สกู๊ปหน้า 1 : ครบรอบ 15 ปี ปฏิวัติ 19 ก.ย.

Onlookers gaze at the military tanks driving out of the Royal Plaza in Bangkok, 24 September 2006. The Thai junta rolled their tanks out of the Royal Plaza in central Bangkok where they had taken up position in last week's coup against premier Thaksin Shinawatra. AFP PHOTO

สกู๊ปหน้า 1 : ครบรอบ 15 ปี ปฏิวัติ 19 ก.ย.

กลายเป็นวันสำคัญที่ถูกบรรจุในปฏิทินประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นับแต่เกิดรัฐประหารในค่ำคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศกฎอัยการศึก ส่งผลให้การเลือกตั้งทั่วไปที่วางไว้ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันถูกยกเลิก

ดร.ทักษิณ พ้นจากตำแหน่ง ต้องลี้ภัยไปยังต่างแดน รัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกฉีก นำมาสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549
นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 11 หลังสยามประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ.2475
นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมานับแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2548

โดย ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ระบุจุดเริ่มต้นจากการปลดรายการทีวีซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์รัฐบาลทักษิณอย่างร้อนแรงจากผังโมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง 9) ทำให้เกิดการจัดรายการสัญจรหลายครั้ง โดยมีจุดยืนขับไล่รัฐบาล
มีผู้ร่วมชุมนุมมากมาย จากนั้นมีการเปิดตัวกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” กระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารที่ส่งผลสะเทือนมาถึงการเมืองไทยในปัจจุบัน

Advertisement

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับการแต่งตั้งนั่งให้เป็นนายกรัฐมนตรี มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 โดยผู้ร่างส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ก่อนทำประชามติ แล้วเกิดการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 โดยพรรคพลังประชาชนคว้าชัย ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ สมัคร สุนทรเวช ก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้สิ้นสภาพในเดือนกันยายน 2551 เนื่องจากการจัดรายการ “ชิมไป บ่นไป” และ “ยกโขยง หกโมงเช้า” นำมาซึ่งอีกหลายเหตุการณ์ต่อเนื่อง

19 กันยายน กลายเป็นหมุดหมายในการจัดชุมนุมใหญ่เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยเฉพาะเมื่อคนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมาจากการรัฐประหารในคืนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ว่าจะเป็นม็อบ 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร โดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อ 19 กันยายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ค้างคืนในท้องสนามหลวง ฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ในรุ่งเช้าวันที่ 20 กันยายน จนแกนนำโดนสารพัดหมาย ต้องต่อสู้ทางคดีกันข้ามปี

สำหรับวันนี้ ครบรอบ 15 ปีรัฐประหาร 19 กันยา ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในฐานะแกนนำเครือข่ายไล่ประยุทธ์ และ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผนึกกำลังจัดคาร์ม็อบ “ขับรถยนต์ชนรถถัง” โดยยึดโยงจากเหตุการณ์ที่ นายนวมทอง ไพรวัลย์ ขับแท็กซี่เข้าพุ่งชนรถถังเพื่อประท้วงรัฐประหารเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549 ต่อมา 31 ตุลาคมปีเดียวกัน “ลุงนวมทอง” ผูกคอตายใต้สะพานลอยริมถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะรัฐประหารที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้”

Advertisement

“15 ปีที่อำนาจเผด็จการยึดกุมประเทศไทย ประชาธิปไตยที่กล่าวอ้างเป็นเพียงประชาธิปไตยทิพย์ ความเสียหาย ถดถอย ล้าหลัง ยังคงเกาะกินประเทศชาติและประชาชนจนถึงปัจจุบัน แม้เหตุการณ์จะอยู่ในช่วงเวลา 15 ปี แม้ในระหว่างนี้มีการรัฐประหาร 2 ครั้งโดยคน 2 กลุ่ม แต่ผมยืนยันว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกัน การยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 โดยพลเอกสนธิ และการยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 โดยพลเอกประยุทธ์ คือเรื่องเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน ต้องการให้อำนาจนอกระบบมีอิทธิพลเหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชน วิกฤตความขัดแย้ง สังคมที่แตกแยก ล้วนเกิดขึ้นภายใต้เป้าหมายทางอำนาจของขบวนการนี้” คือความในใจ เต้น ณัฐวุฒิ

ขณะที่ บก.ลายจุด มองถึงภาพรวมของการเมืองไทยในวันนี้ที่เป็นผลพวงด้านลบจากรัฐประหารในครั้งนั้นซึ่งสร้างโดมิโนเหตุการณ์หลากหลายที่ไม่ใช่แค่เพียงบรรยากาศความขัดแย้งทางความคิด หากแต่นำมาซึ่งความถดถอยทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกติกาของประเทศ นั่นคือรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนตื่นตัวและเข้าใจการเมืองลึกซึ้งกว่าที่เคย

“15 ปีที่ผ่านมา ข้อดีที่สุด หากดูจากปัจจัยการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ คิดว่า สังคมไทยมีความเข้าใจการเมืองถึงระดับโครงสร้าง เราได้มีโอกาสเห็นโครงสร้างที่ไม่ยุติธรรมแอบซ่อนอยู่ในระบบกลไกต่างๆ บัดนี้ กลไกเหล่านี้ได้เผยตัวออกมา แต่เป็นราคาที่ต้องจ่ายแพงหน่อย หลักประกันสำคัญในเรื่องประชาธิปไตยคือประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น สิ่งนี้เป็นฐานล่างซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กลไกหรือโครงสร้างขยับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงของความคิดของคนในชาติที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย” บก.ลายจุดกล่าว

ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญนี้ สอดคล้องกับมุมมองของ โทนี่ วู้ดซัม หรือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกล่าวในคลับเฮาส์ ในค่ำคืนวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า ที่เสียใจที่สุด และเสียหายที่สุด คือ รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นฉบับที่ดีที่สุดถูกฉีกไป

“รัฐธรรมนูญฉบับ 40 ให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย มองคนไทยเป็นคน ทำให้ผู้นำต้องดูแลประชาชน ทำให้ระบบการเมือง เป็นระบบที่ไม่มีการต่อรอง มีการต่อรองเมื่อไหร่ก็แจกกล้วย….”

ส่วนเหตุการณ์เมื่อ 15 ปีก่อน พ.ต.ท.ทักษิณในวันนั้น พี่โทนี่ในวันนี้ บอกว่า แม้จะได้รับความนิยมอย่างดี แต่ก็ “ทานไม่อยู่”

“จนสุดท้ายก่อนปฏิวัติ วันนั้นแทบจะทำอะไรไม่ได้ เป็นนายกฯที่มีเสียงในสภาเยอะ พอได้ 377 เสียง กลายเป็นปัญหา มีคนไปปล่อยข่าวสารพัดเรื่อง ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกันเลย ก่อนหน้าจะเดินทางไปต่างประเทศ ก็มีการพยายามลอบฆ่าผมหลายรอบ มารู้ทีหลังว่า มีการให้การว่า ต้องฆ่าให้ตาย ถ้าไม่ตายก็จะปฏิวัติ หลังจากปฏิวัติ จึงทำให้ขาดการสั่งการ เครื่องบินก็กลับไม่ได้ เครื่องบินการบินไทยไม่ให้ขึ้น….เราคิดว่าน่าจะคุมอยู่ น่าจะกลับทัน แต่มันมีเหตุฉุกเฉิน รมว.กลาโหม ไปไหนไม่รู้ เขาเลยไม่กล้าตัดสินใจ ถ้าตัดสินใจเร็วกว่านั้น ผมคงบินกลับแล้ว แต่ไม่เป็นไร จะได้ไม่ต้องปะทะกัน เสียเลือดเสียเนื้อ”

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน โทนี่ วู้ดซัมแนะว่า ทหารต้องยอมรับความเป็นประชาธิปไตย ไม่อย่างนั้นประเทศไปไม่ได้จริงๆ

“ผมเชื่อว่าวันนี้ ทหารหลายคน ไม่ได้แฮปปี้เพราะเขาก็รักบ้านเมือง”

ด้าน ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษา หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและเลขาฯผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เผยว่า วันนี้เมื่อ 15 ปีก่อนเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักประเทศไทยให้ถอยหลังกลับไปล้าหลังในทุกด้าน 19 กันยายน 2549 จึงเป็นความทรงจำที่ขมขื่นของสังคมไทย

“เวลาที่ผ่านล่วงไป 15 ปี เราได้เห็นพัฒนาการที่เติบโตและหยั่งรากลึกของเผด็จการในขณะที่กระบวนการประชาธิปไตยถูกบิดเบือน บ่อนทำลายให้อ่อนแรง ต้องใช้พละกำลังอย่างมากในการต่อสู้ต้านทานอำนาจเผด็จการที่แฝงร่างแปลงรูปอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 เราได้เห็นประชาธิปไตยแบบแจกกล้วย เพื่อแลกกับผลประโยชน์ของกลุ่มผู้มีอำนาจและพวกพ้อง แทนที่จะได้เห็นประชาธิปไตยแบบกินได้ ที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือทำให้คนรุ่นใหม่ได้มองเห็นอนาคตที่สดใสของตนรออยู่ข้างหน้า” ภูมิธรรมกล่าว ก่อนทวงคืนประชาธิปไตยให้ปากท้องประชาชน

“เอาประชาธิปไตยแบบแจกกล้วย คืนไป เอาประชาธิปไตยที่กินได้ของประชาชนกลับคืนมา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image