ใครคือ ‘ฤๅษีวาสุเทพ’ ที่บิ๊กตู่สักการะเมื่อเยือนนครพิงค์เชียงใหม่ หลังกราบอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย

เดินทางไปเยี่ยมเยือนนครพิงค์เชียงใหม่ ในวันนี้ 17 มีนาคม  สำหรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเข้าถวายเครื่องสักการะและกราบอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย และเดินทางไปกราบไหว้พระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร สักการะท้าวเวสสุวรรณ อีกทั้ง ห่มผ้ารอบพระธาตุ นอกจากนี้ ยังสักการะ ‘ฤๅษีวาสุเทพ’ อีกด้วย

ถามว่า ฤๅษีวาสุเทพ หรือ คือใคร ? มีความสำคัญอย่างไร ?

เพ็ญสุภา สุขคตะ อดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จังหวัดลำพูน เคยระบุไว้ในบทความ ‘ชุหะบรรพต ของฤๅษีพุทธชฎิลอยู่ไหน ดอยไซ หรือ ดอยบาไห้?’ ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 – 23 กรกฎาคม 2563 ว่า ฤๅษีวาสุเทพ เป็นฤๅษีที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากที่สุด โดยเป็นผู้สร้างเมืองหริภุญไชย สถิตพำนัก ณ ดอยอ้อย บ้างเรียก ดอยอ้อยช้าง ดอยคันธมาท ภาษาบาลีคือ อุฉุจบรรพต หมายถึง ดอยที่เต็มไปด้วยพรรณไม้รสหอมหวาน มีหมู่แมลงภู่ผึ้งดมดอมตลอดเวลา ปัจจุบันเรียกว่า ดอยสุเทพ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองหริภุญไชย ดอยอุฉุจบรรพตนี้อยู่ใกล้กับแม่น้ำโรหิณีนที แปลว่าแม่น้ำที่มีสีแดงเหมือนสนิมเหล็ก หมายถึงน้ำแม่ขานนั่นเอง

สำหรับบริเวณที่เชื่อว่าเป็น ถ้ำของฤๅษีวาสุเทพ นั้นตั้งอยู่เยื้องกับโรงเรียนสังวาลย์วิทยา อยู่ขึ้นไปทางเหนือจากพระธาตุดอยสุเทพเพียง 2-3 กิโลเมตร มีโพรงถ้ำแห่งหนึ่งซึ่งผู้สัญจรมักขับรถผ่านเลยไป เหตุที่ไม่มีป้ายปักทางเข้าด้านหน้า แต่เป็นที่ทราบกันเฉพาะในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นว่านี่คือ ถ้ำฤๅษี

Advertisement

ครั้นเปิดหนังสือ ประวัติพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2515  เผยแพร่ภาพถ่ายและข้อมูลของรูปปั้นฤๅษีวาสุเทพ ว่าทำด้วยปูนปั้น อยู่ที่ประตูเข้าสู่พระอารามทางด้านซ้ายมือ เชื่อว่าสร้างสมัยพระเจ้ากาวิละ เดิมดอยสุเทพมีชื่อว่า ดอยอ้อยช้าง (ไม้ไผ่) และดอยกาละ ซึ่งมีอำอธิบายว่า หมายถึง นกกาไม่อยู่อาศัย ต่อมา ฤๅษีวาสุเทพ มาบำเพ็ญเพียรที่ดอยแห่งนี้ จึงเรียกว่า ดอยสุเทพตามนามของฤๅษีวาสุเทพผู้มีอายุยืนยาวอย่างน่าพิศวง โดยชาวบ้านเชื่อว่าในถ้ำฤๅษีมียารักษาโรคทิ้งไว้มากมายเมื่อท่านสาปสูญไป

พงศาวดารโยนกระบุว่า ท่านเคยไปดูการสร้างเสตังคมณี พระแก้วขาว ที่วัดเชียงมั่น นครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.700 ในขณะที่คัมภีร์จามเทวีวงศ์ฤๅษีวาสุเทพเป็นผู้ควบคุมการสร้างเมืองหริภุญไชย เมื่อ พ.ศ.1203 อีกด้วย

ภาพจาก กรมศิลปากร

ส่วนพระธาตุดอยสุเทพนั้น ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระบุว่า สร้างในสมัยพระเจ้ากือนา (พ.ศ.1929) กล่าวคือ เมื่อพระเจ้ากือนาได้อาราธนาพระสุมนเถระมาจากกรุงสุโขทัย พระสุมนเถระได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย 2 องค์ หลังจากที่บรรจุองค์หนึ่งไว้ที่เจดีย์วัดสวนดอกแล้วจึงได้อาราธนาอีกองค์หนึ่งขึ้นหลังช้างเพื่อที่จะหาที่ประดิษฐาน ช้างเดินไปถึงยอดดอยสุเทพแล้วคุกเข่าลงไม่ยอมเดินต่อ จึงโปรดให้สร้างสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้นในปี พ.ศ.1927 ต่อมาในสมัยของพระเมืองแก้วโปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่และเสริมเจดีย์ให้กว้างขึ้นในปี พ.ศ.2069 (คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ 2542 : 87)

Advertisement

ในปี พ.ศ.2100 พระมหาญาณมงคลโพธิเถระ เจ้าอาวาสในขณะนั้นได้สร้างบันไดหิน ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นบันไดนาคโบกปูน

ในปี พ.ศ.2348 สมัยพระเจ้ากาวิละ โปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุอีกครั้ง

ในปี พ.ศ.2478 ครูบาศรีวิชัยกับศิษานุศิษย์และประชาชนร่วมกันสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ มีความยาว 12 กิโลเมตร ใช้เวลาในการสร้าง 4 เดือน 22 วัน

พระธาตุดอยสุเทพได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เมื่อ 31 พ.ค.2506 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2010 (กรมศิลปากร 2559)

ภาพถ่ายเก่ารูปปั้นฤๅษีวาสุเทพ เมื่อราว 50 ปีก่อน ปรากฏในหนังสือ ประวัติพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพ เมื่อพ.ศ.2515

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image