตลอดทั้งเส้นทาง

มานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เล่าว่า เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย ในส่วนที่มีการทำขึ้นใหม่ต่อจากเส้นทางปูนเป็นระยะทาง 135 เมตร เกิดจากเส้นทางเดิมมีสภาพทรุดโทรมเนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างชื้นมาก ประกอบกับใช้งานมานานแล้วก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึงจุดนี้เยอะ คือนักท่องเที่ยวที่มาดอยอินทนนท์ปีที่ผ่านมามีจำนวน 800,000 คน มาในจุดนี้ประมาณ 500,000 คน ก็ทำให้เส้นทางมีสภาพทรุดโทรม จุดนี้เองที่เป็นแนวคิดและคอนเซ็ปต์ในการพัฒนาเส้นทาง ให้เป็นเหมือนห้องรับแขกทางธรรมชาติของชาติ คือมีความสวยงามกลมกลืนกับธรรมชาติและมีความมั่นคงแข็งแรง นอกจากนี้ ยังมีคำอธิบายที่ให้ข้อมูลความรู้กับนักท่องเที่ยวด้วย

มานนีย์อธิบายต่อว่า เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย มีการออกแบบโดยอาจารย์จุลพร นันทพานิช สถาปนิกจากป่าเหนือสตูดิโอ ตั้งแต่เดือนพฤศจิยายน 2559 เป็นเส้นทางทำใหม่ระยะทาง 135 เมตร มีระดับความสูงต่างกันประมาณ 3 เมตร แต่ด้วยการออกแบบทำให้เวลาเดินแล้วไม่รู้สึกถึงความแตกต่างด้านความสูงและเวลาเดินจะไม่เหนื่อยมาก เพื่อให้ทุกวัยไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็สามารถเดินได้

แต่กว่าจะได้รูปแบบและวัสดุสำหรับการปรับปรุงเส้นทาง มานนีย์บอกว่า มีการถกกันทางความคิดค่อนข้างเยอะเพื่อหาแนวทางการปรับปรุง เนื่องจากทางกรมอุทยานฯ เห็นว่าสถาพอากาศชื้นมาก น่าจะทำเป็นทางปูนต่อจากเดิม แต่ก็มีโจทย์เรื่องความสวยงามกลมกลืน จึงมีการพูดคุยกันอยู่นาน

“สรุปสุดท้ายเส้นทางที่เกิดขึ้นทำด้วยไม้สักจากแปลงป่าปลูก เพื่อให้มีความกลมกลืนกับธรรมชาติ ส่วนตัวไม้อยากให้มีความเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงมีการสล่าไม้และวิธีการเข้าลิ่มเเทนตะปู โดยช่างท้องถิ่นฝีมือดีจำนวน 6 คน ร่วมก่อสร้าง ซึ่งปีนี้ฝนมาเร็วบนยอดดอยจะหนาวมาก การก่อสร้างทำได้วันละประมาณ 4 ชั่วโมง ดังนั้น กว่าจะทำได้แต่ละช่วงใช้เวลาค่อนข้างมาก จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะเสร็จภายใน 105 วัน ก็ยืดเวลาออกไปเกือบ 4 เดือน” มานนีย์อธิบาย

เป็นการดำเนินการปรับปรุงเส้นทางแห่งความรู้บนยอดดอยอินทนนท์ โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่ามุ่งหวังให้เส้นทางที่สวยงามมาพร้อมกับความรู้ด้วย จึงจัดให้มีป้ายสื่อความหมาย ประกอบด้วย 11 จุดน่าสนใจ แต่ละจุดจะมีคำอธิบายถึงความสำคัญและสาระน่ารู้ในป่าเมฆ

เริ่มต้นจาก จุดที่ 1 เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย จุดที่ 2 มอสส์…พืชโบราณฉลาดหาอยู่หากิน จุดที่ 3 หลากวิถี พรรณไม้ในป่าเมฆ จุดที่ 4 ยอดเขาสูง ทำไมถึงหนาว? จุดที่ 5 ฟ้าสร้างป่าเมฆ จุดที่ 6 รู้ได้อย่างไรว่า…สูงที่สุดในสยาม จุดที่ 7 ดอยอินทนนท์ ยกตัว 2 ครั้ง จึงสูงที่สุดของไทย จุดที่ 8 เฟิร์นผู้ไม่ชอบพื้นดิน จุดที่ 9 ฟ้า ดิน ผู้แบ่งแยกพรรณไม้ จุดที่ 10 ทะโล้ ผู้พิชิตทุกสภาพอากาศ และจุดที่ 11 สุดทางยอดดอย ต้นทางจิตสำนึก

มานนีย์บอกว่า เนื้อหาของป้ายสื่อความหมายถึงความพิเศษของดอยอินทนนท์ 11 จุด เพราะเราเห็นว่าปกตินักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็จะมาถ่ายรูปกับป้ายสูงสุดแดนสยามกับถ่ายภาพวิวต่างๆ แล้วกลับ แต่ถ้าทำให้เขาได้เห็นว่าที่นี่สำคัญยังไง มีคุณค่ายังไง ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงคุณค่าและร่วมรักษาได้

“อย่างน้อยเวลามายืนรอเพื่อถ่ายรูปก็สามารถอ่านข้อมูลไปได้ด้วย ก็หวังว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามา 500,0000 คน ถ้ามีคนที่เข้าใจและได้ความรู้เพิ่มสักนิด เห็นคุณค่าอีกสักหน่อยเราก็น่าจะได้คนที่ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติเพิ่มขึ้น”

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มากด้วยคุณค่าทางนิเวศวิทยา เปรียบเสมือนห้องรับแขกทางธรรมชาติต้อนรับผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเขามาสัมผัสอากาศดี ถ่ายรูปสวย และรับความรู้กลับไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image