เปิดสมุดภาพ “เมืองอุไทยธานี” ประวัติศาสตร์ความทรงจำแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง

หนังสือ ‘สมุดภาพเมืองอุทัยธานี’ จัดพิมพ์โดย จังหวัดอุทัยธานี เอนก นาวิกมูล และธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ บรรณาธิการ พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2561 หนา 240 หน้า

บนผืนแผ่นดินที่กอปรขึ้นเป็นประเทศไทย ไม่เพียงมีข้อมูลชุดใหญ่ที่ถูกเรียบเรียงขึ้นใช้เป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติ

หากแต่ประกอบด้วยเรื่องราวมากมายของบ้านเมือง ชุมชน หมู่บ้าน ครอบครัว และผู้คนที่มีความทรงจำบางอย่างร่วมกันในห้วงเวลาหลากยุคสมัย

ไม่ใช่แค่ตัวอักษรที่จดจารบนจารึก พงศาวดาร เอกสารโบราณที่เก็บหลักฐานและคำบอกเล่าอย่างเป็นลายลักษณ์

ทว่าในยุคต่อๆ มายังมีภาพถ่ายเหตุการณ์ที่บันทึกเสี้ยววินาทีที่ยิ่งใหญ่ หรือภาพชีวิตสุดแสนธรรมดาในชั่วขณะนั้น

Advertisement

รอยยิ้ม แววตา ความทุกข์ ความสุข ถูกเก็บไว้ตลอดกาลบนกระดาษแผ่นบางๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นที่ไม่ต้องมีคำบรรยาย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวอุทัยธานีที่มาเข้าเฝ้าฯ ในคราวเสด็จฯ มาพระราชทานพุทธนวราชบพิตร ณ ศาลากลางจังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2512


“สมุดภาพเมืองอุทัยธานี” หนังสือรวบรวมภาพถ่ายของชาวอุทัยธานี จัดพิมพ์โดยจังหวัดอุทัยธานีภายใต้แนวคิดของ แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมุ่งหมายรักษา ความทรงจำร่วมกัน แล้วเผยแพร่เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา

เสน่ห์ สีสัน ความลึกซึ้งและมีชีวิตชีวา เกิดขึ้นจากการลงพื้นที่ของคณะผู้จัดทำหลายต่อหลายครั้ง นำโดย เอนก นาวิกมูล และ ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

Advertisement

ผู้คร่ำหวอดในการค้นคว้าภาพถ่ายและต้นฉบับหนังสือเก่าอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ประสานหน่วยราชการ วัดวาอาราม พระสงฆ์ คหบดี และชาวบ้าน ดังปรากฏรายชื่อมากมายในหน้าสุดท้ายของเล่ม

เรือนแพทอดตัวยาวตามแม่น้ำสะแกกรังเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 เมื่อ ร.ศ.125 ตรงกับ พ.ศ.2449 สันนิษฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของภาพถ่ายฝีพระหัตถ์


ภาพถ่ายเมือง อุไทยธานี ตามการสะกดแบบโบราณ ถูกรวบรวมมานำเสนอตั้งแต่ยุคพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เรื่อยมากระทั่งกล้องถ่ายรูปเป็นสินค้าแพร่หลายโดยเฉพาะช่วง พ.ศ.2525 สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของบ้านเมือง สังคมและวัฒนธรรมอย่างมีนัยสำคัญ

ช่วงต้นของหนังสือ ให้ภาพรวมของภูมิสถานบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่ายทางอากาศ ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ จนถึงอาคารบ้านเรือนและเหตุการณ์สำคัญ ระหว่าง พ.ศ.2440-2480 จากนั้นนำเสนอภาพถ่ายที่ให้รายละเอียดอย่างลุ่มลึก กระทั่งงานอุปสมบทของชาวบ้าน พิธีมงคลสมรสของชาวไทยเชื้อสายจีน แห่ขันหมากทางน้ำ งานศพ ไหว้ครู โกนจุก การประชุมคณะสงฆ์ นักเรียนเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย บุคคลสำคัญ งานประจำปี ตลาดสด เรือนไม้ และอีกจิปาถะ

ป้ายไม้สลักเสลาอย่างเรียบง่ายของอำเภออุไทยเก่า ปัจจุบันคือ อำเภอหนองฉาง

นอกเหนือจากภาพถ่ายประวัติศาสตร์เหล่านี้ อุทัยธานียังมากมายด้วยศิลปกรรมล้ำค่า ทั้งที่สืบเนื่องกับความเชื่อถือศรัทธาในพระพุทธศาสนา และงานประณีตศิลป์ชั้นสูงอีกทั้งข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

หนังสือ “ของสวยของงามอุทัยธานี” โดยคณะทำงานชุดเดียวกัน จึงเกิดขึ้นเพื่อประมวลภาพมรดกทางวัฒนธรรมและสิ่งของล้ำค่าของจังหวัดแห่งนี้ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวอุทัยธานี

ประกอบด้วยภาพชุดและข้อมูลอย่าง “ของมงคลมิ่งเมือง” ได้แก่ พระพุทธนวราชบพิตร พระพุทธรูป ภปร พ.ศ.2508 และพระแสงราชศัสตรา “สมบัติล้ำค่าควรเมือง” จากอารามศักดิ์สิทธิ์ วัดมณีสถิตกปิฏฐาราม วัดหนองขุนชาติ วัดหัวเมืองและวัดสว่างอารมณ์ “สถาปัตยกรรมงามตา” ฉายภาพความงดงามของอุโบสถ-วิหารวัดใหม่จันทรารามและโบสถ์วัดกลางเขา รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังวิจิตรตระการตาของอารามสำคัญ อีกทั้งพระพิมพ์ เหรียญที่ระลึก หัตถศิลป์ สิ่งพิมพ์ยุคแรก แม้กระทั่งรถเมล์คันแรกและเครื่องไม้เครื่องมือของนายช่างฝีมือดี เป็นต้น

ซ้าย-หนังสือ ‘ของสวยของงามอุทัยธานี’ จัดพิมพ์โดย จังหวัดอุทัยธานี เอนก นาวิกมูล และธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ บรรณาธิการ พิมพ์ครั้งที่ 1 มิถุนายน 2561 หนา 208 หน้า
ขวา- พระแสงราชศัสตราประจำจังหวัดอุทัยธานี รัชกาลที่ 5 พระราชทานเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2444 ในคราวประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ เป็นดาบไทยด้ามทอง ฝักทอง ยาว 108 ซม. มีจารึก ‘พระแสงสำหรับเมืองอุไทยธานี’

“สมุดภาพเมืองอุทัยธานี” และ “ของสวยของงามอุทัยธานี” ไม่เพียงนำรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาจัดเรียง เผยแพร่ ทว่า ในวันข้างหน้าย่อมกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อุทัยธานีด้วยเฉกเช่นเดียวกัน

แววตาและรอยยิ้มของ ‘ชาวร้าน’ ในตลาดเมืองอุไทยธานีเมื่อกว่าร้อยปีก่อนยังคงแจ่มชัด มีชีวิตชีวา
บรรยากาศตลาดเมืองอุไทยธานี ราว พ.ศ. 2450 มองเห็นเรือนไม้ 2 ชั้น ผู้คน และสัตว์เลี้ยง
คณะข้าราชการหน้าที่ทำการศาลเมืองอุไทยธานี ภาพยุค 2470
‘โต๊ะจีน’ ยุคแรกของอุทัยธานีในงานมงคลสมรสระหว่างกำชัย-กิติมา วัฒโนภาส เมื่อพ.ศ.2492
แห่ขันหมากจากบ้านเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังย่านวัดธรรมโฆษก ไปขึ้นท่าน้ำวัดขวิด แล้วเดินเท้าไปสู่ขอเจ้าสาวย่านตลาด ความสุขความทรงจำของ มณเธียร กฤษณพันธุ์และจรูญ รัตนวราหะ
ส่วนหนึ่งของริ้วขบวนแห่งานอุปสมบทนายกัมพล พรพิบูลย์ บุตรชายคหบดีเมืองอุทัยธานี เมื่อ พ.ศ.2495 เอิกเกริกด้วยแตรวง ดนตรีจีน นักเรียนถือไทยธรรม ช้าง ม้า คณะกลองยาว หุ่นละครสด โขน คณะเชิดสิงโต ถือเป็นมหกรรมครั้งสำคัญของจังหวัดซึ่งยังอยู่ในความทรงจำของผู้คน
ซ้าย-จักรยานยนต์คันแรกของจังหวัด ราว พ.ศ.2500 เดชา ไทยเศรษฐ์ ยืนยิ้มกว้างในชุดสุดเท่ในยุคนั้น ขวา-ประวัติศาสตร์ความบันเทิงของชาวอุทัยธานีที่โรงภาพยนตร์นิวเฉลิมอุทัย ราว พ.ศ.2490 มีป้ายโปสเตอร์โฆษณาหนังญี่ปุ่นขนาด 35 มม. เรื่อง ยอดสิงห์สมิงสาว ระบุนามคนพากย์ ชื่อ พรวิวัฒน์ (ภาพจากไพรัตน์ แซ่อุน และรัชกฤช อุณณศิริ)
เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ตลาดอุทัยใหม่ เมื่อ 15 มีนาคม พ.ศ.2479 เสียหายหนักจนทางการต้องประกาศจัดผังเมืองใหม่ และตัดถนนใหม่ในย่านตลาดสดอุทัยธานี ใน พ.ศ.2481 (ภาพจากนายสุเทพ อุณหอุทัย)
ตลาดสดเมืองอุทัยธานี 1 ช่วง พ.ศ.2500 สร้างใหม่หลังไฟไหม้ตัวเมือง (ภาพจากปราโมช เลาหวรรณธนะ)
ซ้าย-จักรยานยนต์คันแรกของจังหวัด ราว พ.ศ.2500 เดชา ไทยเศรษฐ์ ยืนยิ้มกว้างในชุดสุดเท่ในยุคนั้น ขวา-ประวัติศาสตร์ความบันเทิงของชาวอุทัยธานีที่โรงภาพยนตร์นิวเฉลิมอุทัย ราว พ.ศ.2490 มีป้ายโปสเตอร์โฆษณาหนังญี่ปุ่นขนาด 35 มม. เรื่อง ยอดสิงห์สมิงสาว ระบุนามคนพากย์ ชื่อ พรวิวัฒน์ (ภาพจากไพรัตน์ แซ่อุน และรัชกฤช อุณณศิริ)
น้ำท่วมตัวเมืองอุทัยธานี ระหว่างวันที่ 6-26 ตุลาคม พ.ศ.2518 (ภาพจากนายนรินทร์ วัฒโนภาส)
สกลและพยอม พวงชื่น ผู้เสียสละที่ดินให้สร้างที่ว่าการอำเภอสว่างอารมณ์ เมื่อ พ.ศ.2510
กรมศิลปากรขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ 13 โครง เศษภาชนะดินเผา ลูกปัด และเครื่องมือสัมฤทธิ์ ในที่ดินหลวงเจริญตำรวจการ (เจริญ นะวะมวัฒน์) อำเภอทัพทัน เมื่อ พ.ศ.2511
เหรียญที่ระลึกสมาคมอุทัยธานี ออกที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราว พ.ศ.2470 เนื้อเงินลงยา (ภาพจากนายสันติ อรุณศิริ)
หลวงพ่อพลอย วัดห้วยขานาง ที่ระลึกในงานยกขื่ออุโบสถวัดทุ่งโพธิ์ เมื่อ พ.ศ.2504 เนื้อเงินลงยาสีเขียว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image